Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมตัวแทนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่หารือมีมติเอกฉันท์ยื่นฟ้อง กกต. หากศาล รธน.วินิจฉัยยุบพรรค ในฐานะสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของ กกต. ไม่เกี่ยวกับทางพรรคแต่อย่างใด - ด้านศาล รธน. นัดอ่านคำวินิจฉัย 21 ก.พ. ตามกำหนดเดิม

16 ก.พ. 2563 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่าที่ศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ จังหวัดปทุมธานี ตัวแทนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่จากทั่วประเทศ นัดหารือเพื่อลงความเห็นในการที่จะฟ้องร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นรายบุคคลในฐานะสมาชิกเนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมติของสมาชิกในที่ประชุมออกมาเป็นเอกฉันท์ยืนยันที่จะฟ้องกกต. หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยวาระการนัดหารือในวันนี้สืบเนื่องจากการที่กกต. ได้ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ และศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีในวันที่ 21 ก.พ. นี้

ซึ่งคำแถลงการณ์ของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ระบุว่า พวกเราซึ่งเป็นสมาชิกพรรค ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพรรคนี้ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับและมีความเข้มแข็ง จนสามารถมีสมาชิกที่เป็นตัวแทนของพวกเราในสภาฯ ถึง 80 คน มีความวิตกกังวลต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะให้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ โดยพิจารณาจากการที่ กกต. รับคำร้องจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์ รัฐธรรมนูญไทย ในคดีกู้ยืมเงินของพรรค ตามความผิดในมาตรา 66 ว่าเป็นการบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท และ อนุกรรมการสืบสวนได้ยกคำร้อง แต่นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วตั้งข้อหาใหม่ให้มีความผิดตามมาตรา 62,66 และ 72 ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค โดยไม่มีการเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เร่งรัดพิจารณาอ่านคำวินิจฉัยโดยไม่เปิดให้มีการไต่สวนตามคำร้องของพรรคอนาคตใหม่

ทั้งนี้ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าการฟ้องร้องดังกล่าวกระทำการในฐานะสมาชิกที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของ กกต. โดยไม่เกี่ยวกับทางพรรคแต่อย่างใด นอกจากนี้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ระบุว่าเมื่อแบบฟอร์มดาวน์โหลดในการฟ้องกกต.ออกมาแล้ว จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ศาล รธน. นัดอ่านคำวินิจฉัย 21 ก.พ. ตามกำหนดเดิม

มติชนออนไลน์ รายงานว่าสำหรับกรณีที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคใหม่ ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันที่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 15.00 น. นั้น เบื้องต้นมีรายงานว่ากำหนดการดังกล่าวยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนออกไปตามที่มีกระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว ที่ประชุม กกต. ได้มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3 ) ประกอบมาตรา 93 แห่งพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เนื่องจากได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า พรรคอนาคตใหม่ เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 จากนั้นวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และส่งสำเนาคำร้องให้กับพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง

ต่อมาในวันที่ 5 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวระบุว่า ตามคำร้องของกกต. และคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดีพอวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้พยานบุคคลรวม 17 ปากตามที่ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีระบุพยาน จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญแทนและนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 15.00 น.

สถาบันทิศทางไทย แถลงการณ์ขอให้ยอมรับในหลักกฎหมาย และผู้ที่ทำผิดกฎหมาย พึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่า สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์สถาบันทิศทางไทย เรื่อง รณรงค์ให้ทุกคนในสังคมเคารพ ยอมรับในหลักกฎหมาย และผู้ที่ทำผิดกฎหมาย พึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น ระบุว่าสังคมทุกสังคมจะเป็นปกติสุขได้ คนในสังคมพึงต้องยึดถือแกนกลางอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน แกนกลางที่ว่านั้นคือ หลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การมี "นิติรัฐ" กี่ปกครอง "ตาม" ตัวบทกฎหมาย (มิใช่การปกครอง"ด้วย" กฎหมาย(ป็นเครื่องมือ) ซึ่งหลักนิติธรรมและนิติรัฐจะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากการเคารพ ยอมรับในกฎหมายและปฏิบัติของกฎหมายของคนในสังคม

จริงอยู่แม้ข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ทั้งหมดอาจยังพูดไม่ได้ว่านำไปสู่ความยุติธรรมโดยสมบูรณ์แบบ แต่นั่นเป็นปัญหาเรื่องการทำให้เกิดความเที่ยงธรรมและการใช้กฎหมายโดยเสมอภาค อันคนละเรื่องกับการไม่เคารพกฎหมาย เพราะสังคมใดที่ผู้คนปราศจากการเคารพกฎหมาย ก็จะนำพาสังคมนั้นๆ ไปสู่ภาวะไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ บ้านเมืองไม่มีชื่อไม่มีแป และอาจถึขั้นเกิดอนาธิปัตย์ ไร้รัฐ ชุมชน สังคมล่มสลายในที่สุด

หากไม่มีความชั่วใดที่จะถูกล้มล้างด้วยความชั่วฉันใด ก็ไม่มีความอยุติธรรมใดที่จะถูกลัมล้างด้วยความอยุติธรรมฉันนั้น การสถาปนาหลักนิติธรรมหรือนิติฐให้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ย่อมมิอาจเป็นไปได้เลย หากมีการคัดค้านการเคารพไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้ทำผิดกฎหมายมิว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ เมื่อทำผิดก็อ้างว่าไม่ควรได้รับโทษเพราะความไม่รู้ในข้อกฎหมาย หรืออ้างถึงเจนาอันสูงส่ง หรือคุณประโยชน์ที่เคยทำเพื่อให้ตนเองมิต้องได้รับโทษไม่ได้นั่นไม่ต้องพูดถึงการเรียกร้องหรือรณรงค์คัดค้านให้ไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับใครคนหนึ่งคนใดที่ทำผิดกฎหมายด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม

การกระทำเช่นนี้ถือว่าไม่คำนึงถึงคนอื่น ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสิ้นเชิง ดังที่มีนักวิชาการ นักธุรกิจ ศิลปิน บุคคลและกลุ่มบุคคล ออกมารณงค์คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องของกกต. กรณีพรรครับเงิน(กู้)ของนายธนาธร

สถาบันทิศทางไทยไม่ได้เรียกร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือ คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ อย่างหนึ่งอย่างใดแต่เรียกร้องให้ทุกคนในสังคมเคารพ ยึดถือ และยอมรับต่อกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องเมื่อพรรคอนาคตใหม่ทำผิด และหากศาลมีคำวินิจฉัยว่าความผิดนั้นเข้าข้อกฎหมาย การลงโทษพรรคอนาคตใหม่ตามตัวบทกฎหมายก็พึงต้องเป็นไปโดยปราศจากข้อยกเว้น ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่จะอ้างถึงอุดมการณ์ เจตนารมณ์เช่นไรก็ตาม

แต่หากศาลวินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่มีความผิดตามข้อกฎหมาย ก็ควรจะยอมรับคำวินิฉัยนั้นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในทางอุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่อย่างไรก็ตามกระนั้นการอ้างว่า มีความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่มีความ "จงใจ" และ "เจตนา" กลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมา มีขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และศาลก็มีได้เห็นคล้อยตามคำร้องของกกต..ไนทุกเรื่อง ดังกรณีศาลรัฐธมนูญได้วินิจฉัยยกคำร้องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่มีผู้ร้องว่าพรรคล้มล้างการปกครอง โดยยึดถือข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยมิได้ถือประโยชน์ของพรรคหรือผู้ร้องฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นที่ตั้ง (พฤติกรรมของพรรคมีความคลุมเครือ แต่ไม่เข้าข้อกฎหมายล้มล้างการปกครองแต่อาจมีความผิดในข้อกฎหมายข้ออื่น)

สถาบันทิศทางไทยขอเชิญคนไทยทุกคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันว่า สังคมเราจะอยู่อย่างปกติ จำต้องยอมรับในกฎหมาย และผู้ทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามกฏหมายโดยไม่มีข้อยกวัน ได้แสดงเจตนารมณ์นี้ให้ประจักษ์และพร้อมเพรียงโดยการร่วมลงชื่อสนับสนุนในช่องทางต่างๆ เพื่อมิให้กลุ่มการเมืองใดๆ และผู้ไม่หวังดีอาศัยสถานการณ์สร้างกระแสความเข้าใจผิดต่อกระบวนการยุติธรรม ใช้อำนาจกระแสสังคม แทรกแชงกระบวนการยุติธรรมให้ยกโทษให้พรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย มิว่าจะเป็นพรรคใด

หากคิดว่าการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ มิใช่สิ่งถูกต้องฉันใด วิญญูชนย่อมพึงสำนึกรู้ว่าการใช้อำนาจสังคมแบบใดก็ตามบังคับฉีก "สภาพการบังคับตามกฎหมาย" ทิ้ง ก็คงเป็นสิ่งที่มิได้ถูกต้องกว่ากันแต่อย่างใดด้วยคารวะในจิตวิญญาณแห่งความเที่ยงธรรมในใจทุกท่าน

นิด้าโพล ระบุคนไม่เห็นด้วย 'ปิยบุตร' เดินสายอภิปรายนอกสภา หากอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ทำบ้านเมืองวุ่นวาย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ท่านจะไปชุมนุมประท้วงทางการเมืองหรือไม่” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,255 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.87 ระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง ขณะที่ร้อยละ 8.13 ระบุว่า เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง

ด้านการตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมประท้วงของประชาชน หากมีนักการเมือง/พรรคการเมือง/กลุ่มการเมือง รณรงค์ให้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองบนท้องถนน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.87 ระบุว่า จะไม่ไป เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นการสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง กลัวเกิดการจลาจลเหมือนครั้งก่อนๆ

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขอติดตามข่าวทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และไม่ชอบการเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ รองลงมา ร้อยละ 14.02 ระบุว่า ไม่แน่ใจ เพราะต้องดูรายละเอียดต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการชุมนุม เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม การชุมนุม สถานที่ แกนนำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้น และร้อยละ 3.11 ระบุว่า จะไป เพราะมีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ประเทศพัฒนามากกว่านี้ และไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คน นอกสภา หากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรค พบว่า ร้อยละ 20.00 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นสิทธิที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะสามารถเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยากให้ยุบสภา ร้อยละ 11.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะการอภิปรายนอกสภาเป็นการแสดงออกทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชอบนโยบายพรรคอนาคตใหม่เป็นการส่วนตัว ร้อยละ 11.16 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจควรทำเฉพาะในรัฐสภาเท่านั้น ไม่สมควรทำนอกสภา ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจควรอยู่ในสภาเท่านั้น ถ้านอกสภาเปรียบเสมือนการประท้วง ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแย่ลง และร้อยละ 25.18 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net