เลือกตั้งสหรัฐฯ 63: อะไรน่าดูจากการถอดถอนทรัมป์ สงคราม การเมืองแบ่งฝ่าย

วงเสวนาทบทวนการเมืองสหรัฐฯ สารพัดมุมมองก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมาถึงใน พ.ย. 63 การถอดถอนทรัมป์ที่ล้มเหลวยิ่งทำให้ขั้วการเมืองแบ่งข้างชัดเจน ตอกย้ำแทกติกการหาเสียงที่ผ่านมา การทิ้งระเบิดด้วยโดรนอาจไม่ทำให้ก่อการร้ายจบลง หนำซ้ำยิ่งสร้างความเกลียดชังจากการขยายวงความรุนแรงสู่พลเรือน

การเมืองสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 มีความผันผวนและเหตุการณ์สารพัด ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่ล้มเหลวในการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การใช้โดรนไปทิ้งระเบิดใส่กอเซ็ม สุไลมานี ผู้ทรงอิทธิพลเบอร์ใหญ่ของอิหร่านจนเป็นที่หวาดหวั่นว่าจะเกิดสงครามลุกลามบานปลาย ไหนจะเรื่องสงครามการค้ากับจีนที่เขม็งเกลียวมาเกือบทั้งปี 62 จนเพิ่งมาผ่อนคลายลงเมื่อต้น ม.ค. ที่ผ่านมา 

เหตุการณ์เหล่านั้นต่างเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. 2563 ทั้งนั้น แน่นอนว่าฝนที่ตกทางประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ย่อมหนาวมาถึงทางนี้แน่แท้อย่างที่เคยเป็นมาตลอด แล้วในเรื่องเหล่านี้มีอะไรที่ต้องพิจารณากันบ้าง 

เมื่อ 14 ก.พ. 63 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “รัฐศาสตร์เสวนา: การเมืองสหรัฐฯ Impeachment, Election and War (การถอดถอน การเลือกตั้ง และสงคราม” โดยมีสุรัชนี ศรีใย รศ.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ และกัลยา เจริญยิ่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผศ.ปราณี ทิพยรัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

ซ้ายไปขวา: สุรัชนี ศรีใย ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ปราณี ทิพยรัตน์ กัลยา เจริญยิ่ง

สุรัชนีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 2 หมวดหมู่ 4 ให้อำนาจสภาคองเกรสตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของประธานาธิบดีได้ด้วยการถอดถอนจากตำแหน่งในกรณีที่ประธานาธิบดีกระทำการอันเป็นกบฏ รับสินบน หรือกระทำความผิดอาญาระดับสูงหรือประพฤติมิชอบ (high crime or misdemeanor ห) ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดให้ตีความอย่างกว้าง แม้ว่าเป็นกระบวนการที่เอาไว้ตรวจสอบและถ่วงดุล แต่เมื่อดูจากกระบวนการก็ถือว่ามีความเป็นการเมืองอยู่ในนั้น

การถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ ที่วุฒิสภาเพิ่งโหวตคว่ำไปนั้นมีมูลเหตุจาก 2 ประเด็น หนึ่ง การลุแก่อำนาจ ที่ใช้การสนับสนุนทางการทหารต่อรองกับประธานาธิบดีของยูเครนให้ดำเนินคดีกับโจ ไบเดน และฮันเตอร์ ไบเดนผู้เป็นบุตรชาย สอง ทรัมป์และทีมงานพยายามขัดขวางสภาคองเกรสในการหาข้อมูลประกอบการถอดถอนจากตำแหน่ง เสียงในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาล่าง โหวตให้มีการถอดถอน เนื่องจากเสียงข้างมากมาจากพรรคเดโมแครต ส่วนวุฒิสภาโหวตคว่ำเพราะเสียงข้างมากมาจากพรรครีพับลิกัน จากผลโหวตก็ดูออกแล้วว่ามีการเมืองอยู่ในนั้น

สุรัชนีกล่าวว่า กระบวนการที่น่าดูในเรื่องการถอดถอนก็คือสิ่งที่เรียกว่าวิป (Whip) คือกลุ่มคนที่มีหน้าที่ทำให้สมาชิกพรรคโหวตในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันก็มี โดยมากจะต่อรองด้วยไม้อ่อน คือการต่อรองตำแหน่งในกรรมาธิการต่างๆ หรือไม้แข็งคือการไม่ให้เงินสนับสนุนทางการเมืองจากการรณรงค์การดำเนินการทางการเมือง (PAC) ที่ผ่านมา มิตต์ รอมนีย์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พรรครีพับลิกันที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการถอดถอนทรัมป์ ก็ถูกปฎิเสธไม่ให้เข้าร่วมงานประชุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอนุรักษ์นิยม (CPAC) จากแมทท์ ชแลป ประธานสหภาพอนุรักษ์นิยมอเมริกัน ผู้มีอิทธิพลในฝั่งอนุรักษ์นิยม โดยอ้างเหตุเรื่องความปลอดภัย

อีกเรื่องที่น่าดูก็คือเรื่องการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีนี้ การเมืองสหรัฐฯ ตอนนี้มีสภาพของการแยกขั้วทางการเมืองชัดเจน (Hyper Partisanship) ความคิดเห็นทางการเมืองแยกชัดเจนตามอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรค ทางฝั่งเดโมแครตนั้น ส่วนตัวประเมินว่าการลงคะแนนเสียงถอดถอนทรัมป์นั้นทำไปเพื่อเอาใจฐานเสียง เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าอย่างไรเสียการถอดถอนก็จะตกไปในชั้นวุฒิสภาแต่ก็ยังทำอยู่ อาจเป็นการส่งข้อความสู่ฐานเสียงว่าอย่างน้อยก็ได้พยายามแล้ว ส่วนทางฝั่งรีพับลิกันนั้น ท่าทีการโหวตตามมติพรรคนั้นอาจทำไปเพื่อเอาใจทรัมป์ เนื่องจากประเมินว่าอย่างไรเสียทรัมป์ก็คงจะมาอีกในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงไม่มีใครอยากไปอยู่ในบัญชีดำ

ธนพันธ์กล่าวว่า การเมืองสหรัฐฯ ในช่วงหลังมีลักษณะการแบ่งขั้วชัดเจน เกิดจากพลังสะสมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่พยายามทำให้ความเป็นอนุรักษ์นิยมชัดเจนขึ้น หลังๆ การหาเสียงมีลักษณะพยายามกระชับพื้นที่ ช่วงชิงฐานเสียงที่มีความก้ำกึ่ง ไม่เอียงไปทางไหนชัด พื้นที่เหล่านั้นเป็นที่รู้จักกันในพื้นที่ "Battleground states" เช่นฟลอริดาหรือโอไฮโอ การหาเสียงทำบนฐานการคำนวณว่าจุดไหนจะสามารถเพิ่มคะแนนเสียงขึ้นมาได้

ในกรณีการถอดถอนทรัมป์นั้น ธนพันธ์ประเมินข้อมูลจากแกลลอปโพลว่า ความพยายามถอดถอนทรัมป์ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดมากขึ้น เพราะคนที่รักก็ยิ่งรัก ส่วนคนที่ไม่ยอมรับทรัมป์อยู่แล้วก็ยังคงไม่ยอมรับ ซึ่งก่อนและหลังมีการลงชื่อถอดถอนทรัมป์ อัตราการยอมรับและไม่ยอมรับไม่ได้เปลี่ยนไปมากอย่างมีนัยสำคัญ การถอดถอนที่เกิดขึ้นจึงเป็นกรกระชับพันธมิตรของตัวเองเอาไว้ให้มากขึ้น ฝั่งทรัมป์เองก็คงหาเสียงอย่างแข็งกร้าวเพื่อกระตุ้นฐานเสียงจากปมการถอดถอน ส่วนเดโมแครตก็ยังต้องรอดูว่าใครจะเป็นแคนดิเดตแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

กัลยากล่าวว่า กระแสการคานอำนาจประธานาธิบดีในการก่อสงครามนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามที่ชาวอเมริกันเบื่อหน่ายสงคราม มีการผ่านกฎหมายอำนาจสงคราม (War Power Act) ที่ให้สภาคองเกรสต้องมีมติรับรองการก่อประกาศสงคราม แต่อำนาจประธานาธิบดีในการใช้กำลังทหารก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 3 วันหลังเหตุการณ์ไนน์วันวัน โดยมีการให้อำนาจประธานาธิบดีในการใช้กำลังทหารตอบโต้การก่อการร้าย

ปัจจุบัน กฎหมายอำนาจสงครามอิหร่าน (Iran War Power Act) ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงรับรองในวุฒิสภาแล้วนั้นมีขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจของประธานาธิบดีในการทำสงครามจากอิหร่าน สืบเนื่องจากการที่ทรัมป์มีคำสั่งให้ใช้โดรนไปทิ้งระเบิดใส่กอเซ็ม สุไลมานี นายทหารคนสำคัญของอิหร่าน ซึ่งถือว่าผิดกฎการสงครามระหว่างประเทศเนื่องจากไม่มีการประกาศสงครามก่อนและยังเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่นอีกด้วย 

ความคิดเรื่องการทิ้งระเบิดใส่สุไลมานีนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากเดวิด วอร์มเซอร์ หนึ่งในที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในสาขากิจการระหว่างประเทศ เขาคิดว่าถ้าทำลายเบอร์ 2 ของอิหร่านได้ ระบอบก็จะสั่นคลอนและทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจระบอบเดิมจะออกมาล้มระบอบ ซึ่งในอดีตเหตุการณ์ไนน์วันวันที่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ล้มระบอบ แต่ยิ่งทำให้เกิดการขับเน้นความเป็นอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมยิ่งกว่าเดิม นอกจากนั้น การใช้โดรนซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกมองว่ามีความแม่นยำและลดความเสี่ยงของกำลังพลก็ยังมีความน่าสงสัย เพราะการกำหนดเป้าหมายนั้นจะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นเป้าหมายที่แท้จริง 

ที่ผ่านมาโดยเฉพาะสมัยรัฐบาลบารัก โอบามานั้นมีสิ่งที่เรียกว่า 'การยิงซ้ำ' บ่อยมาก การยิงซ้ำคือการทิ้งระเบิดใส่คนที่มาร่วมงานศพ หรือวิ่งมาดูการระเบิดของเป้าหมายเพราะเชื่อว่าเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน (gulity by association) นอกจากนั้น การทิ้งระเบิดที่ทำให้เกิดความเสียหายข้างเคียง (collateral damage) ใส่พลเรือน และนัยของการรักษากำลังพลที่ทำให้เห็นว่าชีวิตใครสำคัญกว่ากันนั้นยิ่งทำให้น่าสงสัยว่าตกลงเป็นการกำจัดผู้ก่อการร้ายหรือยิ่งเพิ่มผู้ก่อการร้ายจากการสร้างความโกรธแค้น จนกลายเป็นสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้นหรือไม่ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คืออุตสาหกรรมผลิตอาวุธ และงบประมาณด้านกลาโหมที่ได้รับเพิ่มขึ้น

กัลยายังกล่าวด้วยว่าภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในทางนโยบายน้อย เนื่องจากทรัมป์ถูกรายล้อมไปด้วยที่ปรึกษาที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ ซึ่งเป็นแนวนโยบายต่างประเทศแบบให้ความสำคัญกับแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ ในระดับโลก ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทในเวทีโลกต่อได้ในเวลานี้ควรจะต้องให้ความสำคัญกับการต่อต้านการก่อการร้ายและภาวะวิกฤตด้านสภาพอากาศ แต่ทรัมป์ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท