Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระแสการเมืองของการยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ มีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เรื่องการยุบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีความตื้นลึกหนาบาง สมควรพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

1. ผู้ลงลายมือชื่อคัดค้านการยุบพรรคมีหลายเหตุผล ไม่ควรถูกตั้งข้อหาหนักว่าจะเอากฎหมู่ไปกดดันและข่มขู่ศาล และไม่เคารพกฎหมายบ้านเมืองกันเท่านั้น รายการสนทนาทางโทรทัศน์ รวมทั้งข้อเขียนในหน้าหนังสือพิมพ์ หลายรายการ ก็ยุยงส่งเสริมและชี้นำ ให้ศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดร้ายแรงหรือไม่บังควรหรือ? แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นศาลการเมืองมากกว่าความเป็นศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีทั่วไป เชียร์หรือไม่เชียร์ให้ยุบหรือไม่ยุบ ศาลท่านจึงย่อมฟังหูไว้หูอยู่แล้ว
 

2. พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นองค์การแห่งอุดมคติ ความใฝ่ฝัน และเจตนารมณ์ของประชาชนที่เป็นสมาชิก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยรัฐจัดตั้ง แต่เกิดโดยประชาชนสมัครใจรวมตัวกัน จึงไม่พึงถูกยุบโดยอำนาจรัฐหรือองค์การของรัฐ
 

3. ไม่ควรมีการจดทะเบียนพรรคการเมืองโดยองค์การของรัฐ แต่เปลี่ยนเป็นการควบคุมโดยความนิยมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกพรรค การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จึงเป็นไปตามธรรมชาติ รัฐไม่ต้องไปยุ่ง เพียงแต่รัฐควรส่งเสริมและกำกับให้พรรคทำหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายของการจัดตั้ง
 

4. ยุบแล้วตั้งใหม่ได้อีก เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนสากล ฉะนั้นจะยุบทำไม - ใช้กำลังคน เวลา และงบประมาณ จากภาษีประชาชนไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญกว่านี้ดีหรือไม่??!!
 

5. ความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรคควรใช้ในกรณีพรรคการเมืองทำอันตริยกรรม (คือกรรมหนักขั้นสูงสุด) ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่สมควรใช้กับความผิดของผู้บริหารพรรคแบบให้ยืมเงินแก่พรรค อันเป็นเรื่องลหุโทษ ที่ใช้การลงโทษทางแพ่งจะดีกว่าทางอาญาหรือทางการเมือง
 

6. หากผิดจริง ผู้นำพรรคและกรรมการบริหารถูกเว้นวรรคทางการเมือง ก็ถือเป็นการลงโทษอย่างสำคัญแก่พรรคการเมืองแล้ว ไม่จำเป็นต้องยุบพรรคให้สมาชิกเดือดร้อนต้องไปตั้งพรรคใหม่ เพราะสมาชิกเขาไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้อนุมัติให้ผู้นำหรือกรรมการบริหารพรรคทำเช่นนั้น
 

7. ทบทวนการแก้ไขขนาดโทษที่กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคทำให้เกิดขึ้นเสียใหม่ว่า โทษเช่นไรเหมาะกับการลงโทษแบบใด เพราะโทษมีทั้งลหุโทษ (โทษสถานเบา)  และครุโทษ (โทษสถานหนัก)
 

8. การที่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร หรือสมาชิกให้เงินกู้แก่พรรค ได้เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย แต่ทำไมไม่รวมคดีตัดสินในคราวเดียวกันเสียเลยที่จะยุบหรือไม่ยุบพรรคเหล่านั้นทั้งหมด ทำไมจึงพิจารณาเพียงพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น (หากกกต.กำลังเตรียมจัดการพรรคอื่นด้วย ก็ควรแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ)
 

9.อริยรัฐในบรรดาสังคมประชาธิปไตย ปกครองกันโดยนิติรัฐและนิติธรรม ไม่เพียงแต่ยึดนิติรัฐเท่านั้น (กฎหมายเป็นมาอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ก็ไม่พึงสนใจ แต่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม) กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันมีปัญหาความเป็นนิติธรรมของการได้มา เพราะมิได้มาโดยกระบวนการประชาธิปไตย ประชาชนเจ้าของรัฐจึงมีสิทธิปฏิเสธหรืออารยขัดขืนกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมนั้น รวมถึงทุกฉบับที่ได้มาอย่างขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย
 

10. การลงลายมือชื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่กันคราวนี้ ไม่พึงทำเพื่อพรรคอนาคตใหม่เพียงถ่ายเดียว แต่ย่อมเป็นกระแสการเมืองที่จะนำไปสู่การเปิดหน้าต่างนโยบายประชาธิปไตยของรัฐ เพื่อให้มีการทบทวนนโยบายรัฐ และกฎหมายด้วยพรรคการเมืองที่ ส.ส. ในสภาผู้แทนควรหยิบขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง

 

หมายเหตุ: ข้อเขียน จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการที่พรรคสังคมธิปไตยที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าพรรคถูกยุบ เพื่อเป็นข้อพึงพิจารณาในการยุบพรรคการเมืองในห้วงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และการปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net