ฐานอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ถูกทุบแล้ว หลังตัวอนุสาวรีย์หายไปปีกว่า

'ฐาน' ของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. ถูกทุบและรื้อแล้ว หลังตัวอนุสาวรีย์หายไปปริศนาปีกว่า

ภาพ 'ฐาน' ของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. ถูกทุบและรื้อเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2563 เวลาประมาณ 22.00 น.

23 ก.พ.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งช่วงค่ำ เวลาประมาณ  22.00 น. วานนี้ (22 ก.พ.63) ว่า 'ฐาน' ของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ที่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. ถูกทุบและรื้อแล้ว

อย่างไรก็ตามตัว อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้หายไปตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด

ย้อนกลับไปกลางดึกคืนวันที่ 27 ต่อ 28 ธ.ค.2561 มีกระบวนการย้ายอนุสาวรีย์ดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ฯ ด้วย จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ฯ ดังกล่าวไปอยู่ที่ใด เช่นเดียวกับ หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหรือเรียกโดยทั่วไปว่า หมุดคณะราษฎร ที่เดิมเคยฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 จนกระทั้ง เมษายน 2560 หมุดดังกล่าวได้หายไป

28 ธ.ค.61 วีรนันต์ กัณหา ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว VoiceTV โพสต์รายงานข่าวกรณีนี้ผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ วีรนันต์ กัณหา - Weeranan Kanhar ว่า ตนโทรศัพท์สอบถามไปที่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักการโยธา กทม. ได้รับคำยืนยันว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ถูกย้ายออกไปเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค.62 ไม่ได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ย่านหนองบอน ตามที่ 'ประชาชาติธุรกิจ' รายงาน และ กทม. ไม่เคยทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายเลย

ศักดิ์ชัย ผอ.สำนักการโยธา กทม. บอกเพิ่มเติมขณะนั้นว่า "จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจ อนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สักการะและดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ฯดังกล่าว ไปไว้ทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ซึ่งเป็น 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แล้วครั้งหนึ่ง

ที่มาของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช

ภาพจากเพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม 

สำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น เพจ 'ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม' เล่าถึงที่มาของอนุสาวรีย์ฯนี้ หรืออีกชื่อคือ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ โดยอ้างจากบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ชื่อ“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ กับการรำลึกวีรชนผู้พิทักษ์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2556 ที่ระบุว่า

ที่มาของอนุสาวรีย์ฯ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อมีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยทหารและพลเรือน เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นผู้นำ ได้นำทหารจำนวนมากจากหัวเมือง ทั้งจากอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มายึดบริเวณดอนเมือง เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมือง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับคณะกู้บ้านเมืองให้ล้มเลิกความคิดล้มล้างรัฐบาล และถอนทหารกลับสู่ที่ตั้ง​ แต่กลับไม่เป็นผล ดังนั้น พระยาพหลฯ จึงตั้งให้หลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารออกปราบปรามฝ่ายคณะกู้บ้านเมือง โดยมีการปะทะกันที่บางเขนตั้งแต่วันที่ 12 - 16 ต.ค. 2476 ต่อมาฝ่ายคณะกู้บ้านเมืองได้พ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปอินโดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลได้สูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย ในการปกป้องกฏหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

หลังเหตุการณ์สงบเรียบร้อย รัฐบาลได้นำศพของผู้เสียชีวิตมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล ณ วัดราชาธิวาส และได้จัดพิธีฌาปนกิจอย่างยิ่งใหญ่​ ณ​ ท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติในฐานะวีรชนของชาติ ในวันที่ 18 ก.พ.2477

จากนั้นได้บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวินไว้ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ทองเหลืองตามประเพณีของทหารและตั้งไว้ที่กรมกองต้นสังกัดของเหล่าทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเวลา 3 ปี ต่อมาราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร จึงได้นำอัฐิของวีรชน 17 นาย มาบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ 

ภาพจาก เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล'

เฟสบุ๊ค 'ป. ลครพล' ได้โพสต์ภาพพร้อม คำกราบบังคมทูลของ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตำบลหลักสี่ 15 ต.ค. 2479 ด้วยว่า

"กระทรวงกลาโหมขออุทิศอนุสาวรีย์นี้ให้แก่ชาติไทย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจชาวไทยว่า อย่าแตกความสามัคคีกัน ทั้งการคิด การพูด และการทำ หากแม้ว่าสิ่งระลึกเตือนสติเตือนใจนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองแม้แต่น้อย ก็ขอให้ผลอันนี้ได้ไปเป็นเครื่องประดับวิญญาณแก่สหายที่รักผู้กล้าหาญของเกล้ากระหม่อมทั้ง 17 นายนั้นตลอดไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท