‘ธีระ’ทวนคำวินิจฉัยเก่าศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชี้ช่องประชาชนทำอะไรได้บ้าง

ก่อนจะถึง ‘วันพิพากษา’ หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพรรคอนาคตใหม่ในคดีเงินกู้ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ"ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มธ. ได้บรรยายถึงเหตุผลในทางหลักกฎหมายว่า เพราะเหตุใดองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเมื่อองค์กรที่เป็นใช้ในแผ่นดินใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะสามารถดำเนินการอย่างไรบ้าง สิ่งที่ประชาชนทำได้มีทั้งการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ การรวมตัวชุมนุมแสดงออก การยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขกฎหมาย และการตัดสินใจทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับความมุ่งหวังของฝ่ายรัฐผ่านการเลือกตั้ง 

ขณะเดียวกันเขายังชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เป็นประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองในอดีตในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาว่า มีหลายครั้งที่เป็นการะทำซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การรับไม่รับเรื่องไว้พิจารณา การดำเนินกระบวนการพิจารณา และการออกคำวินิจฉัย พร้อมชี้ถึงช่องทางในการเอาผิดเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าว่า จะเกิดผลหรือไม่ 

คำอธิบายทางนิติศาสตร์ ทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 

ธีระเห็นว่าหัวข้องานเสวนา “ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างเป็นเรื่องทางการเมือง แต่ก็ตัดสินใจร่วมงานเสวนาในครั้งนี้เพราะเนื้อหาสาระมีความเกี่ยวพันกับเนื้อหาทางกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน โดยมี 2 ประเด็นที่จะนำเสนอ

1.ตุลาการเป็นใหญ่จริงหรือไม่ 

2.ถ้าตุลาการเป็นใหญ่แล้วประชาชนทั่วไปจะทำอย่างไรได้บ้าง

ธีระชี้ว่า ในสายตาของคนทั่วไปชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ผ่านสื่อมวลชน หลายคำวินิจฉัยสะท้อนให้เห็นลักษณะของความเป็นใหญ่ เช่นก่อนหน้านี้มีร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสภา และมีการยื่นให้ศาลวินิจฉัย ศาลก็วินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป จึงเป็นเรื่องที่ทำให้คิดได้ว่าทำไมกฎหมายที่ออกโดยผู้แทนของปวงชนจึงถูกศาลวินิจฉัยให้ตกไปได้ หรือกรณีที่คณะรัฐมนตรีเวลาทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ศาลก็อาจจะวินิจฉัยได้ว่าการทำหนังสือสัญญาจะต้องทำภายใต้เงื่อนไขแบบใด รวมทั้งการยุบพรรคการเมืองและการวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ในทางข้อเท็จจริงตามความรู้สึกของประชาชนทั่วไป พอจะคาดการณ์ได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเองอยู่ในฐานะที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่ถ้าพูดในภาษกฎหมาย คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในทางกฎหมายมาก โดยมาจากเหตุผล 5 ประการด้วยกัน คือ 

1.สถานะของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรของรัฐในระดับสูง เพราะตัวกฎหมายที่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

2.อำนาจหน้าที่ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีที่เป็นเรื่องระหว่างองค์กรของรัฐที่สัมพันธ์ระหว่างกัน หรือเป็นเรื่องขององค์กรของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองระดับสูง และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐว่าใช้อำนาจหน้าที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ กล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรระดับสูงของรัฐองค์กรอื่นๆ และอำนาจนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะที่เรียกว่าเป็น ใหญ่ในแผ่นดินได้ 

“ในทางการเมืองคนที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือดร.จุมพล ศิลปอาชา ท่านเคยพูดตั้งแต่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญใหม่ๆ ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรที่ขี่องค์กรอื่นๆ ทั้งหมด พูดง่ายคือแทบจะเป็นบิดาขององค์กรอื่นๆ ทั้งหมด”

3.คำวินิจฉัยของศาล เพราะมีเพียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่วินิจฉัยไปแล้วผูกพันกับองค์กรของรัฐทุกองค์กร 

4.ไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และเป็นศาลที่เป็นศาลเดียว เมื่อตัดสินไปแล้วถือว่าจบ และไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการโดยตรวจสอบคำวินิจฉัยได้เลย 

5.การแก้ไขเรื่องใดๆ เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก หากประขาชนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่สำคัญ มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องสำคัญ แต่เห็นว่าอำนาจการตรวจสอบศาลมีน้อยแล้วต้องการแก้ไขให้มีการเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบศาล ก็จะพบว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศาลหรือปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของศาลนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า หากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านด่านของรัฐสภาไปได้ (ญัตติที่ ส.ส. เสนอให้มีการแก้ไขได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. และ ส.ส. ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ) หากมีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้มีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ศาลรัฐธรรมนูญปฎิบัติหน้าที่ได้ยากขึ้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต้องผ่านการออกเสียงประชาติก่อน หากผ่านการออกเสียงแล้วได้รับความเห็นชอบจึงจะนำมาประกาศใช้ได้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ประกอบกันให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะที่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน 

“ถ้าพูดในภาษาชาวบ้าน ศาลเป็นใหญ่ในแผ่นดินแน่นอน แต่ถ้าพูดในภาษาทางนิติศาสตร์ต้องบอกว่า ศาลเป็นองค์ที่มีความสำคัญของประเทศ เป็นองค์กรระดับสูงของประเทศ ที่คำวินิจฉัยของศาลนอกจากจะคุมทิศทางของประเทศแล้ว ยังสามารถควบคุมทิศทางการใช้อำนาจขององค์กรระดับสูงของประเทศได้ทั้งหมด”

ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ธีระกล่าวต่อว่า ความเป็นใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีเหตุผลทางหลักวิชาที่รองรับอยู่ ส่วนคำถามต่อมาคือเมื่อตุลาการเป็นใหญ่แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน ประเด็นนี้จำเป็นต้องขยายความให้ชัดว่า การที่ศาลเป็นใหญ่นั้นทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร ถ้าศาลทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็คงไม่มีคำถามนี้เกิดขึ้น ฉะนั้นความเป็นใหญ่ของศาลนั้นอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือศาลที่เป็นใหญ่เวลาวินิจฉัยคดีแล้ว ประชาชนได้รับเดือดร้อน มีประชาชนที่ไม่ได้รับประโยชน์ คำถามต่อมาคือ ประชาชนจะอยู่ตรงไหน 

เวลามีการพูดถึงศาล หรือองค์กรตุลาการเป็นใหญ่หรือไม่ ไม่สำคัญกับการที่เราจัดให้มีองค์กรตุลาการ โดยต้องการให้ศาลใช้อำนาจเป็นไปอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ถ้าศาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิก็ต้องคุ้มครองสิทธิ 

“แต่ภายใต้ระบบคิดที่มองว่า องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมความยุติธรรม มีกระบวนการพิจารณาอย่างมีอารยะ จำเป็นต้องยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก่อนว่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใด ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรตุลาการก็มีโอกาสที่จะใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักความยุติธรรมได้เสมอ”

หากศาลกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักความยุติธรรม จะมีกลไกในการจัดการตัวผู้พิพากษา หรือตัวคำพิพากษา ตามระบบที่วางไว้ เช่น กรณีศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ก็จะมีโอกาสเสนอเรื่องไปยังศาลสูงพิจารณาทบทวนใหม่ได้ แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีกลไกในลักษณะนี้ เมื่อตัดสินคดีแล้วถือว่าจบ 

ธีระกล่าวต่อว่า โดยปกติแล้วในฐานะนักกฎหมายเมื่อเห็นว่ามีคดีหนึ่งที่ศาลตัดสินโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลาง ก็จะต้องมีเหตุผลประกอบว่าทำไมจึงมองเช่นนั้น ฉะนั้นจึงยืนยันในฐานะของคนที่เคยทำงานในศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะของคนที่ทำวิจัยเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ และในฐานะผู้บรรยายเรื่องศาลรัฐธรรมนุูญว่า คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและเป็นเรื่องทางการเมือง หลายคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อมองโยงกับคำถามที่ว่าประชาชนจะทำอย่างไร มีอยู่อย่างน้อย 4 วิธี 

วิธีที่ 1 ศาลเป็นองค์กรของรัฐ และมีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นอำนาจตามกฎหมาย ส่วนประชาชนเป็นคนธรรมดาไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นวิธียันอำนาจศาล หรืออำนาจขององค์กรอื่นๆ ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ 

“ท่านมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นติชมการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ซึ่งตามกฎหมายก็ยอมรับ ฉะนั้นท่านสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังสักนิด เนื่องจากองค์นิติบัญญัติหรือฝั่งการเมือง ท่านจะวิจารณ์แบบใด จะตำหนิ จะด่าพ่อล่อแม่แบบไหนก็ตาม นักการเมืองปกติเขาจะใจกว้าง เนื่องจากที่มาของเขามาจากประชาชน เวลาท่านด่า ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงเขาก็ทำหูทวนลมไปไม่มีปัญหา แต่ศาลเนื่องจากเป็นองค์กรที่กฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรที่ถูกสันนิษฐานไว้ว่า ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นอิสระ ท่านจะอาศัยเสรีภาพในการแสดงความเห็นไปติชมอย่างไม่มีเหตุผล ไปดุด่าหยาบคายไม่ได้ กฎหมายไม่ยอม อันนี้พูดในแง่ทั่วไป วิธีการคือถ้าจะวิจารณ์ก็ต้องวิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล”

เขากล่าวต่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีทางกฎหมายจำเป็นต้องมีความรู้ จึงจะวิจารณ์ได้ ถ้าไม่ได้เรียนมาทางนิติศาสตร์อย่างไรก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าสิ่งที่ศาลทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วก็อาจจะมีการด่า ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ 

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราบอกว่าทำไมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในชั้นเสนอคดีขึ้นไปที่ศาล กกต.จึงเสนอขึ้นไปเร็วจัง หรือทำไมกระบวนการเสนอคดีของ กกต. จริงๆ มีขั้นตอนตั้งแต่การตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ เมื่ออนุกรรมการดูแล เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ต้องมาดูก่อน หากเห็นว่าควรจะฟ้องคดีก็ต้องเสนอให้ กกต. มีมติเสนอฟ้องคดีอีกครั้งหนึ่ง มันมีขั้นตอนของมัน ตรงนี้ถ้าท่านไม่ได้เรียนกฎหมายท่านไม่รู้ ท่านก็จะเห็นว่าทำไมมันเร็วจังวะ พรรคนั้น 3 เดือนยังไม่เสนอ พรรคเราแค่ 7 วันก็เสนอแล้ว ก็ด่าเลยว่าเหี้ยจริงๆ อันนี้ขอโทษนะครับ อันนี้ไม่ได้นะครับ ลบนะครับ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ก็ซวยนะครับ แต่คนที่เรียนกฎหมายจะรู้ว่า ต้องวิจารณ์อย่างไร ฉะนั้นก็ต้องหวังว่าจะมีนักวิชาการมาชี้ให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหมดมันเป็นปัญหาอย่างไร”

เขาย้ำว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนจบนิติศาสตร์ก่อนจึงจะวิจารณ์ได้  เพราะหากเป็นประชาชนปกติ ศาลจะใจกว้างในระดับหนึ่ง ยกเว้นแต่เพียงว่า หากคนที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในสถานะที่เป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคม หากมีการพูดผิดก็อาจจะถูกดำเนินคดี

วิธีการที่ 2 ประชาชนสามารถชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก และความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลว่า กรณีที่ได้มีการตัดสินมานั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไร แต่การชุมนุมก็ต้องชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย กระนั้นก็ตามต้องเข้าใจว่า หากกฎหมายแย่ แล้วมีการชุมนุมตามกฎหมายที่แย่ ก็จะทำให้การชุมนุมไม่มีประสิทธิภาพ 

“พูดในแง่กว้างๆ คือ ท่านชุมนุมได้ ผมพูดวันนี้ แบบนี้ คงไม่มีใครไปพาดหัวว่า อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.ไม่เคารพศาล ยุยงชาวบ้านให้ไปชุมนุมกัน ผมบอกเลยว่าไม่ใช่ แต่นี่คือสิทธิของท่านที่มีไว้ยันการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาลหรือจะเป็นใคร อย่ากลัว ขอให้สุจริตในการชุมนุม ขอให้สุจริตในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุม อันนี้เป็นสองเรื่องที่เราจะต้องปะทะกันอยู่เสมอในสังคมประชาธิปไตย คือเสรีภาพของท่านกับอำนาจของรัฐ ไม่ใช่เรื่องแปลก”

วิธีที่ 3 ใช้ตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ศาลตัดสินคดีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็ต้องสู้กันต่อในกระบวนการทางนิติบัญญัติ 

วิธีที่ 4 ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะมีการใช้อำนาจตามกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเอง จัดการพรรคการเมืองโดยวิธีการอย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้อำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองตัดสินใจให้เป็นผลตรงกันข้ามกับการตัดสินใจของฝ่ายรัฐ 

เช่น ในปี 2549 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยุบไปได้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 แต่ผลการเลือกตั้งที่ตามมาหลังจากนั้นพรรคพลังประชาชนกลับมาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ฉะนั้นประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจผ่านการเลือกตั้ง และเป็นการแสดงอารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ประชาชนไม่เห็นว่าการตัดสินที่ออกมานั้นเป็นการตัดสินที่ถูกอย่างสุจริต ไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง แต่เห็นว่าเป็นอย่างอื่น 

“เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านมีเสียงของท่านอยู่ในมือ ท่านก็ส่งเสียงของท่านผ่านการเลือกตั้ง ให้คนที่อยู่ในขั้วอำนาจรัฐเห็นว่า เอ็งยุบก็ยุบไป กูก็จะเลือกเหมือนเดิม กรณีการเลือกตั้งปี 2550 เป็นอย่างนั้น  ส่วนกรณีปี 2554 หลังจากมีการยุบพรรคพลังประชาชนไปแล้ว มีการตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้นมา แล้วก็เกิดเหตุการณ์ปี 2552-2553 มีการจราจล และการล้อมปราบทางการเมือง แต่ในปี 2554 สุดท้ายรัฐบาลก็ยังเป็นพรรคเพื่อไทย รัฐประหารปี 2557 ถ้าไม่มีการให้ ส.ว. 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ฝั่งนู้นก็คงไม่ได้มาหรอก แต่เขาบทเรียนจากปี 2550 และปี 2554 กลไกที่ให้ ส.ว. มาโหวตนายกฯ ก็จึงเกิดขึ้นมา”

เขาย้ำว่า หากเมื่อใดที่มีพรรคการเมืองถูกยุบไปโดยที่ไม่ได้เกิดจากการตัดสินตามกฎหมายอย่างแท้จริง แต่มาจากการปักธงทางการเมือง วิธีการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้พรรคการเมืองเดิมที่สร้างขึ้นใหม่กลับมาก็เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ 

“หากท่านต้องการวิธีที่มันฮาร์ดคอร์ดมากๆ มันมีวิธีเดียวนอกจากวิธีเหล่านี้คือท่านต้องปฏิวัติ ศุกร์นี้เตรียมอาวุธกันหรือยัง ทำแบบนี้ไม่ได้ โดนทันทีเลย แต่ถ้ามันอดทนไม่ไหวก็ต้องใช้วิธีการถึงจะไม่ปฏิวัติแต่ก็เป็นการบอกว่า เราไม่เอาแล้วนะแบบนี้ ก็อาจจะมีมาตรการจากเริ่มต้นไปหาหนัก แต่แน่นอนฝั่งตรงกันข้ามเขาก็มีมาตรการของเขาเหมือนกัน… แต่ผมบอกให้ท่านฟังนิดหนึ่งว่า การเมืองไทยในเวลานี้อย่างที่ท่านรู้ โคตรที่จะแก้ไขยากมาก ตอนนี้คนที่เข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง ในความเห็นผมต่อให้มี 10 มือ 10 หน้าอย่างทศกัณฐ์ ท่านก็แก้ปัญหาประเทศไทยได้ยากมาก เพราะเราอยู่ในโหมดของความขัดแย้ง 2 ปีกคือปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกและปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบไทยๆ แล้วมันไม่เคยจบสิ้นสักทีตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา” 

เขากล่าวต่อว่า ตลอด 80 กว่าปีที่มีการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมาประเทศไทยตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านช่วงที่ 3 และยังไม่จบ ฉะนั้นในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าใครที่ลงไปอยู่ความขัดแย้งนี้ก็ต้องถูกทำลาย ต้องทำใจว่าหากตัดสินใจจะเข้าไปในความขัดแย้งนี้เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยก็ต้องเตรียมตัว เตรียมคนให้พร้อม และต้องเข้าใจว่า เป็นไปได้ที่จะต้องเสียคนไปบางส่วน ฉะนั้นคนรุ่นต่อไปต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะต้องสู้กันอีกนาน 

ธีระกล่าวต่อถึงความขัดแย้งในปี 2535 หรือปี 2516 ว่า ปีกการเมืองที่เป็นขั้วความขัดแย้งใหญ่ ส่วนมากคือ ปีกทหารและปีกรัฐราชการ ส่วนประชาชนไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกันเอง แต่ปี 2549 และ 2557 ประชาชนถูกแย่งออกเป็นสองส่วน แต่ละส่วนเข้าไปอยู่ในองคาพยพทางการเมืองของแต่ละฝั่ง ฉะนั้นสถานการณ์ความขัดเเย้งทางการเมืองในเวลานี้หากดูปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบไทยก็ต้องดูว่าเขามีเครื่องมืออะไรบ้าง กองทัพอยู่ปีกไหน ศาลอยู่ปีกไหน ข้าราชการประจำอยู่ปีกไหน พรรคการเมืองบางพรรคอยู่ปีกไหน มวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นอยู่ปีกไหน ฉะนั้นในปีกหนึ่งองคาพยพมีทั้งพลังอำนาจทางอาวุธ อำนาจตามกฎหมาย มีอำนาจของมวลชน อีกปีกหนึ่งเรียกว่าปีกที่นิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่มีกองทัพ ไม่มีศาล มีเพียงพรรคการเมือง แต่ก็อาจจะกำลังถูกยุบ 

“ฉะนั้นในมือท่าน ท่านมีแต่พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของท่านกลุ่มหนึ่ง กับตัวท่านเองอีกประมาณ 14-15 ล้านคน แต่ท่านก็มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ท่านไม่มีอำนาจที่จะจัดการอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งแบบที่ศาลหรือกองทัพมี แต่ใช่ว่าท่านจะสิ้นไร้ไม้ตอก เพราะถ้าเขาล้มท่าน ท่านก็เอากลับมาใหม่ หรือถ้าล้มกันไม่ได้ สุดท้ายก็ให้มันอยู่กันอย่างนี้ เดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องถอยหลัง ถอยหลังไม่ได้ก็ไม่ต้องเดินหน้า สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ไม่ว่าใครเข้าไปทำงานการเมืองขับเคลื่อนประเทศยากมาก ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ผมบอกเลยว่าวันนี้ผมแทบจะจนปัญญา เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดว่า จะไม่ยอมขยับไปทางไหนทั้งสิ้น… ปรากฎการณ์วันนี้หรืออีกสองวันข้างหน้า หรือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นแค่เสี้ยวเล็กของการแสดงให้เห็นถึงความขัดเเย้งทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา”

เขากล่าวต่อไปว่า ประชาชนอาจจะทำอะไรไม่ได้มากเมื่อตุลาการเป็นใหญ่ แต่ก็ยังพอจะแสดงออกได้เท่าที่มีช่องทางอยู่ ฉะนั้นจุดที่จะวัดกันในช่วงความขัดแย้งที่ยาวนานคือ ใครมีความอดทนได้มากกว่ากัน ฉะนั้นอย่าเสียใจกับปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะจะเป็นเพียงจุดหนึ่งของการเปลี่ยนผ่าน และคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นแล้วว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่จุดใด 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญรอบ 10 ปีที่มีปัญหาว่าด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ธีระกล่าวต่อถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมาว่า ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองก็จะเป็นคำวินิจฉัยที่ได้มาตรฐานทั่วไป แต่คำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนับตั้งแต่เกิดความขัดเเย้งทางการเมืองในปี 2549 ถึงปัจจุบัน มีหลายคดีที่เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องข้อโต้แย้งว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นปัญหาเรื่องความชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายมากกว่า 

เวลาศาลจะใช้อำนาจตัดสินคดีจะมีอำนาจอยู่ 3 ส่วนใหญ่ คือ อำนาจในการรับคดีหรือไม่รับคดีไว้พิจารณา อำนาจนี้คือประตูด่านแรก โดยศาลจะดูก่อนว่าตัวเองมีอำนาจในการรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ในกรณีที่ศาลรับคดีนั้นไว้พิจารณา คดีนั้นจะถูกพิจารณาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลจะมีหลักคิดและหลักกฎหมายลายอย่างที่ปรากฎอยู่ในกฎหมาย ศาลก็จะดำเนินกระบวนการต่อ เมื่อจบในชั้นการพิจารณาแล้วศาลเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอต่อการวินิจฉัยคดี ศาลก็จะเริ่มกระบวนการในการออกคำวินิฉัย โดยการออกคำวินิจฉัยจะมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะมีกระบวนการขั้นตอน เงื่อนไขอย่างไรบ้าง 

“การใช้อำนาจตุลาการของศาลจะแบ่งออกเป็น 3 ภาคใหญ่ๆ 1.คือจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ 2.ในกรณีที่รับคดีไว้พิจารณาจะดำเนินวิธีพิจารณาอย่างไร และ 3.คือเมื่อดำเนินการพิจารณาคดีเสร็จแล้ว กระบวนการในออกคำวินิจฉัยจะต้องทำอย่างไร ในสามส่วนนี้มีหลายคดีที่มีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของศาลในส่วนแรกคือ รับเรื่องที่ไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา หรือบางทีเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจรับไว้พิจารณาแต่ดำเนินการกระบวนการพิจารณาในลักษะที่มีปัญหาขัดต่อกฎหมายจะด้วยมูลเหตุจงใจอะไรผมจะยังไม่พูดถึง หรือบางทีศาลมีอำนาจรับไว้วินิจฉัย มีกระบวนการพิจารณาที่ถูกต้อง แต่การออกคำวินิจฉัยเนื่องจากว่าต้องการให้คำวินิจฉัยนี้ ถ้าว่ากันตามประเด็นของคดีมันจะไปไม่ถึงความมุ่งหวังที่ศาลต้องการ หรือใครต้องการ ศาลก็จะกำหนดประเด็นเพิ่มขึ้นมาแล้วก็วินิฉัยไปตามประเด็นนั้น ซึ่งที่จริงประเด็นไม่ควรจะมี คดีนั้นควรจะตัดสินกันเท่านี้ แต่เอาประเด็นนี้ใส่เข้าไปเพื่อที่จะได้ตัดสินกว้างออกไปอีก” 

เขากล่าวต่อไปว่า ในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมีหลายคดีที่มีปัญหา โดยยกตัวอย่างถึงเรื่องที่ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา แต่รับเรื่องไว้พิจารณาเพราะต้องการจะวินิจฉัยและให้เกิดผลการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น คดีที่มีการขอให้มีการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาเสนอให้มีการแก้ไข ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 วินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อนำไปลงประชามติก่อน เรื่องนี้มีข้อถกเถียงว่า ศาลมีอำนาจรับเรื่องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ธีระเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าศาลจะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำของบุคคล หรือพรรคการเมืองที่ใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง แต่กรณีนี้เป็นการกระทำเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการในรัฐสภา ไม่ใช่การกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ใช้ฐานของอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ฐานของสิทธิเสรีภาพ ในประเด็นนี้ผู้ถูกร้องก็ได้โต้แย้ง แต่ศาลก็ยังรับเรื่องไว้วินิจฉัย 

“ตรงนี้มีข้อพิรุธ เวลามีคดีขึ้นไปที่ศาลคู่ความในคดีไม่ว่าจะเป็นผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง กรณีนี้ผู้ถูกร้องตั้งข้อต่อสู้กับศาลว่า ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยเพราะสิ่งที่เสนอให้วินิจฉัยไม่ใช่เรื่องที่เป็นการกระทำของบุคคล หรือพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีเสนอประเด็นศาลวินิจฉัยว่า ศาลทีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ศาลไม่ตั้งประเด็นนี้เพื่อวินิจฉัย อันนี้คือ Abuse นะครับ เพราะในทางกฎหมายสิทธิในการต่อสู้คดีของคู่ความโดยเฉพาะผู้ถูกร้อง เป็นสิทธิตามธรรมชาติ คำตัดสินของศาลจะเป็นธรรมได้อย่างไร ถ้าศาลไม่ตัดสินคดีบนพื้นฐานที่ให้เขามีสิทธิต่อสู้คดี  การที่ศาลไม่ตอบคำถามที่เขาโต้แย้ง อันนี้ผิดวิธีพิจารณาคดีตามหลักทั่วไป”

เขากล่าวต่อถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมว่า หมายถึงการที่จะต้องฟังความทั้งสองฝ่าย เมื่อฟังความทั้งสองฝ่ายจนพอแล้วก็จะวินิจฉัยได้ แต่ในคดีที่เกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้งในปี 2557 ในเวลานั้น กกต. เสนอคดีให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาความขัดเเย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรสำคัญตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง กกต. ด้วย โดยศาลได้รับคดีไว้ในวันที่ 23 ม.ค. และศาลตัดสินคดีในวันที่ 24 ม.ค. ภายในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากรับเรื่องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. สามารถเลื่อนได้ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีกับประธาน กกต. ซึ่งบริบททางการเมืองในเวลานั้นทำให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลเป็นความต้องการที่จะปลดล็อคให้นายกรัฐมนตรีสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ และผลของการเลื่อนการเลือกตั้งจะสอดรับกับข้อเรียกของของปีกการเมืองปีกหนึ่งที่ต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง 

กรณีศาลมีประเด็นเรื่องการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เนื่องจากคดีที่จะขึ้นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 ประเภท คดีประเภท 1 คือ คดีที่ไม่มีคู่กรณี เช่นมีการขอให้ตรวจสอบว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีคู่ความ และไม่มีการโต้แย้ง อีกประเภทหนึ่งคือคดีที่มีคู่กรณี คือ มีผู้ร้องและผู้ถูกร้อง กระบวนการพิจารณาคดีก็จะต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรับฟังคู่ความในคดี โดยคดีเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งนั้น มีวิธีการที่จะทำให้มีการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว โดยการแปลงรูปคดีจากการที่ กกต. เสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญคดีนั้นมีสภาพเป็นคดีที่มีคู่กรณี ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันระหว่าง กกต. กับคณะรัฐมนตี ฉะนั้นเมื่อมีการยื่นคำร้องมาแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมีเวลาในการให้การอย่างน้อย 15 วัน แต่ศาลได้แปลงให้คดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีคู่กรณี และศาลก็พิจารณาว่า คำร้องเพียงบอกที่จะวินิจฉัยได้แล้ว และเป็นคดีที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งศาลสามารถวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องหาข้อเท็จจริงอื่น 

เขากล่าวต่อไปถึงตัวอย่างเรื่องการออกคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบต่อไป โดยยกกรณีการออกคำวินิจฉัยเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งศาลมีอำนาจในการรับเรื่องไว้พิจารณา และดำเนินการพิจารณาคดีตามหลักการ แต่ในกระบวนการออกคำวินิจฉัยนั้น เวลาศาลตัดสินคดีในหลายกรณีรัฐธรรมนูญจะกำหนดผลไว้แล้วว่า หากศาลตัดสินแบบนี้ ผลจะเป็นอย่างไร นั่นแปลว่า กฎหมายไม่เปิดช่องให้ศาลมีดุลพินิจในการกำหนดผลของคดีเอง แต่คดีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เป็นการตรวจสอบร่างกฎหมายว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นปัญหาที่กระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดว่า ร่างกฎหมายนั้นจะต้องตกไปทั้งฉบับ และเป็นการเขียนอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีการเปิดช่องให้ศาลมีดุลพิจนิจไปเปลี่ยนแปลงผลในทางคดีให้เป็นแบบอื่น ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมีการเสียบบัตรออกเสียงแทนกัน แต่กลับไม่ให้มีผลตกไปทั้งฉบับ เนื่องจากศาลไม่ต้องการให้ตกไปทั้งฉบับ  ศาลอาจคิดว่าตัวเองมีอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในมาตรา 74 สามารถออกคำบังคับเป็นอย่างอื่นได้ โดยกำหนดให้รัฐสภานำร่างกฎหมายไปลงมติใหม่ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ผลของกรณีคือ ศาลได้ออกคำวินิจฉัยที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรา 148 วรรค 3 

“เรื่องแบบนี้ถามว่าร้องเรียนไปที่ไหนได้บ้าง มีสองทาง หนึ่งคือทางที่ไม่มีประโยชน์คือ ร้องเรียนว่าเป็นปัญหาจริยธรรม ให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเขาวินิจฉัยของเขาเอง คุณไปบอกท่านครับที่ท่านตัดสินมาผิดจริยธรรม ขอให้ท่านวินิจฉับตัวเองหน่อยว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ เลิกพูดเถอะ ใช้เสียง 3 ใน 4 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แต่มันมีกลไกทางกฎหมายที่พอจะไปได้อยู่บ้าง ตั้งแต่ปี 40 50 60 เรามีกลไกในการตรวจการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ คือ ให้ใครก็ได้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับคดีไปยื่นข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เเจ้งข้อกล่าวหาว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งพิจารณาวินิจฉัยคดีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แล้วท่านก็บรรยายฟ้องไปว่าเพราะอะไรบ้าง อันนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

เขากล่าวต่อว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรเบื้องต้นในการดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะดูว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิดจริงหรือไม่ หาก ป.ป.ช. เห็นว่า มีมูลความผิดจริงก็จะดำเนินการเสนอเรื่องไปให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากศาลเห็นว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผลก็คือ ต้องวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง หรืออาจจะพ่วงด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองด้วย แต่ถ้าจะไปถึงขั้นติดคุกต้องฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งนี่คือกลไกที่มี แต่จะเกิดผลหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท