Skip to main content
sharethis

ใครบ้างลงชื่อคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ นี่คือภาพสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองไทย ที่เปลี่ยนไปหลัง 6 ปี "ระบอบประยุทธ์"

กลุ่มแรก ปัดโธ่ ไม่แปลกใจ ก็นักวิชาการประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว ที่ต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 49 จนถูกขั้วตรงข้ามจิกหัวด่า "นักวิชาการแดง" อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ อ.เกษียร ฯลฯ ลืมไปแล้วมั้งว่า คนเหล่านี้วิจารณ์ทักษิณมาก่อน เช่นคำว่า "ระบอบทักษิณ" ก็ตั้งโดย อ.เกษียร แต่พันธมิตรฯ ฉวยไปใช้ในอีกความหมาย

กลุ่มที่สอง คือคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ นักเขียน ศิลปิน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีส่วนร่วมใน "สงครามสี" เหลืองแดง มดดำ มะเดี่ยว เจ้ย ต้อม ยุทธเลิศ จิ๊บ ปกฉัตร ฟ้าใส อรจิรา ฯลฯ ล่าสุดยังมี "ไอติม" และเพื่อนพ้อง

กลุ่มที่สาม คือภาคประชาสังคม NGO ซึ่งมีบางคนเคยร่วมม็อบพันธมิตร กปปส. ด้วยซ้ำ ทำให้ ส.ว.แต่งตั้งอมตะ สมชาย แสวงการ ออกมาเต้นเร่า หาว่า "โยนอุดมคติใส่ลิ้นชัก"

แหม่ สมชายไม่ยักดู elite หัวแถว อานันท์ ปันยารชุน ยังให้กำลังใจอนาคตใหม่ สงสัยไม่กล้าด่าอดีตนายกฯ อานันท์

ผู้ร่วมลงชื่อไม่ได้แปลว่าสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ แค่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค แต่อย่างน้อยก็ตีความได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดอำนาจของระบอบประยุทธ์

นี่เป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลง จากยุคไล่ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งสรุปภาพกว้างๆ ได้ว่า คนชั้นกลางในเมือง (และคนใต้) ภาคประชาสังคม NGO หมอ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นฐานมวลชนให้ elite และทหาร ล้มล้างประชาธิปไตยจากเลือกตั้ง โดยใช้รถถังและนิติสงคราม

โดยฐานอุดมการณ์หลักคือ ปลุกอุดมการณ์ชาตินิยม ศีลธรรมจริยธรรม "ต้านโกง" บนพื้นฐาน "สองนคราประชาธิปไตย" คนชั้นกลางในเมือง เกลียดนักการเมือง "ยี้" จากชนบท ไอ้พวกทุนท้องถิ่น อิทธิพล ชนะเลือกตั้งจากการซื้อเสียง NGO ก็เกลียด "ทุนสามานย์" รวมหัวกันไม่เอาอำนาจจากเลือกตั้ง หวัง "ปฏิรูปการเมือง" หรือ "การเมืองใหม่" โดย "คนดี" จากการแต่งตั้ง ข้าราชการ ทหาร ศาล องค์กรอิสระ

ในขณะที่ฐานมวลชนของทักษิณคือ คนจนคนชั้นกลางเกิดใหม่ ทั้งในชนบทและในเมือง ซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบาย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท ฯลฯ จนตระหนักว่า อำนาจกาบัตรเลือกตั้งทำให้ "ประชาธิปไตยกินได้" จึงเกิดขบวนการเสื้อแดง ปกป้องอำนาจเลือกรัฐบาลโดยเสียงข้างมาก ร่วมกับคนชั้นกลางเสียงข้างน้อยที่รักประชาธิปไตย

รัฐประหาร 57 สมคบคิดม็อบนกหวีดปิดเมือง ฉวยโอกาสเข้าคุมประเทศเบ็ดเสร็จ ฟื้นเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ชนชั้นนำภาครัฐเป็นใหญ่ เขียนกติการัฐธรรมนูญ 2560 ให้ตัวเองสืบทอดอำนาจได้ ผ่านวุฒิสภาตู่ตั้ง 6 ผบ.เหล่าทัพ องค์กร(ไม่)อิสระทั้งหลาย

พร้อมกับตั้งพรรคการเมือง ดูด ส.ส. ฟื้นระบบอุปถัมภ์ นำการเมืองย้อนไปสู่ยุคสองนครา ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คนชั้นกลางในเมืองเคยเกลียดนัก แถมยังหว่านประชานิยม ใช้กลไกทุกอย่าง ช่วงชิงฐานเสียงเพื่อไทยในชนบท

แต่ปรากฏการณ์ไม่คาดคิดคือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกวาด ส.ส.ถล่มทลาย ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ในกรุง ในตัวเมือง ชานเมือง และเขตมหาวิทยาลัย

คนเลือกอนาคตใหม่มี 4 ส่วนใหญ่ๆ ฐานเสียงเพื่อไทยในเขต ทษช.ถูกยุบ คนรักประชาธิปไตยที่มีจุดร่วมกับอนาคตใหม่มากกว่าเพื่อไทย คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาด้วยความเบื่อลุง 5 ปี และคนเคยเกลียดทักษิณ แต่เหลืออดลุง หน่ายมาร์ค

หนึ่งปีอนาคตใหม่คะแนนตกไหม ก็น่าจะมีบ้าง พรรคมือใหม่หัดขับเผยจุดอ่อนหลายอย่าง แต่ด้านตรงข้าม บทบาท ส.ส.ในสภา การอภิปรายอย่างเฉียบคม แสดงปัญญา ทำการบ้าน ก็แสดงทิศทาง ว่าคือพรรคที่ใกล้เคียงที่สุด กับพรรคในอุดมคติของคนชั้นกลางในเมือง

ซึ่งอันที่จริงก็เห็นตั้งแต่เลือกตั้ง อนาคตใหม่ได้คะแนนอย่างขาวสะอาด ด้วยการหาเสียงวิธีใหม่ ไม่ได้ใช้ระบบอุปถัมภ์ โครงสร้างการเมืองเก่า ผู้สมัครเกือบทั้งหมดเป็นคนหน้าใหม่ คนชั้นกลาง ไม่ใช่ทุนท้องถิ่น "บ้านใหญ่" แต่ล้มช้างเข้ามาได้

พวกอนุรักษนิยมจึงตีอกชกหัว "การเมืองศีลธรรม" ทำไมพรรคฝ่ายเราไม่สามารถทำอย่างนี้บ้าง

แน่ละ คนชั้นกลางเก่าฝังหัว ปกป้องโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยม ปลุกเกลียดชังอนาคตใหม่ "ส้มเน่า" เสียยิ่งกว่า "ควายแดง" แต่ทิศทางของอนาคตใหม่ชัดเจนว่าจะเติบโตไปเป็นตัวแทนของนักประชาธิปไตย ดึงคนรุ่นใหม่ และสร้างแนวร่วมกับผู้คนหลากหลายที่ไม่เอาระบอบประยุทธ์ แต่มีอดีตตะขิดตะขวงกับเพื่อไทย

พูดอีกอย่าง อนาคตใหม่คือตัวแทนกระแสคนชั้นกลางในเมือง ที่ก่อตัวขึ้นใหม่ ด้วยความไม่พอใจระบอบผูกขาดอำนาจ ไร้ประสิทธิภาพ เหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทั่ง NGO ทุกวันนี้ก็ไม่พอใจ "ทุนประชารัฐ"

ถามว่าถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่ กระแสนี้จะสลายไปไหม ผู้มีปัญญาก็น่าจะรู้ว่าไม่ใช่เลย ยังไงคนรุ่นใหม่ก็จะ #ผนงรจตกม เพียงแต่กระแสนี้จะไปอยู่นอกสภา และร้อนแรงอย่างไม่มีทางออก

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_3616928

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net