Skip to main content
sharethis

เวทีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลไทยสอบตกปกป้องสิทธิสตรี ‘อังคณา นีละไพจิตร’ เสียใจรัฐบาลใช้งบจัดตั้งไอโอคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ เสนอผู้ได้รับความเสียหายจากปฏิบัติการไอโอใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้มีการเยียวยา พร้อมสะท้อนเสรีภาพออนไลน์ว่าที่ผ่านมาราชการยังไม่เป็นกลไกปกป้องสิทธิได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันหากมีคนวิจารณ์รัฐ ตำรวจ ปอท. กลับเป็นฝ่ายดำเนินคดีคนเห็นต่าง

4 มี.ค. 2563 กรณีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 15 เครือข่ายแถลงข่าว  “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศหรือ FCCT ในโอกาส 103 ปีวันสตรีสากลตัดเกรดแจก F รัฐบาลไทยสอบตกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง โดยชี้ว่ารัฐบาลยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ ตามข้อเสนอแนะสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW นั้น

ในเวทีเดียวกัน ซินเธีย เวลิโก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) แสดงความห่วงใยต่อสถิติที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในไทยกว่า 440 ราย ถูกกลั่นแกล้งคุกคามจากการฟ้องคดีระหว่างปี 2557-2562 ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิภาพ

ซินเธียกล่าวด้วยว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิยังเผชิญความท้าทายจากการแปะป้ายตีตรา และการประจานออนไลน์ โดยการโจมตีเหล่านี้เพื่อโดดเดี่ยวพวกเขาและทำลายการสนับสนุนจากสมาชิกในชุมชน กรณีที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มีการคุกคามออนไลน์ พุ่งเป้าต่องานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เธอทำงานอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้เปิดโปงว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ เพื่อปฏิบัติการคุกคามออนไลน์และดิสเครดิตนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในเอกสารของราชการพบความเชื่อมโยงกับเว็บ pulony ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งอังคณา นีละไพจิตร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นเป้าหมายคุกคามด้วย

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายคุกคามออนไลน์ ได้กล่าวในเวทีแถลงข่าวโดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบและยุติปฏิบัติการนี้ "น่าเสียใจที่ปฏิบัติการไอโอเกิดขึ้นจากงบประมาณของรัฐเสียเอง" อังคณากล่าวในวงเสวนา

อังคณาเล่าถึงประสบการณ์ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่ควรมีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท ว่ายังไม่สามารถเป็นกลไกปกป้องสิทธิออนไลน์ได้อย่างแท้จริง “ที่ผ่านมาเคยไปแจ้ง บก.ปอท. 2 ครั้ง แต่ละครั้งต้องปริ้นท์เอกสารไปเอง เพื่อไปชี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เห็นว่าข้อความไหนเป็น hate speech ตรงไหนลดทอนความเป็นมนุษย์”

และในทางกลับกันเมื่อมีนักการเมืองหรือนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์เรื่องความมั่นคง ปอท. ก็กลับเป็นฝ่ายร้องทุกข์กล่าวโทษคนเห็นต่างจากรัฐ ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากการโจมตีออนไลน์ก็ต้องเป็นภาระไปแจ้งความเอง

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิแจก F รัฐบาลสอบตกด้านการปกป้องสิทธิสตรี, 4 มี.ค. 63

หลังรัฐประหารผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกฟ้องคดี 440 ราย เรียกร้องรัฐหยุดคุกคามคนเห็นต่าง, 6 ก.พ. 63

เปิดตัวผ้าปักควิลท์ 54 ผลงานผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ พร้อมเรียกร้องยุติฟ้องร้อง-คุกคาม, 5 ก.พ. 63

ต่อกรณีที่การปฏิบัติการไอโอมีความเกี่ยวข้องกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. นั้น อังคณายังเสนอให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ได้รับความเสียหาย ไปใช้สิทธิทางศาลพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ และเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

อังคณายังเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 15 เครือข่าย ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ CEDAW ให้รัฐบาลแก้ไขมาตรา 17 (2) ของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศฯ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและศาสนาด้วย โดยอังคณาเชื่อว่าการยกเลิกมาตรา 17 (2) ดังกล่าวจะช่วยสร้างสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังแสดงความเป็นห่วงที่ยังมีชาวบ้านเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรม เพราะมีระเบียบมากมายจนเป็นข้อจำกัด กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และปัญหาโครงสร้างระดับชาติ นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงว่ายังไม่มีมาตรการป้องกันคุกคามทางเพศในสถานประกอบการ และสถานศึกษายังไม่มีสภาพบังคับในรูปแบบกฎหมาย มีแต่ระเบียบเท่านั้น

อังคณายังเสนอให้งานปกป้องสิทธิสตรีเป็นประเด็นระดับชาติ จากเดิมที่เป็นงานระดับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และเสนอให้ยกระดับงานปกป้องสิทธิสตรีจากงานสงเคราะห์ ให้เป็นกลไกเพื่อปกป้องผู้ทรงสิทธิอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net