แรงงานสหรัฐฯ มีความหวัง หลังครึ่งประเทศเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำเร็จ

การต่อสู้อันยาวนานของการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ เริ่มเห็นผล เมื่อครึ่งประเทศเริ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบ้างแล้วซึ่งส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประท้วงยังมีการเข้าร่วมกับขบวนการอื่นๆ อย่างขบวนการสิทธิคนดำ และ #MeToo ถึงแม้แรงงานบางรัฐจะยังไม่ชนะ แต่การได้เห็นรัฐอื่นๆ ได้รับค่าแรงดีขึ้นก็เป็นความหวังให้พวกเขา

แรงงานและอาคารก่อสร้าง (ที่มา: pexels)

28 ก.พ. 2563 สื่อวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติสหรัฐฯ NPR เล่าถึง คิม โธมัส คนดูแลช่วยเหลือทางการพยาบาลแบบตระเวนไปตามบ้าน เธอได้รับค่าแรงเพียงแค่ 7 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเท่านั้นตามอัตราของรัฐนอร์ทแคโรไลนาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว (ราว 200 บาท) จนกระทั่งค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาเป็น 10.50 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 300 บาท) จนกระทั่งเธอพบว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวแรงงานเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 450-500 บาท) จึงได้เข้าร่วมขบวนด้วย

ขบวนการแรงงานเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำเป็นขบวนการที่จุดชนวนการเคลื่อนไหวของแรงงานทั่วสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว โดยเดิมทีนั้นเริ่มต้นจากกลุ่มคนทำงานฟาสต์ฟู้ดและคนทำงานร้านค้าปลีก จนกระทั่งในอีกหลายปีถัดจากนั้นขบวนการเคลื่อนไหวก็ดึงเอากลุ่มแรงงานค่าแรงขั้นต่ำมาได้จากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นคนงานสนามบิน คนทำงานเลี้ยงดูเด็กหรือคนงานช่วยเหลือพยาบาล ไปจนถึงคนทำงานมหาวิทยาลัย กลายเป็นหนึ่งในกระแสการเคลื่อนไหวของแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ถึงแม้การเดินขบวนของแรงงานในครั้งนี้จะได้รับทุนสนับสนุนและการจัดตั้งจากสหภาพแรงงานบริการสากล แต่กลุ่มคนทำงานจำนวนนับหมื่นนับแสนชีวิตที่ร่วมชุมนุมก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแต่อย่างใด และพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพใดๆ ได้

การเคลื่อนไหวของแรงงานไร้สังกัดเหล่านี้กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและได้รับแรงขับเคลื่อนจากทั่วประเทศ สิ่งที่ได้รับการนำเสนอในสื่อมีทั้งการปักหลักประท้วง ถูกจับกุมเพราะอารยะขัดขืน และการประกาศข้อเรียกร้องต่างๆ นอกจากนั้นเหล่าแรงงานยังร่วมขบวนการเคลื่อนไหวไปพร้อมกับขบวนการด้านสิทธิคนดำและต่อต้านความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจอย่างแบล็กไลฟส์แมทเทอร์ และขบวนการเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศอย่าง #MeToo มีนักการเมืองชื่อดังอย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

ขบวนการต่อสู้ของพวกเขาส่งผลให้รัฐในสหรัฐฯ ถึงครึ่งหนึ่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังมีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ขึ้นไปถึงเป้า คือ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง กระนั้น การขึ้นค่าแรงก็ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีถัดมาก็ทำให้ค่าจ้างในระดับล่างๆ สูงขึ้นเร็วกว่าในระดับบน โครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่รณรงค์ส่งเสริมคนงานค่าจ้างขั้นต่ำประเมินว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำฉบับใหม่ทำให้คนงานราว 22 ล้านคนมีค่าแรงเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดแล้ว 68,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2 ล้านล้านบาท)

NPR ระบุว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำหรับพวกเขาคือในช่วงที่พวกเขาประท้วงสหรัฐฯ กำลังฟื้นฟูจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ และอัตราการว่างงานลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้กลุ่มผู้บริหารบรรษัทต่างก็รับโบนัสกันแต่คนงานค่าแรงขั้นต่ำกลับไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างตามไปด้วยในช่วงเวลาเหล่านี้

แต่การประท้วงของคนงานตั้งแต่ปี 2555 ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวกระจายออกไปเรื่อยๆ มากกว่า 200 เมืองของสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีนี้ เดิมทีแล้วบริษัทต่างๆ มักจะอ้างว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้พวกเขาต้องลดจำนวนคนงานลง แต่หลังการประท้วงนี้ในที่สุดก็แม้แต่บรรษัทใหญ่ๆ อย่าง ทาร์เก็ต วอลมาร์ท แอมะซอนก็ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วอลมาร์ทและแอมะซอนถึงขั้นเริ่มสนับสนุนให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ รวมถึง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำในระดับรัฐมีผลทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่าในสายตาของพวกเขาคือการที่อัตราการว่างงานต่ำ มีตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง และมีการสร้างงานสูง

การที่คนงานได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นจริง เช่น กรณีของโรซา คาลเดรอน ผู้ขอบคุณการจัดตั้งของสหภาพแรงงานทำให้ตอนนี้เธอสามารถอยู่อาศัยอพาร์ทเมนต์ของตัวเองอยู่กับครอบครัว แทนที่จะอยู่แบบแบ่งเช่าเช่นแต่ก่อน

แต่คนงานในสหรัฐฯ ก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป เพราะไม่ใช่ว่าทุกรัฐจะได้รับการขึ้นค่าแรงเท่าเทียมกัน สภาพชีวิตของคนงานบางส่วนยังคงใช้เงินอยู่แบบวันชนวัน เดือนชนเดือนหรืออยู่ในสภาพจำเป็นต้องผัดผ่อนการจ่ายบิลต่างๆ ไปเรื่อยๆ รวมถึงสภาพการเดินทางแย่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงต่อวันในการเดินทางไปทำงาน ถึงแม้คนทำงานเหล่านี้จะยังใช้ชีวิตอย่ายากลำบากแต่การได้เห็นเพื่อนคนงานในรัฐอื่นๆ ได้รับชัยชนะในการเรียกร้องค่าแรง 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ก็ทำให้พวกเขามีความหวัง

เรียบเรียงจาก

'Gives Me Hope': How Low-Paid Workers Rose Up Against Stagnant Wages, NPR, Feb. 26, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท