Skip to main content
sharethis

รายงานจากสถาบันเพื่อความเที่ยงธรรมทางสุขภาวะของอังกฤษ ทำการสำรวจมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันระบุว่า นโยบายรัดเข็มขัดที่มีการตัดงบประมาณสวัสดิการในอังกฤษ ส่งผลทำให้อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของประชาชนลดลงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

ภาพคนไร้บ้าน (ที่มา:pixabay)

28 ก.พ. 2563 รายงานที่จัดทำโดยทีมของเซอร์ ไมเคิล มาร์มอต อดีตประธานสมาคมการแพทย์โลกระบุว่านโยบายรัดเข็มขัดที่ตัดงบประมาณด้านสวัสดิการประชาชนเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณนั้นส่งผลต่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวอังกฤษอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ทำให้อายุเฉลี่ยของประชาชนลดลงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนจน

การสำรวจดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีจนถึงปัจจุบัน เป็นการวิจัยตามคำสั่งของสถาบันความเที่ยงธรรมทางสุขภาวะ โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษและหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษเพื่อหาคำตอบว่า "ความไม่เท่าเทียมทำให้พวกเราป่วยไข้ได้หรือไม่" พวกเขาได้คำตอบว่าความเหลื่อมล้ำไม่เพียงทำให้ผู้คนป่วยได้เท่านั้น แต่ยังฆ่าประชาชนให้ตายเร็วขึ้นด้วย

รายงานของมาร์มอตระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 120 ปีที่อายุคาดเฉลี่ย (Expectancy rate) ของชาวอังกฤษต่ำลงหลังจากที่สูงขึ้นมาตลอด จากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ในพื้นที่ขาดแคลนโดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อประชากรผู้หญิง และประชากรที่มีพื้นเพเชื้อสายอื่นนอกจากอังกฤษมากกว่าด้วย เช่น กลุ่มประชากรผู้หญิงสัญชาติอังกฤษที่มีเชื้อสายบังกลาเทศและปากีสถานซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ยากจน

นอกจากนี้รายงานยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 45-49 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เกิดในช่วงอดีตนายกรัฐมนตรี มาร์กาเร็ต แทชเชอร์ และยิ่งผู้คนอยู่ในพื้นที่ยากจนมากเท่าใดก็จะยิ่งมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยลงเท่านั้น

มาร์มอต ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่นโยบายปรับลดสวัสดิการประชาชนก่อให้เกิดความยากจนในเด็กเพิ่มขึ้น เกิดการปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ลดงบประมาณการศึกษา ทำให้เกิดการจ้างงานแบบที่สภาพการจ้างไม่ปลอดภัยและสัญญาจ้างแบบไม่จำกัดเวลาจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากขึ้น การไม่สามารถจ่ายค่าที่พักอาศัยได้ทำให้เกิดคนไร้บ้านมากขึ้น การที่คนไม่มีเงินมากพอจะใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพจนทำให้ต้องพึ่งพิงธนาคารอาหารจำนวนมาก ชุมชนถูกละทิ้งปล่อยให้อยู่ในสภาพแร้นแค้นและมีความหวังกับเหตุผลในการดำรงชีวิตน้อยมาก

มาร์มอตระบุอีกว่าสภาพเหล่านี้ยังส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติ สีผิวและกลุ่มคนพิการมากเป็นพิเศษ มาร์มอตกล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้หลังจากพรรคแรงงานไม่ได้เป็นรัฐบาล มาร์มอตจึงเรียกร้องเสนอให้ยกเลิกการตัดงบประมาณสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตในอังกฤษ

เจสสิกา อัลเลน หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวเสริมว่าการค้นคว้าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่มีนโยบายรัดเข็มขัดในอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบอย่างลึกซึ้ง อายุคาดเฉลี่ยในอังกฤษลดลงและความเหลื่อมล้ำทางสุขภาวะก็เพิ่มสูงขึ้น เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นเรื่องน่ากังวล รวมถึงเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมต่างก็มีผลกระทบต่อสุขภาวะของพวกเขา

เรียบเรียงจาก

Austerity is killing Britons, says landmark new report, Aljazeera, Feb. 25, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net