Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนจับตาประชุมสภาวันที่ 19-20 ก.พ. นี้ เรื่องผลกระทบจากคำสั่ง-ประกาศ คสช. เปิดรายงานเสนอแก้ กม. ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, ให้กสทช.-กองทัพ เปิดเผยข้อมูลการปิดกั้นสื่อ, ยกเลิกการดำเนินคดีความผิดตามประกาศ-คำสั่ง คสช. และชดเชยเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี

19 ก.พ. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 29 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ระหว่างวันที่ 19 และ 20 ก.พ. 63 มีระเบียบวาระการประชุมในเรื่องการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 ฉบับ ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา

รายงานสองฉบับดังกล่าว ได้แก่ รายงานเรื่อง “ผลกระทบจากประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. กรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน” (ดาวน์โหลด รายงานฉบับเต็ม)  และรายงานเรื่อง “การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” (ดาวน์โหลด รายงานฉบับเต็ม)

สำหรับรายงานฉบับแรกนั้น จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีมติให้จัดตั้งขึ้น ประกอบไปด้วยคณะทำงาน 7 คน ได้แก่ ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม, สาวตรี สุขศรี, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ศุภณัฐ บุญสด, พูนสุข พูนสุขเจริญ และกรณ์ ศินารักษ์ ณ จำปาศักดิ์

รายงานของคณะทำงานฉบับนี้ ได้นำเสนอผลกระทบของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในสามหัวข้อใหญ่ ได้แก่ เรื่องการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร, การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในหัวข้อต่างๆ ดังกล่าวด้วย

 

เสนอแก้ไขกฎหมายไม่ให้พลเรือนถูกพิจารณาในศาลทหารอีก และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบยุค คสช.

ในปัญหาเรื่องการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร รายงานได้นำเสนอสภาพปัญหาดังกล่าวในยุค คสช. ซึ่งคณะรัฐประหารได้มีการออกประกาศ คสช. 3 ฉบับ กำหนดให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและการฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่งคสช. ต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร โดยข้อมูลถึงเดือนเมษายน 2561 มีจำนวนพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี นับเป็นจำเลยจำนวน 2,408 คน โดยศาลทหารยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและปราบปราบพลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

สภาพการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารก่อให้ปัญหาต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งการที่พลเรือนถูกพิจารณาโดยศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งในแง่องค์กรและการบริหารงานบุคคล, หลายคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดีในช่วงประกาศกฎอัยการศึก จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์-ฎีกาคำพิพากษา, การพิจารณาคดีของศาลทหารที่กระทบต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนจำนวนมาก เช่น การไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาและพยานหลักฐานในคดี การพิจารณาคดีลับหลัง การพิจารณาคดีที่ล้าช้าจนทำให้จำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องอยู่ในเรือนเป็นระยะเวลานาน การไม่เบิกตัวจำเลยมาในวันที่อัยการทหารดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล การไม่แจ้งนัดให้ทนายความทราบล่วงหน้าในวันสอบคำให้การจำเลย เป็นต้น

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทางคณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาไว้ 4 ประการใหญ่ ได้แก่

1. เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในการจำกัดเขตอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหาร ได้แก่ (1) แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 เพื่อรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบุคคลที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ไม่อาจถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และ (2) ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 7 ตรี เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน

2. จัดการกับคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยแบ่งเป็นข้อเสนอต่อคดีประเภทต่างๆ ได้แก่

(1) กำหนดให้พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. และเป็นคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจากการถูกดำเนินคดีต่าง ๆ

(2) กำหนดให้คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของคสช. และเป็นคดีที่ถูกโอนกลับให้มาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562  ให้ศาลยุติธรรมดำเนินการจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบการพิจารณาคดีของศาล และให้จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจากการถูกดำเนินคดีต่าง ๆ

(3) กำหนดให้คดีที่พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติในกฎหมายอื่น ๆ และเป็นคดีถึงที่สุดแล้ว ให้จำเลยมีสิทธิที่จะขอพิจารณาคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดในศาลยุติธรรม หรือมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลยุติธรรม

(4) กำหนดให้คดีที่พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติในกฎหมายอื่น ๆ และเป็นคดีที่ถูกโอนกลับให้มาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562 ให้จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลยุติธรรมดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดได้

3. ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง โดยเสนอให้รัฐสภามีการตรากฎหมายจัดตั้งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ในรูปแบบคณะกรรมการ (A Truth Commission) ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริงตามหลักการสิทธิที่จะทราบความจริง (Right to Truth) ของผู้เสียหาย ครอบครัว และสังคมโดยรวม และมีอำนาจในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน นำมาสู่เปิดเผยข้อค้นพบหลังจากการค้นหาความจริงต่อสาธารณะ โดยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารหรือหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญอย่างเป็นทางการ (Official  Archives)

4. รัฐแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสมควรออกแถลงการณ์ขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับข้อเท็จจริงที่ได้ร่วมกันค้นหาและผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ (Guarantees of non-repetition)

 

เสนอกสทช.-กองทัพ เปิดเผยข้อมูลการปิดกั้นสื่อ ยกเลิกคำสั่งคสช. มีกระบวนการชดเชยเยียวยาสื่อ

ส่วนปัญหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน รายงานได้สรุปถึงประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน โดยแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

ประกาศ/คำสั่ง คุมสื่อหลัก ให้อำนาจ กสทช. ตีความและลงโทษ โดยเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งมีผลให้ กสทช. มีอำนาจตรวจสอบ และอาจสั่งลงโทษปรับเจ้าของสถานี หรือสั่งงดออกอากาศ หรือสั่งปิดสถานีที่ฝ่าฝืนก็ได้ และยังกำหนดให้การออกคำสั่งของ กสทช. เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสาร เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ ในทางปฏิบัติ นอกจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. โดยตรงแล้ว สื่อโทรทัศน์ขนาดใหญ่หลายแห่งยังให้ข้อมูลตรงกันว่า คสช. ใช้วิธีการอื่น เช่น การเชิญไปพูดคุย การส่งหนังสือตักเตือน โดยไม่ต้องอ้างอิงอำนาจตามประกาศ ส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์เนื้อหาในสื่อไม่ต่างกัน

2. ประกาศสามฉบับคุมสื่อออนไลน์ ห้ามเนื้อหายุยงปลุกปั่น ได้แก่

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้าน คสช.

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 17/2557สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตาม ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่แพร่เนื้อหาเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช. และสามารถสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว

จากสภาพประกาศคำสั่งดังกล่าว ทางคณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหา ได้แก่

1. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช. และเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่เคยปฏิบัติงานเพื่อควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนภายใต้ยุคสมัยของ คสช. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดว่า มีกระบวนการ “ขอความร่วมมือ” หรือสั่งห้ามการนำเสนอข่าวสารประเภทใดบ้าง ด้วยเหตุผลใดบ้าง ต่อสื่อมวลชนใดบ้าง เป็นจำนวนกี่ครั้ง รวมทั้ง กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้ออกคำสั่งลงโทษสื่อมวลชนไปแล้ว และคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้สื่อออนไลน์ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2577 ก็ต้องเปิดเผยว่า มีใครบ้างและมีกระบวนการทำงานกันอย่างไร เคยมีคำสั่งเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หรือเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนไปแล้วกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง

2. ต้องยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเนื้อหาของสื่อมวลชนทั้งหมด และหากเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็มีความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบในกรณีปกติ

3. ต้องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เพื่อยกเลิกคณะทำงานติดตามสื่อออนไลน์ และยกเลิกกระบวนการที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน และสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล

4. ต้องมีกระบวนการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. เพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยสื่อใดที่เคยต้องจ่ายค่าปรับแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน ต้องมีกระบวนการเพื่อการประเมินความเสียหายและตีราคาค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เพื่อชดเชยให้กับสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกสั่งห้ามออกอากาศเนื้อหารายการ หรือถูกปิดกั้นการเข้าถึง

 

เสนอยกเลิกการดำเนินคดีความผิดตามประกาศ-คำสั่ง คสช. และชดเชยเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี

ด้านปัญหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก รายงานได้สรุปประกาศ/คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งส่งผลเป็นการจำกัดควบคุมการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ได้แก่ ประกาศ-คำสั่งเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป , ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรม, ความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามที่ คสช. เรียก., ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ คสช. โดยรายงานได้มีการยกตัวอย่างคดีและเหตุการณ์การปิดกั้นการแสดงออกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีเศษในยุค คสช.

การควบคุมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่กล้าที่จะจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกในที่สาธารณะ และสร้างให้เกิดภาพจำขึ้นมาว่า การชุมนุมรวมตัวกันนั้นกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม หรือสิ่งที่ผิดกฎหมาย


ภาพโดย Banrasdr Photo

ภายใต้ปัญหาดังกล่าว คณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. ยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทุกฉบับที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ที่เอาผิดประชาชนฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ทั้งหมด โดยยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2562 ที่รับรองว่า การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ถูกยกเลิกแล้วโดยสิ้นเชิง

2. ยกเลิกการดำเนินคดีความตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากเป็นคดีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ยกเลิกการดำเนินคดีนั้น รวมทั้งยกเลิกหมายจับที่เคยออกไปแล้ว หากเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกต่อไป หากคดีใดที่ขึ้นสู่ศาลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นใด ให้ศาลสั่งสิ้นสุดคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หากเป็นคดีที่ศาลพิพากษาไปแล้วว่า จำเลยมีความผิดและสั่งลงโทษปรับ ให้คืนเงินค่าปรับแก่จำเลย หากศาลพิพากษาให้มีโทษจำคุก ให้ยกเลิกโทษจำคุก หากมีคดีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในปล่อยตัวทันที และให้จำเลยพ้นจากมลทินของข้อกล่าวหาตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งหมด

3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เคยถูกจับกุมตัวและคุมขัง ด้วยข้อหาตามประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านี้ ให้ได้รับค่าชดเชยในอัตราเดียวกับการชดเชยให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิด ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

สำหรับรายงานของคณะกรรมาธิการเมื่อเข้าสู่การอภิปรายของสภา จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันอภิปรายประเด็นในรายงาน ก่อนถูกส่งไปยังรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ ต่อไป

 

หมายเหตุ นอกจากข้อเสนอในการจัดการผลกระทบของคำสั่ง/ประกาศ คสช. ใน 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพิจารณาข้อเสนอประเด็นอื่นๆ ในหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” จัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://www.tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net