ภาวะความจนซ้ำซ้อน และการแก้ปัญหาความจนของรัฐไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเกษตรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จากการสำรวจและพูดคุยกับชาวบ้านที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจนที่ตกเกณฑ์ในฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)หรือข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่างๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่กำหนดไว้ว่าคนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไร ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น สุขภาพ สภาพแวดล้อม การศึกษา การมีงานทำและรายได้ และค่านิยม (กรมพัฒนาชุมชน, 2562) โดยข้อมูลที่ได้มาจาก จปฐ. ได้นำไปสู่การเชื่อมโยงกับการกำหนดครัวเรือนเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งรัฐบาลและภาครัฐไทยได้ทำการกำหนดแนวทางพัฒนาระบบ big data หรือ TPMAP (ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) ในประเด็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มโอกาสด้านอาชีพ (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, 2562) เพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเชิงลึกมากขึ้น 

ทั้งนี้ การชี้เป้าและกำหนดแนวทางนโยบายของรัฐดังกล่าว ในแง่บวก คือ มีการรวมฐานข้อมูลของกลุ่มคนที่มีความยากจนและเปราะบางในทางสังคมมากขึ้น และนำไปสู่การเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้โดยหน่วยงานภาครัฐที่หลากหลาย แม้กระทั่ง หน่วยงานของผู้เขียนเองที่เป็นสถาบันทางการศึกษาในท้องถิ่นก็ได้ถูกวางเป้าหมายสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นและแก้ปัญหาความยากจนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็น คือ “ภาวะความจนซ้ำซ้อน” ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยปลายเหตุของการเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐราชการเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิต หากแต่ต้องเข้าใจภาวะความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและสังคมของชนบทท้องถิ่นไทย ควบคู่กับการทำความเข้าใจปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างและวิธีการมองของรัฐที่สร้างคนจนในสภาวะความจนซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกทีหนึ่ง เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกลุ่มเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่แค่เพียงการต้องซ่อมแซมบ้าน บริจาคถุงยังชีพ มอบไก่ หมู ปลา ควายและวัว เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพทำกิน เพราะจะได้ไม่จน และทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นทันตาเห็น วัดได้ตามตัวชี้วัดของรัฐราชการเท่านั้น

แต่ทว่า ภาวะความจนซ้ำซ้อนนั้น ต้องคำนึงถึงมิติของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นในประเทศไทยที่มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของชนบทไทยที่ก้าวสู่ระบบตลาดทุนนิยมเต็มตัว ในขณะที่ คนในชนบทมีวิถีชีวิตและการบริโภคที่ไม่แตกต่างไปจากคนในเมืองมาหลายทศวรรษแล้ว เช่น การต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการผ่อนรถเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ค่าเรียนพิเศษของลูกหลานในโรงเรียน ค่าซื้ออาหารกินจากตลาด ร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต และค่าลงทุนในการผลิต จากการที่พื้นฐานของการผลิตเปลี่ยนแปลงจากการผลิตเพื่อยังชีพสู่การผลิตเชิงทุนนิยม การผันตัวไปเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตรของชาวนาหลายๆ คน ในภาคการผลิตและครัวเรือน การเป็นแรงงานติดที่ดินตนเองจากการผลิตเพื่อป้อนสู่โรงงาน และความต้องการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยของเกษตรกรหลายคน ทั้งหมดที่ต้องเข้าใจ คือ ไม่ใช่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ขยัน ไม่มีความรู้และไม่พอเพียง หากแต่ขาดโอกาสและความเข้าใจจากรัฐที่ต้องมองว่าเค้าไม่ใช่คนจน ในทางกลับกัน รัฐต่างหากที่บกพร่องในการดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตพื้นฐานต่างๆ ที่พึงมีในฐานะประชาชนของรัฐ โดยที่ไม่ต้องถูกจัดให้เป็นคนจน คนตกเกณฑ์ และต้องขอรับความช่วยเหลือ เช่น การมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง การสามารถเข้าถึงแหล่งทุนทางการเงิน ทรัพยากร เทคโนโลยีและการศึกษาที่เท่าเทียม และการลงทุนในภาคการผลิตต่างๆ ที่รัฐควรเข้ามาควบคุมกำกับราคาต้นทุนการผลิต และดูแลกลไกการตลาดของสินค้าให้มีความเป็นธรรมกับผู้ผลิต อย่างเช่น การปลูกผัก ราคาผักขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดที่ขึ้นๆ ลงๆ และมีราคาขายไม่สูงนักในตลาดท้องถิ่น เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่มีอยู่สูงเท่าเดิม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าแรง เช่นเดียวกับการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และไก่ไข่ ที่รัฐพยายามส่งเสริม แต่ไม่สามารถลดต้นทุนทางการผลิตได้ เช่น หัวอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาสูง และยารักษาโรคสัตว์ต่างๆ และการไม่สามารถควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งผลผลิตที่ส่งขายได้ เช่น สภาพภูมิอากาศและเชื้อโรค เป็นต้น  และการส่งเสริมให้คนมีอาชีพการผลิตแบบเดียวกัน แต่ไม่มีตลาดรองรับการซื้อขาย ก็ยังทำให้พวกเขายังคงกลายเป็นคนจนเช่นเดิม เพราะไม่มีตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทางเศรษฐกิจ 

เพราะฉะนั้น ต่อให้คนกลุ่มนี้มีอาชีพ แต่หากรัฐไม่สามารถเข้ามาดูแลกลไกการตลาด รวมทั้งการส่งเสริมให้คนมีความรู้และสร้างตลาดที่เป็นธรรมในการผลิตและลงทุนได้ คนเหล่านี้ก็ยังคงต้องจนอยู่ด้วยสภาวะตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก และการต้องมีต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการที่รัฐต้องการให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงวัวและไก่ไข่ แต่ไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายหรือทุนทางการผลิตให้ ตลอดจนการสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและเทคโนโลยีทางการผลิตในชุมชนอันเป็นหน้าที่ของรัฐที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานล่างและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ชาวบ้านบางคนได้พันธุ์ไก่ไข่มา ก็เอาไก่ไข่ไปขาย ได้วัวมา ก็เอาวัวไปขาย ไม่ใช่เพราะโง่ด้อยความรู้แบบที่รัฐหรือคนในเมืองมอง แต่รับต้นทุนการผลิตที่เป็นรายจ่ายของครัวเรือนใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ประกอบกับการวัดความยากจนที่รายได้ทางเศรษฐกิจอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์การมีชีวิตที่ดีตามมุมมองของคนที่หลากหลายได้ เช่น การไม่ได้มองว่าตนเองจนแบบที่รัฐมอง เพราะไม่อดอยาก มีความสุขตามอัตภาพดี และได้รับบัตรสวัสดิการของรัฐในการซื้อของใช้ที่จำเป็น มีสวัสดิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐบ้าง แม้จะไม่มากแต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ใช้อย่างประหยัดอดออมและอดทนในสภาวะที่พวกเค้ากลายเป็นคนจนและถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ในขณะที่ คนกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่อยู่แบบครอบครัวแปลกแยกมากขึ้น เพราะลูกของพวกเค้าต้องไปทำงานในเมืองหรือในต่างจังหวัด และมีครอบครัวเป็นของตนเอง นานๆ จะติดต่อกันหรือพบกันที ส่วนบางคนมีภาระเลี้ยงดูหลาน เพราะค่าใช้จ่ายครองชีพและการเรียนอยู่ในต่างจังหวัดบางแห่งยังไม่สูงเท่ากับในเมือง เป็นต้น   

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงต้องทำความเข้าใจภาวะความจนซ้ำซ้อน ที่รัฐไทยเองก็มีส่วนในการสร้างความจนให้แก่ประชาชน แต่ต้องการแก้ปลายเหตุให้พวกเค้าไม่เป็นคนจนโดยการมีอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือเยียวยาตามอัตภาพของฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ที่รัฐมองว่าเหมาะสมมากกว่า การให้พวกเค้าเป็นคน “ไม่จน” และเท่าเทียมในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่พวกเค้าควรได้รับและมีในฐานะพลเมืองและประชาชนของรัฐไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท