Skip to main content
sharethis

พนักงานบริการบนเครื่องบินทั่วโลกเกิดกระแสตื่นกลัวไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

ที่สนามบินใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุดคลุมสีขาวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ใช้อุปกรณ์เทอร์โมมิเตอร์ดิจิทัลจี้ไปที่ศีรษะผู้โดยสารเพื่อวัดไข้ ขณะที่ผู้โดยสารบางส่วนเดินทางเครื่องสแกนความร้อนในร่างกาย

ส่วนบนเที่ยวบินจากนครเซี่ยงไฮ้ไปยังนิวยอร์ก พนักงานบนเครื่องทุกคนสวมหน้ากากขณะเดินเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับผู้โดยสารที่สวมหน้ากากเช่นกัน ผู้โดยสารบางคนเปลี่ยนหน้ากากของตนทุกสี่ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดปลอดเชื้อโรค

และไม่ใช่แค่บนเครื่องบินเท่านั้น แต่ตามสนามบินต่าง ๆ ทั่วโลก ก็สามารถพบเห็นพนักงานและผู้โดยสารที่มีหน้ากากปกปิดตั้งแต่จมูกลงมา เดินกันขวักไขว่ทั่วไป

ภาพเช่นนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติบนทุกเที่ยวบินทั่วโลกในขณะนี้ ท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ที่มีศูนย์กลางในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และมีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบหนึ่งหมื่นคน และองค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศให้เป็น "ความฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ"

บางครั้งความกังวลลุกลามไปเป็นความตื่นกลัว เช่น บนเที่ยวบินจากจีนไปยังนครอัมสเตอร์ดัม ผู้โดยสารหลายคนลุกขึ้นมาโวยวายเมื่อทราบง่ามีชายจากเมืองอู่ฮั่นผู้หนึ่งอยู่ในกลุ่มผู้โดยสารด้วย

สำหรับเที่ยวบินที่ยังต้องให้บริการเข้าและออกจากจีนอยู่นั้น พนักงานต้อนรับบนเครื่องต่างพากันหาวิธีต่าง ๆ มาใช้กำจัดเชื้อโรคทั้งก่อนและหลังจากที่ผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องบิน เช่น ใช้น้ำยากำจัดเชื้อโรคเช็ดทั่วบริเวณที่นั่งผู้โดยสารและกระจก และหากเที่ยวบินนั้นมีผู้โดยสารที่น่าสงสัยว่ามีอาการป่วย หน้ากากและแว่นตาแบบป้องกันพิเศษ รวมทั้งเสื้อแขนยาว ก็อาจถูกนำมาใช้ได้เช่นกัน ตามรายงานของโฆษกของสายการบิน United Airlines

หลายวันที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง Air France, British Airways และ Scandinavian Airlines ต่างระงับเที่ยวบินไปประเทศจีน

และในวันศุกร์ สายการบิน Delta Air, United Airlines และ American Airlines ของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับเที่ยวบินทั้งหมดที่ไปและกลับจากประเทศจีน

โดยเที่ยวบินของ Delta Air จะถูกระงับตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. และอาจยาวนานถึงสิ้นเดือนเมษายน ส่วนของ American Airlines จะระงับไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคม ขณะที่ United Airlines ระงับเที่ยวบินระหว่างวันที่ 6 ก.พ. - 28 มี.ค.

การตัดสินใจของสายการบินสหรัฐฯ เหล่านี้มีขึ้นหลังจากสหภาพนักบินได้ยื่นฟ้องสายการบินต่าง ๆ ให้ระงับเที่ยวบินไปจีนทันที เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัส

ที่มา: VOA, 1/2/2020

บริษัทของญี่ปุ่นเลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการโรงงานในประเทศจีน

บรรดาบริษัทของญี่ปุ่นได้เลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการของโรงงานในประเทศจีน โดยทางการจีนได้เรียกร้องให้ขยายวันหยุดเทศกาลตรุษจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่

โตโยต้า มอเตอร์ ระบุว่าจะเลื่อนการเปิดทำการอีกครั้งของโรงงาน 4 แห่งในจีน จากต้นเดือน ก.พ. ไปเป็นวันที่ 10 ก.พ. หรือหลังจากนั้น ฮอนด้า มอเตอร์ ขยายช่วงวันหยุดของโรงงานที่เมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาด จากวันที่ 2 ก.พ. ไปเป็นวันที่ 13 ก.พ. และยังระงับการดำเนินการของโรงงานแห่งอื่น ๆ ในจีน ไปจนถึงวันที่ 9 ก.พ.

มาสด้า มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ ก็ระงับการดำเนินการของโรงงานในจีนไปจนถึงวันที่ 9 ก.พ. ส่วนพานาโซนิกและฮิตาชิ ก็เลื่อนการกลับมาดำเนินการของโรงงานของตนในประเทศจีนเช่นกัน

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 2/2/2020

'Cathay Pacific' ขอให้พนักงานกว่า 27,000 คน พักงานโดยไม่รับเงินเดือน

CEO ของสายการบิน Cathay Pacific ระบุผ่านคลิปวิดีโอที่ส่งถึงพนักงานทุกคนว่าขอให้พนักงาน 27,000 คน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทั่วไปในส่วนต่างๆ พักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 3 สัปดาห์ ช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2020 เขารู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่เป็นมาตรการที่ต้องทำเพื่อประคับประคองบริษัทให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก โดยเฉพาะช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในจีน ไม่รวมถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงตั้งแต่ปีก่อนที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: scmp.com, 5/2/2020

Adidas สั่งปิดร้านหลายแห่งในจีนเป็นการชั่วคราวเพราะวิกฤติโคโรนาไวรัส

บริษัทผลิตภัณฑ์กีฬาสัญชาติเยอรมันอย่าง Adidas เป็นธุรกิจข้ามชาติอีกรายที่ตัดสินใจปิดร้านค้าในจีนหลายแห่งเป็นการชั่วคราว จากเหตุระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตคนไปแล้วหลายร้อยราย และส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน Adidas มีร้านค้าอยู่ราว 12,000 แห่งทั่วจีน โดยมีทั้งร้านที่บริษัทแม่บริหารเองและร้านที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์

รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่า อดิดาส ตัดสินใจปิดร้านชั่วคราวทั้งหมดกี่แห่ง ก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ยอดขายของ Adidas ในประเทศจีนในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วส่งสัญญาณชะลอตัวไปแล้ว ด้วยอัตราการเติบโตที่ 11% เมื่อเทียบกับอัตราขยายตัว 14% ในไตรมาสก่อนหน้า

ที่มา: VOA, 6/2/2020

คนทำงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่นมากขึ้น ส่งผลเงินเดือนหดตัวลงในปี 2019

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในญี่ปุ่นเมื่อปรับตามเงินเฟ้อแล้ว ปรับตัวลง 0.9% ในปี 2019 เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากมีผู้ทำงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากขึ้น ทำให้รายรับในรูปเงินสดเฉลี่ยต่อเดือนของคนทำงานในญี่ปุ่น รวมถึงโบนัส ลดลง 0.3% แตะที่ 322,689 เยน (2,900 ดอลลาร์) เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ทั้งนี้ อัตราส่วนของผู้ที่ทำงานพาร์ทไทม์พุ่งทำสถิติสูงสุดที่ 31.53% หรือเพิ่มขึ้น 0.65% จากระดับของปีก่อนหน้า ส่วนค่าแรงพื้นฐานและค่าจ้างที่มีการกำหนดเวลา ปรับตัวลดลง 0.1% สู่ระดับ 244,485 เยน ขณะที่ค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลาและทำงานนอกกำหนดเวลา ลดลง 0.8% แตะที่ 19,740 เยน ส่วนโบนัสและรายได้อื่นๆ ปรับตัวลง 0.9% แตะที่ 58,464 เยน ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสำหรับคนทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น 0.3% แตะที่ 425,288 เยน ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้ทำงานพาร์ทไทม์ทรงตัวที่ 99,758 เยน

ที่มา: japantimes.co.jp, 7/2/2020

ผลศึกษาออฟฟิศไกลบ้าน-ทำงานหนัก เสี่ยงปัญหาสุขภาพรุมเร้า

นักวิจัยในสวีเดนได้ศึกษาผู้คนที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และต้องเดินทางโดยเฉลี่ยนานกว่าครึ่งชั่วโมงทั้งขาไปและขากลับ และพบว่าคนเหล่านั้นมีความเสี่ยงในการมีวิถีชีวิตแบบเฉื่อยชา สูงขึ้น 25% และความเสี่ยงต่อปัญหาการนอนหลับสูงขึ้น 16%

Jaana Halonen จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มและสถาบันสุขภาพและสวัสดิการ Finnish Institute for Health and Welfare ในเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าวว่าปัญหาเรื่องการนอนหลับอาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมคลายเครียด หรือการผ่อนคลาย และว่าคนที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และยังต้องเดินทางไปทำงานเป็นระยะทางไกลๆ อาจเหนื่อยเกินกว่าที่จะมีความกระตือรือร้นได้

สำหรับการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นผู้ใหญ่วัยทำงานมากกว่า 22,000 คนอย่างน้อยสองครั้งในระหว่างปี 2008 จนถึงปี 2018 โดยจะสอบถามเกี่ยวกับการทำงานและการเดินทางไปทำงาน รวมถึงเรื่องการออกกำลังกายและการนอนหลับ นอกจากนี้ยังถามด้วยว่าสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์บ่อยมากน้อยแค่ไหน

Oliver Mytton นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า การที่จะเลือกทำงานที่ต้องเดินทางไกลๆ นั้น ควรจะคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพด้วย เขาตั้งข้อสังเกตอีกว่าใช่ว่าทุกคนจะมีทางเลือกมากมายในเรื่องสถานที่ทำงาน หรือมีโอกาสในการทำงานจากที่บ้าน แต่การศึกษาในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่านายจ้าง และรัฐบาลควรมีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของพนักงานของตน

การศึกษาเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Occupational & Environmental Medicine

ที่มา: VOA, 16/2/2020

'HSBC' เลิกจ้าง 35,000 ตำแหน่ง-ปรับโครงสร้างเน้นตลาดเอเชีย

ธนาคาร HSBC ประกาศว่าจะลดพนักงานลง 35,000 ตำแหน่ง ภายใต้นโยบายปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อมุ่งเน้นไปที่ตลาดเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว CEO รักษาการณ์ของ HSBC ระบุว่าจำนวนพนักงานของ HSBC ทั่วโลกจะลดลงจาก 235,000 คน เหลือ 200,000 คน หรือลดลงราว 15% ในช่วงสามปีข้างหน้า

ผลกำไรสุทธิของ HSBC เมื่อปีที่แล้วลดลง 53% อยู่ที่ระดับ 6,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะยิ่งลดลงอีกในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น การแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป การประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการระบาดของโคโรนาไวรัส

ที่ผ่านมา ธนาคาร HSBC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน พยายามปรับโครงสร้างการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นทำตลาดเอเชียมากขึ้น และลดขนาดธุรกิจในภูมิภาคอื่นลง โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป และยังมีแผนจะลดขนาดสินทรัพย์รวมลงเหลือ 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มผลกำไร โดยคาดว่าแผนปรับโครงสร้างครั้งนี้จะมีต้นทุนราว 6,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา: VOA, 19/2/2020

ฟิลิปปินส์ยกเลิกคำสั่งห้ามการเดินทางชั่วคราว หลังแรงงานฟิลิปปินส์ในไต้หวันรวมกลุ่มเขียนจดหมายถึงผู้นำ

สืบเนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ห้ามผู้โดยสารจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊าเดินทางเข้าเข้าฟิลิปปินส์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ได้เพิ่มไต้หวันเข้าไปด้วย สรุปผู้โดยสารจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง  มาเก๊าและไต้หวันไม่สามารถจะเดินทางเข้าฟิลิปปินส์ได้ ยกเว้นชาวฟิลิปปินส์ รวมถึงห้ามชาวฟิลิปปินส์เดินทางไปยังเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวด้วย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นายจ้างไต้หวันที่กำลังจะนำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์และแรงงานฟิลิปปินส์ที่กำลังจะเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันประสบปัญหาไม่สามารถจะเดินทางได้นั้น

แรงงานฟิลิปปินส์ในบริษัทอี้เหม่ยฟู้ด (Imei Food) ที่เขตหนานข่าน นครเถาหยวน ขณะให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากสื่อฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า พวกตนทั้งหมด 410 คน รวมกลุ่มกันลงนามเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี Rodrigo Roa Duterte ขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากกังวลจะส่งผลต่อโอกาสการทำงานของแรงงานฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังจะกระทบการเดินทางกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ เนื่องจากเที่ยวบินส่วนใหญ่ถูกยกเลิก

ด้านนาย Angelito Banayo ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมนิลาประจำไต้หวันก็กล่าวว่า นายจ้างไต้หวันหลายรายที่กำลังจะนำเข้าแรงงานฟิลิปปินส์ ไม่สามารถนำเข้าได้ ส่วนแรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เกรงว่า คำสั่งห้ามการเดินทางชั่วคราวของรัฐบาลของตน จะลดโอกาสการทำงาน ส่งผลให้นายจ้างไต้หวันหันไปนำเข้าแรงงานชาติอื่นแทน

ที่มา: Radio Taiwan International, 21/2/2020

Expedia ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ยักษ์ใหญ่ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก

Expedia บริษัทบริการการท่องเที่ยวออนไลน์ยักษ์ใหญ่ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนทั่วโลก เพราะผลการดำเนินงานปี 2019 ไม่เป็นไปตามเป้า โดยในปี 2019 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 รายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และมีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แต่หากพิจารณาเฉพาะไตรมาสสุดท้าย กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 4 และกำไรต่อหุ้นลดลงร้อยละ 1 บริษัทมีพนักงานทั่วโลก 25,400 คนนับจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2019 การประกาศเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คนจะคิดเป็นร้อยละ 12 ของพนักงานทั้งหมด

ที่มา: scmp.com, 27/2/2020

แรงงานและบริษัทในญี่ปุ่นอาจมีภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีและประกันสังคมเพิ่มขึ้น

บรรดาบริษัทและแรงงานในญี่ปุ่นอาจต้องจ่ายภาษีรายได้และประกันสังคมเพิ่มมากขึ้นในปีงบประมาณ 2020 โดยการขึ้นภาษีผู้บริโภคเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นระบุว่า รายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 44.6 ของบริษัทและแรงงานจะถูกรัฐบาลเรียกเก็บ ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.7 จุดจากปีงบประมาณปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ระบุว่าการขึ้นภาษีผู้บริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 เมื่อปีที่แล้วได้ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ และยังระบุว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้สูงเนื่องจากมีอัตราภาษีรายได้สูงขึ้นมาก

สัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายนี้เป็นมาตรวัดในการเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับประเทศอื่น ๆ โดยข้อมูลเมื่อปี 2017ชี้ว่าบริษัทและแรงงานในฝรั่งเศสจ่ายให้รัฐบาลร้อยละ 68.2 ของรายได้ ส่วนของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 54.1 ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 43.3 และสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 34.5

ที่มา: NHK, 27/2/2020

แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไต้หวัน หากไม่ติดเชื้อและไม่เปลี่ยนผ่านเครื่องที่ฮ่องกง นายจ้างให้กักแยกบริเวณ 14 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ

ผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก โดยมีการระบาดหนักในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว ไต้หวันประกาศห้ามชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและมาเก๊าเดินทางทางเข้าไต้หวันเป็นการชั่วคราว และผู้โดยสารที่เดินทางเข้าไต้หวัน หากเปลี่ยนผ่านเครื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือมาเก๊า จะต้องถูกกักแยกบริเวณเพื่อสังเกตอาการด้วยตนเองเป็นเวลา 14 วัน แต่มีนายจ้างบางราย บังคับให้แรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้าไต้หวันในช่วงนี้ ยังไม่ให้เข้าทำงาน โดยให้แยกบริเวณอยู่ในหอพักเพื่อเฝ้าดูอาการด้วยตนเองเป็นเวลา 14 ทั้งที่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ เดินทางเข้าไต้หวันโดยเที่ยวบินบินตรง ไม่ได้เปลี่ยนผ่านเครื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือมาเก๊านั้น

ที่มา: Radio Taiwan International, 28/2/2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net