Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐไทยภายใต้รัฐบาลที่มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.มีส่วนเลือกมาเป็นผู้ร่าง) และมีแนวทางการพัฒนา วิสัยทัศน์ของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ร่างโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีที่มาใกล้ชิดกับ คสช.อีกเช่นกัน)

นอกจากจะมีรัฐบาลที่ความใกล้ชิดกับ คสช.ซึ่งแกนนำเป็นทหารและตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคงแล้ว ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา ก็ชี้ให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่งด้วยการเสนอของบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,219.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของงบประมาณ งบประมาณกระทรวงกลาโหม 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6,226.8 ล้านบาท ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมดโดยกองทัพบกได้เพิ่ม 2.3 พันล้านบาท กองทัพเรือได้เพิ่ม 1.8 พันล้านบาท กองทัพอากาศได้เพิ่ม 1.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติที่กระจายอยู่ใน 3 เหล่าทัพ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการทหารสูงสุด มีงบรวมกัน 87,270 ล้านบาท (https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1683353)

และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปียังระบุชัดว่าวิสัยทัศน์ของประเทศคือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580, หน้า 5, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF) เป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันชูประเด็นเรื่องความมั่นคงในการบริหารประเทศ 

หากหน้าที่พื้นฐานของรัฐๆ หนึ่งคือการให้ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยแก่ประชาชนในรัฐนั้นๆ แต่ดูราวกับรัฐนาวาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตในด้านความมั่นคงและความเป็นผู้นำอย่างรุนแรงจากการที่ไม่สามารถควบคุม บรรเทา รับมือวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา วิกฤตไวรัสโคโรน่าที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน มาจนถึงเหตุการณ์อุกอาจสองครั้งสองคราติดต่อกันคือ เหตุการณ์ที่คนร้ายพร้อมอาวุธปืนบุกปล้นร้านทอง ที่จ.ลพบุรี และล่าสุดขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความชิ้นนี้คือเหตุการณ์ที่ทหารชั้นประทวนปล้นอาวุธปืนไปสังหารผู้บังคับบัญชากลางห้างดังใจกลางเมืองจ.นครราชสีมา โดยมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งสองเหตุการณ์ (ยังไม่รวมถึงสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม้จะมีการบริหารประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านรักษาความสงบแล้วแต่ก็ยังคงมีเหตุปะทะ และความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ) ในทางนโยบาย แผนและในทางปฏิบัติรัฐไทยได้ให้ความสำคัญและลงทุนกับประเด็นด้านความมั่นคงอย่างมหาศาล แต่ทว่าในขณะนี้กลับไม่สามารถทำหน้าที่พื้นฐานของรัฐในการให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชนได้ 

ก่อนการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าสื่อต่างชาติมองว่าไทยกำลังเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวโดยมีลักษณะสำคัญคือ “บ้านเมืองไม่สงบ ไม่ปลอดภัยทุกหัวระแหง นักการเมือง ผู้สมัครพรรคการเมืองไม่กล้าที่จะหาเสียงข้ามถิ่น ข้ามภาค แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็เรียกร้องการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันทุกคนไม่มั่นใจในความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นั่นเป็นประจักษ์พยานหนึ่งของคำว่ากำลังจะล้มเหลว นอกจากนี้ กฎหมายที่มีมากมายหลายฉบับ แต่มีแล้วก็เหมือนเศษกระดาษ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์” (https://thaipublica.org/2016/10/visanu-15-9-2559/)

ณ ตอนนี้รัฐไทยอาจจะไม่ได้เข้าสู่รัฐล้มเหลวดังที่นายวิษณุกล่าว แต่ทว่าความรู้สึกไม่ปลอดภัยของประชาชนกำลังกลับมาอีกครั้ง พร้อมด้วยความเสื่อมศรัทธาในตัวผู้นำและรัฐบาลที่เลือกผลักภาระมาให้ประชาชนดูแลตัวเองดังที่พลเอกประยุทธ์กล่าวในกรณีวิกฤตฝุ่น PM 2.5 และไวรัสโคโรน่าว่า “ให้ประชาชนดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย เพราะรัฐบาลไม่สามารถไปดูแลได้ทุกอย่าง”(https://voicetv.co.th/read/m0RM7eQUN?fbclid=IwAR2SEm_a3Wz6rWbNf3tyvijKBv1WmATUlX_Z300_d_2nsMHTJpdYiYmxsd8

เห็นได้ว่ารัฐไทยภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ (หรือกล่าวให้ถึงที่สุดรัฐไทยภายใต้ คสช. นับแต่มีการรัฐประหาร) แม้จะเป็นรัฐที่มีการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง ชูประเด็นความสงบมั่นคงในประเทศเหนือสิ่งอื่นใด ให้ความสำคัญกับการจัดสรรเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงเป็นอย่างมาก และพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของผู้นำที่เป็นทหาร ประเทศไทยจะมีความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” แต่ทว่าสิ่งที่ปรากฏ ณ ขณะนี้กลับกลายเป็นว่ารัฐไทยนั้นเปราะบาง แต่ในขณะเดียวกันก็แข็งทื่อจนไม่สามารถปรับตัวได้ทันท่วงทีกับภัยคุกคามความมั่นคงในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่มีลักษณะข้ามชาติ ข้ามพรมแดนและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ทั้งยังไม่สามารถรับมือภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบเก่าอย่างการก่อการร้ายได้อีก รวมถึงการจัดการกับข่าวลวง (Fake news) ในภาวะวิกฤตที่สร้างความสับสน และตื่นตระหนกแก่ประชาชน นับวันรัฐนาวาของพลเอกประยุทธ์จึงสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นรัฐบาลล้มเหลว

กล่าวให้ถึงที่สุดคือแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงอย่างทหารแต่การที่ไม่สามารถรักษาความสงบสร้างความมั่นคงได้ดังที่วางวิสัยทัศน์เอาไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และแถลงเป็นนโยบายหลักข้อที่ 2 จากนโยบายหลัก 12 ข้อของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อ 2.1 รักษาและป้องกันอธิปไตยและความมั่นคงภายในของประเทศ และ 2.4 สร้างความสงบและความปลอดภัยตั้งแต่ระดับชุมชน (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี, หน้า 4, https://www.thaigov.go.th/uploads/document/66/2019/07/pdf/Doc_20190725085640000000.pdf) ก็อาจเป็นประเด็นสำคัญที่สั่นคลอนรัฐนาวาของพลเอกประยุทธ์ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาและศึกซักฟอกอภิปรายไม่วางใจที่กำลังจะมาขึ้น 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net