Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนระบุ กระทรวงพาณิชย์ยังตอบข้อชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) กับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาไม่ครบ ไม่ถูกต้อง ชี้อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา-การผูกขาดพันธ์ุพืช ชะลอการแข่งขัน-นำเข้า-ส่งออก ของยาชื่อสามัญ

4 มี.ค. 2563 วันนี้ จากกรณีที่อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) กับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ที่กลุ่มศึกษาความตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้แถลงข่าวต่อรัฐบาลไป เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้ระบุผ่านแฟนเพจเฟสบุ๊ก FTA Watch ไว้ว่าคำชี้แจงของกรมฯ มีบางส่วน ไม่ถูกต้อง ไม่ครบ และยังไม่ช่วยคลายกังวลในเรื่องผลกระทบของ CPTPP ได้แก่ประเด็น ต่อไปนี้

1. กรมฯ แจ้งว่าความตกลง CPTPP เปิดโอกาสในประเทศสมาชิกสามารถขอความยืดหยุ่นได้ ในกรณีนี้ ไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นสมาชิกของความตกลง CPTPP และความยืดหยุ่นในที่นี้หมายถึงความยืดหยุ่นสำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว และโดยส่วนใหญ่เป็นความยืดหยุ่นในเรื่องเงื่อนไขเวลาว่าจะปรับเปลี่ยนกฎหมายภายในประเทศในสอดคล้องกับความตกลง CPTPP ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการยกเว้นไม่ปฏิบัติข้อบทต่างๆ

2. นอกจากนี้ หากการเจรจาขอเข้าร่วม ไม่สามารถต่อรองความยืดหยุ่นได้ในประเด็นสำคัญที่อ่อนไหวมากๆ ที่ว่าประเทศไทยก็สามารถไม่เข้าร่วมความตกลงฯนั้น อำนาจยังเป็นการพิจารณาของรัฐบาลเพียงลำพัง เพราะตามมาตรา 178 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รัฐสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยจนกระทั่งการเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว และมาขออนุวรรตตามโดยให้เวลาพิจารณา 60 วันเท่านั้น ซึ่งต่างจากมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งเท่ากับให้คำมั่นสัญญากับตัวแทนประชาชนในประเด็นสำคัญที่ต้องเจรจาให้ได้ ฉะนั้นความเสี่ยงที่เมื่อเจรจาไม่ได้ แล้วอ้างว่ามีความจำเป็นต้องยอมรับความตกลงฯ โดยใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาสนับสนุน แม้การเข้าความตกลงนั้นจะได้ผลดีทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย แต่ส่งกระทบทางลบกับประชาชนส่วนใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้

3. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา FTA Watch ทราบดีเกี่ยวกับข้อบทที่เกี่ยวการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ไม่ว่าเพราะความล่าช้าในการให้สิทธิบัตรหรือให้ทะเบียนยา ว่าได้ถูกระงับไม่เจรจาต่อ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ถอนตัวไป แต่ข้อบทที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ในความตกลง CPTPP ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยา

3.1 จำกัดการใช้หรือทำให้การนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing (CL)) มาใช้เป็นไปได้ยากลำบากขึ้น โดยตัดเหตุผลที่จะนำมาตรการ CL ให้น้อยลง ซึ่งขัดกับความตกลงทริปส์ขององค์การกาค้าโลกและ พรบ. สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบัน (ดังเปรียบเทียบ)

#CPTPP มาตรา 18.6 (a)
ประเทศสมาชิกสามารถนำมาตรการ CL มาใช้ได้ในกรณี
1) ภาวะฉุกเฉินของประเทศ (national emergency) หรือ
2) ภาวะจำเป็นเร่งด่วนที่สุดอื่นๆ (other circumstances of extreme urgency)

#WTO’s TRIPs Agreement
มาตรา 31 (b)
ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกสามารถนำมาตรการ CL มาใช้ได้ในกรณีต่อไปนี้
1. ภาวะฉุกเฉินของประเทศ (national emergency) หรือ
2. ภาวะจำเป็นเร่งด่วนที่สุดอื่นๆ (other circumstances of extreme urgency) หรือ
3. การใช้โดยไม่แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สาธารณะ (public non-commercial use)

#พรบ_สิทธิบัตร ฉบับปัจจุบัน
มาตรา 51 กระทรวง ทบวง และกรมสามารถประกาศใช้มาตรการ CL ได้เพื่อ
1. ประโยชน์ในการประกอบกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือ
2. การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือ
3. การสงวนรักษาหรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม หรือ
4. ป้องกันหรือบรรเทาการขาดแคลนอาหาร ยา หรือสิ่งอุปโภคบริโภคอย่างอื่นอย่างรุนแรง หรือ
5. ประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
นอกจากนี้ มาตรา 52 ยังระบุว่ามาตรการ CL ยังสามารถใช้ได้ในภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉิน

3.2 ขจัดหรือชะลอการแข่งขันของยาชื่อสามัญ หรือขัดขวางการนำมาตรการ CL มาใช้ เพราะยาภายในมาตรการ CL อาจขอขึ้นทะเบียนยาไม่ได้ ในมาตรา 18.53 ของความตกลง CPTPP ระบุให้ประเทศสมาชิกต้องมีระบบการแจ้งเตือนกับผู้ทรงสิทธิบัตรเมื่อมียาสามัญมาขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นข้อผูกมัดเกินกว่าความตกลง TRIPs ขององค์การการค้าโลกและไม่อยู่ในกฎหมายของไทย โดยกำหนดไว้ 2 ทางเลือก คือ
#ทางเลือกที่1 ให้มีระบบแจ้งผู้ทรงสิทธิบัตรเมื่อมีผู้อื่นมาขอขึ้นทะเบียน ต้องกำหนดระยะเวลาที่พอเพียงและให้โอกาสผู้ทรงสิทธิในการขอการเยียวยา และต้องกำหนดให้มีกระบวนการที่สั่งห้ามขึ้นทะเบียน เพื่อหาทางแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรเสียก่อน
#ทางเลือกที่2 ประเทศต้องกำหนดให้มีระบบที่ใช้ทดแทนกระบวนการทางศาล ซึ่งจะต้องป้องกันการอนุญาตทะเบียนยาให้กับบุคคลที่สาม โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร

3.3 ขัดขวางการนำเข้าหรือส่งออกยาชื่อสามัญ ในมาตรา 18.76 ของความตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดจับยาที่ต้องสงสัยเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ในความตกลง TRIPs ไม่อนุญาตให้มีการยึดจับสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง
3.4 อาจสร้างความหวาดกลัวให้กับโรงพยาบาลไม่กล้าจ่ายยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่าให้กับผู้ป่วย ในมาตรา 18.77 ของความตกลง CPTPP ผู้ทรงสิทธิจะสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ ในกรณีที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ บุคคลอื่นๆ ในที่นี้อาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นๆ อาจรวมถึงโรงพยาบาล ในขณะเดียวกัน เครื่องหมายการค้าหรือชื่อการค้าที่คล้ายคลึงอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดกับบุคคคลอื่น และฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้อาจถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่มีลิขสิทธิ์ได้

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ยังน่ากังวลที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ซึ่งยังอยู่ในความตกลง CPTPP ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพยายามบอกว่า ไม่มีปัญหาหรือข้อกังวลแล้ว แต่กรมฯ ไม่เคยพูดถึงในรายละเอียดรายมาตราและผลของการบังคับใช้ของมาตราดังกล่าว แต่มักจะบอกรวมๆ ว่าไม่มีปัญหา ไม่มีมาตราที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะสร้างผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และสามารถเจรจาขอให้มีความยืดหยุ่นได้ ทั้งๆ ที่ความยืดหยุ่นดังกล่าวเป็นการขอประวิงเวลาเท่านั้น ไม่ใช่การยกเลิกหรือข้อยกเว้นไม่ปฎิบัติตามได้

ยิ่งในภาวะการระบาดของ #COVID19 การพึ่งตัวเองได้ด้านยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการที่รัฐสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะที่จำเป็นเร่งด่วนได้ จึงมีความสำคัญยิ่ง แต่ความตกลงฯดังกล่าวจะจำกัดพื้นที่การกำหนดนโยบายสาธารณะเหล่านี้ทั้งหมด

4. ในส่วนของข้อกังวลเรื่องที่เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกได้ หากเข้าเป็นสมาชิก #UPOV1991 นั้น ในคำชี้แจงของอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า UPOV 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิกสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ แม้จะเป็นสมาชิก UPOV 1991 คำชี้แจงนี้ไม่เป็นความจริง
4.1 ความตกลงในอนุสัญญา UPOV 1978 ซึ่งเป็นพื้นฐานของการร่างกฎหมายคุ้มครองของไทยนั้น
กำหนดให้การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อนั้นเป็นสิทธิพื้นฐานของเกษตรกร (farmers' privilege) แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV1991 นั้นจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายพันธุ์พืชเปิดทางให้มีการห้ามเกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ โดยในร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ....ที่กรมวิชาการเกษตรได้ร่างเอาไว้เพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 นั้น ในมาตรา 35 วรรคสองได้ระบุว่า “รัฐมนตรีโดยข้อเสนอของกรรมการสามารถห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อทั้งหมดหรือบางส่วนได้”
#การห้ามเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น ทำลายวิถีวัฒนธรรมการเก็บรักษาและแบ่งปันการใช้พันธุ์พืชของเกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารอย่างสำคัญ

4.2 การชี้แจงของอธิบดีฯยังปิดบังเรื่องผลกระทบต่อเกษตรกรอีกในหลายเรื่องสำคัญ ดังนี้
- ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทออกไปตาม UPOV1991 โดยขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชซึ่งตาม UPOV 1991 กำหนดไว้ที่ 15 -20 ปี เป็น 20-25 ปี
- ขยายการผูกขาดจากเดิมกำหนดอนุญาตให้เฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” ให้รวมไปถึง “ผลผลิต” และ “ผลิตภัณฑ์” ด้วย
- ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่ หรือสายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties-EDVs) เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองของบริษัท เป็นต้น

4.3 การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 ยังส่งผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตัดการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมออกเมื่อบริษัทประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ และแก้คำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์

งานศึกษาซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)เมื่อปี 2556 ซึ่งมีคณะที่ปรึกษาประกอบไปด้วย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการด้านทรัพยากรชีวภาพ นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอดีตข้าราชการของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ติดตามความตกลงเรื่องการเปิดเสรีทางการค้ามาอย่างยาวนาน เพื่อประเมินผลกระทบจากการเข้าเป็นภาคี UPOV1991 โดยคำนวณผลกระทบเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าความตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่เพิ่มอำนาจการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพนั้น จะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 1.2-2.2 แสนล้านบาทต่อปี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net