Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษเก็บตกจาก 'งานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล' นักวิชาการชื่นชมภาคประชาชนไทยเข้มแข็ง เป็นปัจจัยหลักสร้างความสำเร็จในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา เวทีย่อยในงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 เรื่อง ด้วยความรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ “แนวปฏิบัติเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : การเร่งรัดความก้าวหน้าเพื่อมุ่งสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้นำเสนองานศึกษาการมีส่วนร่มมของภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยระบุว่าภาคประชาชนของไทยมีบทบาทค่อนข้างสูง ในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวยาวนาน มีความเข้มแข็ง และมีพลังต่อรองมาก

“ไม่มีก้าวเดินใดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่มีภาคประชาชนเกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมอยู่ในทุกขั้นตอนของการพัฒนาระบบ มีส่วนร่วมตั้งแต่การร่างกฎหมาย และยังมีตัวแทนนั่งอยู่ในบอร์ดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าว และว่า การมีส่วนร่วมพัฒนาถึงระดับที่ภาคประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบ

ก่อนที่จะเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 ภาคประชาชนได้รณรงค์ให้เกิดการเข้าถึงการรักษาในโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงทศวรรษที่ 2520-2530

โดยภาคประชาสังคมกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มผู้ป่วยหลักที่ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะต่อมา

ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าวว่า เมื่อประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญปี 2450 ซึ่งการันตีสิทธิด้านสุขภาพแก่ประชาชนไทย และยังเปิดช่องให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา จึงเปรียบเสมือน “หน้าต่างที่เปิดออก” ให้ภาคประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งให้การสนับสนุน นำไปสู่การคลอดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติในที่สุด

ปัจจุบัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคุมประชาชนมากกว่า 48 ล้านคน เมื่อรวมกับผู้มีสิทธิภายใต้กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการแล้ว ทำให้ประชากรชาวไทยมากกว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพ

“อย่างไรก็ดี เราก็ยังมีความท้าทายจำนวนมาก” ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าว “เราจะทำอย่างไรที่จะสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างระบบสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว”

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง พระภิกษุสงฆ์ คนไร้รัฐ และกลุ่มชนเผ่า

“เรายังเหลือคนไม่มากที่เข้าไม่ถึงสิทธิ ทำอย่างไรจะเอาเขาเข้ามาในระบบ นี่เป็นความท้าทายอย่างมาก เช่น ในกลุ่มมานิ (ชนเผ่าทางตอนใต้ของประเทศไทย) เราพยายามจัดทำฐานทะเบียน และจัดงบประมาณให้ดูแลสุขภาพของเขาในพื้นที่” ทพ. อรรถพร กล่าว

รัตนา เทวี (Ratna Devi) สมาชิกบอร์ดองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยนานาชาติ (International Alliance of Patients’ Organization) กล่าวว่ากลุ่มเปราะบางยังรวมถึงกลุ่มคนเคลื่อนย้าย ซึ่งมักตกหล่นจากระบบสุขภาพในประเทศต้นทางและปลายทางด้วย

“คนส่วนมากจะพูดถึงระบบสุขภาพจากฝั่งอุปทาน เช่น ความต้องการโรงพยาบาล หรือบริการสุขภาพจากภาครัฐในพื้นที่หนึ่ง ๆ แต่ฉันคิดว่าเราต้องพูดถึงระบบสุขภาพจากฝั่งอุปทานด้วย ซึ่งก็คือฝั่งผู้ป่วย” เทวี กล่าว

“เพราะพวกเราต่างต้องเป็นผู้ป่วยในวันใดวันหนึ่ง และสุขภาพคือการตัดสินใจทางการเมือง ดังนั้น เสียงของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองที่มีผลต่อระบบสุขภาพ ผู้ป่วยมีคุณค่า เพราะมีทัศนคติ ความถนัด และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ พวกเขาสามารถบอกได้ว่าระบบสุขภาพที่ดีเป็นเช่นไร” เทวี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net