ครบรอบ 29 ปีการรัฐประหาร รสช. ครป.เสนอ 8 ข้อแก้ รธน. 2560

เนื่องในวาระครบรอบ 29 ปีการรัฐประหาร รสช. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอ 8 ข้อแก้ รธน. 2560 เลิก กก.ยุทธศาสตร์ชาติ ยกเครื่ององค์กรอิสระ

23 ก.พ. 2563 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า ครบรอบ 29 ปีการรัฐประหาร รสช. เมื่อปี 2534 รัฐธรรมนูญไทยถูกฉีกและร่างใหม่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารและไม่รู้ว่าจะมีการฉีกและร่างใหม่อีกกี่หน ดังนั้น รัฐธรรมนูญไม่มีความจำเป็นต้องเขียนไว้ยาวและมีหลายมาตราเกินความจำเป็น แต่ควรออกแบบแค่เพียงความเป็นรัฐและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐบาลและประชาชน ส่วนสถาบันและกลไกต่างๆ ก็ไปออกแบบอำนาจหน้าที่ไว้ในกฎหมายทั่วไป สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญแค่เพียง 7 มาตรา ที่กำหนดหลักการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และกรอบสหพันธรัฐ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่าง ๆ ส่วนอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Unwritten Constitution) รัฐธรรมนูญของอังกฤษเกิดจากหลักการและเอกสารหลายๆ ฉบับที่จัดทำขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการปฏิวัติ เขาก็ยังสร้างชาติเจริญรุ่งเรืองจนถึงวันนี้

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทยมีข้อบกพร่องมากมาย เพราะถูกออกแบบและเขียนขึ้นโดยกลุ่มคณาธิปไตย และใช้สืบทอดอำนาจคณะบุคคลในรัฐบาลชั่วคราวเพื่อจะเป็นรัฐบาลถาวร ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เงื่อนไขรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองไม่จบสิ้นหากไม่แก้ไขหรือร่างขึ้นใหม่จากการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยกมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ หรือจะเสนอแก้ไขรายมาตราเพื่อเสนอต่อรัฐสภาโดยตรงก็ได้ ดังข้อเสนอต่อไปนี้ 

1.รัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.ร.) เพื่อมาออกแบบร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หรือกรรมาธิการที่มาจากหลายพรรคและสะท้อนเสียงของประชาชนสามารถเสนอแก้ไขรายมาตราที่เป็นปัญหาได้เลยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการพัฒนาในระยะยาว โดยกำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปประเทศและกรอบเวลาการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพ การปฎิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพและการพัฒนาพลเมือง (Civic Education) ตลอดจนการปฏิรูปพลังงานและทรัพยากรด้านต่างๆ ทางสังคม เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและรัฐสวัสดิการ เพื่อความมั่นคงของประเทศท่ามกลางระบบระหว่างประเทศที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

2.ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งหมด รวมถึงการบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตร่วมของรัฐสภา ทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเลือกผู้บริหารประเทศโดยไม่ยึดโยงเจตจำนงค์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งผู้แทน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ก็ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงไปเลย 

3.ควรพิจารณายกเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคและกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นระบบธนาธิปไตยและต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ควรปรับลดจำนวน ส.ส.ลงมาเพื่อประหยัดงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องมีมากเหมือนเก่า เนื่องจากประชาชนเข้าถึงผู้แทนของตนเองง่ายกว่าในอดีต
    
4.ระบบการเลือกตั้งแบบผสมผสานควรกลับมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม เพื่อให้ประชาชนเลือกคนที่รักและพรรคที่นโยบาย แยก ส.ส.เขตเลือกตั้ง กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคออกไปให้เป็นระบบ นอกจากนี้ควรยกเลิกสัดส่วนระหว่างบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คนกับ ส.ส.เขต 350 คน เพราะหาตรรกะไม่ได้และไม่มีความสมดุลกัน ในหลายประเทศทั่วโลกมีตัวอย่างระบบผสมแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือระบบบัญชีรายชื่อระบบเดียว หรือระบบ ส.ส.เขตระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพ 

5.ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นเสมือนคณะโปลิตบูโรและรัฐบาลเงาอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน จะต้องไม่มีองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรที่มาจากประชาชนและยึดโยงกับพลเมือง ยุทธศาสตร์ชาติทำให้รัฐบาลขาดอิสรภาพที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามบริบทการพัฒนาที่รุดหน้าไปตามเทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาที่ขาดธรรมาภิบาล แก้ปัญหาได้โดยให้มีการประชามติทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเขียนหน้าที่และนโยบายรัฐทั้งหมด เพราะทำให้อุดมการณ์พรรคการเมืองและข้อเสนอทางนโยบายไร้ความหมาย อีกทั้งบริบทโลกและบริบทประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดหน้าที่และนโยบายแบบแข็งตัว (Rigid) จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

6.ต้องมีกฎหมายการกระจายอำนาจการปกครอง โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ถ่ายโอนราชการส่วนภูมิภาคขึ้นกับจังหวัด กระจายอำนาจและความรับผิดชอบจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เพื่อเปิดปริมณฑลการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงระบบภาษีที่ประชาชนเสียภาษีที่ไหนให้ใช้พัฒนาที่นั่น เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ประเทศไทยต้องกระจายอำนาจการปกครองจากรัฐราชการรวมศูนย์ไปสู่การพัฒนาเมืองต่างๆ ให้เติบโตยั่งยืนด้วยตนเองและส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเองด้วยระบบราชการสมัยใหม่ที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกเมืองได้พัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเอง

7.องค์กรอิสระควรมีการปฏิรูปยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการสรรหา คุณสมบัติของผู้สมัคร และการให้ความเห็นชอบ ซึ่งทั้งหมดต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งผู้สมัครต้องแสดงวิสัยทัศน์ ต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องพลเมืองประชาธิปไตย (Civic Education) และยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่า ต้องเป็นข้าราชการหรือเรียนจบปริญญาตรี เป็นต้น รวมถึงการลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์อิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จาก 7 ปี เหลือแค่ 5 ปี เนื่องจากยาวนานเกินไป องค์กรอิสระ องค์กรศาลฯ หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ต้องยุติหลักสูตรพิเศษที่จัดขึ้นในองค์กรซึ่งระบอบอุปถัมภ์จะทำให้ความเป็นธรรมถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ควรจัดตั้งให้มีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ให้ทำหน้าที่เหมือน กพ. เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้ออกกฎระเบียบกันเองตามอำเภอใจ

8.รัฐธรรมนูญควรสร้างกลไกการป้องกันเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่อย่างแท้จริงในการตรวจสอบการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มนายทุนผูกขาดทั้งหลาย เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาด ขัดกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและผูกขาดตลาดเกินกึ่งหนึ่งตามกฎหมายจำนวน รวมทั้งการปฏิรูปโครงสร้างภาษีโดยให้มีกฎหมายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าเหมือนนานาอารยประเทศ ยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท