Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยหากศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคสาม ได้กำหนดผลทางกฎหมายให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้อง "ตกไปทั้งฉบับ"

กรณีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ได้มีการใช้บัตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แสดงตนและลงมติแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าว ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผลทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ต้องตกไปทั้งฉบับ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตรา

อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่วินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดผลทางกฎหมายไว้ ตรงกันข้าม ศาลกลับมีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เสียใหม่ โดยอ้างว่าเพราะคดีนี้มีประเด็นข้อวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดี ที่มีนัยสำคัญแตกต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 และที่ 3-4/2557 ด้วยเหตุผลในรายละเอียดหลายประการด้วยกัน

ผมเองไม่เห็นด้วยกับผลของคำวินิจฉัยและเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องดังกล่าว ตามนี้ครับ

ประการแรก ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะกรณีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มีเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการตราร่างกฎหมาย นั้น

เรื่องนี้ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยทั้งในทางเนื้อหาและกระบวนการตราของร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในการเสนอคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายใด ผู้เสนอคดีสามารถเสนอประเด็นให้ศาลวินิจฉัยได้ทั้งปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาและกระบวนการตรา หรือเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหา หรือเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตรา สุดแท้แต่ผู้เสนอคดีจะเห็นว่าร่างกฎหมายใดมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในเรื่องใด ถ้าศาลเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น ผลทางกฎหมายเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้น ก็จะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ แม้ผู้เสนอคดีเสนอประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตรา แต่เมื่อศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ผลทางกฎหมายที่ตามมา ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ต้องตกไปทั้งฉบับ ศาลจะไปกำหนดผลทางกฎหมายขึ้นเองโดยให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เสียใหม่ เช่นนี้ไม่ได้ เหตุผลที่ศาลยกขึ้นกล่าวอ้าง จึงไม่ใช่เหตุผลที่ศาลจะกล่าวอ้างได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเหตุผลที่ไม่อาจลบล้างผลทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วได้

ประการที่สอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะกรณีนี้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน นั้น

เรื่องนี้ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายใด หากมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราแล้ว ผลทางกฎหมายเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายนั้น ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยไม่มีข้อยกเว้น

สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างซึ่งผมเองก็เห็นด้วย แต่เมื่อศาลวินิจฉัยว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดผลทางกฎหมายโดยให้นำไปใช้บังคับกับทุกร่างกฎหมายอย่างเสมอหน้ากันโดยไม่มีข้อยกเว้น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ก็ต้องตกไปทั้งฉบับ ศาลจะไปกำหนดผลทางกฎหมายขึ้นเองโดยให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เสียใหม่ เช่นนี้ย่อมไม่ได้

ประการที่สาม ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะกรณีนี้มีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อนในอดีต นั้น

เรื่องนี้ ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อร่างกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมี “อำนาจดุลพินิจ” ในการกำหนดผลทางกฎหมายให้แตกต่างไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้ ผลทางกฎหมายก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 74 ในการกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ก็ตาม แต่เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลจะใช้อำนาจดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดผลทางกฎหมายใดๆ รองรับคำวินิจฉัยของศาล หรือรัฐธรรมนูญกำหนดผลทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัยของศาล แต่ก็บัญญัติเปิดช่องให้ศาลมี “อำนาจดุลพินิจ” ในการกำหนดผลทางกฎหมายให้แตกต่างจากผลทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนด ศาลจึงจะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 74 กำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้

แต่ในกรณีนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนดผลทางกฎหมายรองรับคำวินิจฉัยของศาลอย่างชัดเจนแล้ว นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลมี “อำนาจดุลพินิจ” ในการกำหนดผลทางกฎหมายให้แตกต่างจากผลทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ต้องตกไปทั้งฉบับ ศาลจะไปกำหนดผลทางกฎหมายขึ้นเองโดยให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เสียใหม่ ไม่ได้เช่นกัน

สรุปก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แทนที่ศาลจะวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตกไปทั้งฉบับ ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ แต่ศาลกลับกำหนดผลทางกฎหมายขึ้นเอง โดยให้สภาผู้แทนราษฎรไปดำเนินกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เสียใหม่โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเปิดช่องให้ศาลมี “อำนาจดุลพินิจ” ในการกำหนดผลทางกฎหมายให้แตกต่างไปจากผลทางกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญครับ

 

ที่มา: เฟสบุ๊ค ธีระ สุธีวรางกูร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net