ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคอนาคตใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อผมได้ฟังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ พบว่ามีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจและน่าตั้งคำถามอยู่หลายประการ ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตทางวิชาการเกี่ยวกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ขั้นตอนก่อนการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ -> ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในกรณีนี้ กกต. จะใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แต่เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมถึงการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของทาง กกต. นั้น “เป็นธรรม” หรือไม่ อย่างเช่น เรื่องการเพิ่มข้อหาที่จะใช้ดำเนินคดีต่อพรรคอนาคตใหม่ (เพิ่มมาตรา 62 และมาตรา 72 จากเดิมที่มีแค่มาตรา 66) นั้น ได้มีการเปิดโอกาสให้ทางพรรคอนาคตใหม่ได้เข้าถึงกระบวนการอันเป็นธรรมหรือไม่

2. เหตุสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 -> ด้วยความเคารพ ผมมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอาศัยเหตุตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ โดยมีข้อโต้แย้งและข้อสังเกตดังนี้

2.1 พรรคการเมืองกับสถานะความเป็น “นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน” 

- นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน หมายถึง นิติบุคคลที่ “ถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชน” กล่าวคือ ต้องมีกฎหมายมหาชนเป็นฐานแห่งการให้กำเนิดนิติบุคคล ซึ่งจะเป็น “นิติบุคคลเอกชน” (ตั้งขึ้นเพื่อ “ประโยชน์ของบุคคล” + ยึดหลัก “ไม่มีกฎหมายห้าม = ทำได้”) หรือ “นิติบุคคลมหาชน” (ตั้งขึ้นเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” + ยึดหลัก “ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ = ทำไม่ได้”) ก็ได้ ซึ่งพรรคการเมืองเกิดขึ้นจาก “เสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง” ตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่จะจัดตั้งพรรคการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อ “ได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองกับนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560” 

- แม้จะอ้างว่า พรรคการเมือง = นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน เนื่องจากเกิดจากรวมกลุ่มทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ + มีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ (ซึ่งถือเป็นกฎหมายมหาชน) หากแต่เมื่อพิจารณาว่า การรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเป็น “เสรีภาพของเอกชน” ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ และการจดจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เป็นเพียง “ขั้นตอนเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ทางทะเบียน” เท่านั้น ไม่ใช่ฐานในการกำเนิดของพรรคการเมือง รวมถึงการที่พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์อย่าง “เอกชน” (ไม่ใช่เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ) ดังนั้น พรรคการเมืองจึงถือเป็น “นิติบุคคลเอกชน” ดังนั้น พรรคการเมืองจึงอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า “ไม่มีกฎหมายห้าม = ทำได้” เมื่อกฎหมายมิได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน การที่พรรคการเมืองกู้เงินไปนั้น “จึงไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายห้ามอย่างชัดเจน”

2.2 การผิดมาตรา 66 ไม่ควรนำไปสู่การผิดมาตรา 72

- ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงมาตรา 66 เมื่อการรับบริจาคเงินนั้น ต้องห้ามตามมาตรา 66 จึงเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 72 อันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) กล่าวคือ ในกรณีนี้ศาลมองว่า พรรคอนาคตใหม่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ห้ามรับบริจาคเงินจากบุคคลคนเดียว เกิน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 66 + มีพฤติการณ์ที่จะหลีกเลี่ยงมาตรา 66 ดังนั้นเงินบริจาคจึงเป็นเงินที่รู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้ามาตรา 72

- อย่างไรก็ตาม เมื่อมาพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 72 จะเห็นได้ว่าถูกออกแบบมาเพื่อ “การสกัดกั้นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นอันไม่ชอบด้วยกฎหมายที่พรรคการเมืองจะสามารถได้รับบริจาค” ดังนั้น เงินที่ควรจะเข้าเงื่อนไขตรงนี้ ควรเป็นเงิน “สกปรก” เช่น เงินที่มาจากการฟอกเงิน เงินที่มาจากการฉ้อโกงประชาชน เงินที่มาจากการขโมย เป็นต้น ไม่ควรรวมไปถึงเงิน "สะอาด" ที่ได้มาโดยการประกอบธุรกิจโดยสุจริต

- รวมไปถึงการที่ทั้งมาตรา 66 และมาตรา 72 ต่างมีสภาพบังคับเป็นของตนเอง (ผิดมาตรา 66 มีโทษตามมาตรา 124 // ผิดมาตรา 72 มีโทษตามมาตรา 126) ทำให้พิจารณาได้ว่า เจตนารมณ์ของ 2 มาตรานี้ ไม่ควรที่จะถูกใช้อย่าง “เชื่อมโยงกัน”

- อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงเรื่องที่ศาลวินิจฉัยว่า สัญญากู้เป็น “นิติกรรมอำพราง” การบริจาคเงินโดยบุคคลคนเดียว ก็พบประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตหลายประการ เช่น การอาศัยหลัก “ปกติทางการค้า” ซึ่งถือเป็นหลักที่ถูกใช้ในเรื่องทาง “กฎหมายแพ่ง” มาเป็นการ “ให้โทษ” ในเรื่องที่มิใช่ทางแพ่ง 

- รวมถึงหากพิจารณาตามหลักการตามปกติ เมื่อเกิดนิติกรรมอำพราง นิติกรรมนั้นย่อมไม่มีผล ให้บังคับตามนิติกรรมแท้จริงที่ถูกอำพราง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเข้ามาตรา 66 เนื่องจากการบริจาคคือสิ่งที่ถูกอำพราง กรณีก็จะเข้ามาตรา 66 ไม่ควรที่จะเข้ามาตรา 72 ด้วย

ดังนั้น ผมจึงมีความเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่มีความผิดได้เพียงกรณีมาตรา 66 ของของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีบทลงโทษไม่ถึง “การยุบพรรค" ครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท