7 ข้อน่ารู้ในรายงาน WHO หลังลงพื้นที่ในจีน ชี้ แผนสาธารณสุขที่ดีมีความสำคัญ

เปิดดูรายงานองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) จากการลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับจีน โดยระบุถึงความรู้เกี่ยวกับโรคใหม่นี้ไว้ในแง่มุมต่างๆ เช่น สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดต่อ อาการ ปัจจัยที่เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของผู้รับเชื้อ รวมถึงระบุว่าอัตราสถิติของผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้วในจีน

6 มี.ค. 2563 โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังจับตา การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคนี้มีกรณีที่ได้รับการตรวจพบแล้ว 89,000 กรณี และแพทย์กับคนทำงานสาธารณสุขก็ต่อสู้กับการระบาดของโรคมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ในขณะที่บางประเทศกำลังเตรียมการรับการระบาดโดยมีมาตรการทางสาธารณสุข

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในจีนซึ่งเป็นแหล่งพบการระบาดหนักครั้งแรกก็เริ่มมีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงแล้ว แต่ในบางประเทศก็กำลังเพิ่มมากขึ้นเช่นในเกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน และสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้วและมีโอกาสจะค่อยๆ ลดระดับลง

ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานขององค์การอนามัยโลกที่เพิ่มออกมาไม่นานนี้โดยทำการสำรวจในช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ตามที่ต่างๆ ในจีน เช่น ในกรุงปักกิ่ง มณฑลอู่ฮั่น เสิ่นเจิ้น กวางโจว เฉิงตู และจากความร่วมมือของจีน ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ COVID-19 ที่องค์การอนามัยโลกศึกษาพบมีดังนี้

1. การกระจายเชื้อในระดับกลางหรือแบบกลุ่มย่อย (clusters) มักจะมาจากการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัว

WHO แบ่งระดับการแพร่กระจายของการติดเชื้อไว้ 3 ระดับ คือในระดับสูงหรือระดับชุมชน ในระดับกลางคือกลุ่มย่อย (clusters) และในระดับต่ำหรือประปราย สำหรับกรณีการติดเชื้อแบบกลุ่มย่อยนั้นร้อยละ 78-85 ในจีนมักจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อด้วยสาเหตุสัมผัสกับละอองของเหลวในร่างกายของผู้มีเชื้อที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กในระยะไกลนั้นไม่ใช่สาเหตุหลักของการระบาด ส่วนกรณีที่คนทำงานสาธารณสุขได้รับเชื้อในจีนนั้นส่วนมากได้รับเชื้อจากครอบครัวหรือเป็นการรับเชื้อในช่วงเริ่มต้นของการระบาดที่ยังไม่มีระบบการป้องกัน

2. COVID-19 เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์มาจากสัตว์ก็จริง แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามาจากค้างคาวจริงหรือไม่

WHO ระบุว่าจากการพิจารณายีนส์ มีความเป็นไปสูงที่ค้างคาวจะเป็นแหล่งของเชื้อ COVID-19 แต่ทว่ายังไม่ใช่ข้อสรุปและนับว่ายังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดใดกันแน่ โดยที่ยังคงต้องรอตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปรวมถึงการตรวจสอบเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิดที่ซื้อขายกันในตลาดหัวหนาน เมืองอู่ฮั่น แหล่งที่มีการระบาดหนักที่สุด

3. อาการของโรคส่วนใหญ่คือไข้และไอแห้ง อาเจียน-คัดจมูก เกิดน้อย

WHO ระบุว่าคนที่เป็นโรค COVID-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ (ร้อยละ 87.9) รองลงมาคืออาการไอแห้ง (ร้อยละ 67.7) อาการเหนื่อยล้า (ร้อยละ 38.1) มีเสมหะ (ร้อยละ 33.4) หายใจไม่สะดวก (ร้อยละ 18.6) เจ็บคอ (ร้อยละ 13.9) ปวดหัว (ร้อยละ 13.6) ปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 14.8) ตัวเย็น (ร้อยละ 11.4) อาการที่เกิดขึ้นน้อยได้แค่ คลื่นไส้อาเจียน (ร้อยละ 5) คัดจมูก (ร้อยละ 4.8) ท้องเสีย (ร้อยละ 3.7) อาการที่เกิดน้อยมากคือไอเป็นเลือด (ร้อยละ 0.9) และ ตาแดง (ร้อยละ 0.8)

4. ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการเลย มีน้อยมากที่ไม่แสดงอาการ

ในกรณีที่มักจะมีผู้ระบุว่าคนไข้ไม่แสดงอาการก็มีนั้น WHO ระบุในรายงานมีกรณีเช่นนี้อยู่น้อยมาก คนไข้ส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการในช่วงประมาณ 5-6 วัน คนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ที่ติดเชื้อ COVID-19 มักจะมีอาการในระดับเบา ไม่ว่าจะมีอาการปอดบวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ขณะที่ร้อยละ 13.8 จะมีอาการระดับหนัก และร้อยละ 6.1 อยู่ในขั้นวิกฤต

5. อัตราการเสียชีวิตต่ำ คนเสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคแทรกซ้อนและมีอายุมาก

WHO ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 3-4 ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตมากกว่าคือผู้สูงอายุและมีภาวะแทรกซ้อนอยู่แล้ว เช่น เป็นเบาหวาน, ความดันสูง, โรคหัวใจ, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และมะเร็ง อัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยของคนอายุ 49 ลงมาต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่คนยิ่งสูงอายุอัตราการเสียชีวิตก็จะยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ข้อมูลจากกราฟรายงานขององค์การอนามัยโลกยังระบุว่าจำนวนการตรวจพบผู้ป่วยในจีนเริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้วนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

6. กรณีหนักรักษา 3-6 สัปดาห์ กรณีเบารักษา 2 สัปดาห์

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักนั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลารักษาตัวประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่มีอาการสาหัสไปจนถึงขั้นวิกฤตต้องใช้เวลาพักฟื้นราว 3-6 สัปดาห์โดยเฉลี่ย จากข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าช่วงเวลาที่จะทำให้คนมีอาการระดับสาหัสเช่นมีภาวะอ็อกซิเจนน้อยนั้นอยู่ที่ 1 สัปดาห์ มีข้อเสนอแนะว่าการตรวจพบกรณีแต่เนิ่นๆ จะทำให้มีการรักษาได้เร็วขึ้น

7. กระบวนการแทรกแซงเพื่อสกัดกั้นการระบาด ได้ผลและมีความสำคัญ

รายงานของ WHO ยังระบุอีกว่า เชื้อ COVID-19 กระจายไปอย่างรวดเร็วและส่งผลเสียร้ายแรง แต่ก็มีหลักฐานหนักแน่นว่าการแทรกแซงเพื่อลดการระบาดของโรคโดยไม่เกี่ยวกับการใช้ยานั้นสามารถลดการระบาดได้ผล แต่ WHO ก็แสดงความเป็นห่วงว่าการเตรียมการรับมือในหลายแห่งของโลกดูจะเตรียมการรับมือได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นควรควรมีแผนการรับมือทางสาธารณสุขอย่างทันท่วงทีในระดับใหญ่และอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการตรวจวินิจฉัยและกักตัวควบคุมโรค (quarantine) อย่างทันท่วงที

เรียบเรียงจาก

รายงานฉบับเต็มของ WHO Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19), WHO

China’s cases of Covid-19 are finally declining. A WHO expert explains why., Vox, Mar. 3, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท