Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย พบติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย ติดเชื้อรวม 37 ราย กลับบ้านได้ 22 ราย รักษาที่โรงพยาบาล 15 ราย เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายใน พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรง กระทรวงอุดมศึกษาฯ  ยกระดับมาตรการรับมือไวรัส ให้เลี่ยงที่ชุมนุมนักศึกษาหรือบุคลากรกระทรวงจำนวนมาก

ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

25 ก.พ. 2563 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 37 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล 15 ราย และกลับบ้านได้ 22 ราย โดยในวันนี้พบผู้ป่วยใหม่อีก 2 ราย เป็นชาวไทย 1 รายจากการซักประวัติพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวเดินทางกลับจากเมืองกวางโจว ประเทศจีน และอีก 1 รายเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน

การพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการปรับนิยามการเฝ้าระวังคัดกรองตั้งแต่ 18 ก.พ. 2563 โดยขยายพื้นที่ครอบคลุมประเทศเสี่ยงใหม่ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) และ 8 จังหวัดของไทย คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย สมุทรปราการ กระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ประเทศไทยได้มีการคัดกรองผู้เดินทางจากทุกด่าน ทั้ง ด่านท่าอากาศยาน ด่านท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก และ จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 3,141,879 คน (24 กุมภาพันธ์ 2563) รวมถึงการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลและชุมชน พบผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง 1,580 คน กักตัวไว้ที่โรงพยาบาล 420 คน กลับบ้านได้ 1,160 คน

อนึ่ง เมื่อ 24 ก.พ. มติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการดูแลประชาชน มีกฎหมายรองรับ ทำให้โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรสามารถบังคับรับรักษา ปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัว ลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

วันนี้ (25 ก.พ.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกประกาศเรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2) ยกระดับมาตรการและการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงฯ ให้สอดรับมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1. ให้บุคลากรในสังกัดกระทรวง อาจารย์และนักศึกษา หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศและเขตบริหารพิเศษ ที่มีความเสี่ยงหรือมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ

2. บุคลากรในสังกัดกระทรวง อาจารย์และนักศึกษาที่เดินทางกลับมายังประเทศและเขตบริหารพิเศษที่มีความเสี่ยง หรือมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อ 1 ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองโรค และกรณีที่พบว่ามีไข้หรือมีอาการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ และให้หยุดงาน/เรียนเป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ที่ไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้สังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน การประชุมและการสัมมนาใดๆ เป็นเวลา 14 วัน หลังจากกลับถึงประเทศไทย หรือใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์และการประชุมออนไลน์แทน

3. บุคลากรในสังกัดกระทรวง อาจารย์และนักศึกษาที่มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ และพบว่ามีความเสี่ยงโดยการใกล้ชิด หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ จากประเทศที่มีความเสี่ยต่อการเกิดโรคหรือกับบุคคลที่มีความเสี่ยง ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ไม่ควรรักษาตัวเองเพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อได้ต่อไป

4. ให้บุคลากรในสังกัดกระทรวง อาจารย์และนักศึกษา ดูแลสุขภาพส่วนบุคลด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ผู้ที่มีอาการไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

5. เพิ่มการดูลสุขอนามัยด้านสถานที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง และสถาบันอุดมศึกษา อาทิ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นทางเดินเข้าออกอาคาร ลิฟต์ ห้องน้ำ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ตรวจเช็ดทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ที่จับหรือลูกบิดประ๖ู/อาคาร จัดให้มีบริการเจลล้างมือโดยเฉพาะจุดที่มีการเข้า-ออกอาคาร หน้าลิฟต์ ห้องประชุม และศูนย์อาหาร เพิ่มความถี่ในการดูแลระบบเครื่องปรับอากาศเป็นกรณีพิเศษ ปิดประกาศประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้กี่ยวกับการแพร่ระบาดและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น

6. ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง และสถาบันอุดมศึกษา หลีกเลี่ยงกิจกรรมการเรียนการสอน การประชุม การสัมมนาใดๆ ที่มีการเชิญบุคลากรจากประเทศและเขตบริหารพิเศษที่มีความเสี่ยงหรือมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าร่วมออกไปก่อน รวมทั้งให้ใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์และการประชุมออนไลน์แทน

7. ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมนักศึกษา หรือบุคลากรในสังกัดกระทรวงเป็นจำนวนมาก

8. กระทรวงจะติดต่อขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองโรคและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงรายงานข้อมูลหรือเหตุการณ์ผิดปกติโดยด่วน เพื่อร่วมกันควบคุมสถานการณ์นี้ โดยขอให้จัดส่งข้อมูลได้ที่กลุ่มกิจการพิเศษ สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา โทร 02-0395562-3 หรือกลุ่มงานอำนวยการ สำนักอำนวยการ โทร 02-3545568 หรือโทร 085-4887051 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ที่มา: สำนักข่าวไทย มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net