Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 2 ฉบับ รวมมูลค่า 191.2 ล้านบาท 

หลักใหญ่ใจความของการยุบพรรค คือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า สัญญากู้มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าหรือปกติวิสัย จึงเชื่อว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง และเป็นการบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากคนคนเดียวเกินกว่า 10 ล้านบาท  

การบริจาคเกิน 10 ล้าน ขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 66  ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ที่รับเงินนี้มาจึงผิดตามมาตรา 72 และ กกต. สามารถขอให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง (แฟ้มภาพ)

ถัดมาอีก 1 วัน ไอลอว์เปิดกฎหมายอธิบายรายละเอียดอย่างเป็นระบบเพื่อนำเสนอความเห็นแย้งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ นับเป็นงานชิ้นแรกที่กล้าฟันธงจังๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับการตีความของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังเผยแพร่บทความชิ้นนี้ไม่ถึง 1 วัน มีการไลค์ 6 พันกว่าและแชร์ 4 พันกว่าครั้ง

แต่ก่อนที่จะคลี่ดูความซับซ้อนของการเชื่อมโยงทางกฎหมายในคำวินิจฉัยดังกล่าว อาจต้องหมายเหตุไว้ก่อนว่า ในเบื้องต้น กกต.ฟ้องพรรอนาคตใหม่ว่า การกู้เงินกับธนาธรเป็น “นิติกรรมอำพราง” ของการบริจาค ซึ่งผิดตามมาตรา 66 ที่กำหนดว่าห้ามบริจาคเกิน 10 ล้าน จากนั้นมีการฟ้องเพิ่มเติมในมาตรา 72 ให้เหตุผลว่า พรรคมี “รายได้” ไม่เป็นไปตามประเภทรายได้หรือรับเงินโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องเงินกู้ไว้ 

การเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนในคำวินิจฉัยครั้งนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถข้ามการวินิจฉัยในประเด็นร้อนไปได้ 2 เรื่องหลัก คือ “เงินกู้”  นับเป็น “รายได้” ตามที่ กกต.ฟ้องหรือไม่ ก่อนจะมีคำวินิจฉัยประเด็นนี้ดูจะใหญ่โตและร้อนฉ่า หลายฝ่ายต่างออกมาให้ความเห็นว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ แม้กระทั่งมีการเปิดเอกสารหลุดจากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของกกต.เองที่มีความเห็น “ยกคำร้อง” คดีนี้เพราะเห็นว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้ ประเด็นนี้ข้ามไปพร้อมกับอีกประเด็นหนึ่งคือ การกู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางของการบริจาคหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญโยง คล้ายจะยอมรับกลายๆ ว่า เป็นการกู้เงินไม่ใช่บริจาค แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ที่ธนาธรให้แก่พรรคเกินกว่า 10 ล้าน

พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคอนาคตใหม่อยู่ 7 มาตรา ดังนี้

  1. มาตรา 62 กำหนดว่า พรรคการเมืองจะมีรายได้จากช่องทางใดได้บ้าง 
  2. มาตรา 66 กำหนดว่า ห้ามคนเดียวบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคจากคนเดียวเกิน 10 ล้านบาทต่อปี 
  3. มาตรา 72 กำหนดว่า ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. มาตรา 92 กำหนดว่า พรรคการเมืองทำผิดตามมาตรา 72 และมาตราอื่นๆ  (แต่ไม่ใช่มาตรา 66) ให้ กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค
  5. มาตรา 124 กำหนดโทษผู้ที่บริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท ให้ต้องจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
  6. มาตรา 125 กำหนดโทษพรรคการเมืองที่รับบริจาคเกิน 10 ล้านบาท ให้ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ให้เงินบริจาคส่วนเกินตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
  7. มาตรา 126 กำหนดโทษ ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองที่รับเงินบริจาคที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลกำหนด

มีอยู่ 2 มาตราหลักที่ต้องยึดให้มั่น และจำเป็นต้องจับคู่บทลงโทษให้ถูกต้องด้วย 

มาตรา 66 ห้ามคนบริจาคให้พรรคเกิน 10  ล้าน 

หากฝ่าฝืนบริจาคเกิน จะมีบทลงโทษแก่ผู้บริจาคตามมาตรา 124 และมีบทลงโทษแก่พรรค ตามมาตรา 125 ซึ่งไม่ได้มีโทษถึงขั้นยุบพรรค และการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก็เพียง 5 ปี 

มาตรา 72 ห้ามพรรครับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

หากฝ่าฝืนไปรับเอาเงินสีเทาหรือเงินใดๆ ที่ผิดกฎหมาย มีบทลงโทษพรรค ตามมาตรา 92 ซึ่งมีโทษถึงยุบพรรค และมีบทลงโทษคนในพรรคที่รับเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นตามมาตรา 126 ซึ่งมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง นานแค่ไหนให้ศาลเป็นผู้กำหนด 

ประเด็นที่ไอลอว์หยิบยกมาถกเถียงคือ ดูเหมือนคำวินิจฉัยได้หยิบเอาหลายมาตรามาพิจารณาและตีความให้ความผิดที่ไม่มีโทษยุบพรรคตามมาตรา 66 กลายเป็นความผิดที่มีโทษยุบพรรคตามมาตรา 72 

ภาพโปรไฟล์ในเพจพรรคอนาคตใหม่หลังคำวินิจฉัยยุบพรรค 21 ก.พ.2563

ไอลอว์ระบุว่า ตามคำวินิจฉัย ความผิดหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้วินิจฉัยจนเป็นเหตุให้ยุบพรรค คือ ความผิดฐาน “รับเงินบริจาคที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

มาตรา 72  ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 72 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้เป็น ดังนี้

  1. พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง
  2. รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด 
  3. โดยรู้หรือควรจะรู้ / หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า 
  4. ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย /หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การจะตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 72 ได้ต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อประกอบเข้าด้วยกัน หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งก็จะไม่สามารถเอาผิดพรรคการเมืองนั้นได้

องค์ประกอบข้อ 1. พรรคการเมือง คือ พรรคอนาคตใหม่ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง คือ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ องค์ประกอบข้อนี้ครบถ้วนชัดเจน

องค์ประกอบข้อ 2. การ ‘รับบริจาค’ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ... เป็นเรื่องที่ตีความหลายแบบ 

ฝั่งพรรคอนาคตใหม่นำเสนอเอกสารว่า เป็นการ “กู้เงิน” ไม่ใช่การบริจาค VS ฝั่ง กกต. ผู้ยื่นคำร้องให้ยุบพรรค ตีความว่าเป็น “นิติกรรมอำพราง” คือ แกล้งทำเป็นกู้เพื่อปิดบังว่าจริงๆ แล้วเป็นการบริจาค

ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ฟันธงในเรื่องนี้ว่าเป็นนิติกรรมอำพรางซึ่งเป็นคำในกฎหมายแพ่งหรือไม่ และจริงๆ สัญญานี้เป็น การกู้เงิน หรือ การบริจาค แต่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า เนื่องจากสัญญากู้เงินจากธนาธรมีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าและไม่เป็นไปตามปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินและการชําระหนี้เงินกู้ยืม จึงถือเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” แก่พรรค ตามมาตรา 72 

จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเลี่ยงที่จะชี้ชัดว่า การทำสัญญากู้นี้เป็นนิติกรรมอำพรางของการ “บริจาคเงิน" ทั้งจำนวน 191.2 ล้านบาทหรือไม่ แต่ไปพิจารณาจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ต่ำและวินิจฉัยว่าเป็นการให้ “ประโยชน์อื่นใด” ในเรื่องส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ "น้อยผิดปกติ" เท่านั้น 

องค์ประกอบข้อ 3. เรื่องการรู้หรือควรจะได้รู้ หรือมีเหตุอันควรสงสัย ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่น่าจะไม่มีประเด็นที่เห็นต่างกัน เนื่องจากเป็นการทำสัญญากู้ระหว่างธนาธรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกับพรรคอนาคตใหม่โดยตรง กรรมการบริหารพรรคคงจะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ และที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้ปฏิเสธในประเด็นนี้

องค์ประกอบข้อ 4.*** เงินหรือประโยชน์นั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายว่า เมื่อรวม “ประโยชน์อื่นใด” จากเงินที่พรรคกู้ กับเงินที่ธนาธรได้บริจาคให้พรรคในปี 2562 จํานวน 8,500,000 บาทแล้ว ย่อมชัดแจ้งว่าเป็นกรณีการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง

(ไม่มีข้อมูลว่าการคำนวณดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นของศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรฐานใด และเมื่อคำนวณแล้วได้ตัวเลขเป็นเท่าไร ซึ่งตามคำวินิจฉัยบอกว่าเป็น “ประโยชน์อื่นใด” ที่เมื่อนำมารวมกับเงินบริจาคโดยตรงของธนาธร 8.5 ล้านบาทแล้วทำให้เกินวงเงิน 10 ล้านบาทตามกฎหมายกำหนด)

ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำว่า “ประโยชน์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรา 72 โดยอ้างอิงกับการให้ประโยชน์เกิน 10 ล้านบาทที่ขัดต่อมาตรา 66 การตีความเช่นนี้เป็นการใช้มาตรา 72 ในทางที่ผิด 

คำว่า “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 นั้นต้องพิจารณาที่มาของเงินนั้นก่อนที่จะนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง ไม่ได้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายจากวิธีการที่นำมาบริจาคให้พรรคการเมือง 

ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจชัดเจน เช่น หากเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือฉ้อโกง แล้วนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง หากพรรคการเมืองรู้ที่มาของเงินอยู่แล้วยังรับบริจาค แบบนี้จะถือเป็นความผิดตามมาตรา 72 

แต่ในกรณีพรรคอนาคตใหม่ เงินหรือทรัพย์สินของธนาธร (ที่ให้พรรคกู้) ไม่ปรากฏว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนำมาให้ประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่ใช่ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 และไม่สามารถนำมาตรา 72 มาใช้กับกรณีการทำสัญญาเงินกู้ในคดีนี้ได้

หากธนาธรให้ประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่เกิน 10 ล้านบาทจริงก็เป็นการให้ประโยชน์ที่ผิดตามมาตรา 66 เท่านั้น และผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 66 ก็ต้องถูกลงโทษตามที่เขียนไว้ในมาตรา 124 และ 125 ซึ่งไม่มีโทษยุบพรรคแต่อย่างใด และการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่ำกว่าปกติ ไม่ทำให้ประโยชน์ที่ให้นั้นกลายเป็นประโยชน์อื่นใดที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 ไปด้วย 

มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 3 ประการที่แสดงให้เห็นว่า การใช้มาตรา 72 ต้องใช้ในความหมายดังที่กล่าวมา 

ประการแรก ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้เอง 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 72 ได้กําหนดข้อห้ามไว้ "เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้น อันจะทําให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทําความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สําคัญเพื่อเสริมสร้างสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน"

แปลว่าคือ มาตรา 72 มีเจตนารมณ์ ไม่ต้องการให้พรรคการเมือง “มีส่วนร่วม” หรือ “สนับสนุน" หรือ “ช่วยเหลือ” การกระทำความผิด จึงหมายความว่า มาตรา 72 ต้องการกันพรรคการเมืองให้อยู่ห่างจาก “การกระทำความผิดอื่นๆ” ที่อาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการนำเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมาบริจาค เจตนารมณ์ของมาตรา 72 ไม่ใช่เพื่อกันพรรคการเมืองไม่ให้ทำผิดเองในแง่ วิธีการรับเงินบริจาคด้วยตัวของพรรคการเมืองเอง

ประการที่สอง มาตรา 66 วรรคสอง เขียนชัดอยู่แล้วว่า พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นเกิน 10 ล้านบาทไม่ได้ ดังนั้นถ้าผู้ร่างกฎหมายต้องการกำหนดให้การรับบริจาคเงินหรือประโยชน์อื่นเกิน 10 ล้านมีโทษให้ยุบพรรคก็ต้องเขียนในมาตรา 92 (3) ไว้เลยว่า ให้ กกต. มีอำนาจส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนเรื่องนี้ด้วย แต่มาตรา 92 (3) ไม่ได้เขียนเรื่องยุบพรรคไว้ ดังนั้น พรรคการเมืองที่รับประโยชน์เกิน 10 ล้านบาท  กกต. จึงไม่สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้

 

การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ฝ่าฝืนมาตรา 66 วรรคสอง จึงต้องอ้างอิงโดยเชื่อมโยงไปยังมาตรา 72 อีกชั้นหนึ่ง นี่จึงเป็นการใช้มาตรา 72 มาซ้อนทับกับความผิดตามมาตรา 66 ซึ่งไม่ถูกต้อง

ประการที่สาม การฝ่าฝืนมาตรา 66 มีบทกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว ในมาตรา 124 และ 125 สำหรับผู้บริจาคมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี สำหรับพรรคการเมืองที่รับบริจาค ให้มีโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง 5 ปี

ส่วนการฝ่าฝืนมาตรา 72 นอกจากจะถูกส่งเรื่องให้ยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3) แล้ว ยังมีบทกำหนดโทษเขียนไว้ในมาตรา 126 สำหรับกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ หมายความว่า ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ได้

เมื่อการฝ่าฝืนมาตรา 66 และ มาตรา 72 ต่างมีบทกำหนดโทษของแต่ละฐานความผิดคนละมาตรา และมีบทลงโทษที่ต่างกัน จึงเห็นได้ว่า มาตรา 66 และ มาตรา 72 เขียนขึ้นเพื่อให้ใช้แยกต่างหากจากกัน ไม่ได้ให้ใช้ประกอบกัน เมื่อการกระทำของพรรคการเมืองผิดตามมาตรา 66 วรรคสองแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 72 อีก 

ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเอามาตรา 66 และมาตรา 72 มาใช้ประกอบกัน โดยพิจารณาองค์ประกอบเรื่องประโยชน์อื่นใดที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือ “มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามมาตรา 72 แล้วโยงไปให้หมายความถึงวิธีการที่พรรคการเมืองได้รับมานั้นไม่ชอบตามมาตรา 66 จึงเป็นการตีความที่ผิดอย่างชัดแจ้ง

พูดง่ายๆ ก็คือ หากธนาธรบริจาคเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคอนาคตใหม่มากกว่า 10 ล้าน ขัดต่อมาตรา 66 ธนาธรก็ต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 124 ส่วนกรรมการบริหารพรรคคนอื่นต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 125 ซึ่งล้วนเป็นคดีอาญา ดำเนินคดีต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ เพราะความผิดฐาน “ให้ประโยชน์เกิน 10 ล้านบาท” ตามมาตรา 66 ไม่มีโทษให้ยุบพรรคการเมืองดังที่กล่าวไปแล้ว 

ป้ายผ้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่


มาตรา ๖๒  พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง

(๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ

(๓) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง

(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

(๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน

(๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

การได้มาซึ่งรายได้ตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ  ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (๓) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (๔) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้

มาตรา ๖๖  บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว

พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

มาตรา ๗๒  ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๙๒  เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๓) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔

(๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

มาตรา ๑๒๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย

มาตรา ๑๒๕  พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๖ ตกเป็นของกองทุน

มาตรา ๑๒๖  ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net