Skip to main content
sharethis

เปิดร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชนเสนอ เพิ่มโทษผู้กระทำผิด ขยายผู้เสียหาย ห้ามทรมาน อุ้มหายทุกกรณี ไม่เว้นแม้แต่สงครามและภาวะฉุกเฉิน นักกฎหมายสิทธิฯ ระบุ ต้องให้ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เป็นอาชญากรรมของรัฐ จะอ้างว่าทำเพื่อชาติไม่ได้

ความคืบหน้าของประเทศไทยในการจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง และที่ดีกว่าที่เคยก็คือประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้นในยุคที่อย่างน้อยก็มีรัฐสภาและ ส.ส. จากการเลือกตั้ง

ปัจจุบัน ไทยยังไม่มีกฎหมายที่ป้องกันและกำหนดโทษทัณฑ์ การรับผิดชอบของการที่เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย และเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมาน คุมขังโดยไม่สามารถพบทนายความหรือญาติได้ บางกรณีก็สูญหายไป อย่างที่เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ที่มีประเด็นอ่อนไหวอย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือที่อื่นๆ เช่น การเสียชีวิตของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังถูกหามออกจากค่ายทหารส่งโรงพยาบาล หรือการหายตัวไปของพอละจี ‘บิลลี่’ รักจงเจริญ หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมตัว ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ ค.ศ. 1980 ไทยมีผู้ถูกบังคับสูญหายแล้ว 82 ราย

วันนี้ (20 ก.พ. 2563) ภาคประชาชนได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เป็นตัวแทนเข้าพบกับกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อนำเสนอร่างฯ ฉบับประชาชน และปรึกษาหารือในการที่จะผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา

บรรยากาศในห้องประชุมระหว่างภาคประชาชนกับ กมธ. (ที่มา:ทีมสื่ออนาคตใหม่)

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เป็นที่รับรู้มีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก เป็นฉบับที่กระทรวงยุติธรรมผลักดันให้เกิดขึ้น และไม่สามารถผ่านเป็นกฎหมายได้ในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากมีการถอนวาระพิจารณาออกไปในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (อ่านเพิ่มเติม) และฉบับข้างต้นจากภาคประชาชนที่มีองค์กรประชาสังคมสนับสนุนร่วม 23 องค์กร (อ่านเพิ่มเติม)

ทั้งนี้ ยังไม่มีฉบับใดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาชุดปัจจุบัน โดยการที่กฎหมายจะเข้ารัฐสภานั้น ร่างฯ จะต้องได้รับการเสนอชื่อจาก ส.ส. จำนวนอย่างน้อย 20 คน 

เปิดร่างฯ ฉบับประชาชน เพิ่มโทษผู้กระทำผิด ขยายผู้เสียหาย ห้ามทรมาน อุ้มหายทุกกรณี

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบังคับให้สูญหาย ฉบับประชาชน มีสาระสำคัญ ดังนี้ (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม)

  • ให้บทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ฯ เช่น กฎอัยการศึก หรือการประกาศภาวะฉุกเฉิน ให้ใช้ พ.ร.บ. นี้แทน เว้นแต่ในกรณีกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของบุคคลมากกว่า
  • ขยายความให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อบุคคลให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงโดยเหตุจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเป็นความผิดฐานทรมานด้วย (ร่างฯ ฉบับเข้า สนช. ตัดเรื่องการเลือกปฏิบัติออกไป)
  • ให้การกระทำต่อบุคคลให้เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานในลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเจ้าหน้าที่เป็นความผิดทางอาญา
  • กำหนดมาตรการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เช่น ให้สิทธิพบทนายความ ให้เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกการควบคุมตัวอย่างเคร่งครัด ให้ญาติหรือบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกควบคุมตัว ร้องขอเจ้าหน้าที่รัฐให้เปิดเผยข้อมูลควบคุมตัวได้ และขอให้ศาลเปิดเผยข้อมูลควบคุมตัวได้
  • ให้ความผิดตาม พ.ร.บ. มีอายุความยาวกว่าปกติ (50 ปี) และจะไม่มีอายุความ หากการทรมานและการกระทำให้บุคคคลสูญหายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ
  • ตัดอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการสอบสวน และศาลทหารในการพิจารณาคดี และให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบ
  • ให้คดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นกฎหมายพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และกำหนดให้อัยการรับผิดชอบควบคุมดูแลสำนวนการสอบสวน ไม่ใช่ร่วมสอบสวน
  • ให้สามีภรรยา คู่ชีวิต ทั้งตามนิตินัยและพฤตินัย เป็นผู้เสียหาย (ร่างฯ ฉบับกระทรวงระบุไว้กว้างๆ ว่าเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายทางชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ)
  • ไม่มีข้อยกเว้นอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ (ร่างฯ ฉบับ สนช. อนุญาตในมาตรา 23)
  • เพิ่มบทบัญญัติ ห้ามไม่ให้รัฐส่งตัวบุคคลใดออกนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นตกอยู่ในความเสี่ยงจากการทรมาน การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นไปตามหลักการไม่ส่งตัวกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ของกฎหมายระหว่างประเทศ 

สำหรับเรื่องหลักการส่งตัวกลับนั้น ร่างฯ ฉบับเข้า สนช. ได้ตัดประเด็นข้างต้นออกไป สมชาย หอมลออ นักกฎหมายและที่ปรึกษาอาวุโสจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่อยู่ในคณะพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในอดีตเล่าว่า เหตุผลที่ถูกตัดออกเพราะมีความต้องการให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นต่อการถูกร้องขอจากประเทศต่างๆ แต่ตนเชื่อว่าการมีบทบัญญัตินี้เอาไว้จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้ไทยสามารถปฏิเสธการส่งตัวได้ง่ายขึ้น

ในบทกำหนดโทษ ร่างฯ ฉบับประชาชนเพิ่มโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดดังนี้

  • การทำความผิดฐานทรมานและบังคับสูญหาย ต้องระวางโทษ 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท (ฉบับเข้า สนช. อยู่ที่จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท)
  • ถ้าทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี ปรับตั้งแต่ 2-2.5 แสนบาท (จากเดิมจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท)
  • ถ้าผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต (จากเดิม ต้องระวางโทษจำคุก 10-20 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 2-4 แสนบาท)

ในส่วนของการรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา ร่างฯ ฉบับเข้า สนช. และฉบับประชาชน ให้ระวางโทษกึ่งหนึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนกัน แต่ฉบับประชาชนกินความโทษกว้างกว่า ให้ผู้บังคับบัญชามีความผิดด้วยหากผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย (ฉบับเข้า สนช. ให้มีโทษในเรื่องการบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมานต่อบุคคลบางประเภท)

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประธาน กมธ. กล่าวหลังฟังการนำเสนอและเรื่องราวของผู้เสียหายว่า ฝากให้กรรมาธิการ นำร่างฯ ฉบับประชาชนไปพูดคุยกันภายในพรรคดูเพื่อขอให้ ส.ส. ร่วมลงรายชื่อเสนอร่างฯ ดังกล่าว เพราะว่าโดยหลักการกว้างๆ นั้นก็คือให้มีกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานฯ อยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดสามารถปรับแก้ได้ในวาระที่ 2

สมชาย หอมลออ กล่าวว่า ในทางหลักการของกฎหมายนั้น ต้องการทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ แม้แต่ภาวะฉุกเฉินหรือสงคราม จะบอกว่าเป็นการ “อุ้มหายเพื่อชาติ ซ้อมทรมานเพื่อชาติ” ไม่ได้ กฎหมายนี้จะเป็นปัจจัยทำให้การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐมีความเป็นไปได้มากขึ้น

"การทรมานหรือการอุ้มหาย ตอนนี้เรายังไม่มีกฎหมายข้อใดเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ โดยเฉพาะคดีอุ้มหายที่เจ้าหน้าที่ทำได้อย่างแนบเนียนมาก ศพไม่มีร่องรอยไม่มี ถ้าจะดำเนินคดีหรือตั้งข้อหาได้ก็ต้องพบศพเพียงเท่านั้น กระทรวงยุติธรรมใช้เวลา 10 ปีในการร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่บางคนที่เกี่ยวข้อง คัดค้านเตะถ่วงตลอดเวลา ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศต่อสังคมว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นฉบับแก้ไขที่ภาคประชาชนช่วยกันจัดทำขึ้น ซึ่งผมหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพลเรือนในประเทศไทยมากขึ้น" สมชายกล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า การมีกฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีกรอบในการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย เป็นหมุดหมายต่อสังคมไทยและสังคมโลกว่าต่อไปนี้การซ้อมทรมานและบังคับสูญหายจะเป็นความผิดทางอาญา และจะนำไปสู่ขั้นตอนของการนำไปปฏิบัติ สร้างความรู้ความเข้าใจต่อไป

สมศักดิ์ ชื่นจิตร กล่าวว่า เมื่อปี 2552 บุตรชายของเขา ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน ที่ จ.ปราจีนบุรีทำร้ายร่างกายและเอาถุงครอบหัว เพื่อบังคับให้ฤทธิรงค์สารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทอง แม้ 20 วันต่อมาจะจับผู้ต้องหาตัวจริงได้ แต่ลูกชายของเขาก็เป็นผู้ต้องหาไปแล้ว และประสบกับผลกระทบทางจิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ป่วยเป็นโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder หรือสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) ตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึงปัจจุบัน

จากจุดนั้น เรื่องราวขยายวงออกไปเป็นคดีความสารพัดทั้งที่สมศักดิ์ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ และที่ตำรวจฟ้องกลับในประเด็นเบิกความเท็จและฟ้องเท็จ โดยสมศักดิ์ระบุว่า ครอบครัวสูญเสียเงินไปไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาทภายใต้กระบวนการยุติธรรมนี้

สมศักดิ์อยากให้มี พ.ร.บ. ดังกล่าวออกมาคุ้มครอง เยียวยาและพิทักษ์สิทธิของประชาชนที่อาจต้องพบเจอเรื่องเลวร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ผู้เสียหายอีกคนที่มานั่งในห้องร่วมกับ กมธ. วันนี้คืออดิศร โพธิ์อ่าน อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กทม. พรรคอนาคตใหม่ บุตรชายของทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย องค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด ผู้หายสาบสูญไปเมื่อปี 2534 และไม่มีความคืบหน้าในทางคดี 

อดิศรเล่าว่า การหายตัวไปของทนงส่งผลกระทบกับชีวิตของครอบครัวโพธิ์อ่าน เขาต้องออกจากโรงเรียนเพื่อสละให้น้องได้เรียน เพราะที่บ้านสามารถส่งเสียได้คนเดียว เขาสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มาจากการร่วมร่างของประชาชนผู้ถูกลิดรอนสิทธิเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net