การละเมิดอำนาจศาลศาลรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อเราได้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เราสามารถวิจารณ์ได้อย่างไรบ้าง?

ในปัจจุบัน มาตรา 38 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และข้อ 10 ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 วางหลักไว้ว่า การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล = ต้องกระทำโดยสุจริต และมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย 

กล่าวคือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ศาลไม่ได้ห้ามการวิจารณ์โดยเด็ดขาด ประชาชนสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ หากแต่การวิจารณ์นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ความสุจริต” (ทั้งในทางความเห็นอย่างปกติและความเห็นทางวิชาการ) และ “ไม่มีการความหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย”

นั่นหมายความว่า การด่าทอ (เช่น คำว่า เลว ระยำ เหี้ย) การเสียดสี (เช่น ศาลพระภูมิยังศักดิ์สิทธิ์กว่า คณะละครตุลาการ) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย (เช่น อย่าให้เจอข้างนอกศาล ขอให้ตายอย่างทรมาน) สามารถเข้าข่าย “ละเมิดอำนาจศาล” ได้ทั้งสิ้น

เรื่องนี้เป็นปัญหา เนื่องจากแม้จะพิจารณาได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้จำกัดการวิจารณ์โดยเด็ดขาด หากแต่หลักดังกล่าว ก็มีปัญหาหลายประการ สามารถอธิบายได้ดังนี้

1. หลักการเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” มีขึ้นเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในศาล และทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเป็นไปได้อย่างราบรื่น กล่าวคือ ศาลสามารถใช้หลักนี้ในระหว่างกระบวนการพิจารณาในบริเวณศาลและภายนอกบริเวณศาล ในกรณีที่มีการกระทำอันส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว =  “สิ้นสุดกระบวนการวินิจฉัย (พิจารณา) ของศาล” ดังนั้น บทบัญญัติเรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล” จึงมีควรถูกนำมาใช้กับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก จะเป็นการใช้หลักกฎหมายที่ “ไม่สมวัตถุประสงค์”

2. ประชาชนมี “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ใน มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตราบเท่าที่การใช้เสรีภาพนั้น “ไม่ขัดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” 

แม้จะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล” ที่จะใช้กับเรื่อง “การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” หากแต่ก็มีบทบัญญัติที่สามารถใช้ในกรณีที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญา
 
 3. บทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล มีลักษณะที่เป็นการ “จำกัดเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควร” เนื่องจากหากพิจารณาจากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง การวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้อาศัยฐานทางวิชาการ จะถูกจำกัดลงไปอย่างมาก เช่น การตั้งคำถามว่า “ตัดสินแบบนี้ออกมาได้ยังไง” หรือการบอกว่า “ทำไมดูไม่ยุติธรรม” เหล่านี้ก็อาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลได้

บทบัญญัติอันว่าด้วยเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ถือเป็น “การจํากัดเสรีภาพของประชาชน” ซึ่งแม้ว่าจะมีหลักการทางกฎหมายที่ว่า “บทบัญญัติที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องตีความอย่างแคบ” แต่หากบทบัญญัติมีถ้อยคำที่อาจตีความได้ค่อนข้างกว้าง ก็อาจส่งผลให้การตีความอย่างแคบนั้น “กว้างเกินสมควร”

4. ศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็นองค์กรอันมีอำนาจ “ตุลาการ” ที่เกิดขึ้นจากฐานของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีสถานะเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวกับ “การเมือง” ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะใช้และมีบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ในกรณีของการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล หากแต่ควรให้อิสระแก่ประชาชนในการที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ต่อทั้งคำวินิจฉัยและสถานะของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงแสดงอารมณ์ทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติอันเน้นไปถึงกรอบทางวิชาการมาจำกัด ซึ่งหากมีการกระทำใดที่เข้าข่าย “คุกคามสิทธิและเสรีภาพของตุลาการแต่ละคน” ก็มีกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการจัดการเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว

โดยสรุปแล้ว บทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากโดยปกติ ศาลรัฐธรรมนูญมีปริมาณเรื่องและคำร้องในแต่ละปีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับศาลอื่น ๆ ดังนั้น การเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในชั้นศาลย่อมมีอัตราค่อนข้างน้อย 

หากแต่ถ้าต้องการที่จะมีกฎหมายเรื่องนี้จริง ๆ ควรมีเนื้อหาจำกัดเพียงเรื่อง “การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาล” ไม่ควรมีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงเรื่อง “การวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาล” ซึ่งอยู่นอกกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล เพื่อให้สมวัตถุประสงค์ของหลักกฎหมายมากที่สุด

มิเช่นนั้น… บทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อาจขัด “หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ” เสียเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท