โลกเสมือนกับพื้นที่สร้างความทรงจำใหม่แทนอนุสาวรีย์ในยุคเก่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอำนาจของสังคมยอมนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจ ประวัติศาศตร์และความทรงจำใหม่ๆ เหมือนเช่นในปัจจุบันของไทยกับการทำลายหรือถูกทำให้หายไปของวัตถุทางประวัติศาสตร์ เช่น อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญสมัยคณะราษฎรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอำนาจยุคเก่า แต่ในปัจจุบันสิ่งที่ถูกมองว่าไร้สาระในอดีตอย่างเช่นเกมส์อาจเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างความทรงจำใหม่โดยไม่จำเป็นต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่และเข้าถึงง่ายเพียงแค่โหลดลงมือถือ

อนุเสาวรีย์และความเป็นทรงจำเกี่ยวข้องกันอย่างไร

อนุเสาวรีย์เกิดขึ้นมาในฐานะเป็นเครื่องมือของการบรรจุประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ในระดับถาวรและสามารถหวนนึกถึงได้ในช่วงเทศกาล นี้เป็นเหตุให้ต้องสร้างให้เป็นวัตถุที่เป็นรูปธรรม เพื่อทำให้พวกเราเชื่อในความถาวรของเรื่องราว 

นอกจากนี้ในงานของ Pierre Nora คือ sites of memory ที่เน้นศึกษาการเกิดในความทรงจำของชาติ ธรรมชาติของอนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ชมทั้งในอดีตและปัจจุบัน อนุสาวรีย์ได้สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม กล่าวคือ เรามักถูกสอนว่าอนุเสาวรีย์มันได้ให้รับรู้ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับข้องกับมรดกของชาติและการตอบสนองในพื้นสาธารณะ พร้อมกับอ้างถึงภูมิทัศน์ของเมืองที่ได้บรรจุความทรงจำเอาไว้ ในอีกด้านหนึ่งอนุสาวรีย์เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เพราะมันเป็นสิ่งที่ปรากฏและบ่งชี้อย่างถาวรของความทรงจำและประวัติศาสตร์ อนุสาวรีย์ได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ได้จากรูปแบบอนุสาวรีย์ สัญลักษณ์ เรื่องเล่าของเหตุการณ์ ร่วมไปถึงความเสียสละที่จะถูกเล่าขานในพิธีกรรมของสาธารณะ

การปรากฏของวัฒนธรรมอนุสาวรีย์เป็นการรวมกันของการประเมินคุณค่าที่แตกต่างทั้งส่วนของคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ข้อมูล และคุณค่าที่เกี่ยวกับอายุ ทั้งเวลาและสิ่งที่ถูกถักทอขึ้น อนุสาวรีย์ได้ถูกสร้างขึ้นในฐานะสิ่งที่บ่งชี้ของคุณค่าที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยในแต่ละอนุสาวรีย์ยังยืนหยัดในความทรงจำมากเท่าที่มีการเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์นั้นๆ ในทางตรงข้ามเมื่อเรามีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเครื่องมือทางการเกษตรด้วยส่วนหนึ่งของความกลัวในความทันสมัยที่ทำให้คนหลงลืมจึงทำให้ความจริงกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ด้วยความจริงในฐานะที่เป็นความทรงจำที่ไม่ปรากฏอีกต่อไป จากการสังเกตวัฒนธรรมของเวลาของอนุสาวรีย์สมัยใหม่เป็นสิ่งที่ถูกกระตุ้นด้วยการโหยหาอดีตโดยที่การโหยหาอดีตเป็นสภาวะที่รู้สึกผิดในการหายไปของobject บางสิ่ง ทำให้เวลาของอนุสรณ์เป็นรูปแบบของสำนึกทางประวัติศาสตร์ ที่นำไปสู่ความแปลกแยกจากสิ่งที่อยู่รอบข้าง

ดังนั้นความหลงใหลกับสิ่งของที่มีความทรงจำจึงเป็นรูปแบบของสังคมสมัยใหม่ ความทรงจำร่วมที่เกิดขึ้นในฐานะวัตถุของการศึกษาในช่วงศตวรรษที่ 20 ความทรงจำถือเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเห็นได้จากงานศึกษาต่างๆ ที่มีจุดร่วมเดียวกันเกี่ยวกับความไม่พอใจต่อนักประวัติศาสตร์ในการศึกษาเกี่ยวกับมรดกของชาติ หรือการวิพากษ์การผลิตสร้างอดีตขึ้นใหม่ โดยมรดกวัฒนธรรมนั้นสัมพันธ์กับรูปแบบของความทรงจำของสังคมซึ่งถูกทำให้ในหายไปในฐานะเป็นวัตถุของการศึกษา สิ่งที่เป็นพื้นฐานของการศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงความทรงจำของสาธารณะได้ถูกรวมเข้ากับ material culture เช่น รูปแบบของสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์ และ material culture ในชีวิตประจำวันอย่างเช่นของเล่น รูปภาพ ของที่ระลึก เป็นต้น 

ในการสร้างสิ่งก่อสร้างได้สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชาติพร้อมกับเป็นบ่มเพาะสำนึกความเป็นพลเมืองให้กับผู้คนที่เข้ามาอยู่ในภูมิทัศน์ของความเป็นเมือง เช่น ในการเกิดขึ้นของชาตินิยมเยอรมัน ด้วยการที่คนมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของชาติ พื้นที่สาธารณะของการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเป็นองค์ประกอบของความเป็นพลเมืองของรัฐโดยบ่มเพาะว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นมรดกของชาติ เป็นพื้นที่ที่บรรจุอำนาจและความทรงจำ นอกจากนี้การปฏิบัติการทางวัฒนธรรมและพิธีกรรม เช่น การวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของพลเมืองที่มี อัตลักษณ์ร่วมกันในการแสดงออก โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐ พวกเขาอาจจะสร้างพื้นที่ที่เสริมสร้างอำนาจเพื่อแสดงอัตลักษณ์กลุ่มของตนเอง 
ความทรงจำสาธารณะเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ซึ่งอยู่ภายใน object ในแบบต่างๆ โดยความทรงจำร่วมหมายถึงแนวทางที่กลุ่มต่างๆ จะได้วางเรื่องเล่าของตนเองเข้าไปในพื้นที่และเวลาเฉพาะ โดยแต่ละกลุ่มมีความขัดแย้งกันในผลผลิตของความทรงจำสาธารณะผ่านภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวาทกรรมประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การได้สิทธิอำนาจทางวัฒนธรรมจนก่อให้เกิดกระบวนการต่อสู้ต่อไป โดยตั้งแต่ ค.ศ.1980 ในการต่อสู้ระหว่างกลุ่มได้หยิบเอามรดกทางวัฒนธรรมมาใช้อธิบายอย่างเช่นการผลิตสร้างความเป็นชาตินิยมที่เชื่อมโยงเข้ากับความทรงจำสาธารณะที่บรรจุลงไปในมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกนำเสนอในพื้นที่ต่างๆ มรดกทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำร่วมและไม่เคยแยกออกจาก อัตลักษณ์การเมืองของสังคมสมัยใหม่ โดย Nora ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงจากการที่ในช่วงก่อนสมัยใหม่คนถูกผูกโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อมของความทรงจำได้กลายไปเป็นเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบเพื่อเก็บรักษาอดีตเอาไว้

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ความทรงจำสาธารณะได้บรรจุความตระหนักถึงความสูญเสียเกี่ยวกับสงคราม ในก่อนหน้านี้ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้กับฮีโร่สงครามหรือไม่ก็กองกำลังหลัก โดยไม่ตระหนักถึงปัจเจกชนเท่าไรนัก จนกระทั่งสำนึกของชาตินิยมลดน้อย กระบวนการของการไว้ทุกข์ของการตายเป็นจำนวนมาก ในช่วงศตวรรษที่ 20 จะเป็นการแสดงออกในลักษณะที่เป็นภูมิทัศน์ของการไว้ทุกข์และความเสียใจ ในลักษณะที่เป็นการสลักชื่อและวันที่ตาย นอกจากนี้ในการอธิบายเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อจำ แต่การสร้างอนุสาวรีย์ยังสร้างเพื่อให้ลืมเหตุการณ์บางอย่าง อย่างเช่น การสังหารหมู่เป็นสิ่งที่เน้นในส่วนที่เป็นวิธีการเพื่อทำให้เสียงที่เงียบในอดีตได้กลับมาอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์การสังหารหมู่ของคนยิวที่แสดงถึงความเป็นประเทศเสรีของอเมริกา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ลืมการสังหารหมู่ของชนพื้นเมืองที่ถูกกระทำโดยคนอเมริกันเอง นอกจากนี้อนุสาวรีย์ยังแสดงถึงการเสียหน้า อย่างเช่น ตั้งแตศตวรรษที่ 19 โครงการที่เกี่ยวกับเรื่องชาติและอาณานิคมเป็นสิ่งที่บรรลุในจุดประสงค์ โดยเฉพาะการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลที่เป็นผู้นำชาตินิยม โดยที่อนุสาวรีย์ที่เป็นของเจ้าอาณานิคมเดิมมักถูกทำลายทิ้งเพื่อยืนยันในกระบวนการเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของประเทศหลังอาณานิคม หรืออย่างการสร้างความทรงจำใหม่ของรัสเซียด้วยการทำลายอนุสรณ์ในสมัยยุคโซเวียตทิ้งที่เป็นอนุสาวรีย์แสดงถึงความเสียหน้าเพื่อเป็นกระบวนการในการกำหนดเป้าหมายและเรื่องเล่าใหม่ๆ 

แม้ว่าอนุสาวรีย์จะเป็นถาวรวัตถุที่เกี่ยวกับความทรงจำ แต่ก็ใช่ว่าความทรงจำนั้นจะไม่สามารถถูกท้าทายได้ และถูกแทนที่ได้ด้วยความทรงที่เคยเป็นส่วนเกินของประวัติศาสตร์ โดยอาจมองได้ว่าตัวบุคคลปราศจากซึ่งประวัติศาสตร์ แต่ความจริงแล้วคนสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ในรูปของความทรงจำ อย่างเช่น ในรูปของความทรงจำส่วนบุคคล ความทรงจำดังกล่าวอาจแสดงออกมาในรูปของ ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่สัมพันธ์กับ material culture ที่คล้ายเป็นเครื่องมือในการเตือนความทรงจำ ที่ทำให้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแค่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่ยังรวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเช่น ดนตรี เพลง การเต้น และการแสดง

อนุสรณ์สถานเป็นพื้นที่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคล การปฏิบัติ และโครงสร้างของ material โดยที่อนุสรณ์สถานมีพื้นฐานสำคัญในการยืนยันและชี้ให้เห็นถึงความทรงจำของสังคมในลักษณะที่เป็นการจดบันทึกและผลิตซ้ำคุณค่าของสังคมและพร้อมกันนั้นสามารถสร้างให้เกิดการลืมและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นมาใหม่

เกมส์กับการสร้างความทรงจำใหม่ 

เมื่อก้าวเข้าสู่ในยุคปัจจุบันพื้นที่ผลิตสร้างความทรงจำหรืออัตลักษณ์ของชาติไม่จำเป็นต้องถูกบรรจุภายในแท่งปูนกลางแดดอีกต่อไป ในปัจจุบันเกมส์กลายเป็นสื่อใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในอดีตชุดความคิดต่อสื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไร้สาระและผูกติดกับความเป็นเด็ก แต่วิธีคิดดังกล่าวกำลังถูกท้าท้ายด้วยอายุของคนเล่นเกมส์ที่มากขึ้น ที่สำคัญเกมส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในการกำหนดและสร้างรูปแบบทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งขึ้นมา 

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมส์มีมูลค่าทางการตลาดในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมบันเทิง(Video Game Market Report: Trends, Forecast and Competitive Analysis สืบค้นเมื่อวันที่13 มกราคม พ.ศ.2562. https://www.prnewswire.com/…/179-1-bn-video-game-market-201… ) เกมส์เริ่มต้นจากเป็นเครื่องมือและถูกสร้างขึ้นทางการทหารในยุคสงครามเย็น 

ในปัจจุบันเกมส์เป็นเครื่องมือในการศึกษาแนวคิดหรือทัศนคติของยุคสมัย ผู้ศึกษาเกมส์บางส่วนพิจารณาเกมส์เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอุดมการณ์ทางสังคม เช่น ประเทศเกาหลีใต้สร้างอำนาจอ่อน( Soft power) ผ่านเกมส์ออนไลน์( Aphra Kerr, 2006) รัฐบาลเกาหลีใต้สร้างอิทธิพลทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกหลายด้านหนึ่งในนั้น คือ เกมส์ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานอันยิ่งใหญ่โดยความเป็นเอเชียนั้นมีประเทศเกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางของจินตนาการดังกล่าวร่วมถึงให้ความสำคัญกับประเทศที่เข้าไปเปิดบริการผ่านสัญลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น สถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์ หรืองานของ Patrick Crogan.(2011) เกมส์ออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐ(อเมริกา) เพื่อระดมกลุ่มวัยรุ่นเข้าร่วมสงครามในฐานะเป็นทหารรับใช้ชาติผ่านระบบเกมส์

ดังนั้นเกมส์บางเกมส์บรรจุความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้นำอภิวัติ 2475. โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนาและบุคคลอื่นๆที่มีบทบาทในช่วงเวลาดังกล่าวที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครในเกมส์ออนไลน์ในฐานะเป็นผู้นำของประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในเกมส์. Hearts of Iron IV คือเกมแนว Grand Strategy แบบ Real Time ที่ให้เราได้สวมบทบาทเป็นผู้นำของประเทศต่าง ๆ ของโลกร่วมถึงเกมส์. Glory.of.Generals ที่นำจอมพลป.พิบูลสงคราม มาเป็นเป็นตัวแทนของประเทศไทยในฐานะผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกมส์ดังกล่าวสร้างความรับรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก โลกออนไลน์ทำให้พวกเขาดำรงอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดร์ พร้อมกับการสร้างความอยากรู้ให้กับผู้เล่นถึงบุคคลดังกล่าวเป็นใครและมีบทบาทอย่างไรกับสังคมไทยและเกิดการถกเถียงถึงการตัดสินใจของผู้นำกลุ่มดังกล่าวจากบริบทในช่วงเวลาในช่วงเวลานั้น 

ดังนั้น ในสมรภูมิรบแห่งการช่วงชิงความทรงจำในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เอื้อให้กับคนเล็กคนน้อยหรือผู้ไร้อำนาจรัฐในการจับจองพื้นที่เพื่อสร้างความทรงจำโดยเทคโนโลนีเอื้อให้เราสร้างความทรงจำและแพร่หลายเข้าถึงได้ง่ายกว่าอนุเสาวรีย์ด้วยสิ่งที่ใกล้ตัวอย่างเกมส์ออนไลน์ที่มีบทบาทสำคัญ

 

อ้างอิง
Aphra Kerr.(2006).The Business and Culture of Digital Games: Gamework And Gameplay Paperback – SAGE Publications Ltd; 1 edition
Constance Steinkuehler, Kurt Squire, Sasha Barab.(2012 ).Games, learning, and society 
:learning and meaning in the digital age Cambridge : Cambridge University Press
Hardt, M., Negri, A. (2004). Multitude: War and democracy in the age of empire. New 
York, NY: Penguin
Nora Pierre (1996). Realms of Memory : Rethinking the French Past. New York : Columbia University Press.
Nick Dyer-Witheford and Greig de Peuter .(2009). Games of empire : global capitalism 
and video gamesMinneapolis : University of Minnesota Press.
Patrick Crogan.(2011). Gameplay mode : war, simulation, and technoculture 
Minneapolis : University of Minnesota Press
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท