Skip to main content
sharethis

ฟังเรื่องเล่าจากเหยื่อการปรับทัศนคติของ คสช. ในงานเปิดตัวหนังสือเรื่องราวของพวกเขา แจงยิบตั้งแต่ก้าวแรกยันก้าวสุดท้ายในค่ายทหารที่มีทั้งลูกขู่ ลูกปลอบ บางรายก็โดนพาไปเที่ยวแบบปฏิเสธไม่ได้ ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงสารพัดหลังจากนั้น บ.ก. หนังสือสะท้อนว่าใครก็เป็นเป้าหมายฝ่ายความมั่นคงได้ เพียงแค่คิดต่าง

ตลอดเวลา 5 ปีภายใต้รัฐบาลทหารที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ "ปรับทัศนคติ" เป็นคำกว้างๆ ที่รัฐใช้กดปราบ ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ

เดิมที คสช. อาศัยกฎอัยการศึก ให้อำนาจทหารควบคุมตัวใครก็ได้เป็นเวลา 7 วันโดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวไปปรากฏตัวต่อศาล ก่อนแปรสภาพเป็นคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 แม้ต่อมาจะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. หลายฉบับก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แต่อำนาจในการนำคนไปปรับทัศนคติก็ยังคงอยู่ เพียงแค่ไม่ถูกใช้งาน

ข้อมูลเมื่อปี 2562 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจ มีประชาชนถูกเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหารอย่างน้อย 929 คนในกระบวนการปรับทัศนคติ และอย่างน้อยอีก 572 คนที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงยอดน้ำแข็งทางสถิติที่สาธารณชนยังต้องการความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลเรือนเหล่านั้นเมื่ออยู่ในเงื้อมมือของทหาร

ความดำมืดในวันนั้น ถูกเปิดเผยในวันนี้ในรูปแบบตัวหนังสือ

เมื่อ 1 มี.ค. 2563 ที่ร้านบุ๊คโมบี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานเปิดตัวหนังสือ "เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ: บันทึกความทรงจำของบุคคลที่ถูก คสช. เรียกเข้าค่าย" เป็นบทสัมภาษณ์ของประชาชน 15 คนที่ถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติที่มีกลุ่มตัวอย่างกว้างเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง นักรณรงค์ด้านสิทธิ นักข่าว ไปจนถึงนักร้อง (เรียน) อย่างศรีสุวรรณ จรรยา

ซ้ายไปขวา: อานนท์ ชวาลาวัณย์ บุศรินทร์ แปแนะ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

บุศรินทร์ แปแนะ หนึ่งในนักเขียนและคนที่สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือ ระบุว่า โจทย์ที่อยากหาคือประชาชนที่ถูกปรับทัศนคติแล้วนั้นผลคือถูกปรับได้หรือไม่ ปรับได้แค่ไหน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองนั้นถูกปรับทัศนคติแตกต่างจากคนที่เรียกร้องอื่นๆ เช่นสิ่งแวดล้อมหรือปากท้องแค่ไหน โจทย์เหล่านี้ก็เป็นกรอบในการวางตัวคนที่ไปหาเก็บข้อมูลอีกทีหนึ่ง อีกโจทย์ก็คือนาฏกรรมที่ทหารทำกับประชาชนก่อนนำตัวไปเข้าค่าย ไม่ว่าจะเป็นการไปหาที่บ้าน เอารถฮัมวี่ไปเฝ้าแถวบ้าน มีผลกระทบต่อสังคมรอบข้างอย่างไรบ้าง

บุศรินทร์กล่าวอีกว่า ใน 15 คนที่สัมภาษณ์ คิดว่าการปรับทัศนคติไม่มีทางปรับเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาได้ เพียงแต่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวและต่อสู้ชะงักลงเพราะกลัวเรื่องความไม่แน่นอน จะโดนดำเนินคดีเมื่อไหร่ก็ได้ การปรับทัศนคติมีผลกระทบทางสังคมและครอบครัว เช่นทำให้พ่อแม่เป็นห่วง ไม่อยากให้ลูกเผชิญความรุนแรงและความน่ากลัวแบบนั้น ทำให้บางคนที่ถูกปรับทัศนคติเลือกปรับแนวทางการแสดงออก แต่ 2-3 ปีหลัง พอสถานการณ์คลี่คลายลง การเคลื่อนไหวก็กลับมาใหม่และค่อยๆ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ บรรณาธิการ กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้อยากจะบันทึกประวัติศาสตร์ ให้ร้อยเรียงอยู่ในเล่มเดียวกัน ตัวละครมีความหลากหลายตั้งแต่คนเสื้อแดงถึงศรีสุวรรณ จรรยา สะท้อนว่าไม่ว่าใครก็มีสิทธิในการเข้าไปสู่คลองสายตาของฝ่ายความมั่นคงเพียงเพราะแค่คิดต่างกับเขา หนังสือเล่มนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้คนเห็นโครงสร้างทางการเมืองอีกมิติหนึ่ง ทำให้เข้าใจโครงสร้างการเมืองและวิธีการจัดการกับประชาชนที่รัฐทำ ทำให้เราเข้าใจการถูกกระทำของประชาชนและวิธีคิดของทหาร

เรื่องเล่าหลังเรือนจำ (ทหาร) อะไร ยังไงเมื่อถูกปรับทัศนคติ-ถูกตำรวจบังคับเที่ยว

ซ้ายไปขวา: ชินวัตร จันทร์กระจ่าง เอกชัย หงส์กังวาน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ "แดน" เป็นหนึ่งในประชาชนอีกพันกว่าคนที่ถูกจับเข้าค่ายปรับทัศนคติ ชื่อของเขาถูกประกาศผ่านโทรทัศน์หลังรัฐประหาร 2557 สืบเนื่องจากการจัดและร่วมชุมนุมเรียกร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่พิจารณาคดีอย่างเท่าเทียม สืบเนื่องจากการที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกไต่สวนกรณีนโยบายจำนำข้าว และจัดชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร 

ชินวัตรไม่ได้อยู่บ้านในวันที่ถูกประกาศเรียกตัว แต่ครอบครัวเล่าให้เขาฟังว่า มีทหารพร้อมอาวุธครบมือขับรถฮัมวี่ 6-7 คันมาล้อมที่บ้าน ทำให้อากังวลคนเครียด ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นสมัย 6 ตุลาฯ 2519 จะเกิดขึ้นกับหลานตัวเอง 

ชินวัตรเล่าว่า เข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ พอก้าวเข้าประตูสโมสรฯ ก็พบว่ามีทหารหญิงยืนถือปืน UZI คนละกระบอกมารับตัวเข้าหอประชุม พอเข้าไปก็มีโต๊ะหลายโต๊ะ มีคนที่ถูกเรียกเข้ามาในสโมสรฯ เช่นเดียวกันนั่งที่โต๊ะอื่น โดยชุดแรกที่เข้ามาพูดกับเขาคือแพทย์ทหาร มาสอบถามเหมือนเขาเป็นผู้ป่วยทางจิต จากนั้นมีทหารระดับนายพลเข้ามาคุยต่อ 

หลังจากพูดคุยเสร็จ ก็ถูกพาไปพูดคุยหนึ่งต่อหนึ่งกับทหารยศนายพลอีกคน นายพลคนนี้พูดจาดี มีการถามว่า เคยปราศรัยจาบจ้วงหมิ่นเหม่สถาบันกษัตริย์หรือไม่ จึงตอบไปว่าถ้าเปิดวิดีโอปราศรัยเจอก็ดำเนินคดีได้เลย นายทหารคนดังกล่าวยังถามว่าได้รับเงินของทักษิณ ชินวัตรมาเพื่อเคลื่อนไหวหรือไม่ ซึ่งก็ได้ปฏิเสธไป เมื่อสอบถามเสร็จนายทหารคนดังกล่าวก็พูดว่าให้ไปร่วมพัฒนาชาติไทยด้วยกัน จากนั้น เมื่อรอได้พักหนึ่งก็ถูกพาตัวไปขึ้นรถที่จอดรอเป็นขบวน

ในรถจะมีทหารถือปืนนั่งล้อม รถที่นั่งไปมีกับอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทยอีกคนนั่งไปด้วย ผู้สมัครคนดังกล่าวถามตนว่าจะพาตัวไปที่ไหน ก็ตอบไปพลางน้ำตาไหลว่าไม่รู้จะพาไปไหนเหมือนกันและไม่กล้าถามทหาร 

พอเปิดประตูรถก็พบว่าอยู่ที่มณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 11 ถ.นครไชยศรี หน้าป้ายเขียนว่าเรือนจำ ในนั้นมีห้องซอยย่อย ผบ.เรือนจำก็ให้เลือกห้อง สุดท้ายได้ห้องริมสุดที่ยื่นออกไปโดนแดด ระหว่างที่เดินไปก็เจอ นพ.เหวง โตจิราการ ที่ถูกขังอยู่อีกห้อง เหวงตะโกนถามออกมาว่า พี่ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) อยู่ไหน ก็ตอบไปว่าไม่รู้ หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปขัง

พอเหยียบเข้าไปก็ร้องไห้โฮ แทบเข่าทรุดเพราะเกิดมาไม่เคยเจอ ห้องลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีทหารเวรเอาขัน ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เสื่อ หมอนเข้ามาให้ ทหารบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ให้ดูแลเป็นอย่างดี

อาหารนั้นถือว่าดี มีกุ้งเผา แต่วันแรกกินไม่ได้เพราะว่าเครียด ไม่เคยเจอสถานที่แบบนี้และคิดถึงบ้าน หมอเหวงที่ถูกขังอยู่ใกล้ๆ พยายามปลอบว่า ถ้าคิดจะเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ต้องโดนแบบหมอ หมอโดนแล้วโดนอีก เราต้องโดนอีก 2-3 ครั้งถึงจะชิน ประมาณว่าพยายามพูดให้ขำ แต่ตอนนั้นขำไม่ออกเพราะพะวง กระนั้น หมอเหวงก็ร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาให้ฟังอยู่บ้างทำให้มีกำลังใจ

ทุกเช้าเวลา 8 นาฬิกา ทุกคนจะลุ้นว่าจะมีการประกาศชื่อให้กลับบ้านได้หรือไม่ หมอเหวงอยู่ได้ 3 คืนก็กลับไป จนวันที่ 4 พรศักดิ์ ศรีละมุล หรืออาจารย์หมู ไม่กลัวน้ำร้อน ก็ได้กลับ วันที่ 5 ก็เริ่มทยอยไปเรื่อยๆ จนเหลือตนคนเดียวทั้งเรือนจำ ผบ.คุกรู้สึกสงสาร เลยเอาไปนอนที่ป้อมทหารที่มีที่พักอยู่ในนั้น

ทุกๆ คืนที่ป้อมยาม นายทหารมีการให้ทหารชั้นผู้น้อยดูวิดีโอของ “โรส” ผู้ลี้ภัยที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แล้วก็ด่าเหมือนตั้งใจด่าผ่านให้ได้ยิน จนถึงวันที่ 7 ครบกำหนดการคุมขังก็ถูกเรียกชื่อให้ออกจากค่าย มีรถมารับกลับไปส่งที่สโมสรกองทัพบกเทเวศร์ 

เมื่อถึงสโมสรกองทัพบกก็มีการปรับทัศนคติอีกครั้ง มีนายทหารมาสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง และยังกำชับว่าถ้ามีการประท้วงอีกก็อย่าออกมา คนพวกนั้นไม่ได้รักเราจริง ดูอย่างทักษิณสิ เขาอยู่กับเราที่ไหน ก็ไม่ได้เถียงและตอบแบบรับๆ ไป ก่อนกลับก็มีค่ารถกลับบ้านให้ และได้กลับบ้านในวันที่ 4 มิ.ย. โดยระหว่างคุมขังตลอด 7 วันนั้นไม่ได้มีการสอบถามและพูดคุยอะไรเพิ่มเติม 

ชินวัตรเล่าว่า ชีวิตหลังออกจากค่ายปรับทัศนคตินั้นย่ำแย่ เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ออกมา เขาพบว่าตาของเขาล้มป่วย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นานต่อมา การติดตามของทหารสร้างความหวาดกลัวแก่คนรอบตัว บ่อยครั้งเพื่อนบ้านสอบถามภรรยาเรื่อยๆ ว่าสามีทำความผิดอะไร เหตุใดถึงมีทหารมาติดตาม จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องแยกกันอยู่กับภรรยา 

มีบริษัทเอกชนที่ไม่รับเข้าทำงานเพราะประวัติการถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ เมื่อมาขายลูกชิ้นปิ้งก็ยังถูกทหารติดตามมาดูที่ร้านค้าทุกวัน แม้จะมาอุดหนุนซื้อลูกชิ้นแต่ก็ทำให้ลูกค้าที่เป็นประชาชนคนอื่นหวาดกลัว มีวันหนึ่งก็พูดกับทหารไปร้องไห้ไปว่า พี่จะเอาอะไรอีก พี่บอกไม่ให้ยุ่งการเมือง ผมก็ไม่ยุ่ง ฝากไปบอกนายว่าจะเอาอะไรอีก หลังจากนั้นทหารก็หายไปเลย

เอกชัย หงส์กังวาน หนึ่งในนักเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองที่มีชื่อปรากฏบนสื่อบ่อยเล่าว่า เริ่มเคลื่อนไหวในช่วง คสช. จริงๆ ในปี 2560 ช่วงหมุดคณะราษฎรถูกแทนที่ด้วยหมุดหน้าใส ตอนเดือน เม.ย. ได้โพสท์ว่าจะไปยื่นหนังสือให้ประยุทธ์หาเจ้าของหมุด ถ้าหาไม่ได้ก็ให้ถอนหมุดหน้าใสออก แต่หนึ่งวันก่อนถึงวันนัดหมายก็ถูกทหารมาหา บอกว่ายื่นหนังสือที่บ้านได้เลย ไม่ต้องไปหานายกฯ ซึ่งก็ไม่ยอมและดึงดันจะไปทำเนียบรัฐบาลตามนัด แต่เมื่อไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ดึงตัวใช้กำลังกดหัวจับเข้ารถเก๋ง ในรถก็ถูกนั่งประกบ มีคนบอกว่าจะพาไปดำเนินคดีที่ สน. ลาดพร้าว แต่ท้ายที่สุดก็มีคำสั่งให้คนขับรถเปลี่ยนจุดหมายที่ไปที่ มทบ. 11 

ที่ มทบ. 11 ก็ถูกพาไปตึกหลังหอประชุมเชาวลิต ยงใจยุทธ เป็นห้องกระจก แล้วเขาก็เปิดห้องๆ หนึ่ง ในนั้นเป็นห้องอาหาร และมีอีกห้องเล็กๆ ข้างในที่ถูกพาไปนั่งที่นั่น พอเข้าไปก็มีแพทย์ทหารพร้อมทหารอีกนายหนึ่งที่หิ้วอุปกรณ์แพทย์มา พอถึงก็ถามว่าได้รับบาดเจ็บไหม เขาก็จดตามที่อธิบาย 

สักพักบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ก็เข้ามา มีทหารและตำรวจมาเพิ่มเพื่อสอบถาม บุรินทร์ไม่พูดอะไร มานั่งฟัง ทหารและตำรวจที่สอบถามก็ขู่ว่า "มึงโพสท์อย่างนี้มึงอยากโดนเหรอ มาตรา 112" ก็ตอบไปว่าที่โพสท์ไปมันไม่ผิด หลังจากนั้นก็ทำประวัติ เราก็ปฏิเสธว่าไม่มีความผิด เป็นการแสดงความเห็นธรรมดา เขาก็เน้นขู่ คนที่พูดเยอะคือตำรวจ จนตอนเย็นก็พากลับมาส่งถึงบ้าน

ครั้งที่สองหนักกว่าเดิม คือวันที่ 24 มิ.ย. ที่จะเอาหมุดคณะราษฎรจำลองไปโบกปูนทับหมุดหน้าใส แต่พอไปถึงก็มีตำรวจล้อมบริเวณเลย เขาก็พาหิ้วขึ้นรถตู้และพามา มทบ. 11 วันนั้นเป็นวันเสาร์ เปิดรถตู้มาก็เจอทหารระดับนายพันคนเดิมที่รอรับตั้งแต่รอบที่แล้ว แต่ครั้งนี้มีนายตำรวจจากภาคเหนือมาพร้อมตำรวจนอกเครื่องแบบ 4-5 นาย พูดจาไม่ดี พยายามข่มขู่ ขึ้นมึงกูตลอด ขู่ว่าจะดำเนินคดีบุกรุกพระราชฐาน แต่ก็แย้งว่าตรงนั้นเป็นถนน ถ้าเช่นนั้นรถที่ไปบริเวณนั้นก็โดนหมด ตำรวจก็เงียบไป ก่อนจะถูกปล่อยตัวกลับบ้านตอน 6 โมงเย็น โดยการไปค่ายครั้งนั้นถูกยึดหมุดด้วย ซึ่งไม่พอใจเพราะว่าหมุดไม่ใช่ของกลาง เขาไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดไป ก็คิดว่าจะไปทวงคืน แต่วันต่อมาตำรวจก็โทร. มาบอกว่าจะเอาหมุดมาคืนที่บ้าน

พอตอนบ่ายตำรวจก็มาถึงพร้อมหมุด แต่ว่ามีรถตู้อีกคันที่มากับตำรวจด้วย ต่อมาจึงทราบว่าเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งมาพบ บอกว่าอยากคุยกันเรื่องทัศนคติเขาต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากนายตำรวจคนดังกล่าวพูดจาดีจึงเปิดประตูให้เข้าไปนั่งคุยในบ้าน พอเข้ามาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถือกล้องวิดีโอมาถ่ายทำด้วย พูดคุยกันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก็บอกเขาไปว่าเรื่องกษัตริย์จะอยู่หรือไม่อยู่ไม่ค่อยสนใจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการห้ามวิจารณ์ หลังจากคุยกันเสร็จตำรวจก็กลับไป

ครั้งที่สาม เกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2559 ตอนที่จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.9 ที่มีกระแสล่าแม่มดคนที่ไม่ใส่ชุดสีดำ ซึ่งก็ไม่พอใจมากเพราะว่ามันเป็นสิทธิของคนอื่นเขา เลยโพสท์ไปว่า 26 ต.ค. ที่จะมีการเผาศพ วันนั้นจะใส่เสื้อแดงและทำในสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง วันต่อมาตำรวจและทหารก็มาถึงที่บ้าน พอเปิดประตูบ้านดูก็เจอทหารลากออกจากบ้านจนตัวเองล้มเป็นแผลที่ข้อศอก ก็พยายามจะบอกว่าถ้าจะพาไปก็ขอให้ได้ไปปิดประตูบ้านก่อน

คุยกับเอกชัย หงส์กังวาน หลังถูกทหารตำรวจจับตัวไปเที่ยว

จากนั้นมีตำรวจมาอีก 3-4 คน ซึ่งยังพอคุยด้วยเหตุด้วยผลได้มาพูดคุย สุดท้ายก็ได้นั่งคุยกันในบ้าน ตำรวจสอบถามและเกลี้ยกล่อมว่าไม่ใส่เสื้อแดงได้ไหม ก็ตอบไปว่าไม่ได้เพราะบอกคนอื่นไปหมดแล้ว หลังจากนั้นมีสายโทรศัพท์จากตำรวจนครบาลชั้นผู้ใหญ่ เสนอตัวเลือกว่าจะไปเที่ยว จ.กาญจนบุรีหรือไปอยู่ค่ายทหาร จึงตัดสินใจไปกาญจนบุรี และถามตำรวจไปว่าจะให้ไปคนเดียวเหรอ ตำรวจตอบมาว่าว่าให้ชวนเพื่อนไปด้วยได้ เลยโทรหาทนายอานนท์ นำภา ไม่ได้อยากให้ไปด้วยแต่อยากให้คนรู้ว่าจะโดนอุ้ม จากนั้นก็ถูกยึดมือถือไป 

เอกชัยเล่าต่อไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ จ.กาญจนบุรีว่า คืนแรกนอนที่รีสอร์ทกลางเมืองกาญจนบุรี ตำรวจให้เงินค่าใช้จ่ายมา 5 พัน ซึ่งก็เอามาจ่ายเลี้ยงตำรวจที่ไปด้วยกัน วันแรกพาไปเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อย เมื่อกลับจากน้ำตกก็อยากจะบอกโลกภายนอกว่าเกิดอะไรขึ้น จึงบอกตำรวจว่าขอไปซื้อของใช้ที่เซเว่น พออาศัยจังหวะหลุดการประกบจากตำรวจได้ก็ขอยืมโทรศัพท์ลูกค้าคนอื่น โทร. เล่าให้อานนท์ฟังเพื่อแจ้งเบาะแส 

พอมาถึงวันที่สอง ตำรวจบอกว่าจะพาไป อ.ทองผาภูมิ ในวันนั้นตัดสินใจใส่เสื้อสีแดงเที่ยวทำให้ตำรวจไม่พอใจมาก ตำรวจบอกว่าถ้าไม่เปลี่ยนเสื้อก็ไม่พาเที่ยว ซึ่งก็ดึงดันไม่เปลี่ยน สุดท้ายเลยไม่ได้ไปไหน ใส่เสื้อสีแดงนอนอยู่ที่รีสอร์ท จากนั้นวันที่ 27 ตำรวจก็พาเที่ยวน้ำตกสักแห่ง เดิมทีตำรวจมีกำหนดจะพากลับกรุงเทพฯ เย็นวันที่ 26 แต่ท้ายที่สุดก็ได้กลับวันที่ 28 ถึง กทม. เกือบเที่ยง 

เมื่อกลับมา ตำรวจก็พาไปคุยกับ "หัวหน้า" ที่ร้านอาหารชื่อรถเสบียง อยู่ข้างทางรถไฟ เป็นร้านที่ตำรวจระดับสูงนิยมมากิน เมื่อเวลาเกือบเที่ยง ตำรวจที่เป็นหัวหน้าก็มา คนนี้พูดแย่มาก โต้เถียงกันสักพักก่อนจะถูกพากลับบ้าน 

เอกชัยเล่าว่า หลังจากถูกจับเข้าค่ายไปชีวิตก็เปลี่ยน มีคนมาด้อมๆ มองๆ แถวบ้าน ก็จำได้ว่าเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่เป็นสายให้กับตำรวจ บางครั้งคุยโทรศัพท์กับเพื่อน 2 คน ตำรวจก็ยังรู้ เลยคาดว่ามีการดักฟังเกิดขึ้น ต้องเปลี่ยนวิธีสื่อสารไปใช้แอปพลิเคชั่นที่สื่อสารแบบเข้ารหัส เพื่อนที่ไปมาหาสู่กันก็ถูกคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจติดต่อไปข่มขู่ว่าอย่ายุ่งกับเอกชัย มีเพื่อนที่ถูกทุบกระจกรถแต่ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร การเดินทางก็ต้องเปลี่ยนจากการขึ้นรถประจำทางเป็นการขับรถเพื่อป้องกันการถูกทำร้าย แต่ต่อมารถก็ถูกเผา ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งแกร็บ

"ถ้าพูดถึงตามกฎหมายก็ไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่ผิด เราก็มั่นใจว่าตามกฎหมายเราไม่ผิด เขาทำอะไรไม่ได้เขาก็อุ้ม" เอกชัยพูดถึงสิ่งที่ได้รับเป็นการตอบแทนแบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สนใจสั่งซื้อหนังสือ ติดต่อได้ที่แชทเพจเฟสบุ๊ค iLaw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net