Skip to main content
sharethis

จากปรากฎการณ์พยายามลบล้างวัตถุคณะราษฎรสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ คือโครงการใหญ่ของกลุ่มคนที่พยายามบงการอดีตและควบคุมอนาคต เลี่ยงไม่ได้ต้องพูดถึงปัจจัยสำคัญทางมิติทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลัทธิบูชากษัตริย์ล้นเกิน ที่ทำให้ประชาชนไร้น้ำยา

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ ‘ควบคุมอดีตในปัจจุบันเพื่อบงการอนาคต : ฝัน (ร้าย) อันสูงสุด’ โดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เป็นวิทยาการ และ วัชระ สินธุประมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ลบล้างอดีต 2475 ถึงยุบอนาคตใหม่ บงการอดีต คุมอนาคต

ธงชัยกล่าวว่า การทำลายอนุสาวรีย์ สิ่งปลูกสร้าง คำ ชื่อ หลายอย่างที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 คือปรากฎการณ์พยายามทำลายอดีตอย่างเป็นระบบ 

“โดยไม่ได้ตั้งใจ การลบล้างอดีตดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการบงการอนาคต หรือพูดกลับกัน เหตุการณ์วันศุกร์ที่ผ่านมาที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ใหญ่กว่านั้น เรากำลังพูดถึงโครงการใหญ่อันหนึ่งที่บงการอดีตและควบคุมอนาคต ซึ่งทำเป็นกระบวนการ กระบวนการในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนที่มีแนวทางอุดมการณ์ร่วมกัน” ธงชัยกล่าว

โดยคำถามที่ธงชัยให้นักศึกษาตอบก่อนจะมีการสัมมนานี้ มีสองข้อคือ หนึ่ง การลบล้างอดีตดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวัตถุประสงค์อะไร สอง คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่

 

ลบล้างอดีตเกิดได้อย่างไร

คำตอบข้อแรกของนักศึกษานั้นหลากหลาย ธงชัยยกตัวอย่างว่า นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบัน รัฐสามารถควบคุมข่าวสาร ควบคุมความรับรู้ ควบคุมสื่อสารมวลชน ทำให้การลื่นไหลของข่าวสารเป็นไปในทิศทางหนึ่ง ทิศทางอื่นถูกจำกัด 

ธงชัยชี้ว่า คำตอบดังกล่าวอาจจะถูก แต่ถูกโดยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง กลับกันเทคโนโลยีในปัจจุบันก็อาจเป็นปัจจัยที่รัฐคุมไม่ได้ก็ได้ ถ้าหากพูดถึงตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เทคโนโลยีโทรทัศน์ การพิมพ์ นั้นง่ายต่อการควบคุม เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว ลัทธิบูชากษัตริย์ก็มาจากเทคโนโลยีแบบนี้ และปัจจุบันทั้งโทรทัศน์และวิทยุยังคุมโดยรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ ของทหาร อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นของกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่โซเชียลมีเดียนั้นคุมไม่ได้ การที่บอกว่าเทคโนโลยีดีขึ้นจะควบคุมได้มากขึ้น ตรงนี้ไม่แน่ใจนัก 

ทั้งหมดนี้อยากจะโยนคำถามให้คนได้ตอบมากกว่าการตอบ นั้นเพราะภาระเร่งด่วนของความรู้ไม่ใช่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ที่ถูกต้องแต่ต้องให้ทุกคนคิดเป็น 

ธงชัยเล่าถึงคำตอบของนักศึกษาคนที่สองที่ตอบว่า เพราะระบบการศึกษา ทำให้ควบคุมอดีตได้ เป็นแหล่งผลิตซ้ำอดีตที่ผิดๆจนเขาเชื่อว่าเป็นความจริงแท้ ธงชัยตั้งคำถามว่า ถ้าระบบการศึกษาไม่ได้เรื่อง แล้วทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จในการทำให้คนเชื่ออดีตอย่างผิดๆไปตามๆกันได้  ดังนั้นจุดนี้เราต้องอธิบายความสำเร็จและล้มเหลวว่ามีเงื่อนไขใดบ้าง บางเรื่องการศึกษาอาจจะประสบความสำเร็จ บางเรื่องก็อาจจะล้มเหลว หรือคำตอบต่อมาของนักศึกษาคนที่สาม ตอบว่าเพราะวัฒนธรรมโครงสร้าง วัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทย 

 

การลบล้างอดีต 2475 จะสำเร็จหรือไม่

ธงชัยเล่าว่า คำตอบของนักศึกษา เช่น น่าจะยากเพราะปัจจุบันไม่สามารถควบคุมให้อดีตมีแบบเดียวอีกต่อไป เราสามารถร่วมมือกันเป็นนักประวัติศาสตร์จริงจัง สมัครเล่น ได้เยอะแยะไปหมด สร้างคำอธิบายอดีตได้ต่างๆ กัน ต่อให้พยายามลดทอนลงเพียงหนึ่งก็ไม่น่าสำเร็จ ใครก็สามารถเข้าถึงคำอธิบาย ผลิต แชร์ออกไป ไม่มีใครคุมได้ 

“ที่สำคัญเพราะพื้นฐานวิชาการประวัติศาสตร์นั้นอดีตมีหลายด้าน ไม่มีทางคิดถึงอดีตแล้วเห็นอยู่ด้านเดียว ยิ่งเหตุการณ์ทางการเมืองมีผู้ได้ ผู้เสียประโยชน์ หนีไม่พ้นที่จะมีคนมองจากมุมอื่น ทั้งโดยเจ้าตัวที่ประสบ หรือต่อให้ผ่านไปอีกกี่สิบปีคนรุ่นหลังก็สามารถรื้ออดีตที่มีหลายด้านได้ขึ้นมาใหม่ได้ คุมให้ตายก็ไม่อยู่” ธงชัยเสริม

ธงชัยชี้ว่า สมัยหนึ่งเราเคยกลัวว่าโลกาภิวัฒน์จะทำให้ทุกคนมีวัฒนธรรม หรือบริโภคเหมือนกันหมด แต่ตอนนี้ปัจเจกชนมีอิสระผลิตสินค้าหรือข่าวสารได้ โดยที่ไม่ถูกจำกัดและกำจัดโดยศูนย์กลางของข่าวสารเหล่านั้น ปรากฎการณ์ขายสินค้าออนไลน์ได้เป็นตัวอย่าง โลกไม่ได้ถูกควบคุมหมด  คนไม่ได้เหมือนกันหมด มันกลับกันเป็นภาวะพหุนิยม คนมีอัตลักษณ์ย่อยๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด แต่โลกาภิวัฒน์ก็ทำให้ภาษาอังกฤษกระจายไปทั่วโลก 

นักศึกษาอีกคนเติมว่าโดยเฉพาะโลกโซเชียล ผู้ผลิต ผู้เสพ มีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง 

ธงชัยเสริมว่า แต่ด้านเสียคือเฟคนิวส์กลาดเกลื่อน ตอนนี้ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป 

“สิ่งที่ประชาชนแต่ละประเทศต้องเร่งทำคือเรียนรู้วิธีการจัดการข้อมูลล้นเกินเหล่านั้น ตอนนี้เราพ้นภาวะจำกัดข่าวสารไปแล้ว สิ่งที่ระบบการศึกษาเร่งจัดการ จึงไม่ใช่การให้ข้อมูลถูกต้อง แต่ต้องเทรนด์นักเรียนให้ช่วยเหลือตัวเองได้ว่าจะจัดการกับข้อมูลล้นเกินเหล่านั้นได้อย่างไร ทำอย่างไรจะไม่ตกเป็นเหยื่อของสแกม (scam-การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต) ไม่ไปสแกมใคร รู้จักฟังหูไว้หู ระวังไม่ให้ความรู้บางอย่างมีอำนาจจนเกินไป ด้ายการพยายามอย่าไปเชื่อในความศักดิ์สิทธิทั้งหลาย การไตร่ตรองแม้ไม่ได้ทำให้การตัดสินใจถูกไปหมด แต่อย่างน้อยผิดแล้วความเสียหายไม่หนักหนา การมีข่าวสารมาก เข้าถึงได้มาก” ธงชัยกล่าว

นักศึกษาอีกคนตอบทิศทางเดียวกัน แต่สนใจปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere พื้นที่สาธารณะ ไปไกลเกินกว่าที่รัฐจะควบคุม การผลิตอดีตอยู่นอกเหนือที่รัฐควบคุมได้แล้ว 

ธงชัยกล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความสามารถผลิตอดีต ในระยะที่ผ่านมาพอมีการพยายามทำลายวัตถุคณะราษฎร ก็มีคนผลิตทั้งเสื้อยืด พวงกุญแจหมุดคณะราษฎร นาฬิกาคณะราษฎร มีการพูดถึง 2475 มากขึ้น มีส่วนที่จะทำให้คนรู้จัก 2475 มากขึ้น พลังอาจไม่เท่ากับการมีหมุดอยู่ แต่มีพลัง 

 

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลัทธิบูชากษัตริย์ล้นเกิน ประชาชนไร้น้ำยา

ถัดมาธงชัยได้วิจารณ์คำตอบของนักศึกษา รวมทั้งเสริมเรื่องของมิติทางประวัติศาสตร์ และปัจจัยสำคัญอันได้แก่ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลัทธิบูชากษัตริย์ล้นเกิน ดังต่อไปนี้

"เมื่อผมเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ อ่านคำตอบเหล่านี้ รู้สึกหงุดหงิดมาก คำตอบนี้ถูกหมดถ้าคำตอบนี้ไม่ได้มาจากนักเรียนประวัติศาสตร์ แต่คำตอบที่มีมิติทางประวัติศาสตร์หายไปหมด

“การเรียนประวัติศาสตร์เราไม่ได้ศึกษาอดีตแล้วจบ เราศึกษาการเปลี่ยนแปลง ต่างกันยังไง ศึกษาอดีตคือพระนเรศวรเกิดปีไหน จบ แต่ถ้าศึกษาความเปลี่ยนแปลงคือ พระนเรศวรเกิดเมื่อไหร่ ตายเมื่อไหร่ มีบริบทอะไรในช่วงนั้น ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงศึกษาการเปลี่ยนแปลงมีนัยอย่างไรที่ทำให้เกิดปัจจุบัน พูดง่ายๆ คือหาว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เป็นการอธิบายการเปลี่ยนแปลง ณ จุดเวลาหนึ่ง ไปถึงจุดเวลาหนึ่ง ดังนั้นอย่างน้อยขาหนึ่งต้องพูดถึงอดีต เช่น ระบบกฎหมายปัจจุบันมาถึงจุดที่เป็นปัญหามากขนาดนี้ได้อย่างไร เราจึงต้องกลับไปทำความเข้าใจอดีตด้วย

"ประวัติศาสตร์มีข้ออ่อนคือต้องใช้ศาสตร์อื่นๆ มาช่วยตอบปัญหา เช่น เป็นเพราะการควบคุมสื่อและการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร เป็นเพราะการศึกษา เป็นเพราะโครงสร้างอำนาจ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำคือขโมยศาสตร์อื่นมาแล้วใส่ลงในมิติความเปลี่ยนแปลง เช่น ต้องอธิบายถึงการควบคุมสื่อและการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือเราเอาปัจจัยต่างๆ ของคนอื่นมาใส่มิติความเปลี่ยนแปลงในแต่ละสังคม แต่ละบริบท 

“ในคำตอบทั้งหมดไม่มีใครสักคนอธิบายถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างไรที่เกี่ยวข้องกับการรื้ออดีต 2475 สังคมอื่นไม่ได้ผ่านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เขาจึงคุมอดีตในแบบอื่น ดังนั้นคำตอบต้องพูดโดยมีบริบท

“ไม่มีใครพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีใครพูดถึงลัทธิหลงใหลบูชากษัตริย์จนล้นเกินนับตั้งแต่ 1970 ปลายๆ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขากล้ารื้อขนาดนี้ ถ้าไม่อธิบายเรื่องพวกนี้คุณจะตอบไม่ได้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นระยะนี้ แต่ไม่เกิดขึ้นเมื่อ 30-40 ปีก่อนหน้านี้ มันเกิดขึ้นในยุคที่คนไม่กล้าพูด

“ปรากฎการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นรวมถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ การใช้กฎหมายอย่างไม่มีความละอายเป็นปรากฎการณ์ที่น่าคิด คนเราจะทำโดยปราศจากความละอายได้มันต้องมีเงื่อนไข อะไรคือเงื่อนไข เพราะเขาคิดว่าพวกเราฝ่ายต่อต้านไม่มีน้ำยา และพวกเขาอาจถูกด้วย ความไม่มีน้ำยานี้พวกคุณต้องอธิบายได้ ถึงจะอธิบายการลบล้าง 2475 อย่างเป็นระบบได้

“นี่เป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นของประชาชน แม้คุณจะแย้งว่าตอนนี้อดีตไม่ได้มีอย่างเดียว แต่ผมแย้งกลับว่าในภาวะที่ประชาชนไม่มีน้ำยาแบบนี้ คุณยังเชื่อว่าอดีตมีหลายด้านหรือ ถ้าคุณไม่เห็นด้วยอธิบายมาว่าในภาวะที่ประชาชนไม่มีน้ำยา อดีตมีหลายด้านได้อย่างไร ใส่ลงมาในบริบทของการเปลี่ยนแปลง

“สำหรับผม คุณต้องดูความสัมพันธ์ทางความคิดของคนเหล่านี้ที่เก็บความแค้นตั้งแต่สิ้นสุดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มรดกหลายอย่างที่เกี่ยวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้รับการรื้อฟื้นหลายอย่างไม่เคยหายจากสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้อำนาจของผู้นิยมกษัตริย์เพิ่มขึ้นเป็นล่ำเป็นสัน ลัทธิบูชากษัตริย์จนล้นเกิน ทั้งหมดตกผลึกเป็นรัฐประหารปี 14 (พ.ศ. 2557) ปัจจัยเหล่านั้นประมวลเข้าอยู่ภายใต้อำนาจของเขา ไม่รู้คือใคร อย่างเบ็ดเสร็จ และพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่าประชาชนไม่มีน้ำยา

“แต่ผมไม่เชื่อว่าการปฏิวัติบอลเชวิกเกิดขึ้นจากความสามารถเก่งกาจเป็นพิเศษเหนือมนุษย์ของเลนิน ซุนยัดเซ็นปฏิวัติซินไฮ่ปี 1911 จนสำเร็จไม่ใช่เพราะเก่งกาจ เขานำลุกฮือกว่า 6 ครั้ง ประชาชนตายเป็นเบือ จนที่สุดก็สำเร็จ คนที่ดูถูกว่าประชาชนไม่มีน้ำยาตลอดไป ผมว่าคือความผิดพลาด ของแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาได้ มันมีเงื่อนไขปัจจัยจำนวนมากที่ทำให้ประชาชนที่ไม่มีน้ำยากลายเป็นประชาชนที่มีพลังมหาศาลได้

“การควบคุมอดีตจะสำเร็จหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่คิดถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้องได้ อย่างเช่น ประวัติศาสตร์แบบที่เขาพยายามควบคุมมีหลักคิดแบบลัทธิราชาชาตินิยม โดยเฉพาะเชิดชูกษัตริย์ในรัชสมัยที่เพิ่งผ่านไป จนแทบเป็นศาสนาใหม่ สิ่งนี้จะดำรงอยู่ถาวรตลอดไปหรือไม่ 

“คนมักบอกผมว่า คนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกขนาดนั้น ผมไม่รู้ คนรุ่นใหม่เติบโตมาโดยไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมต่อสิ่งที่เขาพยายามเชิดชูหรือไม่ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อลัทธิราชาชาตินิยมมากขึ้นหรือไม่ อันนี้ผมขอติดไว้ก่อน

“การคุมอำนาจแบบ คสช. จะอยู่ต่อไปได้อีกสักเท่าไหร่ ภาวะที่คนกลัวและไม่มีน้ำยาจะถาวรหรือ ถ้าไม่ มีความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ลองคิดดู ถึงวันนั้นมันจะส่งผลกระทบต่อการไล่รื้อ 2475 อาจจะตีกลับทำให้คนยิ่งอยากจะทำความเข้าใจ 2475 ถ้าเมื่อไหร่ภาวะประชาชนไม่มีน้ำยาจบสิ้นลง ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะจบสิ้น ถึงตอนนั้นอาจจะเหวี่ยงกลับไปเชิดชู 2475 จนเวอร์ มันอาจจะยิ่งเหวี่ยงกลับแรงกว่าปกติ

“ประเด็นสุดท้าย ความสำเร็จและล้มเหลว ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดว่าความฝันของเขาคืออะไร ในสภาพการณ์ที่กระแสนิยมเจ้าเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เขามีจุดมุ่งหมายขนาดไหน เช่น ต้องการกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่ หรือต้องการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่น่าใช่ แล้วอะไรที่อยู่ตรงกลาง กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือ แต่แน่ใจหรือว่าความปรารถนาของเขาอยู่ตรงกลางระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย ก็อาจจะไม่ใช่ แต่เพราะเรานึกไม่ออกว่าเราจะอธิบายระบอบผสมที่เขาปรารถนาอย่างไรดี

“ดูทางกฎหมายผมคิดว่าเห็นนัยบางอย่าง แต่ต้องตระหนักว่าเราไม่สามารถตอบได้จากนัยทางประวัติศาสตร์กฎหมายได้อย่างเดียว พวกเราต้องช่วยกันคิด สังเกต โต้แย้ง ถกเถียง นี่ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคิดคนเดียวได้

“ฝันที่พยายามจะลบอดีต 2475 มันเป็นฝันดีหรือฝันร้ายของคุณ” ธงชัยตั้งคำถาม 

 

วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ไทย

ธงชัยชี้ว่าอีกคำที่ควรหยิบยกมาพูดคือ ‘วัฒนธรรมประวัติศาสตร์’ 

“ปัจจุบันผมยังไม่เคยเจอหนังหรือนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่ผมชอบแม้แต่เรื่องเดียว เพราะประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิเกินไปสำหรับประเทศไทย คนไทยไม่กล้าเล่น เล่นไม่ได้หมายถึงปู้ยี่ปู้ยำจนไม่เคารพประวัติศาสตร์ แต่งานเหล่านี้ต้องศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง แล้วคุณจะเห็นจุดหลายจุดที่นักประวัติศาสตร์ไปไม่ถึง เพราะถูกจำกัดด้วยหลักฐาน ถ้าคุณจินตนาการเลยออกจากตรงนั้นไปในแง่ที่ช่วยให้เราคิดและเข้าใจประวัติศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น ทำสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำไม่ได้

“แต่ขณะนี้คนเขียนคนสร้างนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่นผิดทาง เพราะเขารู้ว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน เขาจึงไม่เล่นกับตรงนั้น เขาไปเล่นเรื่องรักโรแมนซ์ซึ่งคุณเปลี่ยนฉากไปอยู่สมัยโรมันก็ยังทำได้

“การสอนประวัติศาสตร์เพื่อให้ตั้งคำถาม ประวัติศาสตร์แบบนั้นไม่รับใช้ชาติ ประวัติศาสตร์แบบนั้นมีอำนาจยาก ประวัติศาสตร์แบบนั้นเอาไปใข้ประโยชน์ได้จำกัด ประวัติศาสตร์แบบนั้นมีไว้เพื่อสร้างเซลล์สมอง ภารกิจใหญ่มากของประวัติศาสตร์และมนุษยศาสตร์อีกหลายสาขาคือการสร้างเซลล์สมอง ผมคิดว่าอันนี้ยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างชาติ ประวัติศาสตร์กระจอกเท่านั้นที่คนใช้มันเพื่อสร้างชาติ ถ้าคุณสร้างหนังแบบนั้น ยิ่งกว่าเสียเงินคือมันทำลายเซลล์สมอง มันคือการละเมิดภารกิจของวิชาประวัติศาสตร์

“เรามาช่วยกันคิดว่าวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของไทยมีลักษณะเฉพาะอย่างไร เช่น ศักดิ์สิทธิ์เกินไป มีความสัมพันธ์กับความจริงอย่างไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร แล้วเราจะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าทำไมการลบล้าง 2475 จึงมาถึงจุดนี้ได้ และอาจจะพอตอบได้ว่าเขาจะสำเร็จหรือไม่ภายใต้วัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบไทยๆ” ธงชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net