ชาวโคราชร้องผู้ว่าฯ ค้านเวทีปรึกษาเบื้องต้นเหมืองแร่โปแตช หวั่นกระบวนการมิชอบด้วยกฎหมาย

 

25 ก.พ.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 15.40 น. ตัวแทนกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชหลายอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อคัดค้านการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทําเหมืองแร่โปแตช เนื่องจากกังวลว่าอาจมีกระบวนการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

โดยมี ณรงชนนฐ์ ดีปู่ เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับหนังสือจากชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่โปแตช พร้อมทั้งกล่าวว่า วันนี้ผู้ว่าฯติดประชุม แต่จะนำเรียนผู้ว่าฯให้ภายในวันนี้

สำหรับหนังสือที่ยื่นคัดค้านการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทําเหมืองแร่โปแตช นั้น มีเนื้อหาดังนี้ 

สืบเนื่องจากวันที่ 22 มกราคม 2563 อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาโดยคณะกรรมการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท อินเตอร์ เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จํากัด ได้ส่งหนังสือเชิญให้ผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ประสงค์ขอประทานบัตรแปลงที่ 1 และ 2 ท้องที่ตําบลเมืองปราสาท และตําบลลําคอหงษ์  และพื้นที่ประสงค์ขอประทานบัตรแปลงที่ 3 และ 4 ท้องที่ตําบลจันอัด อําเภอโนนสูง ตําบลด่านจาก อําเภอโนนไทย ตําบลหนองไข่น้ํา ตําบลโคกสูง อําเภอเมือง  เข้าร่วมเวทีประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทําเหมืองแร่ใต้ดิน  ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 น.  ณ โรงแรมดิอิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช  อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งได้จัดประชุมในวันและเวลาเดียวกันนั้น

ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่โปแตชพบว่ามีข้อพิรุธและไม่ชอบมาพากลหลายจุดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและอาจเข้าข่ายขัดต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560  และไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียของผู้ประสงค์จะขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน พ.ศ. 2561

โดยชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านได้ตั้งคำถามกับการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้ว่าทำไมจึงมีการนัดประชุมผู้มีส่วนได้เสียจาก 2 โครงการ มาจัดประชุมร่วมในวันเวลาและสถานที่เดียวกัน  ซึ่งตามกระบวนการแล้วพื้นที่ประสงค์ขอประทานบัตรแปลงที่ 1 และ 2 มีระยะห่างจากพื้นที่ประสงค์ขอประทานบัตรแปลงที่ 3 และ 4 กว่า 5 กิโลเมตร  ซึ่งเป็นคนละโครงการและเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียคนละกลุ่มกัน  ต้องมีการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียแยกออกจากกันเป็นสองเวทีด้วย  โดยไม่ควรนำมารวมกันเพื่อให้เกิดความลักลั่นในการแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในทั้ง 2 โครงการ  ซึ่งการพยายามจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯแบบรวบทีเดียวในครั้งเดียวนั้นอาจส่อเจตนาของผู้จัดการประชุมว่าต้องการนําเสียงผู้สนับสนุนซึ่งอยู่คนละโครงการมากลบเสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยอีกโครงหารหนึ่ง  จนนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าฯให้แยกการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ที่ประสงค์จะขอประทานบัตรโครงการทำเหมืองใต้ดินของบริษัทฯระหว่างแปลงที่ 1 และ 2 ออกจากแปลงที่ 3 และ 4

แต่ทว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นที่ร้องเรียนกลับกำหนดไว้หลังวันจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้  ซึ่งเป็นการจงใจให้การจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯผ่านไปได้  เพื่อจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของการขอประทานบัตร  โดยไม่สนใจว่าเป็นการขอประทานบัตรโดยมิชอบ  เพราะว่าการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯในวันดังกล่าวเป็นการรวมสองโครงการเข้าด้วยกัน  ซึ่งตามข้อกฎหมายแล้วต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด

ไม่เพียงเท่านั้นพฤติกรรมของผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯกำลังทำให้การจัดประชุมซึ่งมีเจตนารมณ์โดยกว้างขวางต่อการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งมีความเห็นอันหลากหลาย  ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือค้านการดำเนินการขอประทานบัตรได้แสดงความเห็นโดยอิสระ  เปลี่ยนไปเป็นการประชุมเพื่อผลักดันหรือสนับสนุนโครงการโดยทางเดียว  โดยกำหนดรูปแบบ วิธีการและกระบวนการประชุมเพื่อทำให้ ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ กลายเป็น ‘ผู้สนับสนุนเหมือง’  ทั้ง ๆ ที่นิยามความหมายของผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้มีความหมายเท่ากับผู้สนับสนุนเหมืองแต่อย่างใด  ซึ่งไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯ  โดยเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทำเหมืองมากจนเกินงาม

นอกจากนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นประธานกรรมการจัดการประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯ  และยังเป็นประธานคณะกรรมการแร่จังหวัด  มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาข้อร้องเรียนหรือผลกระทบจากการทำเหมืองและบริหารจัดการแร่ในจังหวัด  แต่กลับเพิกเฉยและถ่วงเวลาล่าช้าเพื่อให้การจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียแล้วเสร็จไปก่อน  โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือชะลอการจัดเวทีปรึกษาเบื้องต้นฯเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนออกมา  ซึ่งผู้ว่าฯในฐานะเป็นประธานกรรมการจัดการประชุมปรึกษาเบื้องต้นฯจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดต่อการกระทำความผิดโทษฐานที่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายอาญาแผ่นดิน

ทั้งนี้ในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการสำรวจและการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินยังพบว่า  มีการเจาะสำรวจแร่โปแตชในบางหลุมโดยไม่ได้แจ้งเจ้าของพื้นที่  และมีการแอบอ้างว่ามาดำเนินการตรวจความเค็มหรือมาเจาะหาน้ําบาดาล  และหลังจากเจาะสํารวจเสร็จแล้วได้มีการเทปูนซีเมนต์ใส่ลงไปในหลุมเจาะโดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันอื่น ๆ แต่อย่างใด  ทําให้หลายหลุมพบว่ามีคราบเกลือขึ้นมาบริเวณปากหลุมเป็นบริเวณกว้าง  และทําให้ไม่สามารถปลูกพืชในบริเวณนั้นได้อีก  และชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านยังหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะยาว  เช่น  ปัญหาดินเค็ม  ปัญหาจากกองเกลือ  ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ํา หรือแม้แต่ปัญหาดินถล่ม  รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่โปแตชและเกลือหินในพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท