"ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" นิทรรศการแด่ผู้ลี้ภัยไร้ตัวตน

คุยกับ จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปินจากนิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" เมื่อผู้ลี้ภัยไร้ตัวตนทั้งทางกฎหมายและการรับรู้ของผู้คนด้วยอคติที่ปิดกั้น

 


จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์

 

“เราจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยถ้าเรามองไม่เห็น อย่างน้อยเมื่อเรามองเห็น เรารู้ว่าเราคิดไม่เหมือนกัน มันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจและการพูดคุยว่าจะทำยังไงต่อ”

คือคำกล่าวของจิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปินจากนิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" ซึ่งเป็นนิทรรศการว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยในบริเวณเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผ่านการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และวัตถุเสมือน (AR) 

ปัจจุบันจำนวนผู้ลี้ภัยในเขตเมืองของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 6,500 คน แม้เมืองไทยอาจไม่ใช่ปลายทาง และพวกเขายังรออย่างมีความหวังถึงการไปประเทศที่สาม แต่ปัญหาตอนนี้คือการไม่ได้รับสถานะทางกฎหมาย อันเนื่องจากที่รัฐบาลไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการจะดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุม บางคนถูกขังลืมเพราะไม่มีเงินประกันตัว หรือกระทั่งได้รับอคติจากคนบางกลุ่มว่าพวกเขาเข้ามาแย่งทรัพยากร หรือเป็นคนไม่ดีจึงต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง

จิรวัฒน์เล่าถึงชีวิตของพวกผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่า ไม่สามารถหางานทำอย่างถูกกฎหมายได้ จึงทำให้ไม่มีเงิน การไม่มีเงินก็หมายความว่าเขาต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด สลัมหรือแฟลตเล็กๆ เด็กที่อยู่ตรงนั้นก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาไม่มาก แม้มีสถานศึกษาอยู่บ้างที่ยอมเปิดรับตามแต่ละกรณี นอกจากนี้ยังไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี

“พูดง่ายๆคือแทบไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ไม่มีตัวตน การมีตัวตนมันคือการที่เราถูกรับรู้ในทางกฎหมายด้วย นั้นคือการมีบัตรประชาชน มีสูติบัตร แต่ผู้ลี้ภัยไม่มี แม้เขาจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยได้รับการรับรองจากยูเอ็น มีบัตรยูเอ็น แต่บัตรนี้ไม่สามารถใช้ได้ในประเทศนี้ เพราะเราไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาฯ” จิรวัฒน์กล่าว

เราได้คุยกับจิรวัฒน์ถึงเบื้องหลังและความคาดหวังของการทำงานกับประเด็นดังกล่าว 

 


นิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" จากเพจ Amnesty International Thailand

 

มองผ่านอคติ

จิรวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้คนเห็นจากนิทรรศการนี้คือการพยายามมองผ่านอคติที่ปิดกั้น

“ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ต้องลี้ภัยไปที่อื่น หรือคนประเทศอื่นที่ต้องลี้ภัยมาไทย เขาคือมนุษย์เหมือนเรา บ้านเรามีอคติที่แข็งแรงมากๆ ต่อผู้ลี้ภัย เวลาเราพูดคำว่า ผู้ลี้ภัย สิ่งที่เป็นภาพจำของผู้ลี้ภัยคือคนที่ต้องทำความผิดอะไรสักอย่าง คนที่เป็นภัยต่อความมั่นคง คนที่แปลกปลอม มาแย่งทรัพยากรของเรา ภาพจำแบบนี้ทำให้เราลืมมองไปว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา”

เขาอธิบายว่า ชื่องาน “ฉันไม่ได้รับอนุญาต” มีความหมายสองแบบ แบบแรกคือไม่ได้รับอนุญาตในทางกฎหมาย แบบสองคือเรื่องอคติ เขาไม่ได้รับอนุญาตด้วยอคติที่เรามองว่าเขาไม่สมควรได้รับแบบเดียวกับเรา 

“ปัญหาอคตินี้มันคือเรื่องความเชื่อ และความเชื่อมันสู้ด้วยเหตุและผลไม่ได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อเขาได้ในทันที ที่เราทำประเด็นผู้ลี้ภัยในเมืองเป็นหลักคือ ข้อแรกมันพูดได้ มันพูดได้เสียงดังหน่อย และน่าจะเป็นการให้คนหันกลับมาทบทวนคำว่าผู้ลี้ภัยใหม่ และได้ถกเถียงกันว่าเราจะมองคำนี้ยังไง ซึ่งสุดท้ายมันอาจทำให้ผู้ลี้ภัยมีอยู่จริงในเชิงกฎหมาย” จิรวัฒน์กล่าว

จิรวัฒน์เล่าว่า ผู้ลี้ภัยที่เขาทำงานด้วยแม้จะได้รับความลำบากแต่ก็ยังมองเห็นเพื่อนมนุษย์คนอื่น เช่น เคสหนึ่งเป็นเด็กที่อยากกลับไปเป็นนักการเมืองในประเทศตัวเองที่เป็นคอมมิวนิสต์แล้วอยากจะต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศ หรือเคสของ ‘ลุงบ็อกเซอร์’ ที่ทำอาหารไปเยี่ยมภรรยาในที่คุมขังและทำไปเผื่อคนอื่นๆด้วย ซึ่งจิรวัฒน์มองว่า แม้ขณะที่พวกเขาอยู่ในสถานภาพที่อ่อนแอและสั่นคลอนขนาดนั้นแต่พวกเขาก็ไม่ได้เห็นแค่ตัวเอง 

 

ลี้ภัยด้วยเหตุผลหลากหลาย วันหนึ่งเราอาจกลายเป็นหนึ่งในนั้น

จิรวัฒน์ชี้ว่า ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตของเรา การลี้ภัยไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนก็ก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาล 

“บรรพบุรุษของผมเองก็ลี้ภัยมาจากเมืองจีน ดังนั้นจริงๆ แล้วเราควรคุ้นชินกับคำว่าผู้ลี้ภัยเพราะเราผูกโยงกับมันมาตลอด แต่ประวัติศาสตร์บ้านเรา ภาครัฐมีความพยายามที่จะสร้างรัฐชาติอยู่ตลอดเวลาเป็นระลอก มันเจ๋งจนกระทั่งสุดท้ายเราลืมไปหมดเลยว่าเรามาจากไหน คำว่าผู้ลี้ภัย ผู้อพยพมันพร่าเลือนมากๆ” 

เขาเล่าว่าตอนทำแรกๆ รู้สึกหดหู่มาก เพราะเรื่องบางเรื่องไม่ควรเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ 

“เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า คนที่เป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่ว่าเขาไม่พยายามที่จะอยู่ในประเทศตัวเอง เขาพยายามแล้วแต่มันอยู่ไม่ได้จริงๆ เวลาเราฟังเหตุผล สาเหตุที่เกิดขึ้นกับเขา เรารู้สึกว่ามันแค่นี้เองเหรอที่ทำให้เขาต้องลี้ภัย มันง่ายดายมากเลยที่เราจะกลายเป็นผู้ลี้ภัย อย่างเคสหนึ่งนับถือศาสนาแตกต่างจากรัฐทำให้เขาต้องลี้ภัย คุณอาจจะบอกว่าก็ทำไมไม่เชื่อๆตามรัฐไปล่ะ อยู่เป็นไปสิ แต่เราไม่เคยคิดถึงว่าความเชื่อบางอย่างมันคือแก่นของการมีอยู่ของคนคนหนึ่ง” 

จิรวัฒน์ตั้งคำถามว่า หากวันหนึ่งขั้วการเมืองเปลี่ยน ก็จะไม่มีอะไรการันตีว่าผู้มีอำนาจจะไม่ใช้วิธีการเดียวกันกับปัจจุบันนี้ 

“วันหนึ่งคุณก็อาจเป็นคนที่อยู่ไม่ได้ในประเทศนี้ แล้วคุณยอมรับมันได้ไหม ปัญหามันอยู่ที่กระบวนการจัดการกับความคิดเห็นต่างของรัฐ ถ้าเรายอมรับได้ว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่สมควรแล้วที่จะออกจากประเทศ วันหนึ่งถ้าเปลี่ยนมาเป็นคุณคุณจะยอมรับมันได้ไหม” 

 


นิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" จากเพจ Amnesty International Thailand

 

การพัฒนาเกิดขึ้นจากความแตกต่างหลากหลาย

จิรวัฒน์มองว่า เขาไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนเขาได้ เพราะวิธีการเดียวที่จะทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้คือการใช้อำนาจ แต่สิ่งที่เขาอยากทำคือเปิดประเด็นเพื่อนำไปสู่การถกเถียง

“อย่างน้อยเมื่อเรามองเห็น เรารู้ว่าเราคิดไม่เหมือนกัน มันนำไปสู่การทำความเข้าใจและการพูดคุยว่าจะทำยังไงต่อ ไม่เฉพาะประเด็นผู้ลี้ภัย ผู้ให้บริการทางเพศที่พัทยา พันทิป มาบุญครอง รัฐเข้าไปตรวจสอบแล้วก็บอกว่าไม่มี ทำไมรัฐมักพยายามทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่มีอยู่ เพราะถ้ามันไม่มี มันก็ไม่มีปัญหา การมองเห็นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา” จิรวัฒน์กล่าว

เป้าหมายของจิรวัฒน์คืออยากให้ทุกคนเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของกันและกัน 

“สิทธิความเป็นคนมันมีคุณค่าตรงที่มันสามารถปกป้องความแตกต่างของทุกคนได้ เราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การพัฒนาเกิดขึ้นมาได้จากความหลากหลาย มันไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างเชิงเดี่ยว ถ้าเราหวังจะเห็นการพัฒนาบางอย่าง หรืออยากอยู่รอดต่อไปในอนาคต เราต้องดีลกับความหลากหลายพวกนี้ ไม่ใช่การควบรวมให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องยอมรับว่าเราไม่เหมือนกันได้” จิรวัฒน์ระบุ

 


นิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" จากเพจ Amnesty International Thailand

 

โลกความจริงในอีกมิติ ผู้ลี้ภัยที่ไร้ตัวตน

จิรวัฒน์อธิบายความพยายามในการทำงานกับเทคโนโลยี VR หรือก็คือการสร้างโลกเสมือนว่า เป็นนำผู้ชมไปสู่อีกโลกหนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วงาน VR  คือการเปลี่ยนพื้นที่ เช่น เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เข้าไปเห็นพื้นที่อื่นๆ แต่งานของเขามุ่งเน้นเรื่องของผู้ลี้ภัยในเมืองซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับเรา ต่างกันที่ห้วงมิติที่เราไม่อาจมองเห็น 

“สมมติถ้าเราเปรียบเทียบว่ามันมีโลกความเป็นจริงคือโลกก่อนที่เขาจะใส่แว่น และโลกคู่ขนานเมื่อเขาใส่แว่น ผมไม่ได้ทำโลกที่เขาใส่แว่นไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เขายังอยู่ในโลกเดิม แต่เป็นอีกห้วงมิติหนึ่ง เวลาเปลี่ยน แต่พื้นที่ไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกันกับที่ผู้ลี้ภัยเขาก็ใช้ชีวิตคู่ขนานไปกับเรา อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพียงแต่เราไม่เห็นเขา การทำ VR จึงเหมือนการที่เรามองเขาในอีกมิติหนึ่งในพื้นที่เดิม” จิรวัฒน์กล่าว

ขณะที่ภาพมือที่แสตมป์ลงบนพื้น จิรวัฒน์อธิบายว่ามีสองความหมาย หนึ่งคือในเชิงโบราณคดี ภาพมือแบบนี้ในผนังถ้ำมีความหมายว่า “ฉันอยู่ที่นี่” มันคือสิ่งตกค้างจากประวัติศาสตร์ ซึ่งมันแทนว่าถ้าในอีกห้วงมิติหนึ่งที่คุณมองไม่เห็นมันมีสิ่งตกค้างอยู่ ภาพมือคือสิ่งสะท้อนนั้น ส่วนอีกความหมายคือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างภาพ  AR ที่จะปรากฎบนมือถือเมื่อเราสแกนที่ภาพมือ กับการมองเห็นของเรา

โดยส่วนของภาพ AR นั้นจิรวัฒน์ให้ผู้ลี้ภัยเป็นคนวาดวาดสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ลี้ภัยคิด 

“แม้ผู้ลี้ภัยแต่ละคนจะพูดว่าวาดรูปไม่สวย เราก็บอกให้วาดเลย ไม่ได้ต้องการความสวย เพราะสิ่งที่มันเป็นคุณค่าคือเรื่องราวของเขา และเอาเข้าจริงความสวยในเชิงสุนทรียศาสตร์มันก็ถูกท้าทายได้ในปัจจุบัน ความงามเป็นเรื่องประสบการณ์การรับรู้”  

 


ภาพจากเพจ Amnesty International Thailand

 

ไม่โรแมนติไซส์ เล่าอย่างเรียบง่าย

จิรวัฒน์เล่าว่า งานนี้พยายามบอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยในฐานะคนคนหนึ่ง โดยพยายามไม่โรแมนติไซส์ พยายามซื่อสัตย์กับเรื่องราวของพวกเขา เป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนมี พวกเขาล้วนเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นลูก ที่สามารถรับรู้และสัมผัสถึงความรัก ความเศร้า ความเจ็บปวด และความสุข ได้เหมือนมนุษย์ผู้ไม่ได้ลี้ภัย 

“ผมค้นพบว่าวิธีการนำเสนอคือการพยายามไม่ให้มันซับซ้อน มันคือความง่าย มันคือภาพวาดที่ออกมาจากมือของพวกเขา มันคือเรื่องราวที่ไม่ใช่โศกนาฏกรรม เราค้นคว้างานที่เกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยแล้วพบว่างานที่ทำงานกับผู้คนจำนวนมากคืองานที่ไม่พยายามดรามาไทซ์ว่าผู้ลี้ภัยลำบากยังไง เพราะการทำแบบนั้นทำให้คนมองไม่เห็นความเป็นคนของผู้ลี้ภัย แต่มองว่าเขาเป็นแค่เหยื่อ คนที่มาดูถ้าไม่เกิดความเมตตาสงสาร ก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ใช่พวกเราอยู่ดี”  จิรวัฒน์กล่าว

 

นิทรรศการ "ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" จัดตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2563

ที่โถงกิจกรรมชั้น 1 หอศิลป์ฯ กทม. เวลา 10.00 น. - 21.00 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท