ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลสอบตกด้านการปกป้องสิทธิสตรี

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย แจก F รัฐบาลไทย สอบตกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง ชี้ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ ตามข้อเสนอแนะสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกข่มขู่ คุกคาม เข้าไม่ถึงกระบวนยุติธรรม ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเสี่ยงถูกเลือกปฏิบัติ ล้มเหลวแก้ปัญหาความยากจน ฯลฯ ด้าน “ฅนรักษ์บ้านเกิด” เมืองเลย เผยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 ราย จากทั้งหมด 440 คดี จี้ปรับปรุงกองทุนยุติธรรมให้เข้าถึงง่าย

เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย แถลงข่าวและมอบเกรด F ให้กับรัฐบาลไทย ล้มเหลวปกป้องสิทธิ 6 ด้าน และให้เกรด D- ปฏิบัติได้น้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง 2 ด้าน คือ กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี โดยการแถลงข่าว “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” จัดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ FCCT เมื่อ 4 มี.ค.

 

4 มี.ค. 2563 - ในโอกาส 103 ปีวันสตรีสากล “8 มีนาคม” โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  หรือ PI ภายใต้การสนับสนุนของโครงการกองทุนแคนาดาเพื่อความริเริ่มท้องถิ่น (CFLI) โดยสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง เนื่องในวันครบรอบ 103 ปีวันสตรีสากล โดยเปิดตัวรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

ทั้งนี้อนุสัญญา CEDAW เป็นกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและสนับสนุนความเสมอภาค ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้รัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นประเทศสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่คณะกรรมการ CEDAW ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อรัฐบาลไทย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้มีผลผูกพันทางกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงต่อคณะกรรมการ CEDAW ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ จึงได้ร่วมกันประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560 ถึงเดือนธันวาคม2562 ว่ารัฐไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW มากน้อยแค่ไหนอย่างไรในรูปแบบของการจัดเกรดให้คะแนน ผ่านรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW  “เหมือนการสอบมิดเทอม” ปรานมเปรียบเทียบ “ก่อนที่คณะกรรมการ CEDAW จะมีการประเมินการทำงานของรัฐบาลไทยต่ออนุสัญญา CEDAW ในรอบที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยรายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในประเทศไทย

สำหรับการให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 เกรด คือ เกรด A คือปฏิบัติตามอนุสัญญาและข้อเสนอของ คณะกรรมการ CEDAW อย่างน่าพึงพอใจ เกรด B มีการปฏิบัติตามพอสมควร เกรด C มีการปฏิบัติบ้างแต่ยังคงต้องปรับปรุง เกรด D มีการปฏิบัติบ้างแต่ถือว่าน้อยมากต้องปรับปรุงอย่างยิ่ง และเกรด F ไม่มีการปฏิบัติใดใดจากรัฐบาลหรือมีการปฏิบัติในแบบที่ตรงกันข้ามกับอนุสัญญาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW

โดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายให้เกรดตามข้อเสนอ 8 ประเด็นของคณะกรรมการ CEDAW  ที่ให้ไว้แก่รัฐบาลไทย ประกอบด้วย 

1. กรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้ D-
2. การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา ได้ F
3. ประสิทธิภาพและความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ F
4. ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง ได้ F
5. ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ F 
6. ผู้หญิงชนบท ได้ F
7. การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี ได้ D- 
และ 8. ความยากจน ได้ F

โดยมี น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  น.ส.ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้   น.ส. อลิสา บินดุส๊ะ   กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย และ น.ส.ภัทราภรณ์ แก่งจำปา ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย เป็นตัวแทนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่าย เข้าร่วมเสนอรายงานในครั้งนี้

พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศยังซับซ้อน พบผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้เข้าไม่ถึง

อลิสา บินดุส๊ะ กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่อง "กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย" ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายระบุในรายงานว่า คณะกรรมการ CEDAW มีการเสนอให้รัฐบาล แก้ไขมาตรา 17 (2) ของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและศาสนา และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนที่ เป็นผู้หญิงที่ทำงานบริหาร ผู้หญิงชาติพันธุ์ และผู้หญิงผู้ลี้ภัย รวมทั้งผู้หญิงที่อาศัยในพื้นที่ภายใต้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

อลิสา กล่าวด้วยว่า ในส่วนความก้าวหน้า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศแห่งชาติ ดังนั้นผลประเมินจึงได้เกรด D-

แนะคุ้มครองผู้หญิงชายแดนใต้ หยุด จนท.เก็บดีเอ็นเอ

อลิสา กล่าวว่าในประเด็นการเก็บตรวจดีเอ็นเอในสามจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลยังไม่มีปฏิบัติการใดๆ ที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะในด้านนี้ ทั้งยังมีการปฏบัติในทางตรงกันข้ามของอนุสัญญาข้อเสนอแนะของ CEDAW เด็กและผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ล้วนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความขัดแย้ง รวมถึงมีการเก็บดีเอ็นเอจากเจ้าหน้าที่โดยที่ไม่มีหลักการที่ชัดเจนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลการประเมินในด้าน “ผู้หญิงสันติภาพและความมั่นคง” ข้อนี้จึงเป็น F

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพียง 25 เข้าถึงกองทุนยุติธรรม เรียกร้องปรับปรุงให้เข้าถึงได้ง่าย

ภัทราภรณ์ แก่งจำปา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย

ภัทราภรณ์ แก่งจำปา ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กล่าวถึงการประเมินในด้าน “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา” เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีการปฏิบัติการใดๆ จากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตีตราทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยับยั้งผู้หญิงและเด็กให้แจ้งความดำเนินคดี โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงทางเพศ

อีกทั้งทัศนคติทางลบของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต่อผู้หญิงที่ร้องเรียนการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้การแจ้งความและการสอบสวนไม่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้นรัฐควรที่จะลดความซับซ้อนของกระบวนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และสร้างหลักประกันว่ากองทุนจะเป็นประโยชน์ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ภัทราพร กล่าวต่อว่าข้อเสนอที่ทาง CEDAW เสนอแนะมานั้น “ไม่มีข้อไหนที่รัฐบาลทำตามได้เลย กลับกลายเป็นว่าการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมีอุปสรรคและยากขึ้นไปอีก” ภัทราพรกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาระหว่างปี 2557-2562 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนเพียง 25 รายจาก440 รายที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ดังนั้นผลประเมินของรัฐบาลในด้านนี้คือ F 

เรียกร้องรัฐหยุดใช้กฎหมายคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ห่วงสถิติฟ้องร้องพุ่งต่อเนื่อง

ส่วนการประเมินด้าน “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ภัทราพรกล่าวว่ารัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และยังคงมีการดำเนินคดีกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 179 คน ถูกดำเนินคดี รวมถึงปี 2557 ก็มีการฟ้องร้องคดีผู้หญิงจากชุมชน 440 คน ทั้งที่คณะกรรมการ CEDAW ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยยุติการกลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ

และปี 2560 ที่ผ่านมา ก็ไม่พบว่ารัฐบาลจะสามารถนำผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกระบบและการบังคับให้สูญหายมาลงโทษได้แม้แต่คดีเดียว ผลประเมินจึงได้ F

ผู้หญิงในชนบท ไร้สิทธิ-ไร้เสียงในนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง  ถูกจำกัดสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากรธรรมชาติ

ชูศรี โอฬารกิจ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

ส่วนการประเมินในด้าน “ผู้หญิงชนบท” ชูศรี โอฬาร์กิจ ผู้แทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จากชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในชนบทยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางสังคมขั้นพื้นฐาน ถูกกีดกันจากกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเอง และยังต้องเผชิญกับการถูกจำกัดสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีการนำที่ดินไปใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในการทำเมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
“ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาไม่มีมาตรการพิเศษชั่วคราวใดๆ ที่จะบังคับใช้ และไม่มีการลงทุนในโครงการที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าแต่อย่างใด ในขณะที่งบประมาณด้านการทหารและความมั่นคงสูงถึงร้อยละ 11.5”

“นอกจากนี้ยังพบว่าการจ้างงานในกลุ่มผู้หญิงลี้ภัยเป็นแสนคน ยังกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติยังคงประสบกับการแสวงหาประโยชน์และการเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประจำตัวไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ที่สำคัญยังพบว่าในส่วนของนโยบายทวงคืนพื้นป่า จำนวนกว่า 500 คดีมีประมาณเพียง 10 คดีเท่านั้น ที่ดำเนินคดีต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นการดำเนินคดีต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซ้ำร้ายถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน รัฐบาลกลับให้ที่ดินในป่าสงวน ให้กับบรรษัทขนาดใหญ่ไปจัดสรรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ส่วนนี้จึงประเมินให้เกรด F แก่รัฐบาล

สังคมเหลื่อมล้ำสูง รัฐสอบตกแก้ปัญหาความยากจน

ในการประเมินด้าน “ความยากจน” ชูศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบการขจัดความยากจนให้เป็นการกุศล มากกว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ แม้จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน ทว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มใช้บัตรคนจนกับผู้มีรายได้น้อย แต่สวัสดิการดังกล่าวอยู่ในรูปแบบของการจับจ่ายในร้านบางร้านและจำกัดอยู่เฉพาะสินค้าบางชนิด โดยได้เพียง 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นอกจากนี้สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเงินช่วยเหลือเด็กต่ำกว่าหกขวบ ยังไม่เพียงพอ อัตราความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยผู้หญิงซึ่งมีภาระและความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูครอบครัวได้รับผลกระทบมากขึ้น ปลายปี 2562 โรงงานกว่า 200 แห่งถูกปิดตัวลง ทำให้คนงานผู้หญิงจำนวนมากตกงาน ในขณะเดียวกันผู้หญิงหลายพันคนและครอบครัวจากชุมชนคนจนเมืองยังเผชิญกับการถูกไล่ หรือโดยไม่มีการเสนอทางเลือกที่มีมาตรฐานเพียงพอหรือการชดเชยใดๆ การประเมิน “ด้านความยากจน” จึงให้ F

จี้กระทรวง พม.เปิดทาง ผู้หญิงบริการมีส่วนร่วมร่าง พ.ร.บ.ค้าประเวณี

ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงการประเมินด้าน “การแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณี” ว่า ขณะที่การประเมินการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีตามข้อเสนอของคณะกรรมการ CEDAW ว่า พบว่ารัฐบาลมีการปฏิบัติตามข้อเสนอบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก โดยในปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กำลังทบทวน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แต่กลับไม่มีช่องทางให้ผู้หญิงที่ทำงานบริการหรือองค์กรที่ทำงานเข้าไปมีส่วนร่วม

โดยเครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยยกเลิกความผิดทางอาญาต่อผู้หญิงในการค้าประเวณี พร้อมลงโทษบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากผู้หญิงในการค้าประเวณี รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ควรยุติมาตรการบุกเข้าจับกุมในสถานบันเทิงด้วยความรุนแรง การล่อซื้อ การบังคับ ข่มขู่ รีดไถ และจัดให้มีความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และการกลับคืนสู่สังคมให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกแสวงประโยชน์ในการค้าประเวณี อีกทั้งต้องสร้างหลักประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานและจัดสวัสดิการทางสังคมอย่างครบถ้วนในงานภาคบริการ

“ที่น่าตกใจได้ยินเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยพูดว่าเราไม่จำเป็นต้องทำตามที่ CEDAW บอก งานบริการยังคงถูกทำให้เป็นอาชญากรรม ตั้งแต่ปี 2560 มีผู้หญิงกว่า 5 หมื่นคนที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี จำนวนนี้มีผู้หญิง 105 คนที่ถูกล่อซื้อที่ร้านอาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเคร็ต ในปี 2561 ทั้งที่คณะกรรมการ CEDAW มีข้อเสนออย่างชัดเจนให้ยุติการบุกจับล่อซื้อ และกลับกลายเป็นว่าตำรวจสนับสนุนให้เอ็นจีโอทำงานล่อซื้อแทน แนวทางเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ไปอีก 3 เดือน จนกว่าเอ็นจีโอจะดำเนินการดังกล่าวเสร็จ”

ตั้งคำถามกรรมการสิทธิฯ ปกป้องรัฐมากกว่าประชาชน กฎหมายออกแบบให้กระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส

ส่วนการประเมินด้าน “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”ปรานมกล่าวว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่ายเห็นว่า ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ จากรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนตามที่คณะกรรมการ CEDAW เสนอแนะเช่นกัน โดยเฉพาะความไม่ชัดเจน ความไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกสม. ซึ่ง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 (พ.ร.ป. กสม.) ขัดต่อหลักการปารีส มีการให้อำนาจประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองเป็นผู้แต่งตั้ง กสม.ชั่วคราว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีปัญหาแต่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด

“ปี 2561 สนช.ได้แต่งตั้งข้าราชการที่เกษียณแล้ว 2 คนมาเป็นกสม.โดยตัดโอกาสผู้สมัครอื่นๆที่มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าอย่างชัดเจน ในปี 2562 กสม.ที่มีบทบาทโดดเด่นในการทำงานสองคนคือเตือนใจ ดีเทศน์ และอังคณา นีละไพจิตร ลาออกจาก กสม. ซึ่งที่ผ่านมา กสม.เคยเป็นสถาบันอิสระที่ครั้งหนึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือ เพื่อหนุนเสริมการต่อสู้ของชุมชน แต่ตอนนี้รู้สึกเหมือนประตูสู่กระบวนการยุติธรรมและกลไกการเยียวยาได้ปิดลงแล้ว นอกจากนี้กระบวนการในการตรวจสอบภายใต้ พ.ร.ป.ฉบับนี้ทำให้กสม.มีอำนาจปกป้องรัฐบาลแทนที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้การประเมินจึงได้เกรด F”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท