ตามรอยน้ำตาในเพลง-เรื่องเล่าท้องถิ่น ความรุนแรงโดยรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน (จบ)

ความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนตลอดเส้นทางประชาธิปไตยมีหลายกรณี ช่วงเวลาที่มีความสูญเสียมากที่สุดช่วงหนึ่งคือ สงครามคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2511-2523 แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ยังไม่สามารถรวบรวมความสูญเสียของสมาชิกได้ครบถ้วน มิพักต้องกล่าวถึงชาวบ้านใน 'พื้นที่สีแดง' ที่อยู่ในถิ่นไกลปืนเที่ยง

ประชาไททดลองลงพื้นที่สีแดงในอีสานเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ของคนในชุมชนทั้ง การเผา 'บ้านนาทราย-นาหินกอง' การสังหารวัยรุ่นที่ 'บ้านซ้ง' การบังคับอพยพจาก 'บ้านนาไร่ใหญ่'สู่ควนกาหลงในภาคใต้ การสังหารตัดศีรษะคนในชุมชนเนื่องจากชื่อซ้ำกับสมาชิก พคท.ที่ 'บ้านปากช่อง' ฯลฯ ด้วยความตระหนักถึงข้อจำกัดมากมาย ทั้งการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง การตรวจสอบที่เป็นไปได้ยาก ความไม่แม่นยำของความทรงจำผู้คน แม้กระทั่งข้อจำกัดในการรับรู้ของเราเองว่าเกิดเหตุที่ใดบ้าง เราจึงเริ่มต้นโดยใช้เครื่องมืออย่างบทเพลงเป็นเข็มทิศนำทางตามรอยความสูญเสีย  

ตามรอยน้ำตาในเพลง-เรื่องเล่าท้องถิ่น ความรุนแรงโดยรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน (1)

1
นาทราย-นาหินกอง: จากกลอนพาไป สู่ความจริงที่ถูกลืม

"...เมืองไทยเป็นของไทย ออกไปไม่ใช่ของมัน
จักรวรรดิอเมริกัน มันเที่ยวรุกรานไม่ว่าบ้านเมืองใคร
แบ่งแยกแล้วทำลาย นาทรายนาหินกอง
อยู่กินกันอย่างพี่น้อง ไอ้ผู้ปกครองมันมาจุดไฟ..." 

บทเพลง อเมริกันอันตราย แต่งในช่วงกลางปี 2518 โดยเด็กหนุ่ม 2 คน ได้แก่ ทองกราน ทานา และวีระศักดิ์ สุนทรศรี สมาชิกวงคาราวาน เป็นช่วงเวลาที่มีการรณรงค์ต่อต้านการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย

ดูตามบริบทเวลานั้น เพลงนี้ต้องการวิพากษ์บทบาทสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกแซงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสู้รบกับคอมมิวนิสต์ คำว่า 'นาทรายนาหินกอง' ปรากฏตัวขึ้นเพราะมันคล้องจองกันพอดีกับคำก่อนหน้า “แบ่งแยกแล้วทำลาย” คล้ายว่าเป็นกลอนพาไป แต่นั่นก็นับเป็นโชคดีที่ทำให้ชื่อนี้ถูกพูดถึงซ้ำๆ

นาทราย และ นาหินกอง มีตัวตนอยู่จริง มันเป็นชื่อสถานที่อันเป็นหมู่บ้านในภาคอีสาน และไม่ได้เกี่ยวกับบริบทขับไล่อเมริกาโดยตรงเหมือนอย่างที่เพลงบอกเล่า หากแต่มีประวัติศาสตร์เฉพาะของชาวบ้านที่นั่น – ความสูญเสียจากการเผาหมู่บ้านอันเป็นที่ร่ำลือกันในหมู่ชาวอีสาน

พึงกล่าวก่อนว่า สงครามเย็นหรือสงครามอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์/สังคมนิยมเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นพายุลูกนี้ อันที่จริงแล้ว พคท.ได้ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2485 แต่ต้องเปลี่ยนไปเคลื่อนไหว 'ใต้ดิน' หลังรัฐประหาร 2490 ที่มีการกดปราบอย่างหนักและสหรัฐอเมริกาก็ได้ขยายบทบาทเข้าสู่ประเทศไทยอย่างชัดเจน ในปี 2494 พคท.ประกาศให้การสนับสนุนการปฏิวัติประชาชนด้วยวิธีรุนแรงหรือการทำสงครามยืดเยื้อ ปี 2508 เรียกกันว่าเป็นปีแห่ง 'เสียงปืนแตก' พรรคสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ทุกหน่วยใช้กำลังเข้าต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลปฏิกิริยาและขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาออกไป โดยใช้ยุทธวิธี 'ป่าล้อมเมือง'

ชาวบ้านในเขตชนบทภาคอีสานเหมือนอยู่หว่างเขาควาย ด้านหนึ่งคือกองทัพของรัฐ ด้านหนึ่งคือกองกำลังของ พคท. ในนามของการสู้รบเพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ ชาวบ้านถูกกระทำโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัว และดูเหมือนนั่นเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของรัฐไทยเพราะมันได้บีบให้ชาวบ้านต้องหลบหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อต่อสู้กับการกดขี่รังแก

อย่างไรก็ตาม การสืบค้นหลักฐานเอกสารทางออนไลน์เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากแทบไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการในกรณีบ้านหินกอง ขณะที่บ้านนาทราย ต.ชมพูพร จ.หนองคาย (ซึ่งต่อมาได้แยกเป็นจังหวัดบึงกาฬ) ดูเหมือนจะมีการบันทึกไว้อย่างเป็นระบบมากกว่า

ชัยวัฒน์ สุรวิชัย ผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา นักสื่อสารมวลชนและต่อมาได้เข้าร่วมต่อสู้กับ พคท. ได้ทำหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คที่มีทั้งภาพถ่ายและลำดับเหตุการณ์ชื่อ เหตุเกิดที่บ้านนาทราย (2517) หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ตอบโต้การให้ข่าวของทางฝ่ายรัฐที่มีลักษณะบิดเบือน เช่น ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เป็นผู้ทำการเผาหมู่บ้านนาทรายในช่วงเหตุการณ์ปะทะ (ผกค.คือคำที่รัฐไทยและสื่อมวลชนใช้เรียกสมาชิก พคท.)

นอกจากการตอบโต้เรื่องการเผาหมู่บ้านโดยอ้างอิงลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งจากที่รัฐเคยให้ข่าวว่า ผกค.เป็นผู้เผา แต่ชาวบ้านบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ (ตชด.และ อส.) ต่างหากที่เป็นผู้ลงมือ โดยระบุชื่อเสียงเรียงนามเจ้าหน้าที่พร้อมสรรพ ไม่ว่า ร.ต.ท.ชูพันธ์ บุญประคอง เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ มี จ.ส.ต.สวาสดิ์ (ไม่ทราบนามสกุล) หัวหน้าหน่วยล่าสังหาร กอ.ปค. และ ร.ต.อ.ประจวบ บัวขาว ปลัดอำเภอโทฝ่ายป้องกัน และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ทำการเผา


ภาพจากหนังสือเหตุเกิดที่บ้านนาทราย

จำนวนบ้านที่ถูกเผา รัฐอ้างว่ามีเพียง 20 หลังคา แต่โดยข้อเท็จจริงมีจำนวน 106 หลังคา หนังสือยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วยว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการปล้นชิงทรัพย์สินของชาวบ้าน และยังมีการสังหารชาวบ้านอีกหลายราย ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็ก (นายสัน (50 ปี) นางสัย (40 ปี) และ ด.ช.เอม มัทราช (6 ปี) ถูกสังหารและเผาศพไปพร้อมกับบ้าน)

ส่วนบ้านนาหินกอง ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร (ขณะเกิดเหตุขึ้นกับ อ.นาแก จ.นครพนม) มีข้อมูลน้อยกว่ามาก จากปากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่า มีความสับสนเรื่องลำดับเวลาว่าเป็นช่วงปลายปี 2516 หรือต้นปี 2517 กันแน่ ชาวบ้านในพื้นที่รู้แต่ว่าการเผาหมู่บ้านเกิดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ (ข้าวไร่ เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่ต้องการความชื้นสูงมากเท่ากับข้าวนา เมล็ดเล็ก แข็ง และให้ผลผลิตน้อยกว่าข้าวนา สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม)

ขณะที่รายงานเรื่อง บ้านนา...จากทรายเป็นหินกอง โดย ถวัลย์ วงศ์สุภาพ ในนิตยสารประชาชาติ ฉบับ 23 พฤษภาคม 2517 ระบุว่าเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 6-7 เดือน ดังนั้น ช่วงเกิดเหตุจึงน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2516 (พ.ย.-ธ.ค.) การเผาหมู่บ้านนาหินกองจึงน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเผาหมู่บ้านนาทราย (มกราคม 2517)

ในรายงานของถวัลย์มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทาง พคท.ได้ประกาศให้บ้านนาหินกองเป็นเขตอำนาจรัฐ (ยกเลิกตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ดูแลปัญหา จัดการศึกษาให้กับเด็กและชาวบ้านโดย พคท.เอง) ซึ่งสามารถยึดอยู่ได้เพียงแค่ 18 วัน ก่อนที่จะถูกทางรัฐบาลไทยเข้าโจมตียึดพื้นที่คืนเป็นผลสำเร็จ

รายงานระบุชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการเผาบ้านเรือนรวมถึงยุ้งข้าวไปถึง 57 หลัง จากจำนวน 71 หลังคาเรือน สำหรับคนที่ขัดขืนไม่ยอมออกจากบ้าน เจ้าหน้าที่ขู่ว่า ถ้าไม่ออกมาจะเผาทั้งคนทั้งบ้าน

"ทหารไม่อยากให้คอมมิวนิสต์มากินข้าวชาวบ้าน ไม่อยากให้ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์ ไม่อยากให้ชาวบ้านคิดถึงและกลับมาอยู่ที่บ้านก็เลยเผาบ้านเรา" 

วิน แรกชื่น ชายวัย 55 ปี ชาวบ้านนาหินกองให้เหตุผลที่ทหารต้องเผาบ้านชาวบ้าน เขาเล่าว่าตอนเกิดเหตุเขาอายุเพียง 8 ขวบ บ้านของเขาก็ถูกเผาแต่ไม่มีการช่วยเหลือใด ต้องย้ายไปอยู่อำเภอเขาวง วันที่ต้องโยกย้ายมีการปะทะกันตั้งแต่ตีห้า แต่ยังดีที่หลายบ้านมีหลุมหลบภัย เหตุที่บ้านละแวกนั้นมีหลุมหลบภัยก็เพราะมีการปะทะกันบ่อยครั้ง มีเครื่องบินทิ้งระเบิด และมีปืนใหญ่ยิงสุ่มขึ้นมาจากทางเขาวงด้วย

"เล้าข้าวที่บ้านถูกกระสุนปืนยิงจนเม็ดข้าวเปลือกรั่วหล่นลงพื้น พ่อผมเสียดายข้าวก็เลยรีบหาของไปอุด ตอนนั้นห่วงข้าวจนลืมกลัวตาย"

วินและชาวบ้านนาหินกองคนอื่นๆ ถูกอพยพไปอยู่ในแคมป์ชั่วคราวในอำเภอเขาวง ตั้งอยู่แถวตลาดสด สภาพที่พักอาศัยมีพื้นทำด้วยปูน มุงหลังคาสังกะสี ไม่มีฝา ครอบครัวไหนจะพักจุดไหนก็จับจองเอา ปูเสื่อนอนบนพื้น บางคนโชคดีมีญาติก็ไปอาศัยอยู่กับญาติ อาหารการกินมีไม่เพียงพอ ต้องไปขอข้าวตามบ้านชาวบ้านซึ่งเป็นชาวภูไท 

"ไปขอเฉยๆ ไม่มีอะไรไปแลก จากปกติที่เคยเอาหน่อไม้ เอาอาหารป่าลงไปแลก บางคนเขาก็ให้ บางคนก็ไม่ให้" 

"ผมไปอยู่ประมาณสองเดือน คิดว่าเรื่องสงบแล้ว ผมกับพี่เตรียมซื้อหนังสติ๊ก กะว่าขึ้นมาจะเอาไว้ยิงนก ไม่ทันขึ้นมา เขาก็บอกว่าบ้านถูกเผาแล้ว แล้วก็มีรถสี่ห้าคันมารับไปอยู่นิคมคำสร้อย...ไม่ได้ถูกบังคับแต่เพราะมันหมดที่ไป มันก็เลยต้องไปอยู่ที่นิคมคำสร้อยยาวเลย" 

"ถ้าถามแบบเห็นกับตา เราไม่รู้หรอกว่าใครเผา ตอนนั้นรบกัน พวกผมก็ย้ายมาอยู่ข้างล่างกันหมด"

นิคมสร้างตนเองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาที่ดินให้กับวินและครอบครัว รวมถึงชาวบ้านหินกองที่ถูกอพยพไป 

"มันเป็นที่ของชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียง หน่วยงานของรัฐไปขับไล่เขาออกแล้วเอาพวกผมเข้ามาอาศัยอยู่แทน ...ผมตัดสินใจย้ายกลับมาบ้านเดิมปี 2530 คนมันคิดถึงบ้าน อยู่ที่อื่นก็ไม่เหมือนกับอยู่ที่บ้านตัวเอง มีพี่น้องและหากินสะดวก"

วินพูดถึงบรรยากาศในช่วงนั้นรวมถึงสาเหตุที่ชาวบ้านต้องถูกเผาหมู่บ้านว่า

"สมัยนั้นไม่มีคุก จะฆ่าใครก็ฆ่าได้ ทหารก็ฆ่าชาวบ้าน สหายก็ฆ่าคนที่ถูกสงสัย ฆ่าแล้วก็ไม่มีใครรับ โยนให้กัน ช่วงนั้นมีคนตายเยอะมาก ตายแบบไม่รู้ว่าใครฆ่า บางรายก็หาศพไม่เจอ"

ดูเหมือนว่าวินจะยังมีทัศนคติที่ดีกับสหาย

"ถ้าไม่มีคอมมิวนิสต์ ทหารจะยิ่งทำกับเราแย่กว่านี้ เมื่อก่อนตอนที่ทหารเข้ามาในหมู่บ้าน เวลาเขาขานชื่อแล้วไม่ตอบรับ เขาตบ เขาเตะเอาจริงๆ ไม่ชอบหน้าก็ตบเอา หลังจากมีคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้"

วัด กุลบุญมา หรือสหายเฉลิม อดีตนักปฏิวัติวัย 72 ปีที่อยู่บ้านนาหินกอง เล่าว่า ตอนที่มีการเผาบ้านปี 2516 เขา 'ออกป่า' แล้วตั้งแต่ปี 2515 ตอนนั้นอายุเต็ม 25 ปี 


วัด กุลบุญมา (ซ้าย) และวิน แรกชื่น (ขวา) 

วัดอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ว่า ได้มีผู้ปฏิบัติงานจาก พคท.เข้ามาทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่วัดอาศัยอยู่ตั้งแต่ประมาณปี 2511 เมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น รัฐไทยก็เริ่มตั้งค่าย อส.ในหมู่บ้านใกล้เคียง พฤติกรรมที่ อส.มีต่อชาวบ้านเป็นไปในลักษณะที่ดูหมิ่นหยาบคาย ไม่เป็นมิตร ชาวบ้านนาหินกองส่วนใหญ่เป็นชาวบรู มักถูกเหยียดจากเจ้าหน้าที่ อส.ว่าเป็นชนชาติที่ต่ำกว่า สกปรก โง่เขลา ไม่มีการศึกษา และป่าเถื่อน

ชาวบรูยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐระแวงว่าเป็นผู้ที่ส่งเสบียงอาหารและข้อมูลข่าวสารของทางเจ้าหน้าที่รัฐให้กับ พคท.ที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า

ช่วงปี 2514 สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ชาวบรูจากบ้านนาหินกองที่มีกิจวัตรในการนำของป่า หน่อไม้ น้ำผึ้งลงไปแลกกับข้าวสารของชาวภูไทที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มถูกจับตามองและควบคุมอย่างเข้มงวด

วัดเล่าว่า การจะเดินทางลงไปแลกเปลี่ยนสินค้าที่เขาวงจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ อส.ที่ตั้งฐานอยู่ในพื้นที่ ขณะที่เขาวงก็มีฐานของ อส.ตั้งอยู่ ชาวบ้านจะต้องเข้าไปรายงานตัวทั้งขาไปและขากลับ ของป่าที่นำลงไปหรือข้าวเปลือกข้าวสารที่ขนขึ้นมาขึ้นมาเพื่อใช้บริโภคจะต้องถูกตรวจสอบ 

นอกจากการตรวจสอบที่เข้มงวดแล้ว ชาวบ้านยังถูกกลั่นแกล้งถ่วงเวลาสอบถาม ทำให้เดินทางล่าช้า เมื่อกลับเข้าหมู่บ้านเป็นเวลาค่ำก็โดน อส.ในพื้นที่หวาดระแวงสอบสวนอีกว่าได้ไปติดต่อกับสหายหรือไม่ หรือหญิงชาวบ้านแม้มีสามีและบุตรแล้ว หากมีรูปร่างหน้าตาเป็นที่พึงพอใจ อส.ก็จะเข้ามาจีบในบางครั้งถึงขั้นลวนลาม (เช่น แกล้งใช้มือเชยคางพูดจาส่อไปในทางอนาจาร) หรือร่วมกันกลั่นแกล้งเป็นที่สนุกสนาน

วัดไม่สามารถรับสภาพกับสิ่งที่เห็นและแรงกดดันต่างๆ ได้จึงเข้าป่าต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี 2515

ถึงแม้ว่าวัดจะไม่สามารถระบุได้ว่าใครหรือหน่วยงานไหนเป็นผู้ที่ทำการเผาบ้านนาหินกองเพราะเข้าป่าไปแล้ว แต่วัดยังจำความได้ว่า ก่อนมีการเผาบ้านนาหินกองนั้น บ้านปากช่องซึ่งเป็นชุมชนของชาวบรูอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากบ้านนาหินกองไปทางเหนือประมาณ 3 กิโลเมตรก็ถูกเผาเช่นกัน กรณีนี้ไม่มีการบันทึกไว้ไม่ว่าในสื่อรูปแบบไหน คงมีแต่เรื่องเล่าจากความทรงจำของคนในชุมชนสืบต่อกันมา 

นอกจากการเผาบ้านปากช่องแล้ว วัดยังได้เล่าถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นว่า เจ้าหน้าที่ทหารสังหารคนหนุ่มในหมู่บ้านอย่างโหดร้ายด้วยการฆ่าตัดคอ


มงคล ชาวเขา

เราจึงได้มาพูดคุยกับ มงคล ชาวเขา ชาวบ้านปากช่องวัย 59 ปี ปัจจุบันเขาเป็นรองนายกสภาเทศบาล ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มงคลเล่าว่าครอบครัวของเขาพบกับการสูญเสียจริง บ้าน 1 หลัง วัว 1 ตัว เล้าข้าว 1 หลัง และพี่ชายอีก 1 คน

บ้านปากช่องถูกเผาก่อนบ้านนาหินกอง ในปี 2516 มงคลอธิบายว่าช่วงนั้นทหารวางแผนแยกชาวบ้านออกจากสหาย จึงได้ทำการเผาบ้านที่พักและพืชผลการเกษตร

"เขาทำทุกอย่างจนเราอยู่ไม่ได้ ถูกขู่ ถูกเตะ ถูกเฆี่ยน บ้าน 40 กว่าหลังคาเรือนถูกเผา ไหม้หมดทั้งหลังบ้าง บางหลังก็ไหม้เพียงบางส่วน วัวก็โดนปืนใหญ่ที่ยิงมาจากทางนาคูตาย ควายของเพื่อนบ้านก็ตาย"

มงคลเล่าถึงวันที่เขาต้องสูญเสียพี่ชาย

"วันนั้นเขาเรียกชาวบ้านมาประชุม คนไหนที่เขาสงสัย หรือตอบคำถามเขาไม่ได้ เขาก็จับไปสอบสวน"

มัจฉา ชาวเขา อายุ 18 ปี เป็นพี่ชายของมงคล เขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทหารจับกุม วันนั้นมงคลนั่งอยู่กับพี่ชาย เมื่อทหารเรียกไปตามรายชื่อในมือ พี่ชายของเขาก็ยอมไปแต่โดยดี แต่หลังจากนั้นมงคลก็ไม่ได้พบพี่ชายอีกเลย และเขาปฏิเสธที่จะพูดถึงสภาพการเสียชีวิตของพี่ชาย เล่าแต่เพียงสั้นๆ ว่า

"ทหารมาตั้งแคมป์อยู่หลายวัน พอทหารไปแล้วเราค่อยตามไปหา ตอนไปเจอศพมันก็เน่าหมดแล้ว" 

มงคลบอกว่า พี่ชายของเขาเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นนักเลง ไม่ใช่คนเกเร มัจฉาเป็นเด็กจำนวนไม่มากนักในช่วงเวลานั้นที่ได้ลงไปเรียนหนังสือที่อำเภอเขาวงที่อยู่ห่างออกไปอีก 10 กว่ากิโลเมตร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ซึ่งถือว่าสูงมากแล้วในสมัยนั้น

มงคลเล่าอีกว่า นิ้มพี่ชายคนโตของมงคลก็โดนจับไปไว้ที่สกลฯ

"เขาจับตัวไปไว้ศูนย์การุณยเทพ ถูกกักขัง เรียกไปอบรม แล้วก็เป็นแรงงานช่วยสร้างที่พักให้เจ้าหน้าที่ พี่ชายผมโดนทำร้าย เขาจับเอาไปหลายคน คนที่ไม่ตายกลับมาถึงได้มาเล่าให้ฟัง"

เมื่อถามถึงสาเหตุว่าที่พี่ชายของมงคลถูกจับไปเพราะทำงานให้พรรคฯ หรือไม่ มงคลบอกว่าช่วงนั้นชาวบ้านก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง บางคนอยู่กับพรรค บางคนก็ทำงานให้ทหาร คนที่อยู่ในพื้นที่ต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดไปเรื่อย แต่หลังจากที่พี่ชายของมงคลเสียชีวิต วัยรุ่นส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของหมู่บ้านก็เข้าป่าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. 

"พวกที่ไม่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จะมีก็แต่คนสูงอายุ หรือคนที่มีครอบครัวต้องดูแลเท่านั้น"

"ช่วงที่สหายมีอำนาจในพื้นที่ได้มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มงวดเรื่องการอยู่การกิน วินัย ผิดลูกผิดเมีย มีปัญหาชู้สาวก็โดนลงโทษ มีหมอมาช่วยรักษาชาวบ้านด้วย มันมีภาษีกว่า ไม่เหมือนกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ"

"(ฝ่ายรัฐ) เขาทำร้ายแต่กับชาวบ้าน ไม่ยอมไปทำกับสหายเพราะสหายมีอาวุธ"

นอกจากนี้มงคลยืนยันว่าหมู่บ้านปากช่องโดนเผาจริง แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นคนเผาบ้าน ในช่วงนั้นทหารตั้งฐานอยู่ที่บริเวณโรงเรียนในหมู่บ้าน ตอนนั้นเขาอายุ 12-13 ปี มีครูเป็น อส.ขึ้นมาสอนหนังสือ 

"วันเผา ผมย้ายไปอยู่บ้านนาหินกองแล้วก็เลยไม่เห็น พี่ชายผมถูกฆ่า พ่อแม่เลยอยู่บ้านไม่ได้ คิดถึงลูก ภาพมันติดตาเลยต้องหลบไปอยู่กับญาติที่นาหินกอง"

แม้จะไม่ได้พูดถึงสภาพการตายของพี่ชาย แต่มงคลยืนยันว่ามีการสังหารชาวบ้านหรือสหาย แล้วนำเอาหัวไปประจานอยู่ที่บ้านนาตาหลิ่ว ต.หนองผือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ มงคลคิดว่าทหารต้องการสร้างความกลัวให้กับชาวบ้าน แต่ก็มีผลในด้านลบเพราะเมื่อชาวบ้านกลัวก็ต้องไปหาที่พึ่ง ซึ่งก็ได้แก่ พคท. 

มงคลบอกว่าช่วงนั้นมีอยู่ 43 ครอบครัวที่บ้านถูกเผา อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2515-2516 สถานการณ์หนักมาก 4-5 หมู่บ้านละแวกนั้นมีคนตายแทบทุกสัปดาห์

"ถ้าไม่ถูกนายฆ่าก็ถูกสหายฆ่า สหายคิดว่าใครเป็นสายก็ฆ่า ซึ่งบางครั้งก็เป็นความเข้าใจผิด คนที่ตายหลายคนเราก็ไม่รู้ว่าใครฆ่า ชาวบ้านที่เป็นคนอยู่ตรงกลางนี่ลำบากที่สุด ... หลังจากนั้นก็ไม่มีคนอยู่แล้ว ถูกผลักออกนอกพื้นที่กันหมด ปี 17-19 แถวนี้ไม่มีคนอยู่ รบกันหนัก" 

มงคลและครอบครัวถูกผลักดันให้ออกนอกพื้นที่โดยให้ไปอยู่ที่ อ.นิคมคำสร้อย จ.

มุกดาหาร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านปากช่องกว่า 100 กม.โดยก่อนเข้าไปอยู่ที่นิคมฯ ต้องอยู่ที่ตลาดอำเภอเขาวงชั่วคราวก่อนประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะได้ย้ายไปยังที่จัดสรรให้ภายในนิคมสร้างตนเอง อยู่ที่นั่นเกือบ 8 ปี หลังจากนั้นในปี 2525 มงคลจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านเดิม  

นิคมสร้างตนเองไม่ใช่คำตอบ 

มงคลเล่าถึงสภาพพื้นที่ที่รัฐจัดสรรที่ดินให้ว่า แต่ละครอบครัวจะได้ที่ดินจำนวน 15 ไร่ มีกระต๊อบทำด้วยเสาไม้เนื้ออ่อน พื้นทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้า อยู่ได้ 1-2 ปีก็พัง ช่วงปีแรกมีข้าวให้โดยปันส่วนนับตามจำนวนคน เขาถูกอพยพไปอยู่ในที่ดินของคนอื่น ถึงที่สุดเจ้าของเดิมก็ยังไม่ยอม จึงต้องคืนที่ส่วนหนึ่งให้เจ้าของเดิม ดังนั้น ที่ดินที่พวกเขาได้ทำกินจริงๆ จึงเหลือเพียงไม่กี่ไร่ 

ถนัด ชาวเขา อายุ 48 ปีเป็นบุตรชายของนาย กาบ ชาวเขา ผู้ใหญ่บ้านปากช่องในช่วงปี 2516 ตอนที่เกิดเหตุการณ์ตึงเครียดและมีการเผาหมู่บ้านกันนั้น ถนัดอายุเพียง 2 ขวบจึงยังจำความไม่ได้ แต่หลังจากนั้น บิดาหรือชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังเมื่อโตขึ้น 

ถนัดเรียบเรียงเหตุการณ์จากการบอกเล่าของผู้ใหญ่กาบผู้เป็นพ่อว่า 

สมัยนั้นไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเหมือนสมัยนี้ แต่เป็นเหมือนการแต่งตั้ง คือ เจ้านาย (นายอำเภอหรือปลัด) จะขึ้นมาคัดคนที่พอรู้หนังสือให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนเก่าเริ่มเห็นเค้าลางของความรุนแรงแล้วจึงขอลาออกไป แล้วมีการเลือกนายกาบขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน

"ช่วงนั้น พ่อกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่สองสามเดือน เวลาเจ้านาย (ทหาร) จะขึ้นมาจากทางอำเภอเขาวง จะต้องให้พ่อไปรับ แล้วมีกฎให้ต้องใส่เสื้อแจ็คเก็ตฟิลด์สีเขียวขี้ม้าเหมือนทหารไปรับด้วย"

มีเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลให้กับคนในครอบครัว เมื่อผู้ใหญ่กาบไปรับเจ้านายขึ้นมาที่หมู่บ้าน ระหว่างทางถูกทหารป่าซุ่มโจมตี บุตรชายคนโตของนายกาบที่หนีเข้าป่าอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย แต่โชคดีที่กระสุนเฉี่ยวนายกาบไป จึงไม่กลายเป็นเรื่องที่ชวนหดหู่กว่านี้ 

เมื่อถามเรื่องการตายของมัจฉา พี่ชายของมงคลเพื่อนร่วมหมู่บ้าน ถนัดเล่าว่า มัจฉาเป็นชื่อที่ซ้ำกับชื่อจัดตั้งของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นคนในชุมชนอีกคนหนึ่ง ก่อนเกิดเหตุ ทางทหารได้เข้าโจมตีฐานของทหารป่าแล้วได้บัญชีรายชื่อที่เป็นชื่อจัดตั้ง บังเอิญมีสมาชิกพรรคคนหนึ่งที่มีชื่อจัดตั้งว่า สหายมัจฉา หลังจากนั้นทหารจึงเข้ามาปิดล้อมหมู่บ้านและเรียกตัวคนที่มีชื่อตามบัญชี นายมัจฉาจึงถูกจับตัวไปและถูกสังหารในที่สุด ถนัดกล่าวด้วยว่าสภาพศพที่พบทิ้งอยู่ในป่าถูกตัดศีรษะ มือและเท้าออกไป แต่ครอบครัวจำได้ว่าเป็นมัจฉาก็เนื่องจากเสื้อผ้าที่ผู้เสียชีวิตสวมใส่ 

2
บ้านซ้ง: การสังหารที่ไม่มีบทเพลงจารึก

เหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงทศวรรษที่ 2510 กินวงกว้างมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่แม้ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการในหน้าหนังสือพิมพ์หรือหนังสือเล่มใด แต่มันก็ยังหลงเหลือร่องรอยตามธรรมชาติ เป็นเรื่องเล่าปากต่อปากของคนในชุมชน เพราะเหตุการณ์ผ่านมา 40-50 ปีเรียกว่ายังอยู่ในเวลา 1 ชั่วอายุคน

เขตงานเพชรบุรี เป็นเขตงานย่อยที่ขึ้นกับเขตงาน 333 ของ พคท. ครอบคลุมพื้นที่บนเทือกเขาภูพานบริเวณด้านตะวันตกของอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ต่อกับด้านตะวันออกของอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากบ้านปากช่องและบ้านนาหินกองที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีบ้านซ้ง บ้านกุดปลาค้าวที่เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพคท.และมีเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นกัน 

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีกลุ่มเด็กชายวัยรุ่นที่บ้านซ้ง ตำบลกุดปลาค้าว อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ถูกยิงเสียชีวิตที่ทุ่งนาจำนวน 6 คน ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า พวกเขาออกไปเก็บลูกตาลมากิน

เราเดินทางลงจากบ้านปากช่องลงมายังท้องทุ่งที่ตั้งของบ้านซ้ง พบกับใจดี เศษฤทธิ์ หรือสหายสู้รบพี่ชายของผู้ตายคนหนึ่ง และชอบ เศษฤทธิ์ หรือสหายประจญซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของใจดี ชายสูงวัยทั้ง 2 คนได้ช่วยกันลำดับเหตุการณ์รวมถึงรายชื่อของผู้เสียชีวิตมาเล่าให้ฟัง

พวกเขายืนยันว่า มีการสังหารหมู่เยาวชนในหมู่บ้านจริง โดยมีการดักซุ่มและล้อมยิงเยาวชนจำนวน 6 คน ขณะที่เดินออกจากหมู่บ้านไปที่ท้องนา ใจดีเป็นพี่ชายของทอนสาร เศษฤทธิ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต เขารวบรวมรายชื่อของผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นได้ 4 คน ได้แก่ สมพล เศษฤทธิ์,ทอนสาร เศษฤทธิ์,เริ่ม โพธิสม,เม่น ทิพย์สิงห์ ส่วนวัยรุ่นอีก 2 คน ได้แก่ เผือก มิทำมา (เสียชีวิตแล้ว) และ จันทร กุตระแสง ได้รับบาดเจ็บแต่ยังสามารถหลบหนีได้  

เหตุการณ์เกิดที่โคนต้นตาลในที่นาของครอบครัวนายสวนพันธุ์ ทิพย์สิงห์ หรือสหายคึกคัก ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน และนายสวนพันธ์ุเองก็เป็นน้องชายของเม่น ทิพย์สิงห์ หนึ่งในผู้เสียชีวิต 

"อส.เป็นสิบคนล้อมยิงเด็กชาย 6 คน ที่ตายคาที่ก็มี วิ่งหนีไปก็โดนตามไปยิงจนตายคาห้วยก็มี ไปหลบในกองฟางก็ลากออกมายิง ส่วนจันทรหนีลงไปซ่อนในบ่อน้ำที่มีกอบัวขึ้นเต็มหมดเลยรอดมาได้" สวนพันธุ์เล่า


สวนพันธุ์ ทิพย์สิงห์ ชี้ต้นตาลคู่กลางทุ่งนาว่าเป็นจุดที่วัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกล้อมยิงเสียชีวิต


ด้านหลังถัดจากทุ่งนาเป็นภูเขาล้อมรอบซึ่งเป็นฐานที่มั่นของ พคท.

"ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม" วรรคหนึ่งในบทเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ อาจช่วยอธิบายสภาพการสังหารในวันนั้นได้ดี

เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปีไหน ไม่มีใครจำได้ชัดเจน แต่ชอบ เศษฤทธิ์ เทียบเวลาว่าเขาได้รับข่าวการเสียชีวิตของลูกพี่ลูกน้องของเขา ตอนที่เขากำลังศึกษาอยู่ประเทศจีนในช่วงปี 2510 - 2511 จึงอนุมานได้ว่าเหตุเกิดในช่วงเวลานั้น

ทั้งชอบและใจดีมีความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสังหารทางการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านั้นกลุ่มสหายได้เข้าโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่รัฐในหมู่บ้าน การปะทะดังกล่าวมีการสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ศพของเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตได้ถูกนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ขณะที่ศพของสหายที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถูกตัดศีรษะนำไปต้มแล้วจึงเสียบไว้ที่รั้วค่ายบ้านนาตาหลิ่ว 

เมื่อถามว่าทำไมทหารจึงต้องนำศีรษะไปต้มก่อน ชอบบอกว่าเพื่อไม่ให้เน่าและเกิดกลิ่นเหม็น จึงต้องต้มก่อนนำไปเสียบประจาน

สิ่งที่ค้นพบมากขึ้นคือ ในกลุ่มเด็กชายทั้ง 6 คนที่ออกไปขึ้นต้นตาลเพื่อเก็บลูกตาลมากิน มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์อยู่ในระหว่างการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และกองกำลังที่เข้าทำการปิดล้อมสังหารหมู่พวกเขาไม่ได้เป็นตำรวจ ทหาร แต่เป็นกองกำลังของ อส. ซึ่งก็คือชาวบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันนั่นเอง 

ยิ่งไปกว่านั้น การตายเด็กชายทั้ง 4 คน บาดเจ็บอีก 2 คนในพื้นที่ห่างไกลเช่นนั้นไม่ปรากฏเป็นข่าว ไม่มีการร้องเรียน ไม่มีการรับผิดชอบหรือการชดเชยจากรัฐ ไม่ได้มีแม้แต่มีการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน มีแค่เพียงทำพิธีทางศาสนาแบบง่ายๆ แล้วก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดไป

3
ควนกาหลงรำลึก : การบังคับย้ายถิ่นหลายร้อยกิโล

คอนเสิร์ต สายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย ได้นำเพลงปฏิวัติของ พคท.มาเรียบเรียงขับร้องใหม่ จัดขึ้นเมื่อ 13 กันยายน 2546 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล มี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการวงฯ 

'ควนกาหลงรำลึก' เพลงทำนองลูกทุ่งดูแปลกเปิ่นแต่ติดหู ถูกเลือกมาบรรเลงเป็นเพลงที่ 18 จากการแสดงทั้งหมด 24 เพลงในวันนั้น

เพลงนี้เป็นผลงานประพันธ์คำร้องและทำนองของ หนูพันธุ์ โคตวงศ์ หรือ เพลิง นาหลัก ลูกชาวบ้าน ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาแต่งเพลงนี้เพื่อบรรยายความรู้สึกขมขื่นเจ็บปวดของตัวเขาเองจากการถูกคุกคามโดยรัฐ  

…ฝากเสียงเพลงครวญ ขอเล่าทวนภาพแห่งความหลัง
ยังไม่เลือนลับลาง ใกล้สว่างวันสองธันวา
สองห้าศูนย์เก้า ภาพที่เราจำได้ติดตา
ดาวหางพราวทิศบูรพา เป็นสัญญาพรากจากไกลล้ำ
…ขบวนรถไฟ    มุ่งหน้าไปสู่ควนกาหลง
ผ่านดินป่าเขาแดนดง ถึงริมฝั่งทะเลสีคราม
ชะนีร้องครวญ    โศกกำสรวญหวิวใจทุกยาม 
เสียงเสือดาวร้องดังคำราม โหยหวนระกำชอกช้ำฤดี
…แค้น….....  พวกมารก่อกรรมทำร้าย       
มันเหยียบย่ำหัวใจ พรากเราหนีไกล แค้นในฤดี
ถ้าแม้นมีปีก หลีกห้องขังตะรางกาลี
มาจับปืนวันนี้ ร่วมน้องและพี่ประจันต์ผองภัย
…ฝากท้องทะเล ฝากสายลมผ่านภูสอยดาว
ฝากหัวใจไปถึงมิตรเรา ยอดภูสระยังจำซึ้งใจ
มารวมพลัง แหกห้องขังแรมรอนนอนไพร
มาจับปืนร่วมกับสหาย ให้ผืนธงชัยซับเลือด…น้ำตาฯ

บัณฑิต จันทร์ศรีคำ หรือแคน สาริกา บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่เคยเข้าป่า ในเขตงานภูสระดอกบัว ดูจะมีภาพประทับต่อ เพลิง นาหลัก เป็นพิเศษ

แคนแสดงความชื่นชมเพลิง นาหลัก ในหนังสือเสียงเพลงจากภูพาน (2534) ว่า 

เพลิงในสายตาของมิตรสหายเป็นนักรบกล้า กล้าสู้กล้าเสี่ยงภัย เดินหลังเขารับรองว่าไม่ตายก่อน ไม่ทิ้งเพื่อนให้ตกเป็นเหยื่อกระสุนฝ่ายตรงข้าม

เราพบกับเพลิง นาหลัก ที่บ้านของเขาในเขตจังหวัดปทุม ชายร่างเล็กอายุ 70 ปีดูอ่อนกว่าวัย เมื่อดูลักษณะนิสัยจากบุคลิกและการพูดคุยแล้วใกล้เคียงกับที่แคนถ่ายทอด เขาดูเป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา เปิดเผยและดื่มหนัก เพลิง กับภรรยาประกอบอาชีพเร่ขายเสื้อผ้าราคาถูกตามตลาดนัดในเขตชุมชน 

"แต่งไว้เท่าไหร่ก็จำไม่ได้ หลายร้อยหรือเป็นพันเพลง ทุกวันนี้ก็แต่งอยู่ แต่งไปเรื่อยๆ นึกอะไรได้ก็แต่ง แต่งทิ้งแต่งขว้าง เท่าที่พอจำได้ จดรวบรวมไว้มีประมาณสองร้อยเพลง" เพลิงพูดพร้อมหยิบแฟ้มพลาสติกอย่างหนาใส่เนื้อเพลงและบทกวีที่เขาเขียน 3-4 แฟ้มมาให้ดู


เพลิง นาหลัง เจ้าของบทเพลง ควนกาหลงรำลึก

เพลิง เล่าว่า เขาเข้าสู่ขบวนการปฏิวัติตั้งแต่อายุ 11 ขวบ อาจด้วยว่าเขาโตมาในครอบครัวเครือญาติที่เป็นกลุ่มแรกที่แกนนำ พคท.เข้ามาทำงานในพื้นที่ด้วย ประจวบ เรืองรัตน์ หรือชื่อจัดตั้งว่า ลุงสยาม เป็นกรมการเมืองและอดีตเลขาธิการพรรคฯ ได้เข้ามาสัมพันธ์กับชาวบ้านในหมู่บ้านนาไร่ใหญ่ อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ โดยการแต่งงานกับอาของเพลิง พ่อของเพลิง ก็จัดว่าเป็นแกนนำรุ่นแรก เพลิง จึงได้มีโอกาสสัมผัสศึกษาความคิดทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ยังเล็ก ประกอบกับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐในยุคสมัยหลังปี 2504 ไม่ได้เป็นไปด้วยดีนัก ข้าราชการตำรวจ ปลัดอำเภอ เป็นเหมือนกับเจ้านายวางตัวอยู่เหนือชาวบ้าน

"ผมเห็นการกดขี่ ขูดรีด ข่มเหง ผมเห็นการเอารัดเอาเปรียบจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนที่รัฐแต่งตั้ง ตำรวจนี่ตัวดี เป็นมือตีนของรัฐ ตำรวจยุคสฤษฎิ์นี่ป่าเถื่อน จับขัง เอาตัวคนไปถีบลงในเหวไม่ให้เห็นศพ ยิงคนแบบไม่เลือกหน้า ชาวบ้านแค่กระแอมก็ไม่ได้ คนบ้าๆ บอๆ ก็ถูกยิง ขอแต่สงสัย ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยตัดสิน"

"เรียน ป.4 ก็ถือหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติไปโรงเรียนแล้ว ปี 2509 ผมอายุ 17 ผมติดอาวุธแล้ว ตอนนั้นในเขตงานมีปืนกลทอมป์สันแล้ว 4 กระบอก"

การทำงานความคิดและการจัดตั้งของพรรคฯ ในสมัยนั้นค่อนข้างโฉ่งฉ่าง เปิดเผย ลุงสยามมีวิทยุรับส่งที่สามารถรับข่าวสารจากต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการทำงานมวลชน มีชาวบ้านมาให้ความสนใจ ช่วงก่อนที่จะมีการอพยพออกจากหมู่บ้านนาไร่ใหญ่ได้มีเจ้าหน้าที่ของทางการคนหนึ่งแฝงตัวเข้ามาเป็นครูสอนหนังสือในหมู่บ้าน สถานการณ์โดยรวมมีการกล่าวโจมตีกันไปมาจากทั้งสองฝ่าย

"ช่วงนั้นมันเปิดเผยหมด ศึกษาแล้วก็มาแลกเปลี่ยนอภิปราย มีเปิดข่าวต่างประเทศฟังกันด้วย มีคนเดียวที่ไม่มาเข้าร่วมก็คือคนที่เป็นสายลับซึ่งก็คือครูคนนั้น"

"วันนั้นเป็นวันบุญกฐิน มือสังหารก็ได้มาสังหารเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้น พอมีการฆ่ากันเกิดขึ้น ทหารก็เข้าควบคุมหมู่บ้านทั้งหมด ชาวบ้านขยับไปทางไหนไม่ได้เลย จะไปหาอยู่หากินก็ห้ามไม่ให้เอาข้าวสารติดตัวไป ตอนค่ำก็ไม่ให้ออกไปไหน"

"นายทหารชุดเต็มยศมาออกคำสั่งบอกให้ย้ายบ้าน บอกว่าต้องย้าย ต้องขายบ้านขายช่องไปเลย เป็นทหารจากหน่วยพลร่ม ลพบุรี"

บ้านนาไร่ใหญ่และบ้านโพนทองไม่ได้ถูกบังคับย้ายทั้งหมู่บ้าน แต่ถูกเลือกบังคับย้ายเป็นเพียงบางครัวเรือนซึ่งรวมแล้วมีประมาณ 57 ครัวเรือนหรือประมาณ 200 คน

ในช่วงนั้นเพลิง เป็นทหารบ้านแล้ว พ่อกับพี่ชายก็เข้าป่าร่วมกับพรรคฯ อย่างเต็มตัว คาดว่านั่นน่าจะเป็นเหตุให้เพลิง มีรายชื่อที่จะต้องอพยพไปอยู่ที่ควนกาหลง

"ผมมีชื่ออยู่ในบัญชีว่าเป็นคนป่า แต่เมื่อทหารมาเห็นก็บอกว่า เฮ้ย ไอ้นี่มันยังเป็นเด็กอยู่นี่ ก็เลยไม่โดนจับ"

"เขาหลอกว่าถ้าย้ายไปอยู่ที่นั่น ที่ดินดี จะดำเนินการจัดการให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น แต่เจตนาคือต้องการย้ายออกจากญาติพี่น้อง ไม่ให้ส่งข้าวส่งน้ำให้กับสหาย มีการนำกำลังทหารมาปิดล้อมทั้งหมู่บ้านไม่สามารถติดต่อกับคนป่าได้ ไม่มีโอกาสได้เลือกว่าจะย้ายหรือไม่ ชาวบ้านก็สับสน บ้าน ที่ดินก็ต้องขายให้ญาติพี่น้องที่ไม่ถูกเลือกให้ย้าย ตอนจะอพยพ อยู่บนรถก็ร้องไห้ อยู่ข้างล่างก็ร้องไห้ ทั้งเด็กผู้หญิงคนแก่"

ทหารเอารถจีเอ็มซีมารับ แต่ไม่ได้อพยพไปที่ควนกาหลงเลยทันที แยกเอาไปไว้ที่อำเภอเขื่องใน กับอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ที่ให้ไปพักเป็นอาคารไม้เก่าๆ ดูเหมือนเป็นห้องประชุมโล่ง นอนกางมุ้งเรียงๆ กันไปในอาคารหลังเดียว เวลาทำกับข้าวก็ก่อไฟของใครของมัน 

เพลิง เล่าต่อว่า ไปอยู่ที่ที่พักชั่วคราวราว 1-2 เดือนแล้วจึงส่งต่อลงกรุงเทพฯ ไปขึ้นรถไฟที่บางกอกน้อยเพื่อส่งไปลงที่นิคมควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล คนที่มีรายชื่อถูกบังคับให้ไปแน่ๆ ขณะเดียวกันคนที่ไม่มีรายชื่อก็สามารถไปด้วยได้ตามความสมัครใจ แต่ในส่วนของการปันส่วนอาหารจะได้รับการปันส่วนเฉพาะคนที่มีรายชื่อเท่านั้น

เพลิง บอกว่า ตอนนั้นพื้นที่รองรับที่ควนกาหลงยังไม่ได้เป็นเมือง เป็นพื้นที่ละเมาะ ทางการเอารถแทร็กเตอร์ไปปรับให้พื้นที่ราบแบบพออยู่ได้ สร้างบ้านหลังเล็กๆ ชั่วคราว ทำด้วยไม้และมุงด้วยสังกะสี ต่อมาทางการได้จัดสรรที่ทำกินให้เฉลี่ยแล้วครอบครัวละ 2-3 ไร่ สภาพความเป็นอยู่ที่สตูล ช่วงแรกยังมีอาหารมาแจกจ่าย แต่ตอนหลังก็ไม่มี ชาวบ้านที่ถูกอพยพมาก็ทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวโดยการตัดฟืนจากไม้ในป่าเพื่อป้อนให้กับรถไฟ เพราะรถไฟสมัยนั้นยังเป็นเครื่องจักรไอน้ำใช้ฟืนเป็นแหล่งพลังงาน

"แต่ใจคนไม่อยู่ คนมันอยากจะกลับ ยังไงก็ต้องกลับ ตอนแรกทางการพยายามขวางไว้ไม่ให้เดินทางไปขึ้นรถไฟ แต่ชาวบ้านก็ใช้วิธีเดินลัดเลาะไปดักขึ้นรถไฟตามสถานีต่างๆ"

"บางครั้งขึ้นไปแล้วเจ้าหน้าที่สั่งให้ลงจากรถก็ไม่ยอมลง ก็เลยจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้เดินทางกลับคืนมาที่บ้านเดิม ตอนนั้นมันไม่มีกฎหมายบังคับ คนที่ขึ้นรถเป็นคนแก่ก็มี เด็กก็มี เจ้าหน้าที่ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยต้องปล่อยให้ไป"

ผู้ถูกบังคับอพยพค่อยๆ ทยอยเดินทางกลับมายังถิ่นฐานเดิม ทีละคนสองคนบ้าง เป็นกลุ่มใหญ่ 7-8 คนบ้าง แยกย้ายกันเดินออกมาจากหมู่บ้านมาขึ้นรถที่สถานีรถไฟ จุดนัดหมายคือสถานีรถไฟหาดใหญ่เดินทางมาลงที่บางกอกน้อย จากนั้นขึ้นรถที่หมอชิตเดินทางมาถึงจังหวัดอุบลฯ ต่อรถสองแถวเข้าไปในหมู่บ้านอีกที

ชาวบ้านใช้เวลาเกือบ 2 ปี จึงทยอยกลับมายังถิ่นฐานเดิมที่บ้านโพนทองและนาไร่ใหญ่ได้จนเกือบหมด และสุดท้ายก็เข้าป่ากันเกือบหมดเช่นกัน มีเพียง 2-3 ครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ที่นิคมสร้างตัวเองควนกาหลงจนถึงทุกวันนี้

เพลิงได้กลับมาเป็นรุ่นสุดท้าย ความรู้สึกในช่วงของการต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบนภูสูงของเพลิง คนในครอบครัว และชาวบ้าน ที่ถูกบังคับอพยพเดินทางไกลไปอยู่สตูลได้ถูกนำมาแต่งเป็นเพลงควนกาหลงรำลึก

แคน สาริกา บรรยายเกี่ยวกับบทเพลงควนกาหลงไว้ในหนังสือ เสียงเพลงจากภูพาน

…ฝากท้องทะเล ฝากสายลมผ่านภูสอยดาว
ฝากหัวใจไปถึงมิตรเรา ยอดภูสระยังจำซึ้งใจ

"หากแผนที่ประเทศไทยออกมาวางบนโต๊ะดูก็จะพบว่า จากนิคมควนกาหลงเมืองใต้ คนเขียนเพลงให้ภูสอยดาวที่เมืองจันท์เป็นจุดผ่านของเส้นเสียงแห่งการเรียกหาอิสระเสรี ยอดภูสระดอกบัวนั้นอยู่ในระนาบเดียวกับภูสอยดาวถึงไม่ตรงเป๊ะ….ก็ถือว่าใกล้เคียงที่สุด"

00000

"ผมกลับมาก็นอนบ้านไม่ได้ เขาสั่งฆ่าผม ผมก็ต้องนอนตามไร่ตามนา" เพลิง ไล่รำลึกถึงความหลัง 

สาเหตุที่หลังจากกลับมาแล้ว เพลิง ต้องเข้าป่าก็เพราะมีข่าวว่านายอำเภอเป็นคนสั่งให้สังหารเพลิง อาของเพลิง ที่ติดคุกอยู่ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้ฝากข้อความให้คนมาบอก

เพลิง เล่าว่า ก่อนจะมีการสังหารสายลับของทางการ มีชาวบ้านติดคุกในคดีการเมืองแล้ว เฉพาะบ้านนาไร่ใหญ่ก็ 4 คน ช่วงที่มีการอพยพก็ได้มีการจับกุมตัวชาวบ้านด้วยทุกหลังคาเรือน โดยนำตัวไปฝากขังไว้ที่อำเภอต่างๆ เนื่องจากโรงพักที่อำนาจเจริญมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะกักขังคน จึงเอาล่ามโซ่ไว้นอกห้องขังก็มี อาของเพลิง ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

เพลิง ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เหตุที่ต้องเอาทหารเข้ามายึดพื้นที่ เพราะที่ตำบลนาไร่ใหญ่มีตำรวจแค่คนเดียวและคอยแต่จับเหล้าเถื่อนเท่านั้น จึงต้องเอาทหารเข้ามา หลังจากนั้นจึงมีหน่วยงานอื่นเช่น ตํารวจตระเวนชายแดน อส.ทหารพราน สนธิกำลังกันเข้ามาทำงานในพื้นที่ที่เป็นเขตเคลื่อนไหวของ พคท.ในภาคอีสาน

"สถานการณ์ในพื้นที่ดูจะแย่ลง พอทหารเข้ามายึดพื้นที่ก็ทำได้ทุกอย่าง อยากจับใครก็จับ อยากฆ่าใครก็ฆ่า"

เพลิงยังเล่าอีกว่า ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านในพื้นที่เขตงานภูสระดอกบัวไม่ได้มีเพียงแค่การบังคับอพยพบ้านนาไร่ใหญ่-โพนทอง จังหวัดอำนาจเจริญ ไปยังนิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล เท่านั้น การสังหารก็มีอยู่ทั่วไปทั้งที่รัฐกระทำต่อประชาชน และทั้งการตอบโต้จากคอมมิวนิสต์ การเผาหมู่บ้านก็มีในพื้นที่อื่นที่ไม่มีการบันทึกด้วย เช่น บ้านป่าก่อ หรือการสังหารโหดเพื่อข่มขวัญด้วยการมัดคนไว้กับต้นยางและจุดไฟเผาก็เคยเกิดขึ้นในพื้นที่เขตงานภูสระดอกบัวเช่นกัน 

4
บทสรุป

1.จากกรณีที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง กรณีเผาบ้านนาทราย-นาหินกอง ฯลฯ เผยแพร่สู่สาธารณะได้ก็โดยศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จากนั้นรัฐได้ชดเชยความเสียหายในบางกรณี แม้ไม่มากนักและไม่ครบถ้วน แต่ก็ทำให้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง ไม่มีการค้นหาความจริง นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือสรุปบทเรียนความรุนแรง

2. แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐไทยได้ดำเนินต่อเนื่องถึงจุดจบมาร่วมครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีการรวบรวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบอย่างที่มันควรจะเป็น

ที่ผ่านมามีการรวบรวมจำนวนผู้สูญเสียในเหตุการณ์ทำให้พอประมาณการณ์ได้บ้าง แต่ก็ยังมีกรณีที่ค้นพบเพิ่มเติมดังที่ได้นำเสนอในรายงานนี้ เช่น การสังหารเด็กชายวัยรุ่น 4 ศพที่บ้านซ้ง จ.กาฬสินธุ์,  การสังหารนายมัจฉา ชาวเขา เด็กหนุ่มที่บ้านปากช่อง จ.มุกดาหาร, การสังหารโดยการจับมัดกับต้นยางนาและจุดไปเผาตามคำบอกเล่าของเพลิง นาหลัก ในหมู่บ้านในเขตการเคลื่อนไหวของ พคท.เขตภูสระดอกบัว ฯลฯ  ที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าทั้งหมดแล้วมีเรื่องราวตกสำรวจอยู่เท่าไหร่ และเรื่องเหล่านี้ก็กำลังเลือนหายไปกับกาลเวลา

3.ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐได้รวบรวมความสูญเสียของฝ่ายรัฐหรือไม่ และเป็นข้อจำกัดของการทำรายงานชิ้นที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้  ทั้งในส่วนของความทรงจำและจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บหรือพิการ

4. การสูญเสียของ พคท. จากการติดตามอ่านเอกสารที่ถูกผลิตออกมาโดยอดีตผู้เข้าร่วมกับ พคท.หลายชิ้น พบว่าข้อมูลยังไม่นิ่ง ส่วนที่รวบรวมจำนวนผู้เสียชีวิตไว้อย่างเป็นระบบที่สุดโดยแยกตามเขตงาน น่าจะเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพของ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนสุดท้ายที่เพิ่งเสียชีวิตไปในช่วงกลางปี 2562 โดยระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง 2,366 คน แต่ในส่วนรายละเอียดของข้อมูลก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก เช่น

4.1 ช่วงเวลาของแต่ละเขตงานที่ยังเหลื่อมกัน

4.2 หลายพื้นที่แจ้งมาเป็นตัวเลขกลมๆ จึงดูเหมือนเป็นการประมาณการณ์

4.3 การจำแนกผู้เสียชีวิตระหว่างผู้เสียชีวิตที่เป็นสมาชิกพรรคกับมวลชนในพื้นที่ก็มีเพียงบางเขตงาน ทำให้สงสัยว่าข้อมูลเหล่านี้ได้รวมมวลชนเข้าไปด้วยในทุกเขตงานหรือไม่ 

4.4 เมื่อดูรายชื่อผู้เสียชีวิต เขตพัทลุง ตรัง สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราชและสงขลา พบว่ามีจำนวนเพียง 226 คน ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลการศึกษาจากการสัมภาษณ์เรื่องถังแดง และทางเจ้าหน้าที่ก็ระบุว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 3,008 คน จึงยังไม่แน่ชัดถึงขอบเขตในการเก็บข้อมูลหรือความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล  

5. แม้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่จะถูกนำมาตีแผ่ให้สาธารณะได้รับรู้จนทำให้เกิดความหวังว่าจะไม่มีความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก แต่ความโหดร้ายป่าเถื่อนโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังเกิดขึ้นหลังจากนั้น เช่น แม้มีการตีแผ่เรื่องถังแดงในช่วงปี 2518 รวมถึงกรณีเผาบ้านนาทราย-นาหินกอง แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังเกิดขึ้นใจกลางเมืองหลวง ยังไม่นับความรุนแรงหลังหมดยุคสงครามคอมมิวนิสต์อีกหลายครั้งรวมถึงในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งหมดไม่เคยมีการสืบสวนความจริงและลงโทษผู้กระทำผิด รัฐไทยจึงเคยชินกับวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเราจะเผชิญกับความรุนแรงเช่นในอดีตอีกหรือไม่

===================

บรรณานุกรม

วัฒน์ วรรยางกูร (บรรณาธิการ). สายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย.กรุงเทพฯ : อาร์ต เอ็จ กราฟฟิค, 2546.

สินชัย (บรรณาธิการ). บนเส้นทางภูบรรทัด : ตำนานการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน พัทลุง-ตรัง-สตูล. โครงการเฉพาะกิจกลุ่มภูบรรทัด, 2544.

อนุสรณ์งานศพ ธง แจ่มศรี, ธง แจ่มศรี : ใต้ธงปฏิวัติ. 2562.

ชัยวัฒน์ สุรวิชัย. เหตุเกิดที่บ้านนาทราย. กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กป.ชป.), 2518.

แคน สาริกา. เสียงเพลงจากภูพาน. สนพ.สาริกา, พิมพ์ครั้งแรก 2534.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท