Skip to main content
sharethis

ราชกิจจาฯ ประกาศ 'COVID-19' โรคติดต่ออันตราย สถานการณ์ ณ 29 ก.พ. พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 คนเป็นคนไทย เพศ ชาย อายุ 21 ปี ประกอบอาชีพพนักงานขายของให้นักท่องเที่ยว รวมผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 42 คน ยกเลิกจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 25 มี.ค.-5 เม.ย. 2563 สหรัฐอเมริกาแจ้งเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา


ที่มาภาพประกอบ: Wikipedia

29 ก.พ. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง 'ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563' โดยประกาศให้ 'โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019' หรือ 'โรคโควิด 19' เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ประกาศดังกล่าว ซึ่งลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 มี.ค.) เป็นต้นไป

โดยมีใจความสำคัญดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญ ของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 "

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14) ของข้อ 1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. 2559

"(14) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต "

ประกาศ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ประกาศดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขของไทยยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสชนิดนี้ และนายอนุทินได้ลงนามไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายถึงประกาศฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องรายงานและแจ้ง เมื่อสงสัยหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตราย

ในกรณีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันตนเองด้วย

"ถ้ากฎหมายมีผลแล้ว การไม่แจ้งจะมีโทษปรับ เป็นมูลค่า 20,000 บาท"

29 ก.พ. พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 คน รวมผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 42 คน-สธ.จะแจกหน้ากากอนามัยให้ ปชช. 3 ชิ้น ต่อ 1 คน จันทร์ที่ 2 มี.ค.นี้

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้ได้รับรายงาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่ง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) ยืนยันพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 21 ปี อาชีพพนักงานขาย สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เริ่มป่วยวันที่ 24 ก.พ. 2563 เข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ขณะนี้รับไว้รักษาอยู่ที่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ ขณะนี้ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้ง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน แล้ว

ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 14 ราย รักษาหายแล้ว 28 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 42 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มาจากการเฝ้าระวัง 28 ราย (เป็นคนจีน 16 ราย คนไทย 12 ราย) และเป็นผู้ป่วยที่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 14 ราย (เป็นคนจีน 9 ราย คนไทย 5 ราย) ทำให้ขณะนี้ไทยมีรายงานผู้ป่วยอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อแล้ว รอร่างกายฟื้นตัว

ในวันจันทร์นี้ (2 มี.ค. 2563) กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มมอบหน้ากากอนามัยให้ประชาชนจำนวน 3 ชิ้น ต่อคน เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันโรค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และการจัดหา แจกที่กระทรวงสาธารณสุข

โดยในวันนี้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 มีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (1 มีนาคม 2563) เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิต ภายหลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้ จะออกมาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการแพร่ระบาดของโรคให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนข้อสงสัย ข้อกังวลของประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร ขอความร่วมมือ ต้องสังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้านที่พักจนครบ 14 วัน นับจากวันที่กลับ หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น งดใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน
ช้อนกลาง หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ชักโครก ลูกบิดประตู ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เสื้อผ้า และหากภายใน
14 วัน มีไข้ร่วมกับไอ จาม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

ในส่วนการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 หากเป็นผู้ที่เข้าข่ายสงสัยฯ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปรับการตรวจที่ รพ.ตามสิทธิ (ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าตรวจ) หากยังไม่มีอาการใด ๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่แนะนำให้ไปตรวจเอง (หากอยากตรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง) ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่เข้าข่ายแต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยง แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ ในครั้งแรกขอให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน/ที่พัก จนครบ 14 วัน

ยกเลิกจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 25 มี.ค. - 5 เม.ย. 2563 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่ามีแถลงการณ์ผ่าน PUBAT Official Line Chat Room ถึงสมาชิกเพื่อน PUBAT โดยมีเนื้อหาว่า 

"ความรับผิดชอบต่อสังคม" เป็นคำใหญ่ของคนทำสื่อ คนทำหนังสือก็เป็นหนึ่งในคนทำสื่อที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติมาโดยตลอด

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เราจัดกันมา 48 ครั้งแล้ว ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยเหตุนับไม่ถ้วน แต่ด้วยน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ย่อมเดินก้าวผ่านเส้นทางเหล่านั้นมาได้เสมอ

#ครั้งนี้เป็นอีกก้าวที่เราต้องผ่านด้วยกันให้ได้ค่ะ ...

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีอายุกว่า 60 ปี มีความมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คนทำหนังสือเป็นมากกว่าคนค้าขายหารายได้เลี้ยงชีพเท่านั้น เราภูมิใจในวิชาชีพตนเอง

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีอีกหน้าที่สำคัญคือดูแลสมาชิก ซึ่งมารวมตัวกันหลากหลายลักษณะ ต้องพยายามคิดถึงเพื่อนๆ ให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มกว้างขวางและยกระดับขึ้นเรื่อยๆ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มองถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นห่วงเพื่อนสมาชิกและนักอ่าน #จึงงดการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 ฯ #ในพื้นที่อิมแพ็ค ที่เกิดการพบปะระหว่างผู้คนจำนวนมากในช่วงระยะนี้ค่ะ ด้วยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีแผนการจัดงานหนังสืออื่นที่ได้พบปะกันอีกหลายงานตลอดปีนี้

ทั้งนี้ ครั้งนี้ยังต้องการให้สมาชิกได้นำเสนอหนังสือดี หนังสือใหม่ หนังสือราคาพิเศษให้นักอ่าน จึงเป็นโอกาสให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 48 ฯ ปรับวิถีการส่งเสริมการอ่านไปสู่การทำกิจกรรมและการขายผ่านช่องทางดิจิทัล "#งานหนังสือดิ้นไปออนไลน์เต็มตัว" ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 5 เมษายน 2563 #บนเว็บหนึ่งของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

#มาตรการเพื่อเพื่อนสมาชิกและนักอ่าน

1. *** คืนเงินค่าบูธ100% ***

2. พัฒนาการขายบน Platform ให้เกิดการซื้อขายได้ทุกวัน 24ชั่วโมง
2.1 บน Platform ยักษ์ อย่าง Lazada / Shopee / ฯลฯ
2.2 รวมลิงค์สำนักพิมพ์ทั้งเว็บไซต์ แฟนเพจ และ IG

2.3 ผลักดันการขายบนเว็บของร้านหนังสือทุกร้านค้า
2.4 ให้เพื่อนสมาชิกมีร้านเป็นของตนเอง ใครไม่เป็นเราจะสอน
2.5 ให้เพื่อนสมาชิกได้ขาย ใครไม่ขายเอง เราจะมีคนขายให้
2.6 กิจกรรม BOOK TALK และอื่นๆ บน Youtube Channel โดยจัด Live Studio ให้เพื่อนมาใช้ Live กิจกรรมสำนักพิมพ์ฟรี และรับ Live จากสำนักพิมพ์ทำเองลงช่อง และลง Podcast ให้ผู้สนใจฟังย้อนหลังได้
2.7 นิทรรศการต่างๆ ที่ยกไป Online ได้ เราจะยก ที่ยกไม่ได้เราจะไปจัดในงานถัดไป
2.8 Workshop ให้นักอ่านมีส่วนร่วมที่เคยจัด On Ground เราจะปรับรูปแบบที่ปรับได้ไป Online
2.9 และอื่นๆ อีกมากมายที่จะระดมกำลังทำให้ได้ โดยเน้นทั้งการสร้างยอดขาย และการมีส่วนร่วมของนักอ่านผ่านประสบการณ์ใหม่
.
เราขยับจากแผนเฟสแรกที่เราจะให้เป็น OMNI Channel ในระดับอนุบาล เพื่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายช่องทางรวมให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งออนไลน์ (Online) และการขายหน้าร้าน (Offline) จึงปรับไปสู่ Online เป็นหลัก ไว้คราวหน้าค่อยผสมผสานให้สนุกสนานอีกครั้งค่ะ
.
แผนนับถอยหลัง 25 วัน จะมี War Room ในการบริหารจัดการ และพร้อมจะพาเพื่อนๆ ไปด้วยกัน บนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ร่วมกันค่ะ โดยเราจะพยายามให้เต็มที่จากวันนี้จนถึงงาน มาสานพลังงานนะคะ

#แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ จะนำประกาศต่อไป

ขอขอบคุณและพร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ไปด้วยกันนะคะ
มี่
28 ก.พ. 2563

สหรัฐอเมริกาแจ้งเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกำหนดการเดิม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ หรือ ASEAN-U.S. Special Summit เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 13-16 มี.ค.โดยขณะนี้ นายกฯ ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า สหรัฐอเมริกาแจ้งเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ในวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลนายกฯ ต้องยกเลิกการเดินทางไปสหรัฐฯ

โพล ระบุ ปชช.กว่า 64% พึงพอใจ การแก้ปัญหา 'โควิด-19' ของรัฐบาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การรับรู้ของประชาชนต่อโรคโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,115 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 รับรู้ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากถึงมากที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 12.2 รับรู้ปานกลาง และร้อยละ 4.2 รับรู้น้อยถึงน้อยที่สุด นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 ให้ความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 12.3 ให้ความสำคัญระดับปานกลาง และร้อยละ 8.3 ให้ความสำคัญน้อยถึงน้อยที่สุด

เมื่อถามถึงความตระหนักดูแลสุขภาพช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ตระหนักดูแลสุขภาพมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 16.3 ดูแลสุขภาพระดับปานกลาง และร้อยละ 1.8 ดูแลน้อยถึงน้อยที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 จริงจัง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 พอใจมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 15.5 พอใจปานกลาง และร้อยละ 20.2 พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net