Skip to main content
sharethis

ผุดมาตรการช่วยภาคท่องเที่ยวชะลอการเลิกจ้างงาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารพาณิชย์ (TBA) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และกระทรวงการท่องเที่ยว เป็นต้น จะเร่งออกแพ็คเกจชุดมาตรการเกี่ยวกับการดูแลผู้ประกอบการและลูกจ้าง โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคมเพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และน่าจะทันภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเข้าฤดูกาลท่องเที่ยวพอดี และชุดมาตรการนี้จะเป็นมาตรการระยะสั้นราว 3 เดือน (ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน) ไม่ใช่มาตรการถาวร โดยจะช่วยประคองและเป็นมาตรการเชิงรุก

“มาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการถาวร เพราะเราทำจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนรูปแบบที่ดูแลได้นั้นก็อยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ โดยทุกคนไปคิดและออกมาเป็นแพ็คเกจประกอบกันเป็นชุดมาตรการ เราทำแบบเชิงรุกก่อนไม่ได้รอเหตุการณ์ไปอีกขั้นแล้วค่อยทำ”

สำหรับชุดมาตรการดังกล่าว เบื้องต้นจะดูแล 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีกำลังไม่เยอะ โดยธปท.และสมาคมธนาคารไทย จะเข้าไปดูในรายละเอียด อาทิ การให้สภาพคล่องเฉพาะหน้า การผ่อนชำระหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้ หรือส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ชอฟต์โลน) ก็กำลังพิจารณากันอยู่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในตอนนี้มีความแตกต่างกันในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งวงเงินที่จะนำมาใช้อาจจะไม่ใช่งบประมาณปี 2563

ส่วนกลุ่ม 2.ดูแลพนักงานรายย่อยในอุตสาหกรรมที่โดยกระทบนั้น จะเป็นการช่วยผ่อนภาระค่าใช้จ่าย เช่น บัตรเครดิต ธนาคารอาจจะเข้าไปดูแลในการลดอัตราดอกเบี้ยให้ หรือหากผ่อนค่างวดอื่นๆ เช่น ค่าไฟ ก็พิจารณาช่วยเหลือ และเพื่อให้เป็นแรงจูงใจที่ผู้ประกอบการช่วยเหลือดูแลลูกจ้าง เพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน อาจจะมีมาตรการเสริมทางด้านภาษี เพื่อจูงใจนายจ้างและผู้ประกอบการช่วยเหลือกันในยามนี้

นอกจากมีมาตรการทางด้านลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีมาตรการช่วยเพิ่มรายได้ เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ หนุนคนไทยไปเที่ยว โดยให้ผู้สูงอายุ 60 ปีไปเที่ยว และนำใบเสร็จให้ลูกหลานมาหักลดหย่อนภาษีได้ เพราะลูกหลานไปทำงานไปเที่ยวไม่ได้ก็ให้ผู้สูงอายุไปแทน เป็นต้น

“เรามีมาตรการทางการเงิน การคลัง และภาษี เพื่อช่วยทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน โดยธปท.และสมาคมแบงก์จะมีการพูดคุยกันถึงแนวทางการผ่อนคลายต่างๆ เพราะตอนนี้ทุกแบงก์ทราบดีว่าจะช่วยกันอย่างไร โดยธปท.ก็จะเข้ามาช่วยดูว่ามาตรการอะไรมีกฎกติกาควบคุมอยู่ และเป็นมาตรการที่มีเวลาจำกัดแบบนี้ ก็มาช่วยผ่อนคลายให้ ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีก่อนหน้า”

สำหรับผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถพูดถึงผลกระทบเป็นตัวเลขได้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นปีเท่านั้น โดยเชื่อว่าภายหลังมีมาตรการชุดออกมาจะส่งผลบวกต่อจีดีพีได้

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้รัฐบาลได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องการเงินการคลังในประเทศ เนื่องจากค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นอุตสากกรรมที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก และมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรากหญ้า จึงได้เตรียมออกมาตรการระยะสั้นมาช่วยเหลือช่วง 3-4 เดือน โดยเบื้องต้นมี 3 ประเด็นหลักๆ คือ

1.ออกมาตรการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยสร้างความอุ่นใจ และลดข้อกังวลการถูกเลิกจ้าง โดยมาตรการของกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินจะเน้นออกมาช่วยเหลือทางด้านนี้ และให้สถาบันการท่องเที่ยวต่างๆ ดูแลลูกจ้างของตัวเองเพื่อผ่านพ้นภาวะช่วงนี้ไปให้ได้ โดยกระทรวงคลังจะเตรียมมาตรการภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผ่อนคลายได้

“ฉะนั้นการเลย์ออฟพนักงานอาจจะไม่จำเป็น แต่เราจะมีมาตรการอย่างอื่นเข้ามาช่วยทั้งเรื่องการเงินและภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการดูแลพนักงานได้”

อย่างไรก็ดี หากเป็นบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ จะพยายามให้มีงาน และมีการพูดถึงการฝึกอบรม โดยที่กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงอุดมศึกษา และกระทรวงแรงงานจะร่วมกัน โดยจะให้สถาบันราชภัฎทั่วประเทศบวกกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องทำโครงการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าจะมีรายได้ต่อวัน เป็นช่วงสั้นๆ

นอกจากนี้ต้องการให้คนไทยเที่ยวกันเองเพื่แทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป โดยกระทรวงคลังช่วยดีไซน์แพกเกจให้คนสนใจที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยคนไม่กล้าขึ้นเครื่องบินทาง บมจ.ท่าอากาศยาน(AOT) สแกนคนก่อนจะขึ้นเครื่องเพื่อให้มีความมั่นใจ

และกำลังหารือธนาคารการเกษตรเพื่อสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ส่งพนักงานไปดูงาานทั่วประเทศ และกองทุนหมู่บ้าน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านสามารถที่จะส่งคนไปดูงานตามจุดต่างๆ ที่ ธ.ก.ส.วางไว้ เพื่อพัฒนาชุมชน แหล่งท่องเที่ยวและสภาพคล่องต่างๆ ซึ่งจะเกิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยทางกระทรวงคลังเองก็จะพยายามเร่งให้รัฐวิสาหกิจทำกิจกรรมเหล่านี้

“เราต้องการให้คนออกไปเที่ยว แม้ว่าจะมาทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ประคับประคอง ในช่วงที่ทุกประเทศกำลังเจอปัญหานี้” นายสมคิดกล่าว

หรือมีแนวคิดอยากจะให้คนชราอายุเกิน 60 ปี สามารถไปท่องเที่ยวในวันธรรมดา และนำใบเสร็จท่องเที่ยวมาหักภาษีให้กับบุตรได้ ขณะเดียวกันในส่วนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภาครัฐจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ซึ่งเป็นการลดภาระและเพิ่มรายได้ให้กับคนยากจนในช่วง 3-4 ข้างหน้า

2.มาตรการกระตุ้นให้คนออกไปใช้จ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมมือกัน เพื่อให้มีโครงการที่คนอยากจะออกไปใช้จ่าย

3.เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการจากรายได้ที่หายไป โดยแบงก์ชาติจะเป็นผู้ที่ประสานงานกับกระทรวงคลังผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้เกิดสภาพคล่องที่เพียงพอในภาวะการณ์เหล่านี้

สิ่งใดที่ต้องเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็หวังว่าจะเข้าก่อนและประกาศใช้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เดือน มี.ค. เพราะยังมีพอมีเวลา ช่วงนี้ก็ต้องรอให้งบประมาณรีบผ่านจะได้ไปสู่การลงทุนอย่างอื่น เนื่องจากช่วงนี้ต้องการประคองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีมาตรการเพิ่มเติมเป็นเฉพาะ เรื่องจากที่ผ่านมาทุกธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว โดยธนาคารจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ทั้งการพักชำระหนี้ ยืดอายุการชำระหนี้ ช่วยลดดอกเบี้ย หรือการเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธนาคารทุกแห่งได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าเชิงรุกอยู่แล้ว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/2/2563 

สภานายจ้างจับมือ IOM ร่วมฝึกอบรมระหว่างการทำงานให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ เพื่อส่งเสริมการทำงานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานกิตติมศักดิ์ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับนางเดนา เกรเบอร์ ลาเด็ก หัวหน้าสำนักงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำประเทศไทย (International Organization for Migration) หรือ IOM ในโครงการฝึกอบรมระหว่างการทำงานให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ เพื่อส่งเสริมการย้ายถิ่นที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการจ้างงานในประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย ณ อาคารรัจนาการ สำนักงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration)

ทั้งนี้การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันดังกล่าว เป็นการจัดฝึกอบรมให้แรงงานข้ามชาติกว่า 2,000 ราย อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนการว่าจ้าง และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานข้ามชาติภาคเอกชน ให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 16 ซึ่งกำหนดให้ นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงานได้อย่างปลอดภัยแก่ลูกจ้าง

“สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ มีภารกิจในการสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลของปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่เป็นระบบ (Bangkok Declaration on Irregular Migration) ดังนั้น สำนักงาน IOM ที่กรุงเทพฯ จึงจัดทำโครงการทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับปฏิญญาดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เช่น แรงงาน สุขภาพ การประสานความร่วมมือทางวิชาการ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การสร้างความตระหนักโดยการประชาสัมพันธ์ข้อมูล และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เป็นระบบในภูมิภาค”

นายอนันตชัย กล่าวว่า ภารกิจของ IOM ในประเทศไทย ด้านการบริหารและงบด้านการปฏิบัติการ เริ่มตั้งแต่ปี 2518 โดยให้ความช่วยเหลือเรื่องการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน บทบาทและการประสานงานระหว่าง IOM กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกของ IOM ในปี 2529 โดยหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่หลักในการประสานงานกับ IOM ในไทยได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย IOM มีสำนักงานที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ต่างชาติจำนวน 26 คนรวมถึง Chief of Mission, ผู้แทนส่วนภูมิภาค โดยมีนางสาว Reiko Matsuyama เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการ ผู้ประสานงานโครงการส่วนภูมิภาค Regional Laboratory Manager และแพทย์และพยาบาล และมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวน 53 คน สำนักงาน IOM ณ กรุงเทพฯ ได้ขยายเป็นสำนักงานระดับภูมิภาค

โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน และปัจจุบัน IOM มีสำนักงานในกัมพูชา เวียดนาม ลาวและเมียนมา

ที่มา: The Reporter, 13/2/2563 

อเด็คโก้เผยปี 2563 เด็กจบใหม่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว สายไอทีครองแชมป์มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุด

บริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย เปิดตัว Salary Guide 2020 คู่มือฐานเงินเดือนประจำปี เผยอัตราเงินเดือนในสายอาชีพวันนี้ต่างๆ กว่า 800 ตำแหน่ง จากบริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของอเด็คโก้กว่า 3,000 บริษัท โดยปีนี้พบว่าฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่มีการปรับตัวสูงขึ้นเริ่มต้นที่ 12,000 บาทจากเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9,000 บาท โดยในปีนี้พบว่า เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนราว 18,000 - 25,000 บาท

สำหรับอาชีพทำเงินสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้ ได้แก่ อาชีพ "Programmer/Software Developer" ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความต้องการจากตลาดสูง หลายๆ องค์กรต่างก็ต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง หากเด็กจบใหม่มีทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้ตรงตามที่องค์กรกำหนด สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 40,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย รองลงมาในอัตราเงินเดือนสูงสุด 35,000 บาท ได้แก่ อาชีพ Sales Engineer, Project Coordinator, Personal Assistant, เลขานุการ, ล่ามภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานด้านการขายที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังพบว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ละองค์กรต่างต้องการคนเก่งในหลากสาขา เพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงาน และเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Digital Transformation แต่จำนวนของผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (Talent Shortage) องค์กรจึงต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารระดับสูง เพื่อที่จะสามารถดึงดูดและเก็บรักษาผู้บริหารมือดีได้มากขึ้น

ที่มา: TNN, 13/2/2563 

กรมการจัดหางาน ดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการในศูนย์ฯ OSS ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

วันที่ 13 ก.พ.2563 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใย แรงงานต่างด้าว ผู้ใช้แรงงาน และนายจ้าง สถานประกอบกิจการ จากโรคปอดอักเสบไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิต-19) มอบ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบกิจการ และแรงงานต่างด้าว

ทั้งที่สถานประกอบการและผู้มาใช้บริการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ให้จัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ info เป็น 3 ภาษา (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้าง สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิต-19) เนื่องจาก เป็นสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อโรค

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) เป็นสถานที่ที่ มีประชาชนมาใช้บริการเพื่อต่ออายุแรงงานต่างด้าว ประมาณวันละ 1,000 คน และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น เมื่อใกล้วันครบกำหนด 31 มีนาคม 2563

โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในศูนย์ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิและดอนเมือง สวมหน้ากากอนามัย ขณะให้บริการ พร้อมทั้งได้จัดเตรียมป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันตนเองเป็น 3 ภาษา (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ไปยังสถานประกอบการ พร้อม QR Code และจัดเตรียมแอลกอฮอล์ ทำความสะอาด ไว้ให้บริการ ด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 13/2/2563 

ก.แรงงานปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยหนุนสถานประกอบการพัฒนาทักษะลูกจ้าง

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปี 2563 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับให้กู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงาน หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้อนุมัติให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งแต่ตุลาคม 2562 – มกราคม 2563 เป็นเงินจำนวน 2,575,000 บาท แบบไม่มีดอกเบี้ย (ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563) จำนวน 4 บริษัท ที่ยื่นคำร้องขอกู้กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) 2 สุพรรณบุรี สพร.6 ขอนแก่น สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) สระบุรี และ สนพ.กาญจนบุรี

นายธวัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น หรือสามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ วงเงินให้กู้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้าง นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการยังสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยื่นรับรองหลักสูตรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 เพื่อนำไปประเมินเงินสมทบ และใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ด้วย

สำหรับสถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2563 ยื่นเอกสารได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร 0 2390 0261 – 5 หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โทร. 0 2643 6039 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือเว็บไซต์ www.dsd.go.th/sdpaa

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/2/2563 

ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่โคราช เร่งประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์กว่า 4 ล้านบาท

จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงกลางเมืองโคราชและห้างเทอมินอล 21 โคราช ส่งผลให้มีจำนวนลูกจ้างและผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวนหนึ่ง จากเหตุการณ์นี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล มอบหมายนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเร่งรัดการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม ให้แก่ผู้ที่ได้รับเคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 6 ราย เป็นเงิน 2,746,464.58 บาท

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนางสาวไพลิน จินดามณีพร ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่บัญชาการเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ หาข้อสรุป ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ซึ่งทยอยได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากญาติและสถานพยาบาล ว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นลูกจ้างผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 4 ราย เป็นเงิน 1,487,635.05 บาท

ทั้งนี้ดังนี้คือ - ผู้ประกันตนเสียชีวิต เนื่องจากการทำงาน 1 ราย คือ 1. นางสาวกรรณิการ์ การบรรจง ทายาทได้รับประโยชน์ทดแทน ค่าทำศพ 33,600 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 991,200 บาท เงินชราภาพ 32,690.60 บาท รวม 1,057,490.60 บาท - ผู้ประกันตนเสียชีวิต ไม่เนื่องจากการทำงาน 3 ราย คือ 1. นางสาวปภัชญา นวลรักษา ทายาทได้รับประโยชน์ทดแทน ค่าทำศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 9,600 บาท เงินชราภาพ 50,467.55 บาท รวม 100,067.55 บาท | 2. นายสุริยะ ลิมป์รัชตามร ทายาทได้รับประโยชน์ทดแทน ค่าทำศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 16,016 บาท เงินชราภาพ 15,677 บาท รวม 71,693 บาท | 3. นางสาวอภิกษณาภา ขันผักแว่น ทายาทได้รับประโยชน์ทดแทน ค่าทำศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท เงินชราภาพ 128,383.90 บาท รวม 258,383.90 บาท

พร้อมกันนี้ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนพักรักษาตัวในห้อง ICU โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จำนวน 2 ราย คือ 1. นายศุภชัย แตงอยู่ | 2. นายชนวีร์ จันทร์ศิริสุข

นายสุทธิ กล่าวว่า ตนได้นำความห่วงใยของหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มายังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทุกท่าน และขอแสดงความเสียใจ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมจะเร่งรัดตรวจสอบและให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่านต่อไป และขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจ กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม มีหน้าที่คุ้มครองลูกจ้างและผู้ประกันตนทุกท่าน ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้จ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม ไปแล้ว 4,234,099.63 ล้านบาท ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือทุกท่านขอให้โทรติดต่อที่หมายเลข 044-205353-5 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506

ที่มา: คมชัดลึก, 11/2/2563 

ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ นายจ้างจ่ายค่ารักษาจนกว่าจะหาย

ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1.ร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. ... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่เจ็บป่วยจนหาย ต่างจากเดิมที่มีการกำหนดวงเงินสูงสุดที่นายจ้างต้องจ่าย กรณีที่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาไว้ไม่เกิน 2 ล้านบาท หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการพยาบาล ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท

ขณะเดียวกัน เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. ...เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานที่ให้นายจ้างจ่าย โดยให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ตามหลักเกณฑ์ และอัตราต่อไปนี้ คือ 1.ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ เป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท/รายการ 2.ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษา และการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท/รายการ 3.ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ไม่เกิน 160,000 บาท/หน่วย 4.ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ไม่เกิน 24,000 บาท/รายการ

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หากเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา ส่วนค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้ตามหลักสูตรและอัตราที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. ...กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหายในอัตราค่าทำศพ 40,000 บาท

ที่มา: ไทยรัฐ, 12/2/2563 

กรมการจัดหางานระบุปี 2562 ผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานจำนวน 3,876 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการหางานให้ผู้สูงอายุ จึงได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานสำรวจตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 กรมการจัดหางานได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ประกอบด้วย 4 กิจกรรมคือ 1) กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา ภายใต้การดำเนินงาน “ผู้สูงอายุทรงคุณค่า สร้างภูมิปัญญา เพื่อไทยนิยมยั่งยืน” โดยจะจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความรู้ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่าง ๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชน เพื่อไปถ่ายทอดและประกอบอาชีพต่อไป เป้าหมายผู้สูงอายุได้รับการจ้างเป็นวิทยากร จำนวน 150 คน ดำเนินการนำร่องใน 16 จังหวัดคือ จังหวัดลพบุรี กาญจนบุรี สระบุรี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยภูมิ มหาสารคาม สกลนคร กาฬสินธุ์ พัทลุง นราธิวาส และปัตตานี 2)กิจกรรมเพิ่มโอกาสสร้างงาน สร้างความมั่นคงแก่ผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุมาใช้บริการจัดหางาน จำนวน 1,400 คน และผู้สูงอายุที่มาใช้บริการมีงานทำไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 3)กิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุงาน เพื่อจ้างเหมาบริการผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 20 คน ทำงานในศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม สระบุรี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา มีระยะเวลาการทำงาน จำนวน 144 วัน ทำงานวันละ 3 ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 250 บาท (ผู้สูงอายุจะมีรายได้ต่อคนรวมทั้งสิ้น จำนวน 108,000 บาท) 4) กิจกรรมสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการประกอบอาชีพหรือทำงาน เพื่อสำรวจความต้องการประกอบอาชีพหรือทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการ โดยมีเป้าหมาย คือ สำรวจผู้สูงอายุ จำนวน 13,500 คน

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับผู้สูงอายุ 18,437 อัตรา มีผู้สูงอายุมาใช้บริการ 7,480 คน ได้รับการบรรจุงานแล้วจำนวน 3,876 คน เป็นแรงงานด้านการผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็น แม่บ้าน พนักงานบริการลูกค้า เสมียนพนักงานทั่วไป พนักงานดูแลความปลอดภัย ตามลำดับ ในส่วนของภาครัฐได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-75 ปี ใน 20 หน่วยงานของกรมการจัดหางานเพื่อเป็นต้นแบบในการจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 20 ราย ระยะเวลาทำงาน 144 วันๆ ละ 3 ชั่วโมง ค่าตอบแทน 250 บาทต่อชั่วโมง มีรายได้ 108,000 บาทต่อคน

ซึ่งผู้สูงอายุคนใดสนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) อาคาร 3 ชั้น ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: บ้านเมือง, 12/2/2563 

ก.แรงงานช่วยทายาทแรงงานต่างด้าวเสียชีวิต เหตุเพลิงไหม้เครื่องจักร จ.กำแพงเพชร

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เครื่องจักร ขณะที่ลูกจ้างกำลังบรรจุแป้งมันลงถุงที่ บริษัท ที.ซี.เอส.อุตสาหกรรมแป้งมัน จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เป็นเหตุ ให้ลูกจ้างต่างด้าวชาวเมียนมา บาดเจ็บสาหัส จำนวน 2 ราย โดยนายจ้างได้ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ลูกจ้างได้เสียชีวิตลง 1 ราย

ล่าสุดหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ โดยนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม มอบหมายนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่พร้อมด้วยนางรัชนี ภู่พร้อมพันธุ์ ประกันสังคมจังหวัดกำแพงเพชร มอบ เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แก่ทายาท นาย YE KO HTET รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 841,253.25 บาท (แปดแสนสี่หมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบสามบาทยี่สิบห้าสตางค์) ส่วนนาย ZAR NI OO ซึ่งได้รับบาดเจ็บและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ปัจจุบันอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลแล้ว โดยมีค่ารักษาพยาบาลจำนวน 18,800.25 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดกำแพงเพชรจะได้จ่ายให้กับทางโรงพยาบาลต่อไป

รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม มีความห่วงใยและได้ให้การดูแลแรงงานต่างด้าวเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทยทุกประการ ทั้งในกรณีอันเกิดเนื่องจากการทำงาน ของกองทุนเงินทดแทน และกรณีอันไม่เนื่องจากการทำงานของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกรณีแรงงานต่างด้าว ชาวเมียนมาที่เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานรายนี้เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้เพียง 3 เดือนก่อนเสียชีวิต ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเงินทดแทน จึงขอฝากให้นายจ้างที่เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนทั้งสองกองทุน ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง เพื่อกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้ให้การดูแลเยียวยาลูกจ้าง และทายาทได้ทันท่วงทีต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 11/2/2563 

ม.ค. 2563 โรงงานใหม่เปิด 313 แห่ง ปิดตัว 222 แห่ง กระทบแรงงาน 2,500 คน

10 ก.พ. 2563 กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รายงานถึงตัวเลขขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) และขยายกิจการเดือน ม.ค. 2563 พบว่ามีจำนวนโรงงาน ทั้งสิ้น 313 โรงงาน ลดลง 13.29% จากช่วงเดียวกันในปี 2562 ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2.53 หมื่นล้านบาท ลดลง 51.52% โดยสาเหตุที่จำนวนโรงงานที่ลดลง เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงงาน 2562 เพิ่งบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งสาระหลักของ พ.ร.บ.โรงงานที่มีขนาดเล็กมาก ต่ำกว่า 50 แรงม้า แรงงานไม่ถึง 50 คนไม่ต้องมาขอ ร.ง.4

ส่วนทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี พบว่าเพิ่มขึ้น แสดง ให้เห็นว่านักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นตอบรับนโยบายรัฐบาล โดยการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) เดือน ม.ค. 2563 มีการขอการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการ จำนวน 98 โรงงาน เพิ่มขึ้น 988.88% แต่มูลค่าการลงทุน 1.04 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.21% ขณะที่ การลงทุนในพื้นที่ อีอีซี มีจำนวน 45 โรงงาน เพิ่มขึ้น 25% มูลค่าการลงทุน 1.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 199.77% ส่วนการยื่นขอปิดกิจการ มีจำนวน 222 โรงงาน เพิ่มขึ้น 53.10% มูลค่าการลงทุน 2.29 พันล้านบาท ลดลง 8.4% คิดเป็นแรงงานจำนวน 2.51 พันคน อย่างไรก็ดีถือว่าลดลง 31.04% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 อยู่ที่ 3.64 พันคน

ที่มา: TNN, 10/2/2563 

ประกันสังคม เร่งจ่ายเยียวยาผู้ประกันตน เสียชีวิตเหตุกราดยิงโคราช 4 ราย

9 ก.พ. 2563 นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จังหวัดนครราชสีมาว่า มีผู้ประกันตนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์กราดยิงประชาชนกลางเมืองโคราชและห้างเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งพบว่า มีผู้บาดเจ็บ 42 ราย ผู้เสียชีวิต 20 ราย ซึ่ง สปส.ต้องเร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิ แบ่งเป็น 1.ผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย โดย 2 ราย เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน คือ 1.นายอำนาจ บุญเอื้อ ลูกจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย การ์ดพอร์ช เป็น รปภ.ห้างเสียชีวิตระหว่างทำงาน ได้รับค่าทำศพ 33,600 บาท ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือนจ่ายให้กับทายาทเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 709,800 บาท และเงินชราภาพ 119,858 บาท 2. นายวันชัย เวชวรรณ์ ลูกจ้างบริษัทคลีนสแควร์เดอะมอลล์ เป็นพนักงานขายอุปกรณ์ทำความสะอาดรถยนต์ เสียชีวิตในงาน ได้รับค่าทำศพ 33,600 บาท ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือนจ่ายให้กับทายาทเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 954,744 บาท เงินชราภาพ จำนวน 43,956 บาท

นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า กรณีเสียชีวิตอันไม่เนื่องจากการทำงาน 2 ราย คือ 1. นายวัชรพล พาณิชย์ เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 พนักงานราชการของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา กรมป่าไม้ ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตอันไม่เนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท เงินชราภาพ 121,382 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท และ 2. นางนริศรา โชติกลาง เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 เป็นเภสัชกรโรงพยาบาล ป แพทย์ ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตอันไม่เนื่องจากการทำงาน ได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท เงินชราภาพ 206,434 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท ทั้งนี้ สปส.นครราชสีมาจะประสานกับญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ และประสานกับสถานพยาบาล เพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นผู้ประกันตามมาตรา 33 จำนวน 7 ราย โดยรักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา 4 ราย คือ 1. นายทวีศักดิ์ สุขารมย์ 2.นางสาวอาทิตยา ศรสิทธิ์ 3. นายสุรเดช เนื่องอุทัย 4. นายอุทัย ขันอาสา ส่วนที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์แมรี 3 ราย คือ 1. นายเพลิน เทจอหอ บาดเจ็บเล็กน้อยกลับบ้านแล้ว 2.นายฐาปณัฐ เพ็ญจันทร์ บาดเจ็บเล็กน้อยกลับบ้านแล้ว และ 3. นายบุญหลาย คณานิตย์ บาดเจ็บเล็กน้อยกลับบ้านแล้ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/2/2563 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net