Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเมืองอเมริกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างร้อนแรง ทั้งการลงมติถอดถอนประธานาธิบดี Donald Trump โดยวุฒิสภาสหรัฐ, การที่ประธานสภาผู้แทนราษฏร Nancy Pelosi ฉีกร่างถ้อยแถลงนโยบาย ไปจนถึงนาย Pete Buttigieg (พีท บุดดิเจช)  “คว้าชัยชนะ” ในการเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตในมลรัฐ Iowa (Iowa Caucus) ได้อย่างสูสีกับ Bernie Sanders

Pete Buttigieg ถูกมองว่าเป็นเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ม้ามืดโปรไฟล์ดี ผู้ที่เคยเป็นเพียงนายกเทศมนตรีเมือง South Bend ในมลรัฐ Indiana และเปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ที่สามารถเอาชนะ “ชายสูงวัยที่ไม่ปล่อยวางอำนาจ” จนถูกโหมในสื่อกระแสหลักของสหรัฐถึงการเปิดโอกาสทางการเมืองกับคนรุ่นใหม่ และเป็นความก้าวหน้าที่น่าให้กำลังใจ

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งที่ Iowa กลับเต็มไปด้วยปัญหาและความเคลือบแคลง เริ่มตั้งแต่การที่กระบวนการนับคะแนนอยู่ ๆ ก็ยุติลงในคืนวันเลือกตั้งและปล่อยผลคะแนนออกมาเพียง 62% ในวันต่อมา ขณะที่ Pete กล่าวอ้างว่าตนเองคว้าชัยชนะในการเลือกตัวแทนทั้ง ๆ ที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทว่าสื่อกระแสหลักของสหรัฐกลับไม่ได้สนใจที่จะขุดคุ้ยประเด็นนี้นัก จนผู้เขียนต้องติดตามสื่อทางเลือก (alternative media)” และการรายงานและตรวจสอบผลคะแนนโดยนักเคลื่อนไหวในโลกทวิตเตอร์ของสหรัฐฯ แทน

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดของการจัดการการเลือกตัวแทน หรือเป็นเพราะว่าอาจมีการ “ฮั้ว” ระหว่างคณะกรรมาธิการพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee - ขอย่อว่า DNC) และพรรคเดโมแครตมลรัฐ Iowa (Iowa Democratic Party - ขอย่อว่า IDP) เพื่อให้ Pete สามารถ “ชนะ” การเลือกตัวแทนนี้ในฐานะตัวแทนของฝ่ายอำนาจเก่า (establishment) ซึ่งกุมตำแหน่งสำคัญภายในพรรค เพื่อตัดกำลังฝ่ายการเมืองมวลชนของ Bernie ไม่ให้เขาได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่สิ่งที่พอบอกได้คือ ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันภายในของสองฝ่ายนี้

บทความนี้คงไม่สามารถพิสูจน์ถึงแรงจูงใจของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะขอพยายามเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ติดตามในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อตีแผ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความสำคัญของเหตุการณ์เหล่านี้ และวิเคราะห์ผลกระทบต่อทิศทางในการเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตต่อไป


Iowa Caucus คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ในกระบวนการคัดเลือกตัวแทนพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะใช้ “ระบบคอคัส (caucus)” และ “ระบบเลือกตั้งขั้นต้น (primary vote)” ขึ้นอยู่กับแต่ละมลรัฐ

ระบบเลือกตั้งแบบ primary ไม่ต่างจากการเลือกตั้งปกติธรรมดาในประเทศไทยที่แคนดิเดต (ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรค) แต่ละคนจะได้คะแนนเสียงจากบัตรเลือกตั้งโดยตรง ขณะที่ระบบ caucus จะอยู่ในรูป “การประชุม” เพื่อหาสัดส่วน “ตัวแทนผู้ลงคะแนน (delegate)” ของแคนดิเดตแต่ละคน ซึ่ง delegate ที่ได้รับเลือกมาเหล่านี้ จะต้อง “สาบาน (pledge)” ว่าจะสนับสนุนแคนดิเดตคนนั้น ๆ ในการประชุมใหญ่ (national convention) ในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อสรรหาตัวแทนของพรรคเดโมแครตที่จะเข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไป

ในการรายงานผลของ Iowa Caucus นั้น มักจะเปรียบเทียบ First Alignment (การลงคะแนนในที่ประชุมรอบแรก), Final Alignment (ผลคะแนนในที่ประชุมสุดท้าย), และ State Delegate Equivalent (สัดส่วนจำนวน delegate ที่พึงได้ - ขอย่อว่า SDE) โดยปกติแล้วในการประชุมคอคัสนั้น ผู้ที่มาใช้สิทธิจะประกาศตัวว่าตนสนับสนุนแคนดิเดตผู้ใด เพื่อหาคะแนน First Alignment ซึ่งในกรณีของ Iowa นั้นหากคะแนนแคนดิเดตไม่ถึง 15% ของที่ประชุม จะถือว่าแคนดิเดตคนนั้นไม่เข้ารอบ (not viable) และผู้ใช้สิทธิเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้อง “ย้าย” เสียงตัวเองไปให้แคนดิเดตอื่นที่เข้ารอบ (หรือจะกลับบ้านเลยก็ได้) ซึ่งแน่นอนว่าในระหว่างนี้ผู้สนับสนุนแคนดิเดตแต่ละคนก็จะพยายามโน้มน้าวคผู้ใช้สิทธิคนอื่น เพื่อสร้าง Final Alignment ที่นำไปคำนวณหา SDE (หากจำนวณไม่ลงตัว ก็ตัดสินโดยการทอยเหรียญ)

ใช่ครับ เขาทอยเหรียญหัวก้อยเพื่อตัดสินจำนวน delegate ที่แคนดิเดตพึงมี นี่เป็นเหตุผลที่ว่า Pete ได้จำนวน SDE สูงสุด ในขณะที่ Bernie ได้จำนวนคะแนนเสียงสูงสุด ทั้งในรอบ First Alignment และ Final Alignment (นี่เป็นหนึ่งในปัญหาของระบบ caucus ที่ผู้ที่ได้เสียงข้างมาก กลับไม่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุด เพราะการทอยเหรียญขึ้นอยู่กับโชค ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นผลการเลือกตัวแทนที่สำคัญพอที่จะพยากรณ์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อย่างไร)

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญของการ Iowa Caucus ไม่ใช่จำนวน delegate (เพราะแม้จะชนะขาดก็จะได้ delegate เพียง 41 คนจาก 3900 กว่าคนทั่วประเทศ) แต่เป็นเรื่องของการชิงพื้นที่สื่อกระแสหลักของแคนดิเดต ว่าตนเองมีศักยภาพ เพื่อเป็นการสร้างกระแส (momentum) เพื่อเอาชนะมลรัฐอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะในกรณีของ Pete ที่สื่อกระแสหลักรายงานชัยชนะไปแล้ว ก่อนจะออกมาล้มกระดานว่าการนับคะแนนมีปัญหา ทำให้แคนดิเดตคนอื่น เช่น Bernie ไม่สามารถประกาศชัยชนะและชิงพื้นที่สื่อได้แล้ว กลายเป็น Pete ได้ประโยชน์จากการสร้างกระแสแต่เพียงคนเดียว จนตอนนี้โพลล์ใหม่ในมลรัฐ New Hampshire ต่างเผยว่าความนิยมของ Pete เพิ่มขึ้นหลัง Iowa Caucus แซงหน้าแคนดิเดตอื่น ๆ ตามหลัง Bernie เป็นอันดับสองไปแล้ว


ปัญหาการนับคะแนนและการชิงโอกาสของ Pete Buttigieg

ความล่าช้าในการประกาศผลของ Iowa Caucus ที่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ Pete สามารถชิงประกาศชัยชนะได้นั้น ผู้เขียนแบ่งคำอธิบายเป็น 3 ประเด็นได้แก่ 1) ความล้มเหลวของแอพพลิเคชั่นรายงานผลคะแนนที่ IDP ใช้ 2) การเลือกปล่อยคะแนนของ IDP ที่เป็นประโยชน์ต่อ Pete และ 3) บทบาทของสื่อกระแสหลักในการจัดการข้อมูลเหล่านี้

การเลือกตั้งที่ Iowa มีการใช้แอพพลิเคชันรายงานผลแค่ละพื้นที่ (precinct) แต่ผลปรากฎว่าเมื่อมีการใช้งานจริงแล้วได้เกิดปัญหามากมาย จนสุดท้ายแล้ว IDP ต้องประกาศว่าแอพไม่สามารถใช้งานได้และจะติดตามการนับคะแนนด้วยโทรศัพท์แทน ก่อนจะประกาศผลคะแนน 62% ในวันต่อมา

อย่างไรก็ตามนักข่าวจากสื่อทางเลือกในสหรัฐค้นพบว่า บริษัท Shadow Inc. ที่เป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าว มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทั้งทีมหาเสียงของ Pete (หนึ่งในผู้ลงทุนเป็นภรรยาของผู้จัดการการหาเสียงของ Pete และตัวเธอเองก็ออกหาเสียงด้วย) และกับ DNC ทั้งในแง่ของเส้นสายระหว่างบุคคลและในทางการเงิน นำไปสู่ทฤษฎีสมคบคิด ทั้งการสร้างสถานการณ์ให้แอพล้มเหลว ไปจนถึงความเหมาะสม ความโปร่งใส และความยุติธรรมของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของพรรคเดโมแครต

ประเด็นถัดมา คะแนนที่ประกาศโดย IDP ในวันต่อมานั้นไม่ตรงกับคะแนนที่แต่ละเขตรายงาน จนมีการทักท้วงเกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ (แต่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน) เช่นใน Black Hawk County นั้นคะแนนโหวตของ Bernie หายไปราว 500 คะแนน และถูกโยกไปให้กับ Tom Steyer และ Deval Patrick หรือในกรณีของ Polk County Des Moines 14 นั้น คะแนนโหวตของ Bernie ถูกรายงานอย่างถูกต้อง แต่ SDE ถูกย้ายไปให้สมาชิกวุฒิสภา Elizabeth Warren จริงอยู่เราเชื่อทวิตเตอร์ทันทีไม่ได้ แต่ประเด็นคือ IDP ในท้ายที่สุดก็แก้ไขข้อมูลตามที่ถูกทักท้วงในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นการยืนยันความผิดพลาดของตัวเอง และการรายงานข้อมูลที่ถูกต้องบนทวิตเตอร์

นอกจากรายงานคะแนนผิดพลาดแล้ว IDP ยังเลือกรายงานคะแนนจากเขตที่ Pete ได้เปรียบเป็นส่วนมาก และข้ามเขตที่ Bernie ได้คะแนนนำ โดยเฉพาะใน satellite caucus (คอคัสนอกเวลาปกติที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถร่วมคอคัสปกติได้) ของกลุ่มคนผิวสี (Latino) และแรงงานต่างด้าว ที่ Bernie ได้คะแนนสนับสนุนอย่างท่วมท้น

ข้อน่าสังเกตคือเขตเลือกตั้งเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ทำการประชุมเสร็จเร็ว และรายงานผลเร็วกว่าคอคัสอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่กลับถูกประมวลผลเป็นอันดับสุดท้าย นอกจากนั้นสัดส่วนของสื่อที่เอา SDE หรือจำนวน delegate (ซึ่ง Pete นำ Bernie) มาเป็นมาตรวัด “ผู้ชนะ” มีถึง 80%ของการรายงานทั้งหมด ทำให้ “ภาพ” ของ Pete ผู้ชนะมีโอกาสติดตาสูงกว่าเป็นอย่างมาก และเมื่อผลเหล่านี้ถูกประมวลจน Bernie เริ่มทิ้งห่าง Pete ในคะแนนโหวต (ที่ Bernie ชนะอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อผล 62% ถูกประกาศ) และกระชั้นชิดใน SDE แล้ว นาย Tom Perez ประธาน DNC ได้ออกมากล่าวให้มีการ “นับคะแนนใหม่” โดยกล่าวอ้างถึงการรักษาคุณภาพในการรายงานผล ทั้ง ๆ ที่มิได้ทำอะไรในช่วง 2 วันก่อนหน้าที่มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายดังที่กล่าวไปแล้ว

แน่นอนว่าการตั้งข้อสงสัยทั้งหมด อาจเป็นเพียงความลำเอียงส่วนตัวของผู้เขียนที่นิยมการเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงานและการเมืองมวลชนของฝ่าย Bernie ผนวกกับการฟังความข้างเดียวจากสื่อทางเลือก ซึ่งอาจมิได้มีความเป็นมืออาชีพเพียงพอเมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลักชั้นนำอย่าง CNN, MSNBC หรือ New York Times แต่ปัญหาคือ ผู้เขียนไม่สามารถหา “อีกด้าน” ของการสืบสวนโดยนักข่าวจากสื่อกระแสหลัก เพราะพวกเขาต่างวุ่นอยู่กับการติดตามข่าวการลงมติถอดถอน (ที่ทุกคนรู้ผลอยู่แล้ว และประชาชนสหรัฐฯมิได้มีความสนใจมากนัก) หรือการประโคมข่าวการฉีกร่างแถลงของประธานสภา Pelosi จนทำให้ประเด็นข้อครหาเกี่ยวกับ Iowa Caucus เหล่านี้ ไม่ถูกรายงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ภาพของ Pete ผู้ชนะ Iowa Caucus (หรืออย่างน้อยก็ “เสมอ” กับ Bernie) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกตั้งคำถามอย่างเพียงพอ จนผู้เขียนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากไปหาข้อมูลในสื่อทางเลือก และได้เห็นข้อมูลเพียงพอจนรู้สึกได้ว่าสื่อกระแสหลักก็เป็นส่วนหนึ่งของความล้มเหลวเชิงสถาบัน ที่นำไปสู่การที่ Pete สามารถเป็น “ผู้ชนะ” Iowa Caucus อยู่ได้ในระยะหนึ่ง หากมิได้ติดตามสถานการณ์แบบออกนอกกรอบปกติสักเล็กน้อย (ผู้เขียนได้เห็นการขุดหาข้อมูลเกี่ยวกับ Shadow Inc. และการแย้งข้อมูลผลคะแนนอย่างแข็งขันแบบเรียลไทม์ในโลกทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งพอสมควรเลยทีเดียว)


ทิศทางการเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตจะเป็นอย่างไร

อันที่จริงการชนะใน Iowa Caucus ของ Pete ไม่ได้เกิดจากปัญหาการนับคะแนนแต่เพียงอย่างเดียว ก็ต้องยอมรับว่า เขาก็สามารถสร้างฐานเสียงพอให้มีประชาชนมาสนับสนุนพอจริง ๆ (เขาใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับการโฆษณา ในโค้งสุดท้ายก่อน Iowa Caucus) ยิ่งตัวเต็งอื่น ๆ อย่างอดีตรองประธานาธิบดี Joe Biden และ Warren แพ้ราบคาบ (อันดับ 4 และอันดับ 3 ตามลำดับ คะแนนแพ้แบบทิ้งห่าง) โอกาสที่ Pete จะสามารถแย่งฐานเสียงของ Biden และ Warren (คนขาวสูงวัยและคนขาวฐานะดี) ใน New Hamsphire ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย (คะแนนนิยมขึ้นมาเป็นที่ 2 แล้วดังที่กล่าวไปข้างต้น) และหาก Pete สามารถชนะทั้ง Iowa และ New Hampshire นั้น จะเป็นการ “ยืนยัน” กระแสความเป็นม้ามืดได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Pete ไม่สามารถรักษาความเป็น “ม้ามืด” ได้มากไปกว่ามลรัฐ New Hampshire เพราะเขามีความนิยมในหมู่ประชากรผิวสี (ทั้งคนดำและ Latino) ต่ำมาก ในขณะที่ Biden ยังคงมีการสนับสนุนที่เข้มแข็งในหมู่คนดำโดยเฉพาะในมลรัฐ South Carolina ซึ่งกลุ่มคนผิวสีนั้นเป็นฐานเสียงที่สำคัญอย่างมากต่อพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลัง New Hampshire ในการดีเบทใน New Hamsphire ที่เพิ่งมีขึ้น Pete ถูกถามเกี่ยวกับปัญหาการจับกุมประชาชนคนดำในเมือง South Bend ที่สูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพึงพอใจได้ มิหนำซ้ำยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เขาพูดมีนัยยะที่เหยียดผิวในระดับหนึ่ง เพราะเป็นการเชื่อมโยงประชาชนคนดำกับการใช้ความรุนแรงทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว การขาดแรงสนับสนุนของ Pete ยังเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่การที่ตัว Pete เอง และทีมหาเสียงของ Pete มิได้เตรียมคำตอบที่แสดงความจริงใจ (เช่น การขอโทษและยืนยันว่าได้เรียนรู้ความผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ Biden ทำเมื่อถูกซักถามเรื่องการสนับสนุนสงครามอิรักในอดีต) หรือข้อมูลที่สนับสนุนคำตอบดังกล่าว เพื่อแก้ต่างปมด่างของเขาในสมัยนายกเทศมนตรีไว้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความคับแคบในความเข้าใจประชาชนผู้ออกเสียง และขาดความพร้อมที่จะทำความเข้าใจสังคมที่อยู่นอกโลกชนชั้นสูงลิเบอรัลที่ Pete เติบโตมาในกรอบโลกทัศน์แบบ “Washington, DC elite” ที่มุ่งพัฒนา career path ของตนเองโดยไม่แยแสปัญหาสังคมรอบตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งในแง่ของการวางแผนการเลือกตั้งแล้วทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า Pete และทีมหาเสียงของเขา ไม่น่าจะมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับแผนการหาเสียง (มิใช่แค่การออกแบบนโยบาย) เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มสังคมต่าง ๆ เพื่อที่เอาชนะในมลรัฐต่อ ๆ ไป

หาก Pete ไม่สามารถที่จะต่อกรกับ Bernie ได้แล้ว ตัวเลือกอื่น ๆ ของฝ่าย establishment อย่าง Biden หรือสมาชิกวุฒิสภา Amy Klobuchar ก็ถูกมองว่าไม่มีโอกาสลุ้นมากนัก สำหรับผู้เขียนการที่ Biden ไม่สามารถเอาชนะได้ใน Iowa มิใช่สิ่งที่น่าแปลกใจมากนัก (แต่ก็ไม่นึกว่าจะได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของ Bernie และ Pete) เพราะแม้ว่าตำแหน่งในโพลล์ช่วงก่อน Caucus นั้นยังสูสีกับ Bernie และ Pete อยู่ แต่ในแง่ของ trend line นั้นความนิยมของเขาได้ลดลงมาตามลำดับ เมื่อผนวกกับปัจจัยอื่น ๆ เช่นสถานการณ์การเงินของการหาเสียงของเขา การที่เขามีคลิปหลุดที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางอารมณ์ หรือการที่นักข่าวที่ลงพื้นที่หลายคนกล่าวว่าการหาเสียงของเขา “ไม่มีพลังงาน” นั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ถึงขั้นที่ว่านักข่าวที่รายงานเรื่องเหล่านี้สามารถคาดการณ์ผลของ Iowa Caucus ได้อย่างแม่นยำว่า Biden น่าจะได้อันดับที่ 4

การที่ Biden ได้อันดับที่ 4 ในแบบที่เขา underperform อย่างน่าตกใจเช่นนี้ ประกอบกับเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สั่งสมมา ย่อมสร้างความไม่มั่นใจต่อตัวเขาในฐานะตัวเลือกของฝ่าย establishment ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แคนดิเดตอื่นอย่าง Steyer ผู้ที่ทุ่มงบประมาณจำนวนมากในมลรัฐ South Carolina สามารถกระชั้นชิดเป็นอันดับ 2 ในมลรัฐนั้นได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนมองว่าตัวเลือกที่ฝ่าย establishment จะเหลือคือ Michael Bloomberg ที่มีโอกาสเป็น “ม้ามืด” อีกคนอยู่

ด้วยทรัพย์สินมหาศาลกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ Bloomberg เขาได้ทุ่มงบประมาณไปเกือบ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการซื้อโฆษณา เป้าหมายของงบประมาณเหล่านั้นอยู่ที่มลรัฐในช่วง Super Tuesday และหลังจากนั้นทั้งหมด เพื่อเลี่ยงการแข่งขันกับตัวแทนอื่น ๆ ซึ่งมีคะแนนนิยมที่สูงกว่าตัวเขาในมลรัฐแรก ๆ รวมถึงการเลี่ยงขึ้นเวทีดีเบต ที่อาจทำให้เสียเปรียบในภาพลักษณ์ ซึ่งถึงแม้จะบอกได้ยากว่าแผนนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่การที่ Bloomberg สามารถยกอันดับตนเองขึ้นมาถึงอันดับ 4 ในโพลล์เฉลี่ยระดับประเทศนั้นแสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์นี้มิได้เปล่าประโยชน์ไปเสียทีเดียว

อีกเหตุผลหนึ่งคือ Bloomberg ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกวาดจำนวน delegate แบบชนะขาด ขอแค่ได้จำนวนมากพอที่จะทำให้ไม่มีผู้สมัครคนไหนได้ delegate เกิน 51% เพราะสถานการณ์นั้นจะนำไปสู่ Brokered Convention หรือ Contested Convention ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ที่มีการต่อรองกันของแกนนำพรรค เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมและเทคะแนน delegate ไปให้ผู้สมัครคนนั้น ๆ

ใน Brokered Convention ไม่ใช่แค่ delegates ที่สาบานตน (pledge) ไปแล้วจะสามารถเปลี่ยนแคนดิเดตที่สนับสนุนได้เท่านั้น แต่ยังมีการเพิ่มตัวแทนที่ไม่ได้สาบานตน (superdelegates) เข้ามา เพื่อเอื้อให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้เสียงส่วนใหญ่ง่ายขึ้น

ในทางทฤษฎีแล้วระบบนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อ Bloomberg โดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่ทำให้ Brokered Convention น่าจะเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของเขาคือความเป็นจริง 2 ประการ คือ 1) การที่ Bloomberg เป็นแคนดิเดตซึ่งมีทรัพย์สินพอที่จะทำการหาเสียงได้ด้วยตนเอง (เขาบริจาคเงิน 3 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อ DNC ด้วยซ้ำ!) ทั้งยังมีจุดยืนทางการเมืองที่ “ไม่สุดโต่ง” (ถ้าพูดให้ถูกคือ Bloomberg มีจุดยืนใกล้เคียงพรรคริพับลิกันมากกว่าด้วยซ้ำ) จะทำให้เขากลายเป็นตัวเลือกที่ดีในสายตาของผู้ลงคะแนน (ทั้ง delegates และ superdelegates) ที่มีจุดยืนใกล้เคียงฝ่าย establishment และ 2) การที่คณะกรรมาธิการพรรค ซึ่งมีอำนาจในการจัดการประชุมและกำหนดยุทธศาสตร์หาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ เต็มไปด้วยบุคคลที่มีจุดยืนต่อต้านฝ่าย Bernie และยังมีเจ้าหน้าที่ในทีมหาเสียง Bloomberg อยู่ในคณะกรรมาธิการอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะสร้างความได้เปรียบต่อ Bloomberg ในกรณีที่เขาต้องปะทะกับ Bernie ใน Brokered Convention ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นในการแข่งขันที่มีแคนดิเดตจำนวนมากเป็นประวัติการณ์อย่างในปีนี้

ขอทิ้งทายด้วยข้อมูลโพลล์ที่น่าจะช่วยตอบคำถามที่ว่า “แล้วแคนดิเดตคนไหนมีโอกาสชนะ Trump สูงสุด” ที่ส่วนใหญ่จะยก Bernie และ Trump ขึ้นมาเทียบกันนั้น แทบทุกโพลล์ (แม้กระทั่งสื่อฝ่ายพรรคริพับลิกันอย่าง FOX News) ต่างชี้ว่า Bernie สามารถเอาชนะ Trump ได้อย่างขาดลอย

สิ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นเพิ่มเติมคือผลของโพลล์จากปลายเดือนมกราคมที่ชี้ว่า Bernie สามารถเอาชนะ Trump ได้ แม้ว่าจะระบุว่าเขาเป็น “นักสังคมนิยม (socialist)” ก็ตาม ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตหลายคนเป็นห่วงว่าการให้ Bernie เป็นตัวแทนนั้น จะทำให้พรรคริพับลิกันสามารถชนะการเลือกตั้งได้โดยการใช้วาทกรรมความกลัวลัทธิสังคมนิยมในวัฒนธรรมอเมริกา แต่ผลของโพลล์นี้ชี้ให้เห็นว่า บางทีสังคมสหรัฐฯอาจก้าวข้ามความกลัวนั้น และหันไปให้ความสนใจกับประเด็นปัญหานโยบายประกันสุขภาพ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ การพยายามจัดการกับความเหลื่อมล้ำ และอำนาจในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองและการเงิน ที่เป็นปัญหาที่พวกเขาประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน มากกว่าความกลัวที่ล้าสมัยแล้วก็เป็นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net