Skip to main content
sharethis

คสรท. ชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบแรงงานไทย ระบุหาก 2 เดือนไวรัส Covid-19 ยังไม่คลี่คลายธุรกิจเสียหายมากขึ้น

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยว่ายังคงต้องจับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทย คือ 1.สงครามการค้า 2.การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าไทยลดลง 3.เงินบาทแข็งค่า กระทบส่งออก 4.การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์จากเชื้อเพลิงน้ำมันมาเป็นไฟฟ้า ทำให้ชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยผลิตได้รับผลกระทบ และ 5.การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า

ทั้งนี้ มองว่าหากสถานการณ์ของไวรัส Covid-19 ยังไม่คลี่คลายใน 2 เดือนจะทำให้ธุรกิจเสียหายมากขึ้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามก็คือภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้มาตรา 75 ที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ

รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่าขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยว,บริการ ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 อย่างมาก ล่าสุด โรงแรมมีห้องว่างแล้วประมาณ 70-80%

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 22/2/2563 

ช่อง 3 เปิดโครงการสมัครใจลาออกอีกรอบ หลังเพิ่งปรับโครงสร้างลดพนักงานลง

ยังถือเป็นปีที่ท้าทายของสื่อ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่หลายช่องทยอยปิดตัว ท่ามกลางข่าวการลดพนักงาน โดยช่องขนาดใหญ่ อย่างช่อง 3 หลังจากปีก่อน “อริยะ พนมยงค์”เข้าบริหารมีการปรับโครงสร้าง ปรับลดพนักงานไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ล่าสุดก็เตรียมลดขนาดองค์กรอีกครั้ง

โดย นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ ระบุว่า การลดพนักงานด้วยโครงการสมัครใจลาออก ซึ่งจะเปิดโครงการในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างบริษัทภายใต้กลุ่มบีอีซีเวิลด์ เพื่อลดการทับซ้อนของหน่วยงานและเพิ่มความคล่องตัว และทำให้สามารถกลับมาทำกำไร และเติบโตอย่างยั่งยืน หลังที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาหดตัวอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อรายได้ของบริษัทให้ลดลงตามไปด้วย

โดยตามแผนนี้จะปรับคอนเทนท์ช่วงไพรม์ไทม์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น เพื่อชิงผู้ชมตั้งแต่เวลา 18:00 น.ไปจนถึง 22:30 น. ตามด้วยการเปิดตัว ‘CH3+’ (ซีเอชสามพลัส) ออนไลน์แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมทีวีและออนไลน์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ D2C หรือ Direct to Consumers ซึ่งผู้ลงโฆษณาจะสามารถเพิ่มยอดขายและจำนวนลูกค้าได้ทันทีที่รับชม และรวมถึงกลยุทธ์การขายคอนเทนต์ของช่อง 3 ไปยังต่างประเทศ

ที่มา: ข่าวสด, 19/2/2563 

นักวิชาการสาธารณสุข ใน รพ.ข้องใจ ไม่ถูกจัดให้เป็น 'บุคลากรทางการแพทย์

ชมรมนักสาธารณสุขในโรงพยาบาลร่อนหนังสือถามรัฐมนตรีสาธารณสุข ข้องใจเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉินและนักวิชาการสาธารณสุขที่ไม่ได้สังกัด รพ.สต.และกรมควบคุมโรค ไม่ถูกจัดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ชี้อยากให้มีคำอธิบายที่ชัดเจนแก่ผู้มีส่วนได้เสียหรือถ้าเป็นไปได้ควรทบทวนเสียใหม่

นายนรภัทร ศรีชุม ผู้ประสานงานชมรมนักสาธารณสุขในโรงพยาบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามและเสนอให้ทบทวนบัญชีตำแหน่งในสายงานแพทย์และสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางการแพทย์ตามหนังสือที่ นร.1008/ว 11 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนชื่อในสายงาน ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2562

นายนรภัทร กล่าวว่า บัญชีตำแหน่งตามหนังสือ ว 11 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่นักวิชาการสาธารณสุข มีกำหนดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะที่อยู่ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และกรมควบคุมโรคเท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยว่า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีหลักเกณฑ์ในการแบ่งอย่างไร

นายนรภัทร ยกตัวอย่างเช่น กรมควบคุมโรค นักวิชาการสาธารณสุขทั้งหมดเข้าข่ายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลทุกระดับ รวมถึงในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือในกรมอื่น ๆ ก็ตามไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ถ้าดูลักษณะงานแล้ว นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนก็ทำหน้าที่ดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ เช่น งานระบาดวิทยา เวลามีเคสก็ต้องลงพื้นที่ไปควบคุมโรค สอบสวนโรคเช่นกัน ขณะเดียวกัน ถ้าแบ่งตามเกณฑ์ของการทำงาน ทำไมทุกวิชาชีพในระดับ สสจ. และระดับเขต ถึงยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์อยู่ เช่น พยาบาล อยู่ สสจ. ก็ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์

"ข้อที่สงสัยมากที่สุดคือวิชาชีพเวชกิจฉุกเฉินซึ่งดูแลคนป่วยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในห้องฉุกเฉิน การไปรับคนป่วย ณ ที่เกิดเหตุ การบริการผู้ป่วยบนรถฉุกเฉิน กลับกลายเป็นไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เราจึงสงสัยว่าวัตถุประสงค์ของผู้ใหญ่ที่แบ่งแบบนี้ขึ้นมาเพราะอะไร”

นายนรภัทร กล่าวต่อไปว่า ข้อกังวลในขณะนี้มี 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.ถ้าเกิดความผิดพลาดแก่ผู้ป่วยขึ้นมา ก็ไม่มีอะไรรองรับว่าคนเหล่านี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เช่น โรคโควิด- 19 ถ้านักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาลเข้าไปสอบสวนโรคแล้วติดเชื้อขึ้นมา ขณะเดียวกันมีแพทย์หรือพยาบาลติดเชื้อไวรัสเช่นกัน โอกาสที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจะยึดตามตัวหนังสือหรือลักษณะการปฏิบัติงาน หรือถ้าเกิดเหตุเจ้าพนักงานสาธารณสุขทำการดูแลคนป่วยที่ รพ.สต. แล้วเกิดความผิดพลาด ใครเป็นคนรับผิดชอบเพราะไม่ได้ถูกจัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์

2.จะมีผลกระทบค่าตอบแทนในอนาคตหรือไม่ เช่น ถ้านักวิชาการสาธารณสุขได้รับเงินประจำตำแหน่ง แล้วนักวิชาการสาธารณสุขที่ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จะเข้าข่ายหรือไม่

"ข้อกังวลของเรายังมีเรื่องลักษณะงานด้วย เพราะแม้หนังสือ ว 11 จะออกมา แต่ในการปฏิบัติก็ยังไม่ได้แบ่งชัดเจนว่าเมื่อมีหลักเกณฑ์นี้แล้ว นักวิชาการสาธารณสุขในโรงพยาบาล เจ้าพนักงานสาธารณสุขและเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉินต้องเปลี่ยนบทบาทหรือไม่อย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงยื่นหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามว่าคำจำกัดความคำว่าบุคลากรทางการแพทย์มีเกณฑ์อย่างไร อยากให้มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่าเพราะอะไร คนที่ไม่ได้อยู่ในตาราง ว.11 จัดอยู่ในกลุ่มไหน ไม่ใช่มีกระดาษ 2 แผ่นออกมาแล้วไม่อธิบายอะไรเลย อย่างน้อยเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปทำความเข้าใจหรือถ้าเป็นไปได้ก็ทบทวนใหม่ อย่างน้อยนักวิชาการสาธารณสุขที่ได้ใบประกอบวิชาชีพควรจัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะใน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มีการกำหนดเรื่องการบำบัดโรคเบื้องต้น ซึ่ง พ.ร.บ.ควรจะใหญ่กว่าหลักเกณฑ์" นายนรภัทร กล่าว

นายนรภัทร กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ดูเหมือนไม่ใหญ่แต่มีผลกระทบพอสมควร ขณะนี้ทางเครือข่ายจะรอดูว่าใน 1-2 เดือน ทางผู้ใหญ่ในกระทรวงจะมีท่าทีอย่างไร หากยังไม่มีความชัดเจนก็อาจต้องรวมตัวเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน และนักวิชาการสาธารณสุขไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง

"ไม่อย่างนั้นต่อไปถ้าไม่ได้กำหนดให้เราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราก็จะมาทบทวนว่าบทบาทเราเป็นอย่างไร เพราะถ้าไปทำเกินหน้าที่แล้วผิดพลาดขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ" นายนรภัทร กล่าว

ที่มา: Hfocus, 19/2/2563 

ร้องสื่อเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน เพื่อนเสียชีวิต-บาดเจ็บ แต่นายจ้างไม่ดูแล

หนุ่มโรงงานใน จ.ชลบุรี นำคลิปร้องสื่อ หลังเพื่อนในโรงงานประสบอุบัติเหตุขณะทำงานจนเสียชีวิตและบาดเจ็บ แต่โรงงานไม่แสดงความรับผิดชอบดูแล

คลิปเหตุการณ์ถูกเผยแพร่โดยเพจ God of war v5 โดยระบุว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี จังหวะที่รถยกล้มลงมา มีการระบุว่าคนบังคับเครนมาชนรถยก ไม่ใช่รถล้มลงมาเอง จนพนักงานตกลงมา 2 คน คนเสื้อส้มบาดเจ็บ ส่วนอีกคนเสียชีวิต ซึ่งกระเด็นออกไปนอกมุมกล้อง ส่วนหนึ่งของข้อความระบุว่า “พ่อแม่ไม่กล้าดำเนินคดี พ่อแม่คนตายแคะขนมครกขาย ครับผมสงสารเขาครับ พอจะมีแนวทางเรียกร้องบ้างมั้ยครับ สงสารพ่อแม่เขา โรงงานไม่รับผิดชอบเลย ความเป็นธรรมมันหายไป” ซึ่งเพื่อนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่งคลิปมาที่เพจดังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ และอยากให้นายจ้างนึกถึงหลักมนุษยธรรมกับพนักงานให้มากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวไปพบผู้บาดเจ็บที่รอดชีวิต ซึ่งเปิดใจว่าตนโชคดีที่ไม่เสียชีวิตเหมือนเพื่อนอีกคน โดยตั้งแต่หลังเกิดเหตุทางบริษัทหรือนายจ้างมีกระเช้ามาให้เพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อสอบถามแต่อย่างใด ตนใช้เงินประกันสังคมและเงินประกันอุบัติเหตุกลุ่มรักษาตัวเอง แม้แต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ตรวจ เพราะค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่ได้ทำประกันไว้ ไม่ได้เงินชดเชยที่บาดเจ็บและหยุดงาน จึงอยากออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ส่วนเพื่อนที่เสียชีวิตก็ไม่รู้ว่าติดต่อชดใช้ค่าเสียหายกันอย่างไร เพราะหลังเกิดเหตุก็ติดต่อญาติเพื่อนที่เสียชีวิตไม่ได้

ด้านนางสาวบังอร วิรักสยาม นิติกรชำนาญการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะทำงาน นายจ้างต้องแจ้งรายงานการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงภายใน 7 วัน นับจากวันที่ลูกจ้างเสียชีวิต ล่าสุดบริษัทที่เกิดเหตุยื่นหนังสือมาที่พนักงานตรวจความปลอดภัยแล้ว เตรียมเข้าตรวจสอบสาเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดี

ส่วนการเยียวยาลูกจ้างนั้น สำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้ดูแล หากลูกจ้างหรือญาติเห็นว่ายังต้องการการเยียวยาจากนายจ้างอีก สามารถใช้สิทธิเรียกร้องจากนายจ้างที่ศาลแรงงานได้ เพราะว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/2/2563 

‘เชฟโรเลต’ ปิดตัวส่งผลกระทบ ลูกจ้าง 1.5 พันคน กรมสวัสดิการฯ เร่งถกช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีเจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ประกาศยุติการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 ว่า สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีพนักงานบริษัทดังกล่าวได้รับผลกระทบประมาณ 1.5 พันคน แต่จะทยอยปิดตัว ตามแผนคือครึ่งปีแรกในเดือน มิ.ย.ปิดบางส่วน และที่เหลือจะเป็นช่วงปลายปี 2563 และจากการตรวจสอบทางบริษัทได้ตกลงจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างเหล่านี้ตามกฎหมายทุกประการ และทราบว่าจะจ่ายเพิ่มให้อีก 3 เดือน ทั้งนี้ กสร. ก็ต้องติดตามให้ลูกจ้างได้รับการชดเชยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.พ. นี้ สำนักงานสวัสดิการฯ จังหวัดระยองจะมีการหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัทดังกล่าวอีกครั้งในช่วงบ่าย

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า ในส่วนการดูแลลูกจ้างเพิ่มเติมในมุมของกระทรวงแรงงานนั้น จะต้องมีการหาตำแหน่งงานว่างที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่ต้องการแรงงงานฝีมือ ให้กับลูกจ้างเพิ่มเติม ซึ่งในวันที่ 18 ก.พ. รศ.ดร.จักร พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารมว.แรงงาน พร้อมด้วยอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) จะมีการลงพื้นที่พร้อมนำตำแหน่งงานว่าง ไปชี้แจงให้กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบตัดสินใจว่าจะสมัครหรือไม่

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/2/2563 

สธ. ดันนโยบายพัฒนาระบบสวัสดิการ อสม. เป็นหลักประกันความมั่นคง และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจ

17 ก.พ. 2563 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (17 ก.พ. 2563) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุม Video Conference ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานระบบสวัสดิการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ในการส่งเสริมและพัฒนาระบบสวัสดิการ อสม. เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับ อสม. ที่เป็นผู้เสียสละปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข ให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี โดยการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการสำหรับ อสม. มี 2 เรื่อง คือ 1) การจัดตั้ง ฌกส.อสม. หรือ ฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทย มีแนวคิดในการช่วยเหลือกันกับกลุ่มสมาชิก โดยเป็นไปตามความสมัครใจไม่ได้บังคับ โดยช่วยเหลือสมาชิกที่เสียชีวิตศพละ 50 สตางค์ ค่าสงเคราะห์ศพขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในแต่ละเดือน 2) การช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล เพื่อให้ อสม. ทุกคน มีสวัสดิการที่เหมาะสม และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อพักรักษาตัวในสถานบริการของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกแห่งทั่วประเทศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการดำเนินงานพัฒนาระบบสวัสดิการให้กับ อสม. ทั้ง 2 เรื่อง เรียบร้อยแล้ว

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการสำหรับ อสม. โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ได้จัดพิธีเปิดสำนักงานฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีการลงนาม MOU ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้มี อสม. ได้รับรองเป็นสมาชิกแล้ว รวมทั้งสิ้น 373,982 คน จึงอยากเชิญชวน อสม. ทุกคนร่วมเป็นสมาชิก สำหรับ อสม. ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สมาคม ฌกส. อสม. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18625 หรือศึกษาข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ ฌกส.อสม. (http://www.xn----twf6a0fxbbu.com/) สำหรับสวัสดิการค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษสำหรับ อสม. เมื่อพักรักษาตัวในสถานบริการของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 สาระสำคัญ คือ 1) อสม.ทุกคน ได้รับการยกเว้นค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ โดยให้เป็นสิทธิช่วยเหลือเฉพาะตัวของบุคคล ทั้งนี้ อสม. ที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากส่วนราชการ ให้เรียกเก็บตามสิทธิก่อน ส่วนที่เกินให้ได้รับการยกเว้น 2) บุคคลในครอบครัว อสม. ได้รับการช่วยเหลือค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษ ร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ บุคคลในครอบครัว อสม. ที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากส่วนราชการให้เรียกเก็บตามสิทธิก่อน ส่วนที่เกินให้เรียกเก็บร้อยละ 50

ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 17/2/2563 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net