Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพจาก: www.freepik.com

5 มี.ค. 2563 ประมวลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบวัน ในภาพกว้าง ข้อมูลจากสำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 47 ราย มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 4 มี.ค. 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 3,895 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 128 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 3,767 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,319 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,576 ราย

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกใน 80 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค. –  5 มี.ค. 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 94,380 ราย เสียชีวิต 3,221 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,282 ราย เสียชีวิต 2,981 ราย

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี ทุ่ม 100 ล้านบาท เร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี

สื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ รายงานว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน โดยเฉพาะวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้เกิดในประเทศไทย ถือเป็นหน้าที่ของเครือซีพีในการทำเพื่อคนไทยจึงได้ตัดสินใจนำเงินจำนวนประมาณ 100 ล้านบาทเร่งสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นและประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง ในช่วงเวลาวิกฤตที่คนไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยจะใช้ศักยภาพของเครือข่ายการลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก จัดหาเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสุขอนามัยสามารถใช้ในการป้องกันเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ทั้งนี้โดยโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จภายใน 5 สัปดาห์จะมีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมีความจำเป็น และประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงต่อไป

“หน้ากากอนามัยที่เราจะผลิตเพื่อแจกฟรีแก่พี่น้องชาวไทยถือเป็นหน้าที่ของเครือซีพี เราลงทุนในหลายประเทศ ทำให้น่าจะนำศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบที่ปัจจุบันกำลังขาดแคลน รวมการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเราก็มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประเทศไทยอย่างดีที่สุดด้วย เพราะเครือเจริญโภคภัณฑ์เกิดและเติบโตในประเทศไทยมาจนเกือบครบ 100 ปีแล้ว เราเข้าใจในช่วงนาทีที่ยากลำบากนี้ และคิดว่าภาคธุรกิจหลายองค์กรก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับเรานอกจากนี้หลังเข้าสู่ภาวะปกติโรงงานนี้จะดำเนินการโดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะมอบให้กับศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ ต่อไป” ธนินท์ กล่าว

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แนะประชาชนปฏิบัติตามมาตรการรับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหลัก

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 ในรายการบอกเล่า 965 ออกอากาศทางคลื่นความคิด FM 96.5 ช่วง สานพลังสร้างสุขภาวะกับ สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แนะให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการและรับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหลัก เพื่อรับมือไวรัส COVID-19 ขณะที่ทาง สช. จะทำหน้าที่ประสานภาคีเครือข่ายที่มีอยู่ทุกจังหวัด หาแนวทางร่วมกันต่อไป

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในแง่การแพทย์และการป้องกันนั้น สธ. มีแนวทางมาตรการชัดเจนอยู่แล้ว และยังประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามมาตรา 4 ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย และเพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่การมีมาตรการเข้มข้นและป้องกันล่วงหน้า ก็เพื่อชะลอการระบาดให้ช้าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ต่อประเด็นที่ว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้แพทย์ทราบ ซึ่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า ข้อมูลด้านสุขภาพถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ ท่ามกลางกระแสสังคมที่หวั่นกลัวเชื้อ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเก็บตัวเงียบเพราะไม่ต้องการถูกรังเกียจ นพ.ปรีดา อธิบายประเด็นนี้ว่า

“ข้อมูลส่วนบุคคล ใครจะเอาไปเปิดเผยไม่ได้ แม้แต่แพทย์พยาบาลก็ทำไม่ได้ แต่สมมติเราเจ็บป่วยไม่สบาย มีโรคประจำตัว แล้วเราไม่บอก จะเป็นผลเสียต่อตัวเองอย่างยิ่ง เพราะเมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนการวินิจฉัยก็อาจผิดพลาด ถ้าไม่บอกว่าไปที่ไหนมา เป็นพื้นที่เสี่ยงไหม กว่าจะเจออาการก็มากแล้ว และอาจแพร่เชื้อสู่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว การปกปิดข้อมูลกับแพทย์และโรงพยาบาลจึงไม่เป็นผลดีต่อใครเลย” 

“แต่สังคมต้องเข้าใจว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ถ้าติดเชื้อแล้ว การประณามหยามเหยียดไม่เป็นผลดีเช่นกัน ต้องเข้าใจ เห็นใจกัน ถ้าทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย เฝ้าระวัง ช่วยเหลือกัน น่าจะเป็นส่วนที่ดีที่สุด และไม่พูดอะไรที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกหรือรังเกียจเดียดฉันท์ เพราะนั่นจะทำให้คนที่ไม่สบายไม่เปิดเผยตัวเองมากขึ้น และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์” นพ.ปรีดา กล่าว

ส่วนบทบาทของ สช. นั้น นพ.ปรีดา เปิดเผยว่า สช. กำลังหารือความร่วมมือกันในเรื่องนี้กับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ภาคียุทธศาสตร์ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อร่วมกันวางมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงการสื่อสารกับภาคีไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

“ที่เราทำอยู่คือ การสานพลัง พูดคุยแจ้งแนวทางไปยังภาคีเครือข่าย โดยเพิ่งพูดคุยกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เห็นตรงกันว่าถ้าร่วมมือกัน สื่อสารไปยังภาคี ภาคประชาสังคมในระดับจังหวัดและตำบลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อตั้งวงพูดคุยว่าในชุมชนจะช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง เช่น มีหลายกลุ่มที่ทำหน้ากากอนามัย เราก็อาจไปสนับสนุนให้กับกลุ่มด้อยโอกาสหรือกลุ่มเสี่ยง สร้างการรณรงค์และร่วมมือกันระดับจังหวัด ระดับตำบล ซึ่งทาง สช. มีภาคีสื่อสุขภาวะในเครือข่ายสื่อท้องถิ่นอยู่ และยังมีสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่จะเคลื่อนไหวร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ตั้งวงพูดคุยและทำกิจกรรมที่ร่วมมือกัน หนุนเสริมกันและกัน”

“ในแง่ตัวบุคคล จะทำอะไรได้บ้าง พลังชุมชนสำคัญมาก รวมกลุ่มกัน พูดคุยกัน กิจกรรมที่ทำได้ก็ทำเลย หรือใครที่กลับจากพื้นที่เสี่ยงไปอยู่บ้าน ถ้าเราเข้าใจกันและกัน คนในชุมชนในพื้นที่ก็อาจช่วยเหลือสนับสนุน ให้คำแนะนำ ให้ข่าวสาร ผมว่าแบบนี้คนจะไม่แตกแยก กิจกรรมในชุมชนก็จะเกิดประโยชน์” นพ.ปรีดา กล่าว

นพ.ปรีดา ย้ำด้วยว่าให้ประชาชนติดตามข่าวจากทางกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ข้อมูลใดที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จไม่ควรแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันความสับสน

คลังจ่อแจกเงินเดือนเยียวยาประชาชนบรรเทาผลกระทบโควิด-19

วานนี้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เตรียมชุดมาตรการ “ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1” เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันที่ 6 มี.ค.63 และจะนำเรียนเข้าสู่ครม. เพื่ออนุมัติชุดมาตรการในวันที่ 10 มี.ค. ต่อไป ซึ่งชุดมาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดูแลประชาชนอย่างครอบคลุม ตรงจุด ซึ่งจะเป็นชุดเน้นมาตรการที่สามารถทำได้ทันที และเป็นชุดมาตรการชั่วคราว เล็งให้เกิดผลในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดูแลสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะเป็นกลไกช่วยเหลือแบบมีเงินทุนดูแลด้วยการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยจะมีการเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพื่อตรวจสอบสิทธิเหมือนกับโครงการที่เคยมีมา อย่างเช่น โครงการชิมช้อปใช้ อย่างไรก็ดี โครงการนี้ไม่ได้มีเงื่อนไขซับซ้อน หากผ่านการตรวจสอบสิทธิแล้วก็สามารถใช้จ่ายได้เลย ไม่มีเงื่อนไขกำหนด และคาดว่าจะเป็นการโอนเงินให้แบบรายเดือน ส่วนวงเงินที่จะโอนเข้าระบบอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมที่ จำนวน 1,000-2,000 บาท ด้านจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการ ที่มีอยู่ 14 ล้านคนแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะใช้งบประมาณในจำนวนที่เหมาะสมกับสถานการณ์

“หากชุดมาตรการผ่านครม.แล้ว จะสามารถเริ่มขบวนการปฏิบัติการได้ทันที ไม่ชักช้า เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์แล้ว เบื้องต้น ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะทำงานมาดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ หากมีความจำเป็นที่จะใช้บุคคลากรเพิ่ม เช่น กรมบัญชีกลางที่จะมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น หากใช้บุคลากรจำนวนมาก ก็จะมีการจ้างงานเพิ่ม” นายอุตตม กล่าว

ส่วนในด้านตลาดทุน จะมีมาตรการช่วยเหลือเช่นกัน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เข้าไปหารือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), ตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเรื่องการปรับรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้มีลักษณะใกล้เคียงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ตลาดทุนได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นการนำกลับมาใช้ชั่วคราว ซึ่งขณะนี้สศค.และกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง

ขณะที่ในกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็กและรายกลาง ซึ่งจะดูแลครอบคลุมทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยจะมีการออกสินเชื่อที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่อนปรนการสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่จะให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของตนเองต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ส่วนวงเงินที่จะใช้คาดว่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวจะมาจากกระทรวงการคลังไม่ได้ร่วมกับกับธปท.

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยดูแลพนักงานโดยไม่ให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างงาน จะจูงใจด้วยภาษี ซึ่งจะเป็นลักษณะการนำค่าใช้จ่ายจากการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า และจะมีการพิจารณาภาษีรูปแบบอื่นด้วย เช่น ภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะพิจารณาในรูปแบบหัก ณ ที่จ่ายน้อยลง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังไปพิจารณาค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วย อาทิ ค่าธรรมเนียมจากการเก็บค่าเช่าของกรมธนารักษ์ ให้ผ่อนปรนค่าธรรมเนียมในระยะเวลาชั่วคราว เป็นต้น ส่วนภาษีสรรพสามิตและการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% ยังไม่ได้อยู่ในแผนมาตรการชุดดังกล่าว

“ชุดมาตรการดังกล่าว ได้มีการพิจารณาอย่างรอบครอบ กระทรวงการคลังไม่ได้คิดเพียงฝ่ายเดียว ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้า, สมาคมธนาคารไทย, และรวมถึงธปท. ด้วย ฉะนั้น มาตรการดังกล่าวจะสามารถดูแลสถานการณ์ในภาวะที่ไม่ปกติได้ แต่ก็เน้นย้ำว่า ยังอยู่ในวินัยการเงินการคลัง 100%” อุตตม กล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เบื้องต้น มองว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ประเทศไทยนั้น ธปท.ก็ได้มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นอำนาจที่ธปท.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนกับเฟดหรือไม่ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังก็ได้มีการหารือร่วมกับธปท.อย่างใกล้ชิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net