Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย นิติศาสตร์ มช. ออกแถลงการณ์ชี้ถึงผลกระทบต่อระบบกฎหมายและองค์ความรู้ทางกฎหมายจากกรณีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

23 ก.พ. 2563 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออก แถลงการณ์ 'ผลกระทบต่อระบบกฎหมายและองค์ความรู้ทางกฎหมายจากกรณีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่' ระบุว่าภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 คำวินิจฉัยดังกล่าวได้นำมาซึ่งประเด็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย มีความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้มีผลกระทบต่อหลักการของระบบกฎหมาย ทั้งในส่วนของกฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชนในหลากหลายประเด็น และนำมาซึ่งข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากในห้วงเวลานี้

ในเบื้องต้น มีประเด็นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญต่อการวินิจฉัยในคดีดังกล่าว และจะส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายและองค์ความรู้ทางกฎหมาย มีดังต่อไปนี้

ประการแรก พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชน

สามารถกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากองค์กรใดถูกจัดประเภทว่าเป็นนิติบุคคลมหาชนแล้ว การกระทำต่างๆ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน แต่หากมิใช่นิติบุคคลมหาชนก็สามารถกระทำการต่างๆ ได้ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้อย่างชัดเจน การวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชนย่อมมาสู่การให้คำอธิบายว่าพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้หากไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองเอาไว้

ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่าพรรคการเมืองเป็น “นิติบุคคลมหาชน” อย่างไรก็ตาม ในระบบความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนนั้น เป็นที่เข้าใจและยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่านิติบุคคลมหาชนนั้นมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ ต้องเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของอำนาจรัฐและใช้อำนาจในฐานะองค์กรของรัฐ ดังนั้น คำอธิบายในตำราต่างๆ จึงไม่ได้จัดให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมหาชนแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการหักล้างและแตกต่างจากคำอธิบายที่ปรากฏอยู่อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ

สอง ขอบเขตและวัตถุประสงค์ของมาตรา 72 ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560

เป็นที่ชัดเจนว่าบทบัญญัติในมาตรา 72 มีเนื้อหาที่ต้องการป้องกันและห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้มาจากการกระทำความผิดทางกฎหมาย เช่น เงินที่มาจากการทุจริตคอรัปชั่นหรือการค้ายาเสพติด เป็นต้น แต่ในการตัดสินกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยให้เชื่อมโยงกับมาตรา 66 ซึ่งเป็นกรณีของการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง และนำไปขยายความให้มีความหมายว่าเงินกู้เป็นการกระทำที่เข้าข่ายในมาตรา 72 และนำมาสู่การลงโทษพรรคการเมืองและบุคคลที่ส่วนเกี่ยวข้อง

กรณีการวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งคำถามในทางกฎหมายอย่างสำคัญ เพราะการวินิจฉัยเพื่อลงโทษการกระทำใดๆ ของบุคคลด้วยอำนาจทางกฎหมาย ควรจะต้องเป็นการตัดสินบนหลักการและบทบัญญัติทางกฎหมายที่ชัดเจน แม้ว่าจะเป็นการตีความบทบัญญัติของกฎหมายก็ควรต้องเป็นการตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นในกรณีที่บทบัญญัติดังกล่าวอาจมีความคลุมเครือ แต่ต้องมิใช่เป็น “การขยายความ” จนเกินเลยไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย การวินิจฉัยบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะที่เป็นการขยายความอาจนำมาสู่การตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นคำตัดสินที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองเป็นเป้าหมายสำคัญ

สาม การทำลายหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาของเอกชน

ในการพิจารณาถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการทำสัญญาทางพาณิชย์ เป็นที่ยึดมั่นกันมาว่าเสรีภาพในการเจตนาของบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายต้องให้ความเคารพ ที่เรียกกันว่า “หลักความศักดิ์สิทธิในการแสดงเจตนา” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาอย่างยาวนาน หากไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามก็ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถกระทำได้ และหากได้มีการกระทำที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแล้วก็ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด

กรณีการให้กู้ยืมเงินของบุคคลนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยได้กำหนดไว้เพียงแต่ว่าต้องไม่เกิน 7.5 ต่อปี การให้กู้ยืมด้วยดอกเบี้ยตราบเท่าที่ไม่เกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าไปวินิจฉัยถึงการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพรรคอนาคตใหม่ว่า “ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า” โดยที่มิได้ให้คำอธิบายความหมายของ “ปกติทางการค้า” ว่ามีความหมายอย่างใด หรือมีความแตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดอย่างใด กรณีเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงในหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาของบุคคลในทางเอกชนอย่างสำคัญ เพราะการกระทำใดๆ ที่แม้อยู่ภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายอย่างชัดเจนก็อาจถูกสันนิษฐานให้เป็นการกระทำที่มิชอบต่อกฎหมายได้

จากเหตุผลที่กล่าวมา ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย จึงมีความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ก่อให้เกิดปัญหาในระบบความรู้ทางกฎหมายอย่างไพศาล จำเป็นที่สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป ควรจะต้องร่วมกันแสดงความเห็นและถกเถียง เพราะจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญทั้งกับระบบกฎหมายและสังคมไทยให้ห้วงเวลานี้

ประชาชนอาจต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยขององค์กรที่มีอำนาจตุลาการเพราะว่ามีอำนาจรัฐให้การปกป้อง แต่การให้เหตุผลทางกฎหมายซึ่งยืนอยู่บนหลักการอย่างชัดแจ้งและเป็นที่เข้าใจได้อย่างกว้างขวางก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน หากคาดหวังว่าประชาชนจะให้ความเคารพและเชื่อมั่นต่อสถาบันดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net