'ปิยบุตร' แถลงปิดคดีเงินกู้ เปิด กม. ชี้แจงไม่ผิด วอนหยุดนิติสงครามตอกย้ำขัดแย้ง

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ชี้แจง 5 ประเด็น แจง ชัดเจนว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ ไม่ใช่เงินบริจาค วอนหยุดนิติสงคราม ทำลายกระบวนการประชาธิปไตย ฝาก กกต. ถามตัวเองว่าอยากยุบพรรคเพียงเพราะเป็นพรรคอนาคตใหม่ใช่หรือไม่

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (แฟ้มภาพ)

18 ก.พ. 2563 ที่ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ อนค. แถลงปิดคดี กรณีที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยคดีในวันที่ 21 ก.พ. 63

ประเด็นแรก ทำไมถึงกู้เงินธนาธร ปิยบุตรกล่าวว่า หลัง อนค. ได้รับการรับรองการจดจัดตั้งเมื่อ 3 ต.ค. 61 เปิดรณรงค์การรับสมาชิกพรรค ระดมทุนและรับบริจาคทันที เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองหลายประการไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกพรรค สาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ทั้งนี้ เวลาในการหาสมาชิกและเงินหลังปลดล็อกคำสั่ง คสช. และก่อนประกาศ พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง มีเวลาเพียงเดือนเศษ อนค. จึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีคนมาสมัครสมาชิก และจัดโต๊ะจีนระดมทุนใน 19 ธ.ค. ได้เงินมา 622 ล้านบาท แจ้งกับ กกต. จำนวน 352 ล้านบาท รายชื่อผู้บริจาคก็มีหลายบริษัท บางบริษัทไม่มีงบการเงิน รายได้ ก็ยังบริจาคได้ เครือคิงพาวเวอร์แยกกันเป็นบริษัทย่อยบริจาคกันรวม 24 ล้าน ในวงเงินบริษัทไม่เกินแห่งละ 10 ล้านบาทจึงไม่ผิดกฎหมาย ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย จัดระดมทุนโต๊ะจีนได้ 240 ล้านบาท

สิ่งที่ต่างกันระหว่างพรรคเกิดใหม่ 3 พรรคคือ อนค. ตั้งใจว่าจะระดมทุนโดยไม่ต้องการรับจากทุนผูกขาดขนาดใหญ่ เพราะมีนโยบายทลายทุนผูกขาด มีหลายบริษัทผูกขาดหลายที่ติดต่อมาแต่ก็ขออนุญาตไม่รับ และเลือกระดมทุนจากทุนรายย่อยและขายสินค้า

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า เมื่อกู้เงินไปแล้ว อนค. ก็ประกาศชัดเจนในงบการเงิน โดยธนาธรเป็นคนบอกเองเวลาไปที่ไหนต่อที่ไหน สื่อมวลชนและนักร้องทั้งหลายก็รู้ เพราะธนาธรเป็นคนจงใจบอกเองเพราะต้องการให้เกิดความโปร่งใส 

ประเด็นที่สอง พรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ คำตอบก็คือกู้ได้ หลักกฎหมายแบ่งเป็นกฎหมายมหาชนกับเอกชน หน่วยงานเอกชนจะเรียกร้องกับรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐว่า จะใช้อำนาจต้องก็ต้องมีกฎหมายรองรับเสียก่อน แต่หลักกฎหมายเอกชนจะบอกว่าปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ก็ได้ตราบเท่าที่กฎหมายไม่ได้ห้าม พรรคการเมืองนั้นคือนิติบุคคลเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐจะเกิดขึ้นได้ต้องมี พ.ร.บ. จัดตั้งขึ้นมา 

แต่นิติบุคคลเอกชนเกิดขึ้นได้เพราะรวมตัวกันแล้วไปขอจดทะเบียน หน่วยงานรัฐจะมีบุคลากรที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นบุคลากรของรัฐ แต่พรรคการเมืองนั้น บุคลากรเป็นเอกชนหมด ไม่ได้ถืออำนาจรัฐ งานวิจัยหลายชิ้น นักวิชาการหลายคน เช่น รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็ระบุว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือช่วงหนึ่งที่กฎหมายพรรคการเมืองเพิ่งประกาศใช้ใหม่ กกต. ก็จัดกึ่งๆ ปฐมนิเทศน์เชิญทุกพรรคการเมืองไปฟังการอบรมเมื่อ ธ.ค. 61 มีการแจกเอกสาร “ความผิดและอัตราโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” คณะผู้จัดทำคือ กกต. พบว่าไม่มีสักบรรทัดเดียวว่าห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน ถ้าเขียนไว้ชัดๆ อนค. ก็คงไม่กู้

หลักการเรื่องการสร้างความมั่นคง แน่นอน ชัดเจนกับผู้อยู่ภายใต้กฎหมายนั้น ถ้าจะห้ามไม่ให้ทำอะไรก็ต้องบอกเขาก่อน แต่ในเมื่อกฎหมายทั้งฉบับ ทุกมาตรา อ่านดูแล้วไม่มีตรงไหนห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน ก็ต้องตีความเคร่งครัด จะเอามาตรานั้นมาตรานี้มาตีความแล้วขยายความ อย่างนี้ไม่ได้

พรรคการเมืองถูกบังคับต้องส่งงบการเงินทุกๆ สิ้นปี พ.ร.บ. นี้เริ่มใช้ปี 60 พรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรมปี 61 งบการเงินแรกๆ ที่ส่งไปที่ กกต. ก็จะลงวันที่เป็น ธ.ค. 61 ข้อมูลที่เปิดเผยเหล่านี้ เมื่อเปิดดูก็พบว่า 16 พรรคการเมือง มีเงินยืน เงินทดรองจ่าย ยืมจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเต็มไปหมด และอีก 4 พรรคเขียนชัดว่ากู้ยืมเงิน แต่ไม่ว่าจะใช้คำใด ทั้งหมดนี้อยู่ในความหมายของนิติกรรมที่เรียกว่า ‘ยืม’ ทั้งสิ้น คือการที่บุคคลเอาเงินให้อีกคนไปใช้ เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ก็ต้องเอามาคืน

“ระบบกฎหมายประเทศไทยไม่ได้ห้ามการกู้เงิน ตามกฎหมายปัจจุบันมีพรรคการเมืองกู้เงินไปมากกว่า 20 พรรค ระบบกฎหมายต่างประเทศหลายประเทศก็ให้พรรคกู้เงินกันได้ ถ้าเราบอกว่า วันนี้ไม่อยากให้กู้เกิน วันหน้าคุณก็ไปแก้ พ.ร.ป. พรรคการเมือง เขียนให้ชัดเลยว่าห้ามกู้เงิน

“ถ้าหากคุณบอกว่ากู้เงินแล้วจะกู้กันอิสระแบบนี้ ควรจะวางเงื่อนไข ข้อจำกัด คุณก็ไปแก้กฎหมายว่าการกู้เงินมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หรือในอนาคต คุณเห็นว่าแต่ละพรรคจำเป็นต้องมีเงินดำเนินกิจกรรม แต่ละพรรคหารายได้เก่งไม่เท่ากัน แต่ละพรรคจัดโต๊ะจีนได้ 300 ล้าน 600 ล้านบาท มีไม่กี่พรรคที่มีปัญญาทำได้ วันข้างหน้าจะเอาไหมครับ เพื่อความแฟร์ ให้ กกต. ตั้งกองทุนให้พรรคการเมืองกู้เงินไปใช้ ให้ชื่อว่า democracy fund เมื่อใช้เสร็จ กองทุนพัฒนาการเมืองคืนเงินมาก็เอาเงินไปชำระหนี้คืน หลายประเทศกำลังคิดโมเดลนี้กันอยู่

“คุณจะเอาเสมอภาคกันจริงๆ คุณทำแบบนี้ไหม ถ้าคุณยอมรับตรงกันก่อนว่าพรรคต้องใช้เงินทำกิจกรรม และแต่ละพรรคมีความสามารถในการระดมทุนได้ไม่เท่ากัน”

ปิยบุตรกล่าวต่อไปในประเด็นที่สามว่า เงินกู้ไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด แต่คือหนี้สิน ตามหลักการบัญชีเขียนไว้ชัดเจนว่าเงินกู้ เงินยืมทั้งหลายจะอยู่ในหมวดหนี้สิน มาตรา 62 พูดแต่เรื่องรายได้ของพรรคการเมือง จะบอกว่า อนค. ไปหารายได้ที่ไม่ได้กำหนดในมาตรา 62 ไม่ได้ เพราะเงินที่ได้มาจากการกู้ ถึงเวลาก็ต้องใช้คืน ต่อให้ กกต. ขยายความจนมีความผิดตามมาตรา 62 ผลลัพธ์ก็คือโทษปรับเงิน หากผิดตามมาตรา 62

นิยามของการบริจาค ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา ให้ความหมายว่า “การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

ส่วนนิยามคำว่า “ให้” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 นั้น สำหรับเงินกู้ก็มีความชัดเจนว่าไม่ใช่การให้ เพราะเงินกู้คือเมื่อถึงเวลาก็ต้องใช้คืน เป็นหนี้สิน ธนาธร ในฐานะผู้ให้กู้ ประกาศชัดเจนว่าจะทวงคืนทุกบาททุกสตางค์ที่พรรคกู้ไป พรรคเองก็ทำแคมเปญช่วยกันระดมทุน ช่วยกันบริจาค ช่วยกันซื้อสินค้าที่ระลึกพรรคเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ แบบนี้จะเป็นเงินบริจาคได้อย่างไร และยังได้ชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน มีเอกสารเรียบร้อย จึงไม่มีทางเข้าข่ายเงินบริจาคได้เลย ส่วนพรรคอื่นที่กู้เงินนั้นไม่มีสัญญากู้ มีดอกเบี้ยร้อยละ 2 ชำระเมื่อเจ้าหนี้ทวงถาม ถ้าเจ้าหนี้ลืมๆ ไปก็ไม่ต้องชำระ แบบไหนกันแน่ที่เข้าข่ายบริจาคมากกว่ากัน

เงินที่กู้นั้นมีคืนแล้วบางส่วน งบการเงินเดือน ต.ค. - ธ.ค. พรรคขายของ ระดมทุนได้ 70 กว่าล้านบาทและทยอยคืนธนาธรแล้ว ด้วยกระแสนิยม การรณรงค์และการขายของที่ระลึก เรามั่นใจว่าจะทยอยคืนให้แก่ธนาธรได้อย่างแน่นอน 

ประเด็นที่สี่ กระบวนการพิจารณาในชั้น กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องนี้ กกต. มีการดำเนินคดีกับ อนค. อยู่ 2 ช่องทางคือตามมาตรา 66 และมาตรา 72 กรณีมาตรา 66 เริ่มต้นเมื่อ 4 มิ.ย. 62 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ 13 เรียกเจ้าหน้าที่ กกต. ฝ่ายบัญชีพรรคการเมือง ธนาธร ปิยบุตร เหรัญญิกพรรคไปเป็นพยาน จนเมื่อ 23 ส.ค. คณะกรรมการฯ ก็ยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค 

ต่อมา กกต. ส่งไปให้สำนักสืบสวนที่ 18 ในวันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการก็มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องเช่นกันด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน แต่ กกต. ก็ไม่หยุด ยังส่งไปให้อนุกรรมการ และมีมติเมื่อเดือน ตุลาคม ด้วยเสียง 3-2 ให้มีความผิดในกรณีมาตรา 66 นี้ 

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่า 2 คณะแรกนั้นยกคำร้องไปแล้ว ตามกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา 41 ระบุว่า หากคณะกรรมการยกคำร้องเมื่อไหร่ เรื่องต้องยุติทันที แต่กรณีนี้ กกต.ไม่ยุติ เดินเรื่องต่อไปทั้งๆ ที่กฎหมายระบุว่าให้หยุด 

ส่วนกรณีมาตรา 72 กกต. เพิ่งมาคิดออกเมื่อ 27 พ.ย. 62  จน 11 ธ.ค. 62 กกต. มีมติ 5-2 ว่า อนค. มีความผิดฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอยุบพรรค คำถามคือวันที่ 27 พ.ย.-11 ธ.ค. เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ อยู่ดีๆ ความผิดเกี่ยวกับมาตรา 72 โผล่มาได้อย่างไร และไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ อนค. ใดๆ ไม่เคยเรียกไปชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น มารู้อีกทีพร้อมๆ ประชาชนและสื่อมวลชนในวันที่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

"ถามว่า หลักประกันของพรรคอนาคตใหม่ในชั้นการต่อสู้อยู่ตรงไหน กกต. เป็นองค์กรอิสระไม่ใช่นักร้องที่จะหยิบบัตรสนเท่ห์หน้าหนังสือพิมพ์มาส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ คุณมีระเบียบการไต่สวนต่างๆ ใช้กับทุกเรื่องทุกคน ยกเว้นไม่ใช้กับพรรคอนาคตใหม่พรรคเดียว คำถามคือรีบอะไรกันขนาดนั้น ทำไมต้องรีบกันขนาดนั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในอดีตว่า หาก กกต.ดำเนินการข้ามขั้นตอนศาลจะยกคำร้อง อย่างเช่นกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกร้องให้ยุบพรรคในกรณีเงินบริจาคที่เกี่ยวโยงกับบริษัทเอกชนแห่งนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดศาลยกคำร้องเพราะบอกว่ากระบวนการในชั้นสืบสวนสอบสวนมาโดยไม่ชอบ แสดงว่าขั้นตอนของ กกต.เป็นสาระสำคัญ ไม่เมื่อไม่แจ้งข้อกล่าวหา ข้ามขั้นตอนแบบนี้จึงไม่ชอบเช่นเดียวกัน" ปิยบุตรกล่าว

ประเด็นที่ห้า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 210 เขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมาย (2) เข้ามาชี้ขาดเวลาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆขัดกัน และ (3) หน้าที่อื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เคยมีการถกเถียงกันในวงวิชาการว่าสามารถตรากฎหมายเพิ่มเติมอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งตอนนั้นก็มีการตรา พรป. เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญกัน แต่ปัจจุบันทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเพราะใน (3) เขียนไว้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการล็อคไว้แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจได้เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่มีมาตราไหนเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค

อำนาจยุบพรรคเกิดจาก พรป.พรรคการเมืองมาตรา 92 แสดงให้เห็นว่า พรป. พรรคการเมืองมาตรา 92 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายเบื้องต้นซึ่ง อนค. ก็ได้ต่อสู้ในประเด็นนี้ไปด้วย ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะต้องวินิจฉัยว่าอำนาจยุบพรรคตาม พรป. พรรคการเมืองขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ยุบพรรคใดไม่ได้เลย ที่วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติไปก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเอาอำนาจตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 มาใช้ จะยุบ อนค. ก็ไม่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ มาตรา 66 ของกฎหมายพรรคการเมือง เป็นความผิดเรื่องบริจาคเงินเกิน 10 ล้าน โทษสำหรับผู้ที่บริจาคให้มีโทษคือเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและดำเนินคดีอาญา ส่วนคนที่รับเงินเกินก็ให้มีโทษปรับและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค และเงินส่วนที่เกินต้องส่งคืนให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีโทษยุบพรรคอยู่เลย

"แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิทธิกรรมการบริหารได้หรือไม่ คำตอบคือความผิดตามมาตรา 66 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องไปเริ่มต้นที่ศาลอาญาตามระบบปกติ เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยว ดังนั้นมาตรา 66 ยุบพรรคไม่ได้แน่นอน ศาลรัฐธรรมนูญจะมาตีขลุมก็ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของศาลปกติ ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เรายืนยันไปแล้วว่าเรามีการกู้เงินจริง มีการคืนเงินไปบางส่วนเรียบร้อยแล้ว เงินกู้คือหนี้สิน ไม่ใช่เงินบริจาค ไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด ไม่มีทางเข้ามาตรานี้ได้" ปิยบุตร กล่าว 

ส่วนช่องทางที่สองคือมาตรา 72 ห้ามพรรคการเมืองรับเงินโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในมาตรานี้ป้องกันไม่ให้พรรคการเมือง เอาเงินผิดกฎหมายเงินสกปรกมาใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมของพรรค ซึ่งธนาธรไม่ได้เปิดซ่อง เปิดบ่อน เป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน หรือกระทำการคอรัปชัน เป็นเงินจากการประกอบธุรกิจ ดังนั้นเรื่องของ อนค. ไม่เกี่ยวอะไรกับมาตรา 72 เลย แต่ที่มีการนำมาใช้เพราะมาตรา 72 เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ทั้งๆ ที่องค์ประกอบความผิดทางกฎหมายนั้นผิดกับข้อเท็จจริง และต่อให้มีการขยายความกันอย่างไรก็ตาม แต่ว่าจะเอามาตรา 72 มาใช้ดื้อๆ ไม่ได้ เพราะในมาตรา 72 มีประโยคว่า “โดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบ” อนค. จะรู้หรือควรจะรู้หรือว่าวันหนึ่ง กกต.จะตีความกฎหมายแบบพิศดารที่บอกว่ากู้ไม่ได้ กู้เท่ากับบริจาค จะรู้ได้อย่างไรว่าวันดีคืนดี กกต. 7 คนจะตีความกฎหมายแบบนี้ ถ้าพิสูจน์กันที่เจตนา ไม่มีทางเลยที่ อนค. จะรู้ล่วงหน้าได้

ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้ายว่า ตกลงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองเอาไว้สนับสนุนพรรคการเมืองหรือเป็นเครื่องมือกำจัดทำลายล้างพรรคการเมืองกันแน่ ผู้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองบอกว่าต้องการทำให้พรรคเป็นของประชาชน ทำให้โปร่งใส อนค. ก่อตั้งขึ้นมาโดยยึดเรื่องนี้เป็นหลัก ต้องการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบใหม่ แสดงถึงความโปร่งใส ที่ไปที่มาการได้มาและจ่ายเงินออกไปของพรรค การเลือกใช้เงินกู้เพราะไม่มีหนทางที่จะหางบประมาณได้ทันในขณะที่ติดล็อคจากประกาศ คสช. ซึ่งการกู้นั้นโปร่งใส มีการประกาศชัดเจน เพราะหวังจะยกมาตรฐานขึ้นมา 

แต่ปรากฏว่ากำลังมีการเอากฎหมายพรรคการเมืองมาใช้จับผิด ไล่ล่า ทำลายล้าง อนค. ใช่หรือไม่ พอธนาธรประกาศว่าให้กู้เงิน นักร้องก็ไปร้องบอกว่าเป็นรายได้ พออธิบายได้ว่าไม่ใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน ก็บอกหาว่าเป็นเงินบริจาค พออธิบายได้ว่าไม่ใช่เงินบริจาค ก็หาว่าเป็นประโยชน์อื่นใด พออธิบายว่าใช้มาตรา 66 ยุบพรรคไม่ได้ ก็ไปเอามาตรา 72 มาใช้ การขยับทีละนิดๆ แบบนี้ ไม่รู้ว่าวันไหนจะไปถึงขั้นที่บอกว่าผิดเพราะว่าชื่อพรรคอนาคตใหม่ ยังไงก็ผิด

ปิยบุตรตั้งคำถามว่า พรรคอื่นๆ ไปเอาเงินมาจากไหนในการมาดำเนินการทั้งหลาย อนค. ชัดเจนว่าเงินนั้นมาจากการกู้เงินจากธนาธร ถ้าธนาธรไม่บอกใครจะรู้ แต่ว่าธนาธรจงใจบอก เพื่อให้สังคมรู้ว่า อนค. เอาเงินมาจากไหน

“ถ้าเรื่องนี้นำมาสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องตั้งคำถามว่า ท้ายที่สุด ประเทศนี้กำลังสนับสนุนให้พรรคการเมืองต่างๆ จงอย่าโปร่งใส จงอย่าบอกว่าเอาเงินมาจากไหน จงหลบๆ ซ่อนๆ ไปใช้เงินใต้โต๊ะ ไปซอยบริษัทเล็กๆ แล้วบริจาคเข้าพรรค ไปจัดโต๊ะจีนที่มีทุนขนาดยักษ์ใหญ่ใส่เงินมา 600 กว่าล้าน พอถึงเวลาก็เปลี่ยนเป็น 300 กว่าล้าน ตกลงแล้ว กกต. ต้องการอะไรกันแน่”

ปิยบุตรกล่าวอีกว่า ระยะหลัง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านเหตุของการยุบพรรค ก็จะมีผู้หวังดีมาบอกว่าต้องเคารพกฎหมาย ถ้าไม่เคารพกฎหมาย คำตัดสินของศาลและองค์กรอิสระ ประเทศจะอยู่อย่างไร 

“คำตอบคือ เราต้องเคารพกฎหมายที่ถูกต้อง ชอบธรรม ประกอบไปด้วยที่มา กระบวนการ เนื้อหา ที่มากฎหมายต่างๆ ต้องมาจากตัวแทนประชาชนในการออกกฎหมายมา ไม่ใช่ยึดอำนาจมา กระบวนการในทางกฎหมายจะต้องรับประกัน เปิดโอกาสให้คู่กรณีโต้แย้งแสดงหลักฐาน คำตัดสินต้องมีเหตุผลประกอบ ตัดสินแล้วทำให้คนแพ้รับได้ วิญญูชนฟังแล้วอธิบายได้ กฎหมายเหล่านี้จึงจะชอบธรรม 

“ถ้าท่องทุกวันว่าเคารพกฎหมาย แต่เป็นกฎหมายที่ยึดอำนาจแล้วออกมา อยู่ดีๆ ตั้งข้อหาจับเอาเข้าคุกเลย ตั้งศาลเตี้ยพิพากษาเลย ศาลไม่มีอำนาจตัดสินก็รับตัดสินให้ผิด ถ้าทั้งหมดอธิบายไม่ได้เลย แล้วกฎหมายที่คุณพูดทุกวันว่าต้องเคารพๆ มันต่างอะไรกับปืนหรือกำลังทางกายภาพ คนที่บอกให้เคารพกฎหมายทุกวัน ด้านหนึ่งคือเคารพอำนาจของอั๊ว อั๊วเป็นคนบงการ ออกกฎหมายและตัดสินกฎหมาย" 

“เช่นเดียวกันกับคนที่บอกว่าเคารพกฎหมายสิ เดี๋ยวบ้านเมืองวุ่นวาย ก็เพราะว่าบังเอิญกระบวนการทางกฎหมายไปจัดการศัตรูของคุณได้ และรู้ว่าด้วยกระบวนการแบบนี้ คุณรอดทุกครั้ง ไม่มีวันโดน ถึงพูดได้ หลักความยุติธรรมนั้น ให้ปิดตาแล้วจำลองว่าโดนแบบเขาบ้าง วันนี้คุณไม่โดน คุณก็บอกว่าให้เคารพกฎหมาย แต่ถ้าวันหนึ่งคุณจำลองว่าคุณโดนแบบอนาคตใหม่ คุณจะคิดว่าเป็นธรรมไหม” ปิยบุตรกล่าว

ในวันที่ 21 ก.พ. ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบ อนค. ก็จะเป็นครั้งแรกที่ยุบพรรคฝ่ายค้านก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 วัน คนย่อมมีสิทธิตั้งคำถามได้ว่ายุบพรรคแล้วมีผลอะไรตามมา ถ้ายุบจริง มันคือการทำลายความหวังของคนจำนวนมากที่ฝากไว้กับ อนค. ในการผลักดันต่อสู้ในสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทยเคยขับไล่ไสส่งกลุ่มคนที่ก้าวหน้ามาแล้วหลายครั้งหลายหน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประโยชน์อันใด

ขอเรียนตรงนี้ว่าพัฒนาการประชาธิปไตยกำลังเดินไปตามครรลองของมัน อย่าเอานิติสงครามมาใช้ เพราะไม่เป็นคุณต่อพัฒนาการประชาธิปไตย ไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยกลับมาปรองดองสามัคคีกันขึ้น แต่ยิ่งจะทำให้เกิดการตอกลิ่มความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ฝากถามไปถึง กกต.ทั้ง 7 ท่าน ลองส่องกระจกแล้วถามตัวเองดังๆ หน่อย ว่าต้องการยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะเป็นพรรคอนาคตใหม่ใช่หรือไม่ ต้องการตัดสิทธิเพราะไม่ต้องการให้ธนาธร ปิยบุตร มีบทบาทในทางการเมืองและสภาใช่หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท