นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประชาธิปไตยแบบไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จะทำอย่างไรให้หน้ากากถึงมือประชาชนในยามที่เกิดโรคระบาดและฝุ่นพิษ ไม่ว่าโดยการแจกหรือขายราคาถูก ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศไทย ไม่เฉพาะแต่ภายใต้รัฐบาล “พาลาธิปไตย” หรือ dummyocracy เท่านั้น แม้ในรัฐบาลอื่นก็ยากพอๆ กัน

มีเครื่องมืออยู่สองอย่างที่มีประสิทธิภาพมาก แต่รัฐบาลไทยไม่เคยใช้ หรือใช้ไม่ได้

เมื่อใดที่สินค้าขาดแคลน พ่อค้าโก่งราคาจนทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึง ก็แสดงว่าตลาดถูกบิดเบือนจนไม่ทำงาน อุปสงค์มีล้นเกินอุปทาน ฉะนั้น จึงควรเพิ่มอุปทานสินค้านั้นในตลาดด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่จะทำได้

เช่นในกรณีหน้ากาก ควรประกาศงดเก็บภาษีนำเข้าหน้ากากที่ได้มาตรฐานจากทุกประเทศ

จริงอยู่ ท่ามกลางโรคระบาดที่กระจายไปทั่วโลกเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าหน้ากากอาจค่อนข้างขาดตลาดในหลายประเทศ แต่ทั้งโลกนี้คงมีโรงงานที่อาจเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อชิงกำไรจากประเทศไทยในช่วงนี้ได้

การแจกหน้ากากแก่คนยากจน ซึ่งรัฐบาลมีบัญชีตัวตนอยู่แล้ว อาจทำได้ผ่านองค์กรของรัฐนับตั้งแต่อำเภอ, ที่ว่าการ อบต.หรือเทศบาล, ไปจนถึง อสม.ในหมู่บ้าน หรือเลยไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงเรียนด้วยก็ได้ หน้าที่ของรัฐมนตรีจึงไม่ใช่ไปเที่ยวยืนแจกหน้ากากตามสนามบิน แต่เฝ้าจับตามองว่าองค์กรเหล่านั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แค่สามารถกระจายหน้ากากให้ถึงมือคนจนได้เพียงครึ่งเดียวก็ลดความต้องการในตลาดลงไปอักโข ยิ่งเมื่อเริ่มมีการนำเข้าอย่างเสรีเพิ่มเข้าไปด้วย อุปทานหน้ากากในตลาดจะมีเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ซื้อ หรืออาจจะล้นเกินด้วยซ้ำ พ่อค้าไม่อาจโก่งราคาเอาเปรียบผู้บริโภคได้อีก

มาตรการควบคุมราคาไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะหากการควบคุมทำได้ดี (ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ไม่ดี) สินค้านั้นก็มุดลงไปอยู่ใต้ตู้ และราคายิ่งสูงขึ้นไปอีก เพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยง

ตลาดเป็นเครื่องมือกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง รัฐควรใช้อำนาจและทรัพยากรในมือให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม (เพราะไม่มีใครอื่นถืออำนาจและทรัพยากรได้มากเช่นนั้น) ไม่ใช่ไปตั้งโต๊ะขายหน้ากากในทำเนียบ

แต่ตลาดอาจกระจายสินค้าและบริการไม่ได้ในทุกกรณี เช่นความจำเป็นรีบด่วนที่ต้องนำอาหารให้ถึงปาก และการรักษาพยาบาลให้ถึงตัวผู้ประสบภัยสึนามิ ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดแพร่ซ้ำเติม

ภัยพิบัติอย่างนี้รัฐต้องเป็นหัวแรงทำเอง

แต่รัฐไทยไม่มีมือไม้พอจะทำอย่างนั้นได้หรอกครับ เพราะเครื่องมือที่ดีที่สุดและขาดไม่ได้เลยอย่างที่สอง คือองค์กรท้องถิ่นประเภทต่างๆ รวมทั้งที่เป็นองค์กรประชาสังคมด้วย แต่รัฐไทยไม่ชอบองค์กรท้องถิ่น ไม่อยากเห็นท้องถิ่นจัดการตนเองตามความสามารถของเขา เพราะจะทำให้กระด้างกระเดื่อง ยิ่งภายใต้นโยบายรัฐรวมศูนย์ของรัฐบาลพาลาธิปไตย (พาละในภาษาบาลีแปลว่าโง่ แต่ภาษาไทยใช้ในความหมายว่าเกเร ทั้งสองความหมายใช้ในศัพท์นี้ได้หมด)

แม้แต่รัฐบาลอื่นที่ไม่พาลาธิปัตย์เช่นนี้ก็ทำอย่างไม่ค่อยได้ผลนัก เป็นต้นว่ามีข้าวจะแจก แต่ไม่รู้จะแจกใคร อยากนำคนเจ็บคนแก่ออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วม แต่ไม่รู้ว่าบ้านไหนมีใครเจ็บและใครแก่ เป็นต้น

ภาระหน้าที่อย่างนี้ไม่มี “ระบบราชการ” ที่ไหนในโลกทำเองได้ ต้องอาศัยองค์กรท้องถิ่นเป็นพระเอกทั้งนั้น เมื่อไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจกันอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลพาลาธิปัตย์ จึงได้แต่แสดงปาหี่อวดสื่อไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะแก้ปัญหาได้จริงจัง

แต่เครื่องมือทั้งสองอย่างที่กล่าวข้างต้น คือตลาดและองค์กรท้องถิ่น อาจไม่จำเป็นเลย ถ้ารัฐไทยมีขนาดเท่ากับหมู่บ้าน เรื่องอะไรๆ พ่อแกว้น-พ่อหลวงก็ทำเองได้ทั้งนั้น และย่อมเป็นพระเอกสมใจได้อย่างแน่นอน

จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตามที ความคิดเกี่ยวกับระบอบปกครองของไทย โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ และในเวลาต่อมาก็รวมคนชั้นกลางที่มีการศึกษาหรือมีสถานะทางสังคมด้วย (ที่เรียกกันว่า “สลิ่ม”) มักมีทัศนคติทางการเมือง ที่อาศัยกรอบของหมู่บ้านเป็นฐานคิดที่เกี่ยวกับการเมืองและการปกครองเสมอ อุดมคติว่าการปกครองที่ดีคือการปกครองของคนดี หรือเปิดให้คนดีมีอำนาจ หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่าง “คนไทยด้วยกัน” ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ดูเป็นธรรมชาติว่า ก็ควรเป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ

ระหว่างพ่อแกว้นที่โอบอ้อมอารี กับพ่อแกว้นที่จะเป็นซีอีโอลูกเดียว เราควรอยู่กับพ่อแกว้นที่เป็นคนโอบอ้อมอารีมิใช่หรือ

ใช่แน่นอน ถ้าประเทศชาติเป็นเพียงหมู่บ้าน แต่ประเทศชาติไม่ใช่หมู่บ้าน มันใหญ่โตและสลับซับซ้อนเกินกว่าจะใช้เครื่องมือง่ายๆ และตรงไปตรงมาอย่างที่อำนาจปกครองหมู่บ้านมี ไปแก้ปัญหาอะไรได้

แม้แต่ที่เรียกว่าคนดีของรัฐในระดับประเทศชาติก็แตกต่างจากคนดีของหมู่บ้าน คนดีของหมู่บ้านอาจไร้สมรรถภาพอย่างยิ่ง ทำอะไรให้มีประสิทธิภาพไม่เป็น แต่เป็นคนดีแน่ เป็นที่รักนับถือของทุกคน มีงานการอะไรชาวบ้านก็มาช่วยกันทำ

ในขณะที่คนดีของประเทศชาติต้องมีสมรรถภาพพอจะทำงานสาธารณะให้บังเกิดผล แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วอาจเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก, เจ้าชู้, ไม่เคยไปวัดเลย, แถมสูบบุหรี่และกินเหล้าด้วย ความดีจึงอยู่ที่ฉลาดพอจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องอยู่ภายใต้ระบบที่ถูกตรวจสอบและยังต้องพึ่งพิงความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของประชาชนในระดับที่มีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความไร้สมรรถภาพของคนดีที่เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ไม่อาจทำร้ายหมู่บ้านได้มากนัก เพราะเงื่อนไขที่เป็นจริงของหมู่บ้าน บังคับให้การปกครองมีลักษณะประชาธิปไตยสูง อำนาจของผู้ปกครองต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของลูกบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่คือแนวคิดประชาธิปไตยที่ชนชั้นสูงและสลิ่มยึดถือตลอดมา ได้แก่ประชาธิปไตยหมู่บ้าน แต่เพราะก็รู้อยู่ว่าประเทศไทยไม่ใช่หมู่บ้าน จึงเรียกประชาธิปไตยหมู่บ้านที่ตนชื่นชมว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย”

ประชาธิปไตยหมู่บ้าน (ซึ่งที่จริงก็ค่อนข้างจะเป็นสากล หมู่บ้านที่ยังไม่ถูกอำนาจรัฐแทรกแซงมากนักในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมอะไร ก็มีลักษณะประชาธิปัตย์ – democratic – ค่อนข้างสูงทั้งนั้น) เมื่อขยายออกมาเป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่ใช้ระดับประเทศ ย่อมทำงานอย่างประชาธิปไตยไม่ได้ เช่น จะจำกัดให้การตรวจสอบจำกัดอยู่แต่ในหมู่ “ชาวบ้าน” ที่พบหน้าค่าตากันโดยตรง ก็จะเหลือคนไม่ถึง .0000001% ของประชากรเท่านั้นที่มีโอกาสตรวจสอบ ซ้ำคนเหล่านั้น (เช่น ครม., วุฒิสภาที่แต่งตั้งเอง, ส.ส.ร่วมรัฐบาล, เพื่อนจากกองทัพ ฯลฯ) ยังสัมพันธ์กับพ่อแกว้นหรือผู้นำภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ จะเหลืออะไรให้ตรวจสอบล่ะครับ

ส่วนความยินยอมพร้อมใจจากประชากรก็ไม่ได้มาจากกระบวนการใดที่เปิดให้ประชาชนได้ตัดสินใจเอง แต่อาศัยการสร้างหลักประกันบางอย่างให้แก่อำนาจของตน เช่น ส.ส.ประเภทสอง, วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งหมดหรือบางส่วน, ระบบราชการโดยเฉพาะกองทัพ และทุนสันดานผูกขาด

น่าสังเกตด้วยว่า กลุ่มคนที่ “ประชาธิปไตยแบบไทย” ดึงมาเป็นหลักประกันความยินยอมพร้อมใจเหล่านี้ ล้วนอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปภัมภ์อย่างเข้มข้น ทั้งระหว่างกันเองและกับพ่อแกว้นหรือผู้นำ

ในขณะเดียวกัน ความชอบธรรมของทุกอำนาจหน้าที่ในโครงสร้างของประชาธิปไตยแบบไทย ย่อมเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ดังระบบปกครองสมัยโบราณของไทย พ่อแกว้นได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองหรือกรมการ เจ้าเมืองได้รับการเสนอชื่อจากเสนาบดีให้ได้รับพระราชทานตำแหน่ง เสนาบดีได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ แต่ประชาธิปไตยแบบไทยไม่สนใจว่า ตลอดสายแห่งความชอบธรรมนี้ ความยินยอมพร้อมใจของประชาชนอยู่ตรงไหน และมีความสำคัญเพียงไร

เมื่อกล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นพื้นฐานสำคัญของอำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย

ที่น่าอัศจรรย์หรือตลกดีก็คือ ในชีวิตทั้งด้านการงานและด้านอื่นของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นจนขาดไม่ได้อีกแล้ว ส่วนใหญ่หลุดออกมาจากท้องนาเข้าสู่งานรับจ้าง และประกอบการรายย่อย แม้แต่ที่ยังอยู่ในท้องนาก็ผลิตเพื่อป้อนตลาดอย่างเข้มข้น หากไม่นับงานราชการและรัฐวิสาหกิจแล้ว “เส้น” ก็มีความสำคัญน้อยลงอย่างมาก

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ไม่มีใครต้องพึ่งใครอีกต่อไป การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าถึงทรัพยากรมาก-น้อยต่างกันก็ยังมีอยู่ เหมือนในสังคมอื่นๆ ทั่วไป แต่ตราบเท่าที่การแลกเปลี่ยนขาดมิติด้านความภักดีและพันธกรณีระหว่างสองฝ่าย การแลกเปลี่ยนเช่นนั้นก็แทบไม่ต่างอะไรกับการแลกเปลี่ยนในตลาด จึงไม่อาจเรียกว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ได้

ตรงกันข้ามกับชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่มีการศึกษา (สลิ่ม) กลับมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างมาก

กลุ่มใหญ่อยู่ในอาชีพรับราชการ บางคนมีเชื้อสายในกระทรวงนั้นๆ ได้ครองตำแหน่งสูงมาสองหรือสามชั่วคนแล้ว การไต่เต้าในระบบราชการไทยอาศัยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างมาก ไม่เฉพาะข้าราชการพลเรือน แต่รวมทหารและตำรวจด้วย ตำแหน่งบริหารในรัฐวิสาหกิจต้องเป็นหนึ่งในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจเสมอ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ทำเงินมาก ถึงจะเปลี่ยนให้เป็นองค์กรมหาชน หรือบริษัทมหาชน ก็ไม่แตกต่างอะไร

แม้ว่าส่วนใหญ่ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องใช้การแลกเปลี่ยนในเชิงอุปถัมภ์แท้จริง (อย่างน้อยไม่มีเจ้าสัวคนไหนติดสินบนด้วยสำนึกในบุญคุณของผู้รับสินบน) แต่ก็รู้ดีว่าการทำกำไรในเมืองไทยเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับเครือข่ายอุปถัมภ์ที่มีอำนาจในขณะนั้น จึงพร้อมจะ “ซื้อ” ความเชื่อมโยงนั้น สมัยหนึ่งธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นของเจ๊กผู้ดีหรือเจ๊กธรรมดาล้วนต้องเชิญอำนาจมานั่งเป็นประธานกรรมการเสมอ ในปัจจุบัน บริษัทการเกษตรกับข้าราชการเกษียณผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรก็ยังเชื่อมโยงกันอยู่ในลักษณะนั้น

อำนาจรัฐของไทยถูกถักทอขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่สลับซับซ้อน จึงไม่แปลกที่ชนชั้นสูงย่อมมีชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างเข้มข้น ครอบคลุมชีวิตตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลไปจนถึงการเลือกคู่สมรส

ส่วนหนึ่งของคนชั้นกลางก็มีชีวิตเลียนแบบเช่นนั้น อย่างเข้มข้นมาก ไปจนถึงอย่างเจือจางเท่ากับเจ้าสัวธุรกิจอุตสาหกรรม

ประชาธิปไตยแบบไทยคือการเมืองของหมู่บ้าน ที่แบ่งสรรอำนาจในระดับต่างๆ กันด้วยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ยากที่ชนชั้นสูงและคนชั้นกลางบางกลุ่มจะสามารถจินตนาการถึงประชาธิปไตยแบบอื่น ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงเสมอภาคได้ จึงต่อต้านประชาธิปไตยแบบอื่น หรือหากยึดอำนาจได้ด้วยกำลังทหาร ก็พยายามสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทยให้ยั่งยืนมั่นคง

ทำไมการประชาสัมพันธ์จึงเป็นหัวใจสำคัญสุดของการกระจายหน้ากาก ก็เพราะภาพของผู้ใหญ่ยื่นหน้ากากให้แก่ผู้น้อยอย่างห่วงใย (แต่ condescendingly) เป็นภาพอุดมคติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (ลองนึกภาพกลับกัน คือผู้น้อยยื่นหน้ากากให้ผู้ใหญ่อย่างไม่ต้องนอบน้อมบ้าง จะดูแปลกปลอมจนกลายเป็น “ชังชาติ” ไปได้)

การกระจายอำนาจให้ถึงคนในท้องถิ่น ย่อมบ่อนทำลายประชาธิปไตยหมู่บ้านลง เพราะเท่ากับดึงเอาทรัพยากรกลางออกจากมือของผู้นำและเครือข่ายอุปถัมภ์ของเขา

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_279445

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท