Skip to main content
sharethis

ความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนตลอดเส้นทางประชาธิปไตยมีหลายกรณี และสำหรับสังคมไทย ไม่มีกรณีใดได้รับการชำระสะสางอย่างจริงจัง

‘6 ตุลา’ เหตุการณ์อันแสนโหดเหี้ยมก็เพิ่งมีที่ทาง ถูกพูดถึงอย่างเป็นระบบในช่วง 20 กว่าปีมานี้เอง หลังจากนักวิชาการและผู้ร่วมเหตุการณ์หลายคนได้ร่วมกันผลักดันจนเป็นวาระของสังคมได้บ้าง กระนั้นก็ยังต้องงมเข็มในมหาสมุทรค้นหา ‘ความจริง’ กันอีกหลายส่วนแม้จะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว

คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า 6 ตุลาฯ เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวท่ามกลาง ‘สงครามคอมมิวนิสต์’ ที่กินพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย พื้นที่ ‘สีแดง’ ในดินแดนภาคอีสานห่างไกลมีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย ชาวบ้านที่นั่นอยู่หว่างเขาควาย ด้านหนึ่งคือกองทัพของรัฐ ด้านหนึ่งคือกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พวกเขาถูกกระทำ ได้รับความสูญเสียโดยเฉพาะจากรัฐซึ่งกระทำอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความหวาดกลัว ปัจจุบันเหลือเพียงเรื่องเล่าของอดีตสหายและประชาชนผู้ประสบเหตุในพื้นที่ซึ่งแก่ชราและล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ เรื่องเล่าจึงบางเบาและกำลังเลือนหาย

‘ประชาไท’ ทดลองลงพื้นที่เหล่านี้เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ของคนในชุมชนทั้งการสังหารวัยรุ่นที่ ‘บ้านซ้ง’ การบังคับอพยพจาก ‘บ้านนาไร่ใหญ่’ สู่ควนกาหลงในภาคใต้ การสังหารตัดศีรษะคนในชุมชนเนื่องจากชื่อซ้ำกับสมาชิก พคท.ที่ 'บ้านปากช่อง' ฯลฯ ด้วยความตระหนักถึงข้อจำกัดมากมาย ทั้งการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง การตรวจสอบที่เป็นไปได้ยาก ความไม่แม่นยำของความทรงจำผู้คน แม้กระทั่งข้อจำกัดในการรับรู้ของเราเองว่าเกิดเหตุที่ใดบ้าง เราจึงเริ่มต้นโดยใช้เครื่องมืออย่าง ‘บทเพลง’ เป็นเข็มทิศนำทางตามรอยความสูญเสีย  

แต่ก่อนจะย้อนอดีตไปในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เราพาลงไปยังชายแดนใต้ พื้นที่ที่ความรุนแรงยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่ประสบกับความสูญเสีย รูปแบบการกระทำอาจมีทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง แต่คำถามยังคงดังคล้ายเดิม ความจริงยังคงเป็นปริศนา ผู้กระทำยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญความสูญเสียก็ยังคงถูกบันทึกอยู่ในบทเพลง

จากนั้นพาไปดูกรณี ‘ถังแดง’ หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้ว มันเป็นเหตุการณ์ใหญ่มีผู้สูญเสียหลักพันจึงยังมีผู้ทำการศึกษาและเล่าเรื่องนี้อยู่จนปัจจุบัน แต่เราทำการรวบรวมอีกครั้งจากเอกสารเก่าและแหล่งข้อมูลหลายแห่งเพื่อให้ ‘เห็นภาพ’ ชัดๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต และเหตุใดสังคมไทยจึงปล่อยมันผ่านเลยไปได้ง่ายๆ

1
ชายแดนใต้: ความสูญเสียซ้ำๆ กับความชินชา

     Satu berita nok beri tahu                          Dalae bongo berito hok Baru-baru
     มีข่าวหนึ่งอยากบอกให้รู้                                   ข่าวใหม่ๆ ในตำบลบางอ
     Demo bedey ore dok tebae kayu                Buleh mikey kito anok Melayu
     พวกเขายิงคนกำลังเลื่อยไม้                               (น่าคิด) อาจเป็นเพราะเราป็นคนมลายู
     Sungoh jahey perbuate mu                       Sudoh bedey tinga bedey disitu
     การกระทำของเขาช่างป่าเถื่อน                            ยิงเสร็จก็ทิ้งปืนไว้ตรงนั้น
     Ore siyae nok bunoh anok melayu              Demo bedey hawo mati wat buku
     คนสยามต้องการฆ่าคนมลายู                              พวกเขายิงพอตาย ก็สร้างหลักฐาน
     Apokoh saloh kito                                     Buleh demo buat nyanyo
     เราทำผิดอะไรหรือ?                                        พวกเขาถึงกระทำการทารุณ
     Manokoh une-une                                     Di dalae negari siyae
     กฎหมายอยู่ที่ไหน                                          ในรัฐสยามแห่งนี้
     Anok bining dudok dirumoh                       Hari-hari anok memange ayoh
     ลูกเมียที่อยู่ที่บ้าน                                          ลูกเรียกหาพ่ออยู่ทุกวัน
     Serto soro air mato lipoh                          Serto jiwo menangis jadi daroh
     พร้อมกับเสียงน้ำตาไหลริน                                พร้อมกับหัวใจที่ร้องไห้เป็นสายเลือด
     Apokoh saloh kito                                     Buleh demo buat nyanyo
     เราทำผิดอะไรหรือ?                                        เขาถึงกระทำการโหดร้ายอย่างนี้ได้  
     Manokoh une-une                                     Di dalae negari siyae
     กฎหมายอยู่ที่ไหน                                          ในรัฐสยามแห่งนี้

ตรวจสอบสำนวนภาษาไทยโดย ซะการีย์ยา อมตยา

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เพลงภาษามลายู Menangis jadi darah ของ อิรฟาน เวาะเจ เด็กหนุ่มชาวมลายูเผยแพร่ไปทั่วในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะในกลุ่มชาวมุสลิม เนื้อเพลงบอกเล่าถึงเหตุการณ์การฆ่าคนหนุ่ม 3 คนที่ขึ้นไปตัดไม้บนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อปลายปีที่แล้ว

ฝ่ายรัฐให้ข่าวว่านี่เป็นการปะทะกันระหว่างทหารพรานกับกองกำลังติดอาวุธ RKK โดยพบอาวุธปืน AK47 และปืนสั้นอยู่ที่ร่างผู้เสียชีวิต ต่อมานางพรวิลัย บวรณรงค์เดช พยาบาลวิชาชีพ หนึ่งในคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยแม่ทัพภาค 4 ให้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่าผู้เสียชีวิตทั้งสามเป็นผู้ก่อการร้ายและพวกเขาเสียชีวิตขณะกำลังจะวิ่งหนี

กระนั้นก็ตาม เรื่องเล่าก็ยังขัดแย้งกับสายตาของสาธารณะ ครอบครัวผู้สูญเสียยืนยันว่าคนหนุ่มเหล่านั้นมีแต่เครื่องมือตัดไม้และเลื่อยยนต์  ภาพของผู้เสียชีวิตถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ทั้งสามถูกยิงที่ศีรษะ 2 ใน 3 เสียชีวิตในท่านั่งขัดสมาธิกับพื้น ล้มตัวลงไปด้านหน้า ไม่ได้มีลักษณะดังข่าวจากฝั่งรัฐ และยังมีคำถามต่อไปด้วยว่าทำไมจึงใช้เวลานานถึง 35 ชั่วโมงก่อนจะอนุญาตให้ครอบครัวลำเลียงศพออกจากที่เกิดเหตุมาทำพิธีทางศาสนา

รอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการและคนทำงานภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร ในเมื่อคณะกรรมการตั้งตามคำสั่ง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. (แม่ทัพภาคที่ 4) และมีผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธานคณะกรรมการ นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังมีประวัติการทำงานมาแล้วในกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่อื้อฉาวและยังคงทิ้งปริศนาเอาไว้ 

จุดสิ้นสุดความสนใจของสาธารณชนต่อกรณีนี้น่าจะเป็นคำสั่งย้ายผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารพรานที่ 45 ออกนอกพื้นที่ และแม่ทัพภาค 4 ได้ออกมากล่าวขอโทษพร้อมกับจ่ายเงินเยียวยาศพละ 500,000 บาท ให้กับครอบครัว

ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้มีอยู่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่มีบทสรุปเช่นนี้ คำถามของมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ นักสื่อสารมวลชนและอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ ทำให้ฉุกคิดว่า ที่ผ่านมารัฐได้ทำหน้าที่ปกปิดตัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดไม่ให้ประชาชนได้รับรู้มาโดยตลอดใช่หรือไม่

หากนับจุดเริ่มต้นที่กรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง 4 มกราคม 2547 ตลอด 15 ปีในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (มกราคม 2547 - มิถุนายน 2562) มีเหตุการณ์ความรุนแรงถึง 20,323 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,997 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 13,143 ราย โดย 61% ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอหรือพลเรือน (Soft Targets) 

นี่เป็นเพียงหนึ่งในความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ห่างไกล ชายขอบ มันได้สร้างความชินชาและเป็นอื่นสำหรับคนทั่วไปในสังคม ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมต่อสาธาณชน สิ่งที่ยังคงเหลือคือความทรงจำ ความเจ็บปวดของครอบครัวญาติมิตรร่วมพื้นที่เผ่าพันธุ์  ส่วนเสียงเพลง Menangis jadi darah ก็ได้ทำหน้าที่บันทึกเสี้ยวส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้โดยไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดจะอยู่ตรงไหน

2
ถังแดง: ความทรงจำบาดแผลที่ไม่มีใครรับผิดชอบ

ขึ้นเหนือไปจากเทือกเขาตะเว ข้ามจังหวัดสงขลาไปยังจังหวัดพัทลุง แล้วย้อนเวลากลับไปช่วงทศวรรษที่ 2510 ซึ่งการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กำลังทวีความเข้มข้น พื้นที่บริเวณนี้มีความสูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองมากที่สุดทั้งในทางปริมาณและรูปแบบ โดยมีเพลง ‘ถังแดง’ เป็นหนึ่งบทสะท้อนความสูญเสีย

พึงกล่าวก่อนว่า สงครามเย็นหรือสงครามอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์/สังคมนิยมเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นพายุลูกนี้ อันที่จริงแล้ว พคท.ได้ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2485 แต่ต้องเปลี่ยนไปเคลื่อนไหว ‘ใต้ดิน’ หลังรัฐประหาร 2490 และสหรัฐอเมริกาได้ขยายบทบาทเข้าสู่ประเทศไทยอย่างชัดเจน ในปี 2494 พคท.ประกาศให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนด้วยวิธีรุนแรงหรือการทำสงครามยืดเยื้อ ปี 2508 เรียกกันว่าเป็นปีแห่ง ‘เสียงปืนแตก’ พรรคสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ทุกหน่วยใช้กำลังเข้าต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลปฏิกิริยาและขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาออกไป โดยใช้ยุทธวิธี ‘ป่าล้อมเมือง’


เขตงานเคลื่อนไหวของ พคท. มีการแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยอาจยึดสภาพพื้นที่ เช่น เทือกเขา หรือใช้ตามเขตการปกครอง เขตงานเดียวอาจมีชื่อเรียกทั้งสองแบบและเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา แผนที่ที่ได้จัดทำขึ้นนี้จึงเป็นเพียงข้อมูลหยาบๆ ที่ให้ภาพการเคลื่อนไหวพอสังเขป เรียกชื่อเขตงานตามภาษาที่เรียกกันเป็นการทั่วไปซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าหลายพื้นที่ในเขตป่าเขาห่างไกลซึ่งรัฐไทยเรียกว่าเป็นเขต ‘สีแดง’ จะมีการต่อสู้กันดุเดือดแค่ไหน

*เขาว่าพัทลุงสบาย
ฉันว่าอันตรายแท้เชียว
จะไปทางไหนให้หวาดเสียว
มันโกรธเรานิดเดียวเราก็ตาย

จับไปลงถัง
ราดน้ำมันแล้วจุดไฟ
ข้อหาคอมมิวนิสต์ มันคิดไป
จับพี่น้องเราใส่เตาแล้วเผาไฟ
แล้วมันก็ป้ายสีแดง

ด้านเมียก็เสียผัว
ถูกตัดหัวเสียบประจาน
มันขี้หกลูกหลาน
ว่าสันดานเป็นคอมฯ

ถังแดง เป็นชื่อเพลงที่แสง ธรรมดา (แสงธรรมดา กิติเสถียรพร) นักร้องเพลงเพื่อชีวิต สมาชิกวงจรยุทธ์และอดีตศิลปินนักปฏิวัติแถบเทือกเขาบรรทัดเป็นผู้แต่งขึ้น ใช้ทำนองเพลงข้างขึ้นเดือนหงายของวงสุนทราภรณ์ที่กำลังเป็นที่นิยมติดหูในขณะนั้นมาใส่เนื้อหาใหม่สะท้อนถึงสภาพความโหดร้ายในพื้นที่ดินแดนด้ามขวาน ปัจจุบันเพลงถังแดงยังมีเผยแพร่ในช่องยูทูบและในโซเชียลมีเดียอื่น

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ สรุปกรณีถังแดงไว้ในบทความ เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง ว่า

“เหตุการณ์ “ถังแดง” หรือ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เผาลงถังแดง” เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงเวลาของทศวรรษ 2510 ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบนี้ คือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐด้วยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยที่ผู้ต้องสงสัยบางส่วนถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังไม่เสียชีวิตก็จะถูกเผาทั้งเป็น”

ในหนังสือ บนเส้นทางภูบรรทัด ตำนานการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน (2544) แสงธรรมดาได้เขียนบันทึกความทรงจำและผลงานเพลงที่ตัวเองแต่งไว้ถึง 57 หน้า โดยมีเพลงถังแดงบันทึกอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบทเพลงนี้ โชคดีที่รายละเอียดส่วนหนึ่งของกรณีถังแดงถูกบันทึกไว้ในภาคแรกของหนังสือเล่มเดียวกัน (เมื่อชาวนาจับปืน ถังแดง น.130-147) 

หนังสืออ้างถึงคำบอกเล่าจากความทรงจำของอดีตสหายหญิงชาวพัทลุงผู้หนึ่งว่า

ฉันจำความได้ว่าเมื่อปี 2508 ฉันเพิ่งอายุ 7 ขวบ อยู่ในครอบครัวที่เริ่มก้าวหน้าในหมู่บ้านหน้าเกาะ ต.บ้านนา อ.เมือง จ.พัทลุง ผู้ที่เคลื่อนไหวในหมู่บ้านเป็นสหาย ตอนนั้นยังไม่มีกองทัพเป็นที่หลบหลีก พวกทหารและตำรวจของทางราชการโฆษณาว่าพวกคอมมิวนิสต์โหดร้ายป่าเถื่อน มีการฉายหนังปลุกผีคอมมิวนิสต์ให้ชาวบ้านดู 

มีอยู่วันหนึ่ง วันนั้นฉันอยู่บ้านป้า เพิ่งจะรู้ว่าคนที่เป็นสหายได้หลบหลีกทหารมาอยู่บ้านป้า เขาเป็นคนที่ชาวบ้านรักใคร่ ฉันเพิ่งได้เห็นพวกทหารเข้ามาปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก ฉันไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่คนที่ทหารมาปราบคือ “คุณเขียว” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้าน ฉันเห็นทหารนั่งรถยีเอ็มซีมาหลายคันรถ แต่ละคนพรางตัวด้วยต้นไม้ ไม่ว่าบ้านใครก็ค้นหมด ถ้าเจอผู้ชายก็จะจับตัวไปเป็นคนนำทาง คุณเกตุ (เขียว) ที่เป็นผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวในหมู่บ้านนั้นนั่งอยู่บนบ้านป้า และมีทหารมาเจอพอดี ทหารได้เรียกให้แกยอมจำนนและยอมรับว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่แกไม่ยอมจำนน ทหารเกลี้ยกล่อมอยู่ 2 ชั่วโมงเศษและบอกว่าจะยิงขึ้นบ้าน คุณเกตุกลัวว่าเจ้าของบ้านจะเป็นอันตรายจึงตัดสินใจกระโดดลงจากบ้าน พอกระโดดลงมาก็ไม่มีโอกาสวิ่งเพราะปืนของทหารไม่รู้กี่ร้อยนัดได้ระดมยิงเข้าใส่จนร่างของแกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี

ทหารพูดกันว่าได้ยิงคอมมิวนิสต์ตายแล้ว เหตุการณ์ที่ฉันได้พบเห็นด้วยตนเองในเวลานั้นทำให้ฉันมีความสับสน ทางการโฆษณาว่าคอมมิวนิสต์โหดร้ายน่ากลัว แต่คนที่โดนยิงเป็นคนดีชาวบ้านรักใคร่ ทำให้ฉันไม่เชื่อทางการตั้งแต่นั้นมา

ในช่วงนั้นผู้ที่เคลื่อนไหวจึงไม่กล้าอยู่บ้าน เมื่อรวมพลกันได้เป็นสิบๆ คนก็ไปนอนในป่า ใช้ปืนลูกซองทำเองเป็นอาวุธ ตอนนั้นชาวบ้านไม่เชื่ออีกแล้วว่าคอมมิวนิสต์โหดร้าย

เมื่อกระแสข่าวที่คุณเกตุเสียชีวิตแพร่ออกไป ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านได้ตื่นตัวขึ้น และไม่เชื่อคำโฆษณาของทางการอีกต่อไป สองฝั่งคลองจึงกลายเป็นหมู่บ้านก้าวหน้า ทางการได้ตั้งฉายาว่าหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นยิ่งปราบคนยิ่งตื่นตัวกันมากขึ้น เริ่มเกิดกรณีถังแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นการปราบปรามที่ผิดพลาดของทางการ

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์ถังแดง

ขณะนั้นปี 2514 มีทหารมาตั้งกองร้อยอยู่ในสวนของบ้านฉัน เขาเรียกว่า “ค่ายเกาะหลุม” ทีแรกฉันคิดว่าทางการจะมาตั้งไม่นาน แต่พอนานไป กลับตั้งเป็นกองพัน มีการยิงปืนใหญ่ จับผู้คนมาฆ่า ขึ้นเครื่องบินไปถีบลงเขา และจับคนไปเผาลงถังแดง มีการปราบปรามชาวบ้านที่บ้านลำใน ควนขนุน ป่าพยอม และบางแก้ว มันจับชาวบ้านมารวมกันที่ค่ายเกาะหลุม ทั้งผู้ชายผู้หญิงเด็กและคนแก่ผู้ที่ถูกจับ คนแรกชื่อคุณวิน โดนเอาตัวไปฆ่าเป็นศพแรกในหมู่บ้านนั้น ญาติพี่น้องตามหาตัวกันจ้าละหวั่น ตอนหลังไปเจอศพที่หมู่บ้านอิสลามชื่อ “บ้านพูด” 2-3 ศพ ชาวอิสลามฝังศพไว้ เมื่อขุดขึ้นมาก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร โดนซ้อม โดนยิง ผู้ชายถ้าไม่หนีเข้าป่าก็จะโดนจับไปฆ่า มีทหารทางการที่ดีมาเล่าให้ฟัง 

เธอยังได้กล่าวถึงกรณีข่มขืนแล้วฆ่าด้วย แต่เพียงสั้นๆ

เพื่อนของฉันหน้าตาสวยผมยาว มันได้เอาทหารอิสลามที่พูดภาษายาวีได้ (กลยุทธ์ของทางการที่เน้นความสำเร็จของการปราบปรามเป็นหลัก จึงเลือกคนต่างภาษาพูดกันไม่มีญาติไม่มีวิญญาณบรรพบุรุษร่วมกันมาฆ่ากัน ทุกยุทธการปราบปราม บก.) มาซ้อมให้ยอมรับ ยอมก็ตาย ไม่ยอมก็ตาย มันจะเอาผู้หญิงไปข่มขืนก่อนและเอาไปเผาขณะที่ยังไม่ตาย 

ฉันได้ยินเสียงร้องระงมเพราะห่างกันไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร มีเสียงร้องทั้งกลางวันและกลางคืน มันติดเครื่องรถยีเอ็มซีเพื่อกลบเสียงร้อง แต่พวกเราได้กลิ่นเนื้อไหม้ ตอนนั้นฉันยังเป็นเด็กอยากเข้าไปดู เห็นคนที่ถูกจับมามีรั้วลวดหนามล้อม ฉันได้เห็นคนที่รู้จักหลายคนทั้งหญิงและชาย คนที่ถูกจับมามีไม่ถึง 1 ใน 10 ที่รอดตาย ส่วนใหญ่หายสาบสูญ สิ่งที่ฉันเห็นทำให้ฉันคิดตลอดเวลาว่าจะช่วยเขาอย่างไร

หมู่บ้านวงศ์และหมู่บ้านหน้าเกาะ มีแต่ผู้หญิง เป็นบ้านแม่ม่าย คนไหนที่ไม่ยอมให้จับก็จะหนีเข้าป่า ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านต้องหนีไปอยู่ในที่ที่คิดว่าปลอดภัย บางคนไปอาศัยญาติหรือเพื่อน หรือเข้าไปอยู่ในเมือง บางครอบครัวไปอยู่ข้างถนนกับญาติ ทหารเข้าไปปราบทั้งกลางวันและกลางคืน ชาวบ้านจะเอาเฉพาะสิ่งของจำเป็นไป ส่วนบ้านที่ไม่มีคนอยู่ทหารก็มาขโมยของไป บางบ้านก็โดนเผา จนถึงทุกวันนี้ บางบ้านก็ไม่กล้ากลับมาอยู่บ้าน เมื่อมีนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวเข้ามา ทหารจึงถอนกำลังกลับ

ข้อความหนึ่งในบทบันทึกชิ้นนี้น่าจะถ่ายทอดบทสรุปของสภาพบรรยากาศในชุมชนในเวลานั้นได้ดี

ค่ำคืนที่วังเวง เสียงสุนัขเห่าหอนโหยหวนหาผู้เป็นเจ้าของ ไฟฉายส่องแสงวูบวาบทั่วบ้านเรือนร้างของเหล่าเจ้าหน้าที่เพื่อค้นหาสมาชิก พคท.และมวลชนเป้าแกน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รับรู้ว่าในพื้นที่ถังแดงยังมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่

บันทึกชิ้นนี้ยังสรุปว่า กรณี ‘ถีบลงเขาเผาลงถัง’ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 3,008 คน โดยอ้างแหล่งข่าวจากนายทหารยศพันโทผู้หนึ่งของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีพื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดพัทลุง แต่นายทหารฝ่ายการเมืองของกองทัพภาค 4 ได้ออกมาปฏิเสธตัวเลขดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่าจำนวน 3,008 คนเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี หาได้เป็นกรณีถังแดงเพียงกรณีเดียวไม่ 

4 กุมภาพันธ์ 2518 พันเอกหาญ พงษ์สิฏานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการและประสานงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้ยอมรับว่า กรณีที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของ กอ.ปค.หรือ กอ.รมน.ในปัจจุบันได้กระทำการสังหารชาวบ้านไปประมาณ 300 คนในหลายอำเภอของพัทลุงด้วยการใช้น้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาหรือที่เรียกว่าเผาลงถังแดงตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น เป็นความจริง 

ทั้งนี้ จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงมีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของ พคท. เริ่มมีการใช้ความรุนแรงระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นครั้งแรกในปี 2507 ที่บ้านควนปลงใกล้ตัวเมืองพัทลุง เริ่มจากกลุ่มแนวร่วมของขบวนการคอมมิวนิสต์ตัดสินใจยิงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อแย่งชิงปืนไปใช้ในกองกำลังคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อ พคท.ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นอย่างเป็นทางการมีชื่อว่า "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย" ในวันที่ 1 มกราคม 2512  พคท.ในเขตภาคใต้จึงได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธประจำภาคใต้ขึ้นใช้ชื่อว่า "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยประจำภาคใต้"

หลังจาก พคท.ในพื้นที่ภาคใต้สามารถหาสมาชิกและแนวร่วมได้มากขึ้น และสามารถขยายขอบเขตความเคลื่อนไหวไปสู่การใช้กำลังอาวุธ ทำให้รัฐบาลที่มีนโยบายแข็งกร้าวได้เพิ่มความเข้มแข็งของการดำเนินงานด้านความมั่นคงและส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประจำการในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น  โดยเฉพาะในพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมีการเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์มากเป็นพิเศษ ดังมีหลักฐานว่ากำลังทหารตำรวจเริ่มเข้าสู่พื้นที่จังหวัดพัทลุงราวปี 2507 ในพื้นที่ตำบลเกาะเต่า ตำบลควนขนุน  และจับชาวบ้านไปราว 50-60 คน ในข้อหาคอมมิวนิสต์ ในเดือนมิถุนายน 2509 ก็จับชาวบ้านไปอีกกว่า 40 คน ต่อมาในปี 2512 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาสารักษาดินแดน (อส.) มาตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้านบริเวณชุมชนเทือกเขาบรรทัดหลายจุดด้วยกัน ปี 2517 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารเข้าประจำการบริเวณบ้านคลองหมวย  ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองพัทลุง จำนวนมากถึง 1 กองพัน และแยกกำลังอีกส่วนหนึ่งไปตั้งที่บ้านท่าเชียด  อำเภอตะโหมด เพื่อหมายจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก

ภายใต้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงเหล่านี้ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุมและนำตัวไปสอบสวนในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง จนกระทั่งปี 2515 ชาวบ้านบางส่วนที่ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ค่ายเกาะหลุง" ในตำบลบ้านนา และ "ค่ายท่าเชียด"  ในตำบลตะโหมดเริ่มสูญหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อมีผู้มาสืบถามถึงผู้ที่สูญหาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จับกุมชาวบ้านมาสอบสวนก็จะชี้แจงว่าได้ดำเนินการปล่อยตัวคนเหล่านั้นกลับบ้านไปแล้ว ต่อมาเริ่มมีการร่ำลือกันถึงการ "เผาลงถังแดง" แพร่ไปทั่วพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง เริ่มมีการโจษจันถึงการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระบวนการนี้จัดการกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแนวร่วมหรือสมาชิก พคท. โดยมักจะอ้างอิงถึงการพบกลุ่มควันไฟต้องสงสัยขนาดใหญ่ที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างบ่อยครั้งในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ต่อมาเมื่อข่าวการสูญหายของประชาชนมีจำนวนมากขึ้น ประชาชนจังหวัดพัทลุงและผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มนำเรื่องราวเหล่านี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

13 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.) และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเปิดอภิปรายที่สนามหลวงและมีแถลงการณ์กรณีถังแดงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) โดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการสังหารประชาชนแบบเหวี่ยงแหและให้รัฐบาลใหม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายทุกครอบครัว

15 กุมภาพันธ์ 2518 ชาวบ้านจากจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ รองเลขาฝ่ายการเมือง ศนท. เข้าพบ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น พล.อ.กฤษณ์ยอมรับว่าเรื่องถังแดงนั้นได้เกิดขึ้นจริง  พร้อมประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน. และเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ถอนกำลังจาก กอ.รมน.ให้หมดด้วย ขณะที่นายอ่ำ รองเงิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง 3 สมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ได้นำกรณีนี้ไปอภิปรายในรัฐสภาและเปิดเผยต่อประชาชน ขณะที่นายจำลอง พลเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงซึ่งเห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงในกรณีถังแดง กลับถูกนายวิญญู อังคณารักษ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเรียกตัวเข้าพบและตำหนิในท่าทีดังกล่าว

ดูเหมือนว่ากรณีถังแดงจะมาถึงข้อยุติเบื้องต้น หลังจากพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ยอมรับว่ามีคดีถังแดงเกิดขึ้นจริง พร้อมกับได้ประกาศลาออกจากกอ.รมน.ในวันต่อมา

นอกจากหนังสือบนเส้นทางภูบรรทัดฯ ยังพบว่ามีการทำรายการสารคดี ย้อนรอย ตอนถังแดง ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ช่องไอทีวี โดยเทพชัย หย่อง (ไม่สามารถตรวจสอบวันเวลาที่เผยแพร่ได้ชัดเจน) รายการนี้ได้สัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์รวมถึงผู้ที่เป็นทหารปลดประจำการที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ด้วย 


กัลยา ศรีละมุน เจ๊ะโดด ขำนุรักษ์ แฉล้ม วาสุเทพ และ อดีตทหาร (ไม่เปิดเผยชื่อและใบหน้า)

กัลยา ศรีละมุน เจ้าของที่ดินสวนผลไม้ริมน้ำที่เป็นสถานที่ตั้งค่ายบ้านสะพานหมวย ให้สัมภาษณ์ว่า

“คนบ้านเรานี่จะเกลียดทหารมากกว่ารักมัน เพราะว่าจะไม่ให้เกลียดได้ยังไง มันอุบาทว์จะตาย คือทหารตอนนั้นมันอุบาทว์มาก มันไม่ดี คือตามใจมัน ผิดถูกยังไง มันก็ไม่สอบสวนอะไรเลย ถ้าคนไหนมันคิดว่าเป็นคอมฯ มันฆ่าเลย คนมันเครียดน่ะ (เข้าใจว่าหมายถึงคนในชุมชน) 

มันมาบอกว่าจะมาอยู่สักพัก แล้วมันมามากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นมันบอกจะมาอยู่นานแล้ว อยู่ไม่มีกำหนดแล้ว ตอนแรกผู้พันคนนั้นบอกว่าไม่อยู่นาน ตอนนี้มาบอกว่าต้องปราบพวกคอมฯ ให้หมดก่อน มันบอกว่ามันเอาที่เฉยๆ ก็ได้ ที่มันให้อยู่ ตอนนั้นคือตามใจมัน เข้าไปที่ไหน ของใครอะไรยังไง แล้วมะพร้าวหรืออะไร มันกินก็ไม่มีใครว่ามันได้”

อุทัย อนุศิริ ชาวบ้านสะพานหมวย เล่าว่า ช่วงปี 2514 - 2515 มีการตั้งค่ายทหารอยู่ 2 กองพันบริเวณใกล้กับหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงได้ยินเสียงหวีดร้อง ได้เห็นแสงไฟ และเสียงเครื่องยนต์ที่ถูกเร่งให้มีเสียงดังกลบเสียงร้องและมีกลิ่นเนื้อไหม้

เชย จันทร์ลาม ชาวบ้านอีกคนในพื้นที่บอกว่าถ้าได้ยินเสียงรถมาก็จะต้องวิ่งแล้ว ถ้าไม่วิ่งจะโดนทหารจับ จับแต่ผู้ชาย ผู้หญิงกับเด็กไม่จับ 

เทพชัย หย่อง สรุปเบื้องต้นว่าค่ายปฏิบัติการทหารชั่วคราว 3 แห่งที่ตั้งขึ้นในจังหวัดพัทลุงเป็นสถานที่คุมขังและสอบสวนผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และสถานที่เหล่านี้ชาวบ้านบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำที่เรียกว่า ถังแดง

สารคดีย้อนรอยระบุว่า ในปี 2513 กองกำลังทหารผสมจากค่ายเสนาณรงค์จำนวน 4 กองร้อยเข้ามาตั้งฐานแห่งแรกที่บ้านท่าเชียด อำเภอโตน จังหวัดพัทลุง ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์อดีตทหารเกณฑ์ที่อยู่ในค่ายนี้คนหนึ่ง เขาให้รายละอียดว่าในค่ายนี้มีหน่วยปฏิบัติการที่เรียกว่า Small Unit ออกลาดตระเวนในพื้นที่พัทลุง สตูล ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อติดตามกวาดล้างคอมมิวนิสต์ตามบัญชีดำ เป็นหน่วยฆ่าโดยตรง มีจำนวนประมาณ 1 หมวด พวกนี้เป็นพวกที่ไปฆ่าโดยตรง ยิงแล้วกลับเลย แล้วทหารอย่างพวกเขาจึงค่อยเข้าไปเคลียร์ต่อ ต่อมายังได้จัดตั้งค่ายที่บ้านพูด และค่ายที่บ้านสะพานหมวย อีก 2 แห่ง รวมเป็น 3 แห่งในจังหวัดพัทลุง

แฉล้ม วาสุเทพ เป็นคนส่วนน้อยที่สามารถหลบหนีออกมาจากค่ายบ้านพูดได้ให้ข้อมูลว่า เขาถูกเชื่อว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เขามั่นใจว่าถ้าถูกจับเขาจะต้องถูกฆ่าตายแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเป็นวิธีไหน แฉล้มจึงตัดสินใจหนีออกมา เขาบอกว่ามันไม่ใช่ความต้องการที่จะรอดชีวิต แต่ต้องการตายอย่างรวดเร็ว ไม่อยากทรมาน แต่เขาก็หลบหนีออกมาได้สำเร็จ แล้วถูกจับตัวอีกครั้ง โชคดีที่มีญาติเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประกันตัวเขาออกมาได้ เขาจึงรอดตาย

แต่โชคร้ายก็ยังไม่หมดไป หลังจากที่แฉล้มหนีออกมาได้นั้น เจ้าหน้าที่ได้ไปตามหาตัวเขาที่บ้านและควบคุมตัวภรรยาของแฉล้มไปที่ค่ายบ้านพูด หลังจากนั้นแฉล้มก็ไม่ได้ข่าวภรรยาอีกเลย

จากรายการย้อนรอย สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าปากคำของชาวบ้านคือ มีการสัมภาษณ์อดีตนายทหารที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ถึง 2 คน 

เจ๊ะโดด ขำนุรักษ์ อดีตทหารที่เคยเข้าร่วมปฏิบัติการกวาดล้างคอมมิวนิสต์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กระบวนการสอบสวนจะให้ผู้ต้องหานั่งเก้าอี้แล้วก็มีเพชฌฆาตนั่งอยู่ข้างหลัง ผู้พันอยู่ข้างหน้าตั้งคำถามถามไปตอบไป ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แค่ยักคิ้ว (ส่งสัญญาณ) ครั้งเดียวเพชรฆาตก็ตีเลย แล้วก็เอาร่างไปแขวนคอให้ตาย จากนั้นจึงเอายัดลงถังแดง ราดน้ำมันและจุดไฟเผา เฉพาะกองพันที่ไปตั้งอยู่ที่บ้านคลองหมวยเกือบ 2 ปี ผู้ที่ถูกสังหารเท่าที่เขารู้ก็เป็นร้อยคนแล้ว ในส่วนที่ไม่รู้เห็นยังไม่สามารถระบุจำนวนได้ว่ามากเท่าไร แม้แต่ชาวบ้านที่จังหวัดตรัง บ้านควนไม้ดำ รำแกลง ลำปอก ก็ถูกส่งมาที่นี่แล้วก็ไม่ได้มีโอกาสกลับไปสักคนเดียว 

การเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยการเผาลงถังแดงในพื้นที่จังหวัดพัทลุงถูกปิดเป็นความลับขั้นสุดยอด ทหารเกณฑ์ที่ร่วมปฏิบัติการครั้งนั้นต้องร่วมสาบานตนก่อนปลดประจำการว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ให้บุคคลภายนอกทราบโดยเด็ดขาด โดยจะสาบานต่อธงชัยเฉลิมพลซึ่งถือเป็นตัวแทนของในหลวง  

อดีตทหาร (ไม่เปิดเผยชื่อและใบหน้า) อีกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการสังหารอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า เริ่มต้นจากการสอบสวนโดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา เมื่อได้คำตอบไม่ว่าจะเป็นที่พอใจหรือไม่แล้วก็ตาม ผู้ทำการสอบสวนจะส่งสัญญาณให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำร้ายเหยื่อ และนำไปแขวนคอกับต้นไม้ให้ตายสนิทเสียก่อนจึงจะนำศพใส่ลงในถังแดงราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา จากนั้นจึงทิ้งเถ้ากระดูกลงในลำน้ำ 

อดีตทหารอธิบายว่า การเผาในถังเป็นวิธีที่ง่ายในการทำลายซากศพและใช้พื้นที่จำกัด การตั้งค่ายในบริเวณที่มีต้นไม้สูงและอยู่ติดกับลำน้ำ ช่วยให้เกิดความสะดวกในการสังหารและทำลายหลักฐาน โดยการทิ้งเถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผาลงในลำน้ำได้เลย

เขาบอกด้วยว่า คืนหนึ่งสามารถสังหารได้ถึง 3 ศพ 

ในสารคดีนี้ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า นี่เป็นการใช้นโยบาย 3 เรียบ คือ ปล้นเรียบ เผาเรียบ ฆ่าเรียบ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัว และเหตุที่มีพูดถึงมันอีกครั้ง ไม่ใช่เป็นการพูดเพื่อรื้อฟื้นเอาผิด แต่มันเป็นบทเรียนของอดีตที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนของตนเอง

 

หมายเหตุ: ขอบคุณ Tyrell Haberkorn University of Wisconsin–Madison ที่สนับสนุนเอกสารประกอบการเขียนรายงานจำนวนมาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net