รัฐบาลต้องทำอะไร เมื่อ ธ.โลกบอกว่าสังคมไทยกำลังจนลง-เหลื่อมล้ำขึ้น

ธนาคารโลกเปิดตัวรายงานฉบับล่าสุด เผย ช่วงปี 2558-2561 ไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านคน กำจัดความยากจนช้าลง เหตุกระทบจากเศรษฐกิจโลก ค่าแรงไม่เพิ่มมานาน ภัยธรรมชาติ นโยบายรัฐไม่เพียงพอกับเงินที่เสียไป เรียกร้องมาตรการช่วยเหลือทุกภาคส่วน ลงทุนทรัพยากรมนุษย์ ลดเหลื่อมล้ำในระยะยาว

เศรษฐกิจเป็นปัจจัยใหญ่ที่ตัดสินความสำเร็จ-ล้มเหลว และการอยู่-ไป ของรัฐบาลแทบทุกประเทศบนโลก เพราะประชาชนที่ท้องกิ่วสามารถล้มรัฐมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารมีความพยายามยกระดับเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ จัดสรรสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนที่มีฐานะยากจน ดังที่เห็นในสารพัดโครงการประชารัฐ บัตรคนจน ไปจนถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ

กระนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับดับลงทีละตัวๆ อัตราการส่งออกถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการบริโภคของประชาชนลดลง จะมีก็คงการใช้จ่ายจากภาครัฐที่ใช้จ่ายไปกับสารพัดโครงการและการซื้ออาวุธ ในขณะที่โอกาสด้านการจ้างงานมาไม่ทันการปิดตัวของสารพัดธุรกิจและข่าวฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

มิหนำซ้ำ แนวโน้มความเหลื่อมล้ำกลับสูงขึ้น ดังที่รายงาน CS Global Wealth Report ของสถาบันการเงินเครดิตสวิส รายงานเมื่อปี 2561 ว่า คนไทยเพียง 1% ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง 66.9% และยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองปีที่ก่อนหน้านั้น 

เรากำลังเดินมาถูกทางหรือไม่

5 มี.ค. 2563 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ธนาคารโลกจัดเปิดตัวรายงานหัวข้อ "จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย" จากการประเมินสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

จูดี้ เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ขณะกล่าวแนะนำตัวในงาน

แม้ไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนจากเดิมที่ร้อยละ 65.2 ในปี 2531 จนเหลือร้อยละ 9.85 ในปี 2561 แต่ว่าอัตราการลดลงนั้นค่อยๆ ช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2561 ประชากรที่ยากจนมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มจากปี 2558 มา 1.8 ล้านคน (คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 7.21 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.85)

กรุงเทพฯ มีอัตราการลดลงของความยากจนเร็วที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการลดความยากจนช้าที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง รูปแบบเศรษฐกิจไม่หลากหลาย และพึ่งพากับภาคเกษตรกรรมมากว่า ทำให้เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและภัยธรรมชาติ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยอาจเหลื่อมล้ำมากกว่าในรายงาน Global Wealth Report

สามชาย ศรีสันต์: นิยาม-แก้ปม 'คนจน' มีปัญหา เสนอให้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม

จังหวัดที่มีคนยากจนเยอะที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 49.13) ปัตตานี (39.27) กาฬสินธุ์ (31.26) นราธิวาส (30.10) และตาก (28.97) อัตราความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560 และในทางจำนวน พบว่าในปี 2558-2561 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคนในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

หนึ่งในสไลด์นำเสนอ

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นพร้อมความท้าทายทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยมีอัตราเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค (ร้อยละ 2.7) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 อัตราการส่งออกลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระดับโลก ภาคส่วนการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะถดถอย นอกจากนั้น ภัยแล้งและน้ำท่วมมากระทบต่อชีวิตของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว 

ประเทศไทยเคยมีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง (ปี 2541 2543 2551 2559 และ 2561) ทั้งนี้ ช่วง 3 ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทวิกฤตเศรษฐกิจอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา 

ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ แม้ไทยจะอยู่ในระดับ "ดี" เมื่อวัดกันด้วยตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดี เด็กปฐมวัยได้เข้าถึงการศึกษา มีน้ำใช้ มีระบบสุขาภิบาลและไฟฟ้าใช้ได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันมีเพียงร้อยละ 0.03 เท่านั้น แต่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุดร้อยละ 40 อย่างทั่วถึง ในช่วงปี 2558-2560 พบว่าประชากรกลุ่มดังกล่าวมีการบริโภคและรายได้ติดลบ แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันเกิดจากรายได้ของแรงงานทุกประเภทที่ลดลง ค่าแรงไม่เพิ่ม และมีรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง

การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังคงขาดในแง่ของคุณภาพ เช่น การเข้าถึงการศึกษามีมากกว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เด็กอายุ 6-14 ปีในกรุงเทพฯ เกินครึ่งสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ต่างๆ แต่เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเช่นนั้นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ในระยะสั้นนั้น ไทยต้องบังคับให้มีการใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (safety net - มาตรการบรรเทาภาวะวิกฤตต่างๆ) ต้องระบุกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เที่ยงตรงกว่านี้ และสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

ในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่ถือเป็นประเด็นสำคัญ เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียมและได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาและสุขภาวะเพื่อให้พวกเขามีโอกาสใช้ศักยภาพของพวกเขาให้เต็มที่ ส่วนนี้จะช่วยให้ครัวเรือนต่างๆ ขยับตัวหลุดพ้นจากกับดักความยากจนที่ส่งทอดกันเป็นรุ่นๆ ช่วยค้ำจุนประชาชนที่สูงวัย และกระตุ้นการเติบโตของประเทศไทยด้วย

จูดี้ เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ตอบคำถามเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างความยากจนและความเหลื่อมล้ำกับนโยบายรัฐว่า จากข้อมูลที่พบในรายงานนั้น จะพบว่าการช่วยเหลือทางนโยบาย เช่นนโยบายประชารัฐมีส่วนช่วยให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะปัญหาเศรษฐกิจน้อยลง แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้การช่วยเหลือทางสังคมดีขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้การช่วยเหลือเหล่านั้นเข้าถึงได้เพียงกลุ่มคนยากจน แต่กับคนระดับอื่นด้วย

จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ความยากจนนั้นไม่ได้มีนิยามเพียงแค่เรื่องเงินตรา แต่ยังหมายถึงการเข้าถึงคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การดูแลสุขอนามัย และความเหลื่อมล้ำเองก็หมายความรวมถึงการจัดสรรรายได้และโครงสร้างภายในต่างๆ ด้วย

จูดี้อธิบายข้อมูลในรายงานว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกี่ยวพันกับอัตราการบริโภคที่ลดลง ในปี 2558-2561 อัตราส่วนการบริโภคมีการเติบโตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2557-2558 ภาคส่วนที่การบริโภคมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดคือภาคกลาง

รายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจตกลงในช่วงปี 2557-2561 มาตรการช่วยเหลือทางสังคมยังไม่พอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลง

"ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจเรื่องความเปราะบางในเรื่องต่างๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมที่กระจายความมั่งคั่งได้ทั่วถึงทุกคน"

"การกำจัดความยากจนที่ฝังรากมานาน ต้องคำนึงถึงกลยุทธ์การเติบโตที่ต้องใช้ทั้งการบรรเทาความเสี่ยงในระยะสั้นและสิ่งที่จำเป็นในการลงทุนระยะยาว" จูดี้กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท