Skip to main content
sharethis

ฉวยโอกาสคุมสื่อ? หลังเหตุกราดยิงโคราช ส.ว.ชง 'พุทธิพงษ์' รับ จ่อจัดระเบียบสื่อ-คุมโซเชียล ให้สื่อหลักของรัฐรายงานเหตุวิกฤติที่เดียว 

17 ก.พ.2563 วันนี้ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว.ถามกระทู้เรื่องมาตรการควบคุมสื่อมวลชนในการเสนอข่าวช่วงเหตุการณ์วิกฤต โดยเฉพาะการไลฟ์สดเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการจัดการ และกำกับสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤตอย่างไรนั้น

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้นำประเด็นที่ชี้แจงมาเผยแพร่ในเฟสบุ๊กแฟนเพจว่า ปัจจุบันการควบคุมพื้นที่สื่อมีความยากลำบาก เหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนพยายามทำตัวเป็นสื่อ ทั้งสื่อหลักที่ได้รับอนุญาตการนำเสนอข่าวจาก กสทช. หรือสื่อที่ไม่ได้ขออนุญาตจากใคร แค่มีคนติดตาม 100 คน ก็เรียกตัวเองว่าสื่อ นำเสนอข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย บางสื่อเสนอเนื้อหา โพสต์ภาพไม่เหมาะสม รัฐบาลพยายามประสานไปยังเฟซบุ๊ก ให้ช่วยบล็อก หรือลบเนื้อหา รูปที่ไม่เหมาะสม เช่น รูปผู้เสียชีวิต รูปการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเฟซบุ๊กก็ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่รัฐบาลไม่มีกฎหมายที่จะไปลบ หรือบล็อกเนื้อหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน
.
“หลังจากนี้คงต้องไปหาวิธีจัดระเบียบสื่อ และควบคุมโซเชียลมีเดีย อาจต้องพิจารณาสื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียว ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการนำเสนอข่าวช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤติ” พุทธิพงษ์ กล่าว

จะต้องคุมสื่อเพิ่มอีกเลย?

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเหตุกราดยิงที่ โคราช มีการวิจารณ์การทำงานของสื่อมากตั้งแต่เผยแพร่ภาพความรุนแรง การรายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่บางส่วน รวมทั้งการพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์คนที่อยู่ในที่หลบเกิดเหตุ ซึ่งผู้วิจารณ์จำนวนมากตั้งประเด็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ก่อเหตุเนื่องจากผู้ก่อเหตุสามารถเข้าถือการสื่อสารได้

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกมาโพสต์แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว รวมทั้งสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน ให้ระมัดระวัง และยึดหลักการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤติทั้งในขณะที่กำลังเกิดเหตุ และหลังการเกิดเหตุ ที่การนำเสนอข่าวนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนยืนยันในสิ่งที่ที่เกิดขึ้น ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ หรือเสนอข่าวที่จะก่อให้เกิดอันตรายตัวต่อประกัน และจะต้องไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบเหตุ

และ ช่วงค่ำวันที่ 8 ก.พ. ประมาณ 9.20 น. สำนักงาน กสทช ได้สั่งการทีวีทุกช่องไม่ให้ไลฟ์สดในช่วงปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่โ้ดยเฉพาะขั้นตอนในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือตัวประกัน

กระแสความไม่พอใจการทำงานสื่อมวลชน ยังคงกระจายตัวและเข้มข้นขึ้น เช่น การแสดงความเห็นในเพจ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่เรียกร้องให้รัฐจัดการลงโทษ ไปจนถึงหามาตรการควบคุมกำกับ

ในขณะที่ด้านหนึ่งก็มีการนำเสนอนักข่าวที่ใช้โดรนบินช่วยเจ้าหน้าที่ และนักข่าวภาค​สนาม​อย่าง เศรษฐา โสรินทร์ ที่เจ้าหน้าที่ใช้โดรนเขาในการตามหาตัวผู้ก่อเหตุก็ออกมา โต้การถูกเหมารวมว่าเป็น "นักข่าวไร้จรรยาบรรณ" ด้วย โดยเข้าระบุวิธีการทำข่าวของเขาด้วยว่า "หลังตำรวจวิสามัญ​คนร้ายแล้ว​ ผมถึงได้รายงานข่าวในสิ่งที่ตัวเองเข้าไปเห็นมากับตา​ ถ้าไร้จรรยาบรรณ​อย่างที่คุณยัดเยียด​จริง คงรายงาน​ไปก่อนหน้านี้แล้ว​ เพื่อเรียกยอด​ไลค์ เพื่อเรียกเรตติ้ง​ ทำไมถึงไม่ทำแบบนั้นก็เพราะให้ความร่วมมือกับตำรวจ​ ตำรวจจะได้ทำงานง่าย​ และตัวประกันทุกคนปลอดภัย"

อย่างไรก็ตามมีผู้พยายามชี้แจงว่า บทบาทหน้าที่ของสื่อด้านหนึ่งคือการตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจและนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ในกรณีนี้จะอาจดูสุดขั้วจนสังคมไม่ตั้งข้อสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่พ้นประเด็นช่วงวิสามัญผู้ก่อเหตุ และในที่เกิดเหตุนอกจากศพคนร้ายก็มีศพประชาชนอีก 2 ศพ เสียชีวิตอยู่ด้วย การตรวจสอบหรือนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ข้อผิดพลาดในรายกรณีก็วิจารณ์หรือหาความรับผิดชอบตามกรณีนั้นๆ แต่การตั้งเกณฑ์ให้รัฐควบคุมอย่างที่มีผู้เข้าไปเสนอให้ รมว.ดีอีเอส นั้นอาจเสี่ยงต่อการเข้าควบคุมสื่อหนักขึ้น และอาจจะถูกตั้งเป็นมาตรฐานเพื่อใช้กับกรณีอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย โดยเฉพาะข้อห้ามที่ว่า สื่อ “จะต้องไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่” นั้น หากมีกรณีที่เจ้าหน้าที่มีความขัดแย้งหรือเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองก็มีแนวโน้มที่ถูกนำข้อหาเหล่านี้มาใช้จำกัดการรายงานหรือตรวจสอบของสื่อก็ได้

 

ที่มา :

https://www.facebook.com/thaibja/posts/1853648774772710 

https://www.facebook.com/thaibja/photos/a.626743667463233/1853690784768509/ 

https://www.facebook.com/thaibja/posts/1853833018087619 

https://www.facebook.com/thaibja/photos/a.626743667463233/1853848728086048/

https://www.facebook.com/BeePunnakanta/photos/a.203424869789139/1732436306887980/ 

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2628868974016445&id=100006801046397

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net