กะเหรี่ยงดอยช้างสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ สู้ภัยประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับที่ชุมชน

กะเหรี่ยงดอยช้างสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ สู้ภัยประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับที่ชุมชน ย้ำขอจัดการดูแลทรัพยากรตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ขอฝั่งร่างอันไร้วิญญาณคืนสู่ผืนดินมาตุภูมิ ด้านผู้ช่วย รมว. ทส. ย้ำประชาชนต้องเป็นผู้นำการจัดการทรัพยากร

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563 ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จัดกิจกรรมสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษชาวกะเหรี่ยง ตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เพื่อยืนยันแนวทางการจัดการทรัพยากรตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ปฏิเสธกฎหมายป่าไม้ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

 

บุญชา มุแฮ แกนนำเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋

บัญชา มุแฮ แกนนำเยาวชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ กล่าวว่าชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่งทับพื้นที่ชุมชนตั้งแต่ปี 2559 และถูกยึดไร่หมุนเวียนเนื้อที่ 18 ไร่ 4 ครัวเรือนเมื่อกลางปี 2552 จึงได้เข้าร่วมขับเคลื่อนกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา จนได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่นำร่องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยยึดมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เป็นหลักการในการจัดการทรัพยากร

“เรากังวลเรื่องการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นจิตวิญญาณ เป็นเลือดเนื้อ เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนที่นี่ เพราะการทำไร่หมุนเวียนเป็นการต่อชีวิตและลมหายใจ และเป็นการดูแลผืนป่าที่พวกเราดูแลและอยู่อาศัยมา มติ ครม. สำคัญกับคนทั้งโลก เพราะระบบวิถีชีวิตของพวกเราเป็นวิถีภูมิปัญญาที่ดูแลรักษาป่า สภาพพื้นที่จะยังเป็นป่าเขาเขียวขจี การที่เราประกาศและรักษาไว้เป็นความยั่งยืน เป็นความเกื้อกูล เป็นความสมดุลในวิถีชีวิตคนกับป่า ใขณะเดียวกันก็ได้รักษาโลกนี้ไว้ ป่าไม่ถูกทำลาย สัตว์ป่าก็ยังอยู่ เป็นวงจรที่พึ่งพาอาศัยกันและกัน ดูแลไม่ให้เป็นเหยื่อของพืชเชิงเดี่ยวและทุนนิยม” บัญชากล่าว
    
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 ณ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ นายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เพื่อให้นโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ โดยใช้ มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แก้ไขปัญหา กล่าวว่า ชุมชนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี มีศักยภาพในการดูแลจัดการทรัพยากรได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการจัดการไฟป่าที่ต้องใช้กำลังคนและความทุ่มเทอย่างมากในแต่ละปี รัฐจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมการทำงานของชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นองค์กรนำในการจัดการดูแลป่า
 

นายนพดล พลเสน (คนที่ 5 นับจากทางซ้าย) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ในเชิงของการเป็นผู้บริหารกระทรวงผมต้องดูสามประเด็น ประเด็นแรกคือทำอย่างไรให้พี่น้องมีความมั่นคงในที่ดิน ถ้าอยู่ในป่าไม้หรืออุทยานฯ ก็มานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มั่นคง ถ้าท่านอยู่อย่างมั่นคงก็ไม่ต้องไปตื่นผวาว่าจะโดนใครจับ สองคือ สิทธิในการบริหารจัดการที่จะตกลงกันท่านต้องเป็นผู้นำ ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง ท่านต้องร่วมคิดร่วมสร้างร่วมทำ สามคือ ราชการทั้งหมดก็ต้องอำนวยความสะดวก อำนวยให้พี่น้องประชาชนในเรื่องของกฎระเบียบ ไม่ใช่มาข่มเหง มารังแก ระหว่างที่เขาสำรวจตรวจสอบ อย่าไปจับเขา” ผู้ช่วย รมว. กล่าว

ในช่วงเวลากว่า 9 ปีหลังจากมีมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 มีการสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษมาแล้ว 11 ชุมชน โดยทั้งหมดเป็นการลุกขึ้นทำกระบวนการโดยชุมชนเอง ชุมชนดอยช้างป่าแป๋เป็นชุมชนแรกที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพร่วม เนื่องจากในมติ ครม. ดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ให้กระทรวง ทส. ต้องดำเนินการด้วย เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน การเพิกถอนพื้นที่ป่าของรัฐออกจากพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม การยุติการจับกุม และการจัดให้ชุมชนบริหารจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นต้น

คำประกาศ สถาปนาพื้นที่จิตวิญญาณ เขตวัฒนธรรมพิเศษ บ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) จ.ลำพูน

พวกเราชุมชนปกาเกอะญอ "บ้านต่าหลู่เก่อชอ" ดอยช้างป่าแป๋ ตำบลบ้านป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ขอประกาศว่า บรรพบุรุษของพวกเราได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ พื้นที่นี้มาแล้ว กว่าสามชั่วอายคน สองร้อยกว่าปี ณ ที่นี่ คือ “โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ” (บ้านเกิดเมืองนอนของบรรพชน) พวกเราดำรงวิถีชีวิตแบบวิถีชาวปกาเกอะญอ โดยยึดจารีตในการจัดการทรัพยากรตามบรรพชน “เอาะทีเกอะตอที เอาะก่อเกอะตอก่อ” (ได้ประโยชน์จากป่าให้รักษาป่า ได้ประโยชน์จากน้ำให้รักษาน้ำ) ยึดหลัก “ต่าวิเม ต่าเกปกาเกอะญอ เตอะเหม่ ต่าวิเม ต่าเกเจ๊ะ บ๋า” (จงเทิดทูนข้าว และมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน อย่ายกเงินเป็นใหญ่) พวกเราได้น้อมนำเอาหลักคำสั่งสอนของบรรพชน มาปฏิบัติและสืบทอดเป็นวิถีถึงปัจจุบันวันนี้ 

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา มีการพัฒนาเข้ามาแทรกแซงและท้าทายหลักคำสั่งสอนของบรรพชนนี้ สอนให้เรายึดเงินเป็นใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด ดังจะเห็นได้ว่า การเดินตามกระแสทางนำไปสู่การทำลายธรรมชาติ จนทำให้ผืนป่าทั่วโลกหายไปอย่างน่าใจหาย ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นโจทย์ทั้งโลกตั้งคำถามว่าจะฝ่าฟันไปได้อย่างไร เพื่อจะหยุดยั้งสภาวะโลกร้อน รักษาสมดุลของโลกให้กลับมางดงามเช่นเดิม

ณ ที่นี่ พวกเราได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่ร่วมสมัยกับประชากรไทยชาติพันธุ์ต่าง ๆ และประชากรโลก ได้ทำมาหากินใน “โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ” “โหม่ทีหล่อ ป่าแดลอ” (บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่) แห่งนี้ด้วยระบบวนเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่ดินทำไร่หมุนเวียนเป็นของทุกคนในชุมชนในรูปของ “สิทธิหน้าหมู่” เพื่อแบ่งปันแก่สมาชิกชุมชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเฉพาะผู้อ่อนแอ คนกำพร้า แม่หม้าย และผู้ยากไร้ในชุมชน ทำให้ผืนแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่และทำกินยังคงปกคลุมไปด้วยต้นไม้หลากหลายระดับและชนิดพันธุ์ตามอายุของไร่เหล่าแต่ละปี เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย และเพาะพันธุ์ เช่นดังเป็นบ้านของบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย รวมทั้งยังเป็นที่เลี้ยงสัตว์ วัว ควาย ของพวกเราด้วย เช่นนี้แล้ว คำสอนของบรรพชนของเรา จึงเหมาะสม สอดคล้องแล้วในการดำรงอยู่บนแผ่นดินแม่แห่งนี้ สอดคล้องกับวิถีอนุรักษ์ ปกป้องโลกให้งดงามเหมือนเดิม

ณ ที่นี้ พวกเราประกาศว่าพื้นที่ทางจิตวิญญาณบ้าน “ต่าหลู่เก่อชอ” ดอยช้างป่าแป๋ ยึดเจตนารมณ์ของบรรพชนนี้ไว้ให้ยั่งยืน สืบทอดต่อไปตราบนานเท่านานสู่ลูกหลานในอนาคต อันเป็นการสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ พวกเราจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล จะดูแลรักษาป่า ปกป้องต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพราะที่นี่คือ “โหม่ทีหล่อ ป่าทีคลอ” (บ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่) ของเรา ที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของจิตวิญญาณของบรรพบุรุษของเรา เป็นชีวิตของเรา ที่เราจะต้องอยู่ ดูแล ใช้อย่างยั่งยืน และจะฝังร่างอันไร้วิญญาณของเราคืนแก่ธรรมชาติ เมื่อเวลานั้นมาถึง 

ประกาศ ณ วันที่ 28 ก.พ. 2563
ณ บ้าน “ต่าหลู่เก่อชอ” ดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท