Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การถอดบทเรียนเรื่องความขัดแย้งของ พระสุธีรัตนบัณฑิต (ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรณีการพัฒนาชุมชนทั้งที่แม่สรวย (จ.เชียงราย) และย่านถ.เจริญกรุง (กรุงเทพ) (https://youtu.be/beQ2I1-jp9w) นับว่ามีคุณค่าในแง่กระบวนการเรียนรู้ในแง่สันติศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะงานสันติศึกษาทั้งหลายเหล่ สมควรอยู่บนดิน ติดดิน อยู่กับชาวบ้านมากกว่างานศึกษาแขนงอื่นๆ จึงควรค่าแก่การนำเสนอในงาน World Peace National and International Conference ในวันที่ 31 มกราคม 2563 อย่างแท้จริง

ต่างจากรูปแบบการปฏิบัติของสำนักเดิม คือ หลักสูตรสันติศึกษาในสถาบันศึกษาของคณะสงฆ์แห่งเดียวกัน ที่รังแต่อยู่บนหอคอยงาช้าง นั่งทำงานกันบนตึกแถววังน้อย โดยอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการสันติศึกษา เท้าแทบไม่สัมผัสดินเอาเลย ไม่มีการถอดบทเรียนจาก”ของจริง”มาได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้หรือกรณีโรฮิงญา หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเหตุเกิดบนถนนราชประสงค์ ทั้งเจ้าสำนักสันติศึกษาของคณะสงฆ์แห่งนี้เองยังมีท่าทีเอนเอียงกะเท่เร่ หันไปซูฮกต่อสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสะดมภ์หลักฝ่ายวิชาการสถาบันการเมืองอนุรักษ์นิยมหรือแนวจารีตของไทย

ท่าทีการดำเนินงานเชิงการ”ปฏิบัติจริง”เชิงวิชาการสันติศึกษาที่่ติดดินของพระสุธีรัตนบัณฑิตแห่งวัดสุทธิฯ เด่นชัดขึ้นมากเท่าใด ท่าทีแห่งการไม่โล้เป็นพายของสถาบันสันติศึกษา มจร.ซึ่งทำหน้าที่วิจัยหรือศึกษาปัญหาความขัดแย้งในไทยหรือที่ใดๆ ในโลกก็ตาม ยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน ต่างมีแนวทางกันไปคนละแบบ 

พระสุธีรัตนบัณฑิตในฐานะ ผอ.สถาบันพุทธศาสตร์ ไม่อาศัยเพียงมโน หากอาศัยความเข้าถึงชุมชนหรือชาวบ้านตามหลักธรรมที่ท่านว่า” ขันติ สติ เมตตา ปัญญา” แม้เป็นองค์ธรรมครอบจักรวาลก็จริง แต่สามารถนำมาใช้เชิงปฏิบัติการได้จริง สมกับที่เมืองไทยมีประชากรพุทธเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะการที่ท่านมีประสบการณ์ ไม่มัวมโนโลกสวยตามแนวศึกษาสันติศึกษาแบบเดิม ของสถาบันสันติศึกษา มจร. 

การไม่มโน ไม่โลกสวยดังกล่าว ได้แก่ การที่ท่านมองว่างานสันติศึกษาเลี่ยงไม่ได้จะสัมพันธ์กับชาวบ้านรากหญ้า สัมพันธ์กับนายทุนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องอาศัยเทคนิควิธีการเข้าถึง เข้าใจพวกเขาซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งเป็นอย่าง หลักธรรมต่างๆ ที่ท่านอ้างถึงก็หลั่งไหลพรั่งพรูออกมา ถูกนำมาใช้อย่างอัตโนมัติ อย่างธรรมชาติ แบบไม่ต้องดัดจริตจะก้าน
นอกเหนือจากสันติศึกษาเพียวๆ แล้ว ท่านพระสุธีรัตนบัณฑิต ยังล่วงลึกเข้าไปถึงรากฐานความเป็นอยู่ของชาวบ้านหรือประเด็นเศรษฐกิจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการส่งเสริมวิถีชุมชน วิถีประวัติศาสตร์ (กรณีแม่สรวย) ซึ่งก็ให้ผลสัมฤทธิ์ในแง่ของการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน ชุมชนเกิดความมั่นคง เพราะถ้าท้องอิ่ม สันติภาพในชุมชนก็เกิดได้ง่าย อาชญากรรมต่างๆ ยาเสพติดก็พลอยลดลงไปด้วย นี่มิใช่วิถีแห่งสันติภาพดอกหรือ?

ผมจึงเชื่อว่า ท่านพระสุธีรัตนบัณฑิต (ดร.พม.สุทิตย์ อาภากโร) แห่งวัดสุทธิฯ มาถูกทางตรงเผง โดยไม่ต้องอาศัยสื่อลิ่วล้อวิ่งตามคอยประกบสร้างภาพให้สังคมมีคำถาม พระสงฆ์ก็เหมือนครูนั่นแหละครับ เมื่อก่อนไม่มีผลตอบแทน เดี๋ยวนี้ครูมีเงินเดือน พระมีนิตยภัต เงินเหล่านี้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่ภาษีจากบ้านแบบคุณแบบผม แน่นอนว่าพอถึงจุดนี้ เราคือคุณคือผมก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามกับบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้ ไม่เว้นแต่กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นพนักงานของรัฐ

ทองธัช เทพารักษ์ เคยกล่าวถึงวัฒนธรรมการไหว้ครูว่า ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะศิษย์ไม่เคารพครูครับ หากเพราะองค์ประกอบของความเป็นคุรุนั้นเปลี่ยนครับ ครูในยุคร่วมสมัยนั้น มีเงินเดือนประจำครับ ครูสมัยบุพกาล สอนฟรี สอนด้วยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้นมีทางใดที่ศิษย์จะทดแทนตอบแทน เช่น หาบน้ำ ผ่าฟืน หรือกราบกรานต์ไหว้บูชาด้วยรำลึกพระคุณด้วยดอกไม้ธูปเทียนก็ย่อมต้องทำ ซึ่งเป็นเรื่องของหน้าที่และความสัมพันธ์ที่เหมาะสม เมื่อ flatform ของครูและพระสงฆ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ไม่แปลกที่การปฏิบัติ่ของลูกศิษย์หรือศรัทธาญาติโยมต้องเปลี่ยนไปด้วย ขณะที่ ส. ศิวรักษ์ เองก็มองว่านิตยภัตของพระสงฆ์ให้โทษมากคุณเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องการละวางมวลกิเลสของบรรพชิต

แนวทางของ ผอ.สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร. ในแง่วิธีการสันติศึกษาเชิงการปฏิบัติลดความขัดแย้ง ด้วยการลงลึกถึงรากหญ้าชุมชนทั้งที่เชียงรายและกรุงเทพ จึงกลับน่าสนใจให้ผลสัมฤทธิ์เชิงการปฏิบัติมากกว่าแนวทางของ ผอ.สถาบันสันติศึกษาในสถาบันศึกษา (มจร.) เดียวกันเสียอีก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net