Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรมว.วัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศลดขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา หวั่นเอื้อนายทุนทำเหมืองหิน และไม่เคยเปิดรับฟังความเห็นคนในพื้นที่-ไม่มีการศึกษาผลกระทบ ด้านเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ออกแถลงการณ์ชี้การกระทำนี้คือความพยายามหลบเลี่ยงกฎหมาย จ่อฟ้องศาลปกครอง

ที่มาภาพจาก : The Reporters

5 มี.ค. 2563 The Reporters รายงานว่า กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร ในการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขาจะลา เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชน หลังกรมศิลปากรประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

วรา จันทร์มณี ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ จากเหตุผลในการลดพื้นที่ ยังไม่เพียงพอในการระเบิดภูเขาเพื่อการอุตสาหกรรมและไม่เกี่ยวข้องกับการลดการก่อความไม่สงบ การระเบิดหินจะส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสีและทำให้พื้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกิดเหตุการณ์ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ยาว 3 เมตร ถล่มจากการระเบิดหิน ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ 2560 ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนตามกฏหมาย การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานครั้งนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน นอกจากนี้การประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก็ไม่ได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ และไม่มีการศึกษาหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตว่า การลงนามเปลี่ยนแปลงขอบเขต เกิดขึ้นในวันสุดท้ายในการปฏิบัติราชการของอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อนด้วย

ทั้งนี้ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้ ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของอธิบดีคนก่อนว่ากระทำไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ขอให้กรมศิลปากรเร่งสำรวจพื้นที่ ต.ลิดล - ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์  เร่งสำรวจและประกาศเขตที่ดินโบราณสถานในพื้นที่ภูเขาที่ตกค้าง ไม่เปิดให้เกิดการตัดเฉือนเพื่อทำลายอีก และ กระทรวงวัฒนธรรมต้องให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เร่งสร้างการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณคดีให้ได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย

ขณะที่ ประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยันว่า กระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญต่อพื้นที่ดังกล่าว โดยจะรับข้อร้องเรียนกังกล่าวนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ด้านพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่า จะเร่งทำการตรวจสอบ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนมีการประกาศลดพื้นที่นั้น การทำประชาพิจารณ์เพื่อทำสัมปทานเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติมต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีนี้เช่นเดียวกัน โดยของให้มีการเพิกถอนประกาศกรมศิลปากร มีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้

แถลงการณ์ ขอให้เพิกถอนประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา 

จากกรณีที่กรมศิลปากร ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2563 เรื่อง แก้ไข เขตที่ดินโบราณสถาน โดยได้มีการแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ตําบลลิดล ตําบลยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา จากประกาศเดิมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากในพื้นท่ีจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหิน อุตสาหกรรม จากสาเหตุที่แหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทําให้จําเป็นต้องอาศัยแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขายะลาซ่ึงเป็นท่ีต้ังของโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ดังนั้นเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นภาคใต้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 จึงประกาศแก้ไขเขตท่ีดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อําเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 697 ไร่ 75 ตารางวา นั้น

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เห็นว่าการเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการออกประกาศที่ขัดต่อวิสัยทัศน์พันธกิจ และบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปากร ซึ่งควรต้องปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์บํารุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อธํารงคุณค่าและเอกลักษณ์ต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การที่อธิบดีกรมศิลปากรอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 ซึ่งตามมาตราดังกล่าวเมื่อตีความแล้วจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาหรือควบคุมโบราณสถานในการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์บํารุง รักษา ฟื้นฟูศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการนําพื้นที่แหล่งโบราณสถานให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจกรรมอื่นใดที่มีลักษณะทําลายหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถานศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม หรือแม้แต่การกําหนดให้เป็นเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมสํารองของจังหวัดด้วยก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้นผลกระทบจากการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่บางส่วนของภูเขายะลาเพียงส่วนเดียวก็ส่งผลกระทบในภาพรวมต่อภูเขาทั้งลูกและแหล่งโบราณสถานด้วย เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินและการทํางานของเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทําเหมือง ซึ่งได้เกิดกรณีการที่ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดยาว 3 เมตร ได้พังถล่มลงมา และเกิดรอยร้าวบริเวณอื่น ๆ ของแหล่งโบราณสถานด้วย โดยแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สําคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุเก่าแก่มากถึงราว 3,000 ปี โดยได้มีการสํารวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพํานักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เช่น ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และสัตว์เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน และภาพเขียนสีอยู่ตามถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง และควรพัฒนาแหล่งโบราณสถานมรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนจังหวัด และประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตามการที่อธิบดีกรมศิลปากรออกประกาศเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วน เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการเข้าทําประโยชน์ในกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นความพยายามในการหลบเลี่ยงกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ‘พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม’ ซึ่งการปล่อยให้ผู้ประกอบการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นการกระทําผิดขัอต่อพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ประกอบการต้องหยุดดําเนินกิจกรรมใด ๆ ในการทําเหมืองทั้งหมด แต่ทว่าอธิบดีกรมศิลปากรกลับไปเพิกถอนพื้นที่แหล่งโบราณสถานเพื่อเปิดทางให้เกิดการทําเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่แหล่งโบราณสถานต่อไป โดยละเลย/เพิกเฉยต่อคุณค่าและความสําคัญทางประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชุมชนและของชาติ

ด้วยเหตุนี้การที่อธิบดีกรมศิลปากรเพิกถอนขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาบางส่วนเอื้อให้ผู้ประกอบการทําเหมืองหินอุตสาหกรรม เป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและเข้าข่ายขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2563 และขอให้ยกเลิกเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมบนภูเขายะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา ทั้งหมดโดยด่วน ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จะดําเนินการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้อย่างถึงที่สุด รวมทั้งการฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net