วิเคราะห์-สรุปดรามาเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในมาเลเซีย ปัญหาเก่าๆ และอนาคต 1MDB

นักวิเคราะห์นำเสนอกรณีดรามาเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในมาเลเซียอย่างฉับพลันว่า มีต้นเหตุมาจากปัญหาทางการเมืองที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษเคยก่อไว้จากการแบ่งแยกอำนาจระหว่างคนเชื้อชาติแตกต่างกันในมาเลเซีย และเป็นไปได้ที่ขั้วอำนาจเก่าฝ่ายนาจิบ ราซัค อาจจะพยายามจุดวิกฤตการเมืองในครั้งนี้เพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดีอื้อฉาวครั้งใหญ่เกี่ยวกับโครงการ 1MDB

ธงชาติมาเลเซีย (ที่มา:bergerpaints.com)

ผู้นำทรยศลูกน้อง ศิษย์คิดล้างครู การทุจริตพันล้านที่สะเทือนจากกัวลาลัมเปอร์ไปถึงฮอลลีวูด การอ้างเรื่องเพศมาโจมตีไม่รู้จบ การเมืองมาเลเซียเต็มไปด้วยดรามาที่ดูเหมือนละครเช็กสเปียร์แบบนั้น แถมล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนขั้วทางการเมืองในแบบที่น่าเวียนหัว ทั้งในสายตาของชาวมาเลเซียเองและสายตาของคนต่างชาติ

เบน แบลนด์ ผู้อำนวยการสถาบันโลวีที่ศึกษาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เขียนสรุปการเมืองมาเลเซียล่าสุด โดยเริ่มเล่าจากเหตุการณ์จัดตั้งรัฐบาลปี 2561 ที่ต่อเนื่องมาจากการขั้วการเมืองปากะตัน ฮารัปปัน โค่นล้มกลุ่มที่ครองอำนาจนำมายาวนานอย่างกลุ่มอัมโนที่นำโดย นาจิบ ราซัค ผู้มีเรื่องอื้อฉาวจากการทุจริตโครงการ 1MDB

หลังจากการเลือกตั้งในปี 2561 มหาเธร์ มูฮัมหมัด ที่เคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งต่อนาจิบและต่อประเทศมาเลเซียก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ในอายุ 92 ปี สัญญาว่าจะส่งต่ออำนาจให้กับอันวาร์ อิบราฮิม อดีตลูกศิษย์ของมหาเธร์อีกคนหนึ่งที่เคยต้องจำคุกด้วยความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อิบราฮิมติดคุกยาวมาทั้งในสมัยรัฐบาลมหาเธร์ (เดิม) และนาจิบ ด้วยข้ออ้างคดีความที่มีแรงจูงใจเบื้องหลังทางการเมือง

กระนั้น มหาเธร์ก็ยังรั้งรอที่จะยอมมอบอำนาจต่อให้อันวาร์ แม้ในช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีการประมือกับอัซมิน อาลี อดีตลูกศิษย์ของเขา แต่หลังจากที่อัซมินหันไปทำข้อตกลงลับๆ กับกลุ่มรัฐบาลเก่าอัมโนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แผนการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ในนามกลุ่มปากะตัน ฮารัปปันของมหาเธร์ล่มไป หลังจากนั้นมหาเธร์ก็ออกจากตำแหน่งและมีมูฮิดดิน ยัสซิน อดีต รมว. มหาดไทยที่เคยทำงานกับทั้งมหาเธร์และนาจิบในพรรคอัมโนขึ้นมาแทน เขาประกาศตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียในวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา

เรื่องนี้น่าเวียนหัวสำหรับทั้งชาวมาเลเซียเองและคนต่างชาติ แบลนด์วิเคราะห์ว่าปัญหาการเมืองยุ่งเหยิงแบบนี้เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่มีอิทธิพลเหนือมาเลเซียในสมัยก่อนแล้ว เจ้าอาณานิคมอังกฤษในยุคนั้นสร้างการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสร้างความบาดหมางในสังคมมาเลเซีย โดยการให้ประชากรที่เป็นชาวมุสลิมมาเลย์ส่วนใหญ่มีอำนาจนำทางสังคมและการเมือง แต่ชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวเชื้อสายจีนกลับมีอำนาจนำทางเศรษฐกิจ

แบลนด์กล่าวว่าภายใต้พื้นผิวที่ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองกับบุคคลทางการเมืองก็ยังมีโครงสร้างสำคัญที่ควรจะมีการปฏิรูปคือการขจัดการทุจริตคอร์รัปชันและการส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นไทยที่ต้องต่อสู้อย่างยากลำบากเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพจากอาณานิคม ด้วยเหตุนี้เองมาเลเซียยังต้องต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากภาระทางประวัติศาสตร์ด้วย เช่นการกุมอำนาจของรัฐบาลฝ่ายที่มีขึ้นหลังได้รับอิสรภาพอย่างกลุ่มอัมโนที่มีอำนาจมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2500 และเพิ่งถูกโค่นล้มในปี 2561 แบลนด์มองว่าการโค่นล้มที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะเกิดขึ้นได้เพราะมหาเธร์และอันวาร์ร่วมมือกันเพราะทนต่อความฉ้อฉลของนาจิบต่อไปไม่ไหว

แต่ถึงแม้ว่ามหาเธร์จะกลายเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีความหลากหลายที่สุดของมาเลเซีย แต่มหาเธร์ผู้ที่ในอดีตเคยเป็นสายอัมโนมาก่อนก็ไม่สามารถปฏิเสธแนวคิดเชิงเชื้อชาติที่ฝังรากอยู่ในตัวเองได้ ทำให้เขาเน้นนโยบายปกป้องและให้ความสำคัญกับชาวมาเลย์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมาก่อน ที่สำคัญกว่านั้นคือรัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับแรงต้านจากชาวมาเลย์ทำให้แพ้การเลือกตั้งซ่อม ในขณะที่อัมโนและพันธมิตรที่เป็นกลุ่มอิสลามจุดชนวนความตึงเครียดทางเชื้อชาติและศาสนา

เบลนด์ระบุว่าด้วยเหตุนี้เองทำให้อัมโนเด้งกลับมามีอำนาจเหนือรัฐบาลได้จากการกลายเป็นขั้วพรรคแนวร่วมที่ใหญ่ที่สุด แต่นั่นก็ทำให้มาเลเซียล้าหลังไปด้วย จากการที่พรรคแนวร่วมสมัยมหาเธร์นั้นมีพัฒนาการเรื่องการทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น ลดระดับโครงการที่ไม่ทำประโยชน์ และยุบกฎหมายอำนาจนิยม แต่พอกลุ่มอำนาจเก่าอย่างฮัมโนกลับมาได้ไม่นาน ภาคประชาสังคมที่ประท้วงก็ต้องเผชิญกับการสืบสวนจากตำรวจเรื่องข้อหายุยงปลุกปั่นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองนี้ยังไม่ถึงจุดยุติทำให้ฝ่ายมหาเธร์ยังมีความหวังอยู่ ขึ้นอยู่กับว่ามูฮิดดินจะได้รับการสนับสนุนข้างมากจากสภาหรือไม่ แต่สภาพแบบนี้สำหรับเบลนด์แล้วมันสะท้อนให้เห็นว่ามาเลเซียยังก้าวข้ามไม่พ้นเรื่องการยึดติดเชื้อชาติไปสู่ความเป็น "เอเชียอย่างแท้จริง" แบบที่ฝันไว้

สื่อแชนแนลนิวส์เอเชียยังระบุถึงความน่าสงสัยว่า การที่พรรคสายอัมโนของนาจิบพยายามกลับเข้ามามีอำนาจในครั้งนี้ ก็เพื่อให้นาจิบสามารถหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีใหญ่อย่างการทุจริต 1MDB ได้เช่นเดียวกับที่มหาเธร์เคยพูดไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่าพรรคของนาจิบจัดฉากให้เกิดวิกฤตทางการเมืองด้วยวัตถุประสงค์นี้

ซินเทีย กาเบรียล ผู้อำนวยการกลุ่มต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของมาเลเซียซีโฟร์เซนเตอร์กล่าวว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเป็นไปได้คือการแทรกแซงจากตุลาการจะทำให้มีการยกเลิกการดำเนินคดีอื้อฉาว 1MDB ต่อนาจิบ 

เรียบเรียงจาก

Beneath Malaysia’s political battles are older struggles, Ben Bland, Financial Times, Mar. 3, 2020

After Malaysia's political turmoil, questions over trials in 1MDB scandal, Channel News Asia, Mar. 3, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท