Skip to main content
sharethis
 

ชวนอ่านทัศคติหลายฝ่าย นักวิจัยระบุเป็นหน้าที่รัฐต้องมีมาตรการชัดเจนเท่ากันทุกคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง มองปรากฎการณ์เมื่อทุกคนห่วงผลประโยชน์ตัวเอง แต่ผลกระทบจากชนชั้นหนึ่งจะส่งผลถึงอีกชนชั้น แพทย์ชี้มาตรการรัฐยังมีข้อบกพร่อง แนะข้อมูลต้องบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘แรงงานไทยในเกาหลี’ เล่ามาตรการเกาหลีคุมเข้มมาตรฐานเดียวกันทั้งแรงงานถูกและผิดกฎหมาย 

 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมากระแสข่าวเรื่องแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ หรือ ‘ผีน้อย’ ขอกลับไทยประมาณ 5,000 คน กำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม สาเหตุแรกเพราะไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระบาด และสถานที่ทำงานหลายแห่งปิดชั่วคราว ทำให้แรงงานขาดรายได้ 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายสามารถมารายงานตัวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึง 31 มิถุนายน 2563 โดยระบุว่าใครที่มารายงานตัวจะไม่ติดแบล็กลิสต์ และสามารถขอวีซ่าเดินทางกลับมาเกาหลีได้อีกครั้ง ด้วยเหตุผลสองอย่างนี้ทำให้ในกลุ่มแรงงานตื่นตัวและเดินทางกลับไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม

การเดินทางกลับไทยของแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ครั้งนี้ ต้องเผชิญกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วย อย่างแรกเนื่องจากเกาหลีใต้อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างต่อเนื่องจากที่กรมควบคุมโรคประกาศไว้ 

อย่างที่สอง หลายคนยังเห็นว่าการเป็นแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ส่งผลให้คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสงสัยไปด้วย ไกด์ทัวร์ บริษัททัวร์ที่เป็นคนพาแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้เข้าเกาหลีใต้โดยคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเช่นกัน 

นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่าแรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ที่กลับไทยมาแล้วบางรายไม่กักตัวเองไว้ครบ 14 วันตามระยะฟักตัวของเชื้อ ข่าวที่ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือข่าวที่แรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้กลับไทยแล้วไม่กักตัวแต่ออกมากินหมูกระทะ

ไร้สำนึก!ผีน้อยไม่กักตัว ซ้ำพาครอบครัวกินหมูกระทะชิลๆ-เดลินิวส์ออนไลน์

ร้านหมูกระทะดังกล่าวได้ขอปิดร้าน 1 วันเพื่อทำความสะอาดร้านอย่างละเอียด และต่อมาแรงงานคนดังกล่าวได้มาขอโทษที่ร้านหมูกระทะและชี้แจงว่าไม่ไม่ได้ป่วยโควิด-19 และก่อนกลับมาประเทศไทยก็ได้มีการคัดกรองจาก ตม. มาแล้ว

'ผีน้อย'ขอโทษเจ้าของหมูกะทะ ยันไม่ป่วย-ตม.ตรวจแล้ว-เดลินิวส์ออนไลน์

ซึ่งทางการเกาหลีใต้เองออกมายืนยันว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกรายจะได้รับการรักษาตามมาตรฐานในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด และรัฐบาลเกาหลีใต้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ที่อยู่ในเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

อีกข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือข่าวที่ช่อง 7 ได้สัมภาษณ์แรงงานไทยผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้คนหนึ่ง โดยเขาเล่าว่าหน้ากากอนามัยหาซื้อยากและราคาแพง อยากขอให้รัฐไทยช่วยส่งหน้ากากอนามัยมาให้หน่อย นอกจากนี้แรงงานบางส่วนตกงานเพราะโรงงานปิดตัวชั่วคราวทำให้ไม่มีเงินซื้อตั๋วกลับไทย และไม่มั่นใจว่าเมื่อกลับไทยแล้วจะมีงานรองรับหรือไม่ อยากถามว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง  

เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล เช่น ไปผิดกฎหมายแล้วยังจะมาเรียกร้องให้รัฐช่วย คนที่ควรเรียกร้องเช่นหมอ พยาบาลเขายังไม่เรียกร้องเท่าคุณเลย เป็นต้น

แรงงานคนดังกล่าวได้ลงคลิปชี้แจงกรณีที่สังคมมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข่าวนี้ว่า เรื่องขอให้ซื้อตั๋วกลับไทยตนพูดว่ามีบางคนที่ตกงานเพราะโรงงานต่างๆทยอยปิดตัว บางส่วนเพิ่งมายังไม่ได้ทำงาน จึงมีปัญหาเรื่องการซื้อตั๋ว สำหรับคนที่เขาลำบากจริงๆ ถ้ารัฐช่วยได้ก็ดี เรื่องขอให้รัฐช่วยหางาน ตนไม่ได้พูดแบบนั้นแต่พูดว่าคนที่นี่ก็กลัวว่ากลับไปแล้วจะไม่มีงานทำ รัฐบาลมีนโยบายรองรับหรือไม่ เรื่องขอให้รัฐส่งหน้ากากอนามัยมาตนพูดแค่ว่าหน้ากากที่นี่มีราคาแพง ทั้งนี้ได้ขอโทษทุกคนหากสื่อสารและทำให้ทุกคนเข้าใจผิดพลาด

ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เกิด #ผีน้อย ต้านแรงงานกลุ่มนี้เดินทางกลับไทย กระแสในโซเชียลระบุว่า แรงงานกลุ่มนี้ขาดจิตสำนึก การด่าทอในโลกเซียลเริ่มรุนแรงขึ้น ด้านแรงงานในกลุ่มนี้บางคนก็โพสต์ข้อความตอบโต้ และชาวโซเชียลบางคนก็พยายามห้ามปรามไม่ให้อีกฝ่ายด่าว่าแรงงานกลุ่มนี้ รัฐบาลต่างหากที่ควรรับผิดชอบ ทำให้การถกเถียงเรื่องนี้ดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด

ขณะเดียวกันในช่วงแรกที่เกิดกระแสไม่อยากให้แรงงานกลุ่มนี้กลับไทย ท่าทีของรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมากลับบอกว่า เบื้องต้นให้ผู้ที่เดินทางกลับมากักตัวอยู่ในที่บ้านของตนเอง เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ได้กำหนด หรือประกาศปิดเมือง เหมือนเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จึงไม่มีกฎหมายที่จะสามารถกักตัวผู้ที่เดินทางกลับมาได้

ซึ่งการออกมาแถลงเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจต่อท่าทีของรัฐบาล และยิ่งตำหนิการกลับมาของแรงงานกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม สถิติจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ระบุว่า ในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ยังคงมีชาวต่างชาติจากกลุ่ม 9 ประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค covid-19 อย่างต่อเนื่องแล้ว เดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ โดยรวมแล้วทั้งสิ้น 427,914 คน

แบ่งเป็นชาวจีน (รวมฮ่องกงและมาเก๊า) 105,723 คน รองลงมาได้แก่ญี่ปุ่น 89,347 คน ฝรั่งเศส 71,261 คน เยอรมนี 63,330 คน ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ในขณะนี้กำลังกลายเป็นประเด็นเนื่องจากแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานผิดกฎหมาย ปรากฏว่าตลอดเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งสิ้น 34,735 คน

ส่วนอีก 4 ประเทศที่เหลือได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน ตลอดเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีพลเมืองจากประเทศเหล่านี้ เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งสิ้น 27,288 คน 19,514 คน 14,786 คน และ 1,930 คนตามลำดับ

ในโอกาสนี้ประชาไทรวมสัมภาษณ์หลายฝ่ายเกี่ยวกับทัศนคติต่อประเด็นดังกล่าว

 

เป็นหน้าที่รัฐต้องมีมาตรการชัดเจนเท่ากันกับทุกคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน นักวิจัยเรื่องแรงงานไทยในเกาหลี ให้ความเห็นว่า จริงๆ ก่อนที่จะมีประเด็นแรงงานนี้ ก็มีคนเดินทางไปกลับเกาหลีเป็นปกติ ทั้งนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่แรงงานเอง ขณะนี้อยู่ในช่วงนิรโทษกรรมของเกาหลี ที่อนุญาติให้เดินทางกลับได้โดยไม่โดนคดี เพราะฉะนั้นตามกฎหมาย แรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาติให้เดินทางกลับได้ และรัฐบาลก็ต้องรับคนเหล่านี้เข้าประเทศในฐานะประชาชนไทย ซึ่งเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องดูแล

ปัญหาของเรื่องนี้จริงๆ เป็นเรื่องหน้าที่ของรัฐบาล ที่ไม่ได้มีมาตราการที่แน่นอนในเรื่องการควบคุมโรค หรือแม้แต่กระบวนการที่แน่นอนในการดูแลคนเข้าเมือง แม้หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมาก็ยังมีความไม่แน่นอน รัฐมนตรีหลายคนพูดไม่เหมือนกัน 

เรื่องนี้ควรออกเป็นแถลงการณ์ที่ชัดเจนว่า หากคนเดินทางกลับมาแล้ว ต้องตรวจร่างกายอย่างไร หากไม่มีอาการเบื้องต้นและกลับไปรักษาตัวอยู่บ้าน 14 วัน ก็ควรมีมาตราการติดตามและมีคำอธิบายเบื้องต้น แต่ตอนนี้น่าห่วงมาก เพราะทุกอย่างยังคลุมเครือ 

โดยสรุป เรื่องการดูแลคนเข้าเมืองเป็นหน้าที่รัฐบาลโดยตรงครับ และควรไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะแรงงานด้วย ควรใช้มาตราฐานเดียวกันกับทุกคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพราะโอกาสคนติดโรคมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเป็นแรงงาน โอกาสติดโรคมันเป็นไปได้กับทุกคน 

แต่สถานการณ์ตอนนี้กำลังส่งผลให้ประชากรโซเชียลกระตุ้นให้รัฐบาลมีมาตราการเด็ดขาดกับแรงงาน แต่กำลังละเลยนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ส่งท้ายมันจะส่งผลแน่นอน มันทำให้เราไปมุ่งอยู่ที่แรงงานเท่านั้น โดนละเลยนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางอื่นๆ

 

ทุกคนห่วงผลประโยชน์ตัวเอง แต่ผลกระทบจากชนชั้นหนึ่งจะส่งผลถึงอีกชนชั้น

ดนย์ตั้งข้อสังเกตว่า จากการสังเกตว่าประชากรโซเชียลจะมารุมด่าแรงงานทุกครั้งที่มีคนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ เช่น คนชนชั้นกลางถูกปฏิเสธวีซ่า ไม่ได้เข้าประเทศ บริษัททัวร์ที่ได้รับผลกระทบจากแรงงาน  ก็จะเป็นกระแสอยู่พักนึง แต่พอช่วงที่เข้าไปปกติ เรื่องนี้ก็จะเงียบๆไป จนพอมาเรื่องโรคระบาดอีกครั้ง เมื่อตัวเองรู้สึกว่ากำลังจะได้รับผลกระทบก็จะมีปฏิกิริยาทันที 

“หากมองในลึกไปอีกจะพบว่าแต่ละฝ่ายเนี่ย ห่วงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น ต่างออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องปัญหาหาของคนอื่น ถ้ามองในมุมนี้ คือสังคมเราแยกกันอยู่อย่างปัจเจก ไม่มีการมองการแก้ปัญหาร่วมกัน ปัญหาใครปัญหามัน ทำอะไรก็ได้แต่อย่าให้กระทบกับผลประโยชน์ของตนเอง 

ทางออกจริงๆ คือเราต้องมองให้เข้าใจกันและกันก่อน สุดท้ายทั้งคนจน คนขั้นกลาง คนรวยก็พึ่งพาอาศัยกัน ผลกระทบจากคนชนชั้นหนึ่ง สุดท้ายก็จะส่งผลถึงชนชั้นอื่นๆอยู่ดี สุดท้ายก็ต้องมองทุกคนเป็นมนุษย์ที้ต้องการการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งนั้น ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือการปฏิบัติระหว่าง ชนชั้นกลางกับคนจน คนชั้นกลางชอบช่วยเหลือคนจนในรูปแบบการกุศล ซึ่งจริงๆ คนจนไม่ได้ต้องการความสงสาร สิ่งที่คนจนต้องการจริงๆ คือการทำงานอยู่ในระบบที่ยุติธรรมกับเค้า และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนสถานะอื่นๆ คนจนก็ต้องการทำงานได้รับค่าแรงที่เหมาะสม เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เข้าถึงสวัดิการพื้นฐาน ”

สำหรับเรื่องที่แรงงานกลุ่มนี้กระทำผิดกฎหมายนี่ผิดแน่นอน และมันไม่ชอบธรรมด้วย แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการเข้าใจในเรื่องการตัดสินใจของแรงงาน สิ่งที่ทำให้เข้าใจยากเพราะเราไม่ได้อยู่ในบริบทสังคมเดียวกับเค้า แรงงานทุกคนรู้ว่าผิดกฎหมาย 

“มีเคสนึงที่อยากเล่า คือระหว่างที่เรียนอยู่ มีเพื่อนมาเลติดต่อมาเหมือนกัน ให้ช่วยหางานให้ เราแนะนำไปว่าอย่ามาเลย แต่เพื่อนมาเลตอบกลับมาว่า ถ้าไม่ได้มาทำงานที่เกาหลี พ่อเค้าต้องตายแน่นอน เพราะต้องใช้เงินรักษาอย่างเร่งด่วน ปัญหาคือเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเค้า เพราะงั้นเงื่อนไขในการตัดสินใจก็จะต่างกันออกไป สุดท้ายเลยให้เพื่อนตัดสินใจเอง แล้วก็เคารพในการตัดสินใจของเพื่อน เพราะสุดท้ายเราก็ไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตของพ่อเพื่อนได้ (ถึงแม้จะเป็นเพื่อนมาเล แต่เงื่อนไขของแรงงานไทย คงไม่ต่างกัน) ในเคสที่เจอพี่คนไทย คนนึงโดนโกงการรับเหมาก่อสร้าง โดนคนว่าจ้างคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุดท้ายไม่จ่ายเงิน หมดตัว พี่ที่รับเหมาต้องขายของทุกอย่าง จ่ายค่าแรงให้ลูกน้อง แล้วบินมาทำงานเกาหลี คือปัญหานี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันจะช่วยแก้ยังไง คือหากจะให้เข้าใจคงต้องเจอกับตัวเองเท่านั้น” ดลย์ระบุ

 

มาตรการเกาหลีคุมเข้มมาตรฐานเดียวกันทั้งแรงงานถูกและผิดกฎหมาย

เอ็ม (นามสมมติ) หนึ่งในแรงงานกลุ่มนี้เล่าถึงมาตราการควบคุมโรคของรัฐบาลเกาหลีว่า ตอนนี้รัฐบาลเกาหลีออกมารับมือกับโรคที่ระบาดตลอดไม่นิ่งนอนใจ พวกตนได้ดูข่าวเช็คข่าวสารกันตลอดจากสื่อต่างๆของคนไทยในเกาหลี ที่มาแปลภาษาแปลข่าวให้ พวกตนจึงเชื่อมั่นในรัฐบาลของเกาหลี เพราะรัฐบาลเกาหลีนึกถึงความปลอดภัยของประชาชนก่อนเสมอ จะมีข้อความแจ้งเตือนทุก 5-10 นาทีผ่านทางมือถือในเขตเสี่ยงและตอนนี้รัฐเริ่มผลิตผ้าปิดปากแจกและในราคาต่ำกว่าตลาด จำหน่ายตามไปรษณีย์ ร้านขายยา ซูปเปอร์บางแห่ง และเริ่มพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัส ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ในเมืองแทกู  และอีกหลายๆเขตในเกาหลี

เอ็มยังเล่าว่า ถ้าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมีอาการต้องสงสัยในกลุ่มเสียง จะมีเบอร์โทรติดต่อ เข้ารักษาตัวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จากบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ ที่สามารถโทรติดต่อเองได้ และมีล่ามแปลให้สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาเกาหลี 

เมื่อถามว่าระหว่างแรงงานถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายได้รับการบริการแบบนี้เช่นเดียวกันหรือไม่ จากที่ตนตามข่าวมาทางรัฐจะแจ้งให้ทราบว่าสำหรับแรงงานกลุ่มนี้ ก็สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้เช่นเดียวกันกับคนที่มาถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตำรวจหรือ ตม.จะจับตัวส่งกลับไทย 

เมื่อถามว่าจากกระแสสังคมที่ค่อนข้างแอนตี้ผีน้อยในตอนนี้ทำให้เอ็มรู้สึกอย่างไร เอ็มตอบว่า ในมุมมองส่วนตัวก็รู้สึกสะเทือนใจและเสียใจนิดหน่อย มีแอบเสียใจร้องไห้อยู่ทุกครั้งเวลาตามอ่านคอมเมนต์ เพราะแหล่งข่าวใหญ่ๆ จะออกข่าวในแง่ลบเกินความจริงบ้างซะส่วนใหญ่ จึงทำให้มีการเถียงกันทะเลาะกันผ่านโซเชียล คนเป็นผีน้อยพูดอะไรออกไปจะผิดไปซะหมด กลายเป็นคนไทยทะเลาะโจมตีกันเอง ผีน้อยบางกลุ่มก็ทะเลาะกันเองก็มี เลยบานปลายไปเลื่อยๆขึ้นไม่จบไม่สิน 

เอ็มยังกล่าวว่า เข้าใจเลยว่าทำไมดารานักร้องที่โดนบูลลี่ถึงฆ่าตัวตาย เพราะตัวเธอเองก็กำลังรู้สึกแบบนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะฆ่าตัวตาย

“เวลาเราอ่านข่าวอ่าน อ่านคอมเมนต์ที่ผีน้อยถูกด่าถูกเหยียด คำพูดคนน่ากลัวมาก ด่าแรง ไล่ไปตาย บอกเกาหลีดีก็อย่ากลับมาไรงี้ เราอ่านทีไรซึมทุกที เราไม่อยากกลับไทยกลับบ้านเลย เรารู้สึกอายไม่กล้าที่จะกลับไปสู้หน้ากับคนเหล่านั้นถ้ากลับไปบ้าน มีเพื่อนในเฟสบุ๊กก็มีโพสต์เหยียดใส่กันซึ่งเป็นคนรู้จักกันเอง ตรงนี้แหละเจ็บใจที่สุด คือเราเสียงน้อยเถียงอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็จะผิดอยู่ดี” เอ็มกล่าว

 

เมื่อรัฐไม่มีมาตรการที่ชัดเจนก็ยังไม่อยากให้แรงงานกลุ่มนี้กลับ

จี (นามสมมติ) คือชาวโซเชียลคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการให้แรงงานกลุ่มนี้กลับไทยหากรัฐยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน จากการพูดคุยกัน จีระบุว่า แม้จะเห็นด้วยกับพื้นฐานความคิดคนเท่ากัน แต่ขณะที่รัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ประชาชนมีทางเลือกอะไรบ้าง สมควรที่จะยึดถือหลักจริยธรรมแบบนี้เท่านั้นจริงหรอ ตนขอเรียกกรณีนี้ว่า Moral Dilemma คือไม่ง่ายที่จะหาทางออก จะยึดถือจริยธรรม หรือจะรักษาประโยชน์ของส่วนรวม

ขณะเดียวกันจีเห็นว่าประชาชนเองก็ควรร่วมมือกันกระตุ้นรัฐบาล แต่อย่างน้อยก็อยากให้ตัวแรงงานกลุ่มนี้เองมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน

พงษ์ (นามสมมติ) ชาวโซเชียลอีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า เขาเข้าใจว่าแรงงานกลุ่มนี้ไปเพราะอาจถูกบีบ เพราะไม่มีโอกาสเมื่ออยู่ที่ไทย ซึ่งตนเห็นด้วย และการไปอยู่ที่นั่นก็มีความเสี่ยงที่พวกเขาต้องรับ แต่การเลือกจะกลับนี่อีกเรื่องหนึ่ง เลือกกลับในสถานการณ์นี้พวกเขาก็ต้องรับผลการตัดสินใจของตัวเอง 

“ถ้าเลือกที่จะไม่รับผิดชอบต่อสังคมก็ต้องรับว่าสังคมจะไม่อยู่ข้างคุณ ถ้ายั่วยุก็ถูกเกลียดชัง มันไม่ใช่ผีน้อยทุกคนที่จะไร้สำนึกหรือก้าวร้าว แต่สถานการณ์นี้ หมายถึงตอนนี้ทุกคนมีอคติกับผีน้อย ก็ต้องเข้าใจว่ามันมีความเสี่ยงที่จะถูกรังเกียจ มาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าถูกมองเป็นตัวแพร่เชื้อ” 

เราจึงไม่ได้มีปัญหากับผีน้อยเท่ากับมีปัญหากับการถกเถียงเรื่องผีน้อย จะมานั่งดีเฟนส์ผีน้อยไปทำไม เสียเวลา ไม่พอใจความเสี่ยงจากการแพร่เขื้อก็กดดันรัฐบาลให้กักตัวในระยะฟักเชื้อ ถามว่ากักตัวพ้นระยะนั้นจะยังมีคนรังเกียจไหม มี แต่เราเขื่อว่าน้อยลง เพราะความชอบธรรมในการถูกด่าเรื่องไม่นับผิดชอบต่อสังคมมันจะหายไป” พงษ์กล่าว

 

แพทย์ชี้มาตรการรัฐยังบกพร่อง ข้อมูลต้องบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ต่อมาวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า สำหรับมาตรการรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เดินทางจากเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ ให้เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของ สธ. แต่หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จะจัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด 14 วัน 2.กลุ่มที่เดินทางจากเมืองอื่นๆในเกาหลีใต้ มีมาตรการคือ เฝ้าระวังอาการที่เกาหลีใต้ 14 วัน คัดกรองก่อนขึ้นเครื่อง คัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยาน หากตรวจพบว่ามีไข้ จะส่งตัวตามขั้นตอนของ สธ. หากตรวจแล้วไม่มีไข้ จัดรถส่งตัวไปสถานที่ควบคุมโรคท้องถิ่น 14 วัน

ประชาไทได้สอบถามความเห็นต่อมาตรการดังกล่าวกับ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งระบุว่า มาตรการของรัฐที่ออกมาในการควบคุมและเฝ้าระวังโรคสำหรับคนกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง 11 ประเทศ ยังมีข้อบกพร่อง กระทรวงสาธารณสุขเองก็เพิ่งจะประกาศแผนเฝ้าระวังวันที่ 2 มีนาที่ผ่านมา แต่ละจังหวัดเพิ่งเริ่มมีการซ้อมแผนเฝ้าระวัง  ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหากับการพยายามเฝ้าระวังไม่ให้การแพร่เชื้อเข้าสู่ระดับสาม 

คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ ระบุว่า การจะปฏิบัติการเฝ้าระวังได้อยู่ที่ข้อมูลจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ว่าคนเหล่านี้เข้ามาเมื่อไหร่ อย่างไร รวมถึงกระทรวงแรงงานด้วย ต่อไปต้องมีการประสานงานระหว่างกองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานประจำจังหวัด เพราะหากไม่มีการบูรณาการแต่ละจังหวัดก็ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทันท่วงที คนที่อยู่ในข่ายที่ต้องกักตัวก็อาจจะนำเชื้อมาสู่ชุมชนในระดับท้องถิ่นได้ 

“คนเหล่านั้นเป็นคนไทยเขาก็อยากกลับบ้านอยู่แล้ว มันเป็นปัญหาเดียวกับที่เราก็ต้องเอาคนไทยจากอู่ฮั่นกลับมา คนไทยเองก็ไปทำงานอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น หน่วยงานส่วนกลางก็ต้องตั้งรับ ออกมาตรการ และแยกแยะคนที่มีความสุ่มเสี่ยง หรือคนที่ยังไม่มีอาการแต่ต้องเฝ้าระวัง ก็ต้องส่งไปยังจังหวัดภูมิลำเนาให้รับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน หรืออาจจะ 24 วันด้วยซ้ำไปในบางกรณีที่เราพบว่ามีการกระจายของเชื้อไปในบางแห่ง แม้อาจจะยังไม่แสดงอาการ” นายแพทย์นิรันดร์ระบุ

นอกจากนี้ตามที่มีข่าวว่าจะมีการใช้พื้นที่ทหารเป็นที่กักตัว คณบดีวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับค่ายทหาร ถ้าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็คงยาก แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลในค่ายทหารก็ได้ พร้อมยกตัวอย่างในจังหวัดอุบลราชธานีก็มีการสำรวจพื้นที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอซึ่งหลายแห่งมีศักยภาพ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลของคณะแพทย์ ว่ามีจำนวนเตียงเพียงพอหรือไม่ เหมาะที่จะทำให้เกิดเป็นวอร์ดรักษาแยกผู้ป่วยเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลของคณะแพทย์ก็ยินดีที่จะแยกวอร์ดสำหรับคนที่ต้องเฝ้าระวัง หรือรอการตรวจเชื้อ หรือได้รับเชื้อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net