Skip to main content
sharethis

โรงแรมวินด์เซอร์กรุงเทพ แจ้งเรื่องเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการชั่วคราว จากผลกระทบของปัญหาไวรัสโควิด-19

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 โรงแรม วินด์เซอร์ สวีทส์ กรุงเทพ (Windsor Suites Bangkok) ได้ส่งเอกสารถึงพนักงาน เพื่อแจ้งเรื่องเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการชั่วคราว จากผลกระทบของปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

เรียน พนักงานทุกท่าน

ทางโรงแรมมีความเสียใจอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้พนักงานทุกท่านทราบว่า เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบัน ถดถอย และมีผลกระทบอย่างมากในหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ทางโรงแรมประสบปัญหาอย่างหนักและต้องปิดชั่วคราว

วันทำการสุดท้ายของโรงแรม คือวันที่ 30 เม.ย. 2563 และเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของพนักงานทุกท่าน

ในนามตัวแทนของครอบครัว โบว์เสรีวงศ์ ขอขอบคุณพนักงานทุกท่าน ด้วยความจริงใจ ที่ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างดี และขอให้พนักงานทุกทนทำงานร่วมกัน และฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/3/2563 

พบแรงงานไทยผิดกฎหมายติดเชื้อโควิด-19 ที่เกาหลีใต้เป็นรายแรก

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 มีการรายงานผ่านสื่อของเกาหลีใต้อย่าง ‘Naver News’ เปิดเผย พบหญิงไทยอายุ 27 ปี ติดเชื้อโควิด-19 พักอาศัยที่เขตคิมชอน จังหวัดคยองซังเหนือ พื้นที่ติดเมืองแทกู ในประเทศเกาหลีใต้

โดย พินยุดา แจ่มจันทร์ศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระบุว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น หญิงไทยรายดังกล่าวไม่มีวีซ่าทำงาน ปัจจุบันทำงานที่โรงซักผ้าในเขตคิมชอน จังหวัดคยองซังเหนือ มีอาการตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 และเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนได้รับแจ้งผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 ในเวลาต่อมา

ทางด้าน เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานแล้วว่ามีแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ‘ผีน้อย’ ติดเชื้อโควิด-19 คนแรกที่เกาหลีใต้ เป็นเพศหญิง อายุ 27 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เข้าไปดูแล้ว เบื้องต้นได้รับรายงานว่าอาการไม่รุนแรง ซึ่งหลังจากได้รับการติดเชื้อ ทางเกาหลีใต้ได้นำรถมารับเข้าไปดูแลที่โรงพยาบาลทันที และตอนนี้กำลังดูอาการสามีของแรงงานคนนี้เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ

ที่มา: THE STANDARD, 5/3/2563

AOT ยกระดับมาตรการคุมไวรัส 6 สนามบิน รับแรงงานไทยจากเกาหลีกลับบ้าน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทอท.ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศ ได้เพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าให้เข้มงวดมากขึ้นตามาข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ได้เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศทุกเที่ยวบินอย่างเข้มงวด โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยระบบอินฟราเรด (Thermoscan) จำนวน 2 จุด ณ บริเวณแนวทางเดินด้านทิศเหนือ ใกล้กับอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2 (Pier 2) และบริเวณแนวทางเดินด้านทิศใต้ ใกล้กับอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 3 (Pier 3)

อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ในส่วนของท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย (ทชร.) ได้จัดหลุมจอดเฉพาะสำหรับเที่ยวบินที่มาจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน พร้อมติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร โดยที่ ทหญ.ได้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนบริเวณพื้นที่หน้าด่านควบคุมโรค ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ และ ทชร.ติดตั้งบริเวณหน้าพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า

ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) นอกจากได้เพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าอย่างเข้มงวดแล้ว ยังได้เพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังผู้โดยสารขาออกที่จะเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจว่าผู้ที่ร่วมเดินทางทุกคนได้ถูกตรวจคัดกรองสุขภาพมาแล้วระดับหนึ่ง

โดยที่ ทสภ.มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการร่วมประจำจุดคัดกรอง 4 จุด ได้แก่ (1) จุดตรวจค้นร่างกายและสัมภาระผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โซน 3 (2) จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 3 ช่องทาง Fast track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row T) (3) จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 2 ช่องทาง Fast track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row W) และ (4) จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 1 (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row A)

ส่วนที่ ทภก.ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ณ บริเวณหน้าจุดตรวจลงตราหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ชั้น 3 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และจัดเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหู บริเวณหน้าจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และที่ ทชม.ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน ณ บริเวณด้านหลังจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ

สำหรับกรณีของแรงงานชาวไทยในสาธารณรัฐเกาหลีที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย นั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้มีขั้นตอนการเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี โดย ทอท.จะปฏิบัติตามขั้นตอนการคัดกรองผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีเที่ยวบินที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง คือ มีการจัดให้ผู้โดยสารขาเข้าผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ ด่านควบคุมโรคในบริเวณจุดตัดอาคารเทียบเครื่องบิน D และบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง

นอกจากนี้เพื่อเป็นการคัดกรองอย่างเข้มข้น จะมีการคัดกรองอุณหภูมิเพิ่มเติมให้กับผู้โดยสารบริเวณหน้า Gate หากพบผู้เข้าข่ายต้องสงสัยติดโรคจะดำเนินการตามกระบวนการของกรมควบคุมโรค และในส่วนของผู้ที่ไม่เข้าข่ายจะดำเนินการตามกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองต่อไป โดยกรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด จะจัดรถส่งผู้โดยสารไปยัง local quarantine และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนจะเป็นผู้ที่จะคอยติดตามให้อยู่ภายในที่พัก 14 วัน

นอกจากการตรวจคัดกรองผู้โดยสารแล้ว ท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่งยังได้เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่ที่ผู้โดยสารสัมผัสแบบ Deep Clean อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานจากการศึกษาของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อ สถาบันบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาทำความสะอาด อาทิ รถเข็นกระเป๋า ห้องน้ำ ราวจับ ราวบันได จุดกรอกเอกสาร ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาเข้า บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอิน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ บริเวณเครื่องออกบัตร Taxi Kiosk รวมถึงได้ติดตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับฆ่าเชื้อโรคแก่ผู้โดยสารตามจุดต่าง ๆ

ตลอดจนได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถเช่า รถลีมูซีน รถแท็กซี่ ให้หมั่นทำความสะอาดภายในห้องโดยสาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้มาใช้บริการ และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ที่ ทชม.ได้ออกมาตรการคัดกรอง เฝ้าระวังและติดตามค้นหากลุ่มเสี่ยงในกลุ่มพนักงานลูกจ้าง และพนักงานบริษัทจัดจ้างภายนอก ทุกคน และทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดเป็นระยะที่ 3 หรือ super spreader แก่คนหมู่มากในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกท่าอากาศยานของ ทอท.ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท่าอากาศยาน เช่น ตม. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ศุลกากร ตามสั่งการกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และใช้ประโยชน์จากระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System : APPS)

ทอท.และ ตม.ได้ติดตั้งและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2558 มาช่วยในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระบบ APPS จะมีการส่งรายชื่อผู้โดยสารพร้อมข้อมูลการเดินทางระหว่างประเทศทั้งขาเข้า ขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนผ่านลำ (Transit / Transfer) มายังระบบฐานข้อมูลของ ตม. จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทุกหน่วยงานได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดครบถ้วน และเต็มความสามารถตามขั้นตอนและมาตรฐาน เพื่อร่วมกันป้องกันมิให้ประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 6/3/2563 

ก.แรงงาน ร่อนเอกสารไขข้อข้องใจเงินช่วยเหลือแรงงานไทยในเกาหลีใต้ หลังโรคโควิด-19 ระบาด

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ "ผีน้อย" ระบุคนที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้มี 2 ประเภท คือ

1. คนงานที่ทางกระทรวงแรงงานส่งไปมีประมาณ 20,000-30,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกต้องจะได้สวัสดิการคุ้มครองทั้งจากเกาหลี และไทย (คนงานกลุ่มนี้ยังต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศโดยอัตโนมัติ)

2. คนงานที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวแอบไปทำงานโดยไม่ผ่านกระทรวงแรงงาน พวกนี้เรียกกันทั่วไปว่า “พวกผีน้อย” จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากทั้งทางการเกาหลี และประเทศไทย (มีประมาณ 150,000 คน)

กลุ่มคนงานผีน้อยเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีได้เปิดโอกาสนิรโทษกรรมให้เข้ามารายงานตัวกลับประเทศไทย โดยกำหนดให้สิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 63 ซึ่งถ้ามอบตัวตอนนี้ก็ยังสามารถเดินทางกลับมาทำงานที่เกาหลีใต้ได้อีก แต่ถ้าไม่มอบตัวหลัง 30 มิ.ย. 63 รัฐบาลเกาหลีใต้จะกวาดล้าง มีโทษทั้งปรับและจำ และห้ามเข้าเกาหลีใต้อีกต่อไป

ดังนั้น พวกผีน้อยจึงทยอยมาติดต่อขอกลับไทยต่อทางการเกาหลีใต้ไว้ทั้งหมดประมาณ 5,000 คน ซึ่งทางเกาหลีใต้จะทยอยส่งกลับมาทุกๆ 7 วัน ประมาณ 100-200 คน แต่ใน 2 สัปดาห์สุดท้ายที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ยอดเดินทางกลับมีสูงขึ้นประมาณ 2,000 คน

อย่างไรก็ตาม คนงานทั้ง 2 พวกนี้เมื่อเดินทางกลับไทยจะถูกทางการเกาหลีกักตัวไว้ก่อน 14 วัน เมื่อมาถึงไทยจะถูกกักตัวไว้อีก 14 วัน หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานเตรียมตำแหน่งงานว่างไว้ให้ถ้าต้องการทำงาน มากกว่า 80,000 ตำแหน่ง

ข้อแตกต่างคือ พวกผีน้อยจะไม่ได้เงินช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนคนงานที่ไปทำงานผ่านกระทรวงแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางาน เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ถ้าทางประเทศเกาหลีใต้ประกาศว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดแล้ว จะได้รับเงิน 15,000 บาทต่อคน จากกองทุนฯ ส่วนพวกผีน้อย จะไม่ได้อะไรเลย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/3/2563 

'มท.-สธ.' ขันน็อตผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เฝ้าระวัง COVID-19 รับมือคลื่นแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้

5 มี.ค.2563 ที่ห้องราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานร่วมการประชุมหารือข้อราชการสำคัญของรัฐบาล โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ฝ่ายทหาร) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ

นายอนุทิน กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการควบคุมดูแลผู้ที่กำลังเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีการประกาศความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี อิตาลี และอิหร่าน ในขณะนี้มีแรงงานชาวไทยที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ประมาณ 120,000 คน ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนจึงขอให้ผู้เดินทางมาจากเกาหลีใต้ทุกคนที่มาจากกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นแบบกักตัวโดยรัฐ

"สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางมาจาก 2 เมืองกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวที่ภูมิลำเนา จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความร่วมมือทางการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างเต็มที่กับกระทรวงมหาดไทย" นายอนุทิน ระบุ

จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่าในวันนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อไปดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิค 19 ในพื้นที่ ส่วนมาตรการป้องกันไวรัสโควิค 19 บุคคลที่เดินทางเข้าในไทย กระทรวงสาธารณสุข จะตรวจคัดกรองทุกราย และผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจะแยกออกไป ทำเหมือนกันทุกประเทศ และสำหรับผู้เดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุด จะมีมาตรการพิเศษคัดกรองคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว โดยมีมาตรการพิเศษ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า 1.ผู้ที่มาจากเมืองแทกู และคยองซัง จะอยู่ในการดูแลของภาครัฐ และ 2.ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่นๆ จะไปดูแลในระดับพื้นที่ตามภูมิลำเนา โดยใช้กลไกในพื้นที่ดูแลเป็นเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีอาการอะไรจะสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเข้ามาดูแลระดับพื้นที่ตามภูมิลำเนา ร่วมกับหน่วยงานอื่น ประกอบด้วย หน่วยงานสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการจัดหาสถานที่ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นจะเป็นผู้คัดกรอง และกระทรวงคมนาคมจะส่งตัวกลับไปยังภูมิลำเนา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามอำเภอ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาตามความเหมาะสมในการหาสถานที่กักตัว โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการเชิงป้องกันในพื้นที่ ในเรื่องการจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนทั่วไป โดยกำลงการผลิตของประเทศอยู่ที่ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน แบ่งไปถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 10 ล้านชิ้น คงเหลือ 20 ล้านชิ้นที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ความต้องการในการใช้หน้ากากอนามัยสูงเกินกว่ากำลังการผลิต จึงได้แนะให้ประชาชนเลือกให้หน้ากากอนามัยทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากาก ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่า สามารถใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน และเป็นการลดปริมาณขยะอีกด้วย จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝึกอบรมการจัดทำหน้ากากอนามัย ให้กับ อสม. อาสาสมัคร และจิตอาสาในแต่ละพื้นที่

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต้องผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่าย และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้รับรู้และเข้าใจถึงการดำเนินงานของภาครัฐ และเชิญชวนประชาชนได้ร่วมกันจัดทำหน้ากากอนามัยทางเลือก หรือ หน้ากากผ้า ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นการช่วยลดโอกาสในการติดเชื้ออีกด้วย" พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ

ด้านนายนิพนธ์ กล่าวว่าการจำหน่ายหน้ากากอนามัยในขณะนี้ ภายหลังหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทั้งการส่งออก และเพื่อเป็นการป้องกันการกักตุน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ตรวจสอบร้านค้า และควบคุมการจำหน่ายราคาไม่เกินแผ่นละ 2.5 บาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้จัดรถโมบาย จำหน่ายหน้ากากอนามัยยังจังหวัดต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงอย่างทั่วถึง

ขณะที่นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเสริมการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามหลักการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประชาสัมพันธ์ ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และรักษาสุขภาพให้แข็ง รวมทั้งให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลกันหากพบผู้ป่วยให้พาผู้ป่วยไปรับการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลในพื้นที่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/3/2563 

เผย 5 ปี อุตสาหกรรมสำคัญใน EEC ต้องการแรงงานกว่า 4.7 แสนคน

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้เปิดเผยภาพรวมความต้องการแรงงาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในปี 5 (2562-2566) แบ่งออกเป็น 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย + 3 โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีจำนวนทั้งสิ้น 475,667 คน

โดยเป็นระดับอาชีวศึกษา 253,115 คน ปริญญาตรี 213,942 คน และปริญญาโท - เอก 8,610 คน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 53,739 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 คน ท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้ดี 16,920 คน หุ่นยนต์ 37,526 คน การบิน 32,837 คน ดิจิทัล 116,222 คน การแพทย์ครบวงจร 11,410 คน ระบบราง (รถไฟความเร็วสูง)24,246 คน พาณิชย์นาวี 14,630 คน และโลจิสติกส์ 109,910 คน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีแนวทางพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ ตามหลัก Demand Driven โดยเสนอปรับโครงสร้างการจัดการการศึกษา การเรียนรู้จากด้าน “อุปทาน” สู่ “อุปสงค์” ตอบโจทย์การมีงานทำ มีรายได้ดี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/3/2563 

รองประธาน คสรท. แนะผีน้อยแยกประเด็นสิทธิคนไทย ค้านขอรัฐช่วยเหลืองาน รายได้ เหตุประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์โดยตรง

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่าประเด็นการเดินทางกลับของแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ หรือ ผีน้อย เนื่องจากมีความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และคนในประเทศไทยเองก็กังวลว่าอาจเพิ่มการติดเชื้อ จนเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างนั้น รัฐบาลคงไม่สามารถห้ามบุคคลเหล่านี้ไม่ให้เดินทางกลับได้ แต่ภาครัฐสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ เช่น การกำหนดพื้นที่กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ก่อนที่จะให้กลับไปหาครอบครัวได้

โดยสถานที่ที่เหมาะสม ควรเป็นค่ายทหาร แต่อาจจะกระจายไปตามภูมิลำเนาของแรงงาน ไม่จำเป็นต้องนำมารวมกันในพื้นที่เดียวกัน

นอกจากนี้การเดินทางกลับมาในประเทศไทยของผีน้อย ส่วนตัวมองว่าควรแยกประเด็น ทั้งความเป็นคนไทยที่มีสิทธิกลับประเทศบ้านเกิด และการเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ ทำคนส่วนใหญ่เดือดร้อน แล้ววันนี้มาขอให้รัฐช่วยดูแลการเดินทางหาอาชีพ ช่วยดูแลรายได้ที่ขาดหายไป ส่วนตัวมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะรายได้ที่หามาก่อนหน้านี้ประเทศชาติไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง

พร้อมฝากถึงผีน้อยทุกท่าน ว่าก่อนหน้านี้เคยเดินทางไปทำงานแบบผิดกฎหมาย แล้วตอนนี้ได้รับสิทธิกลับประเทศแบบไม่ต้องถูกลงโทษดังนั้น ในอนาคตเมื่อทุกอย่างเข้าสู่สถานการณ์ปกติ หากต้องการกลับไปทำงานที่เกาหลีใต้ ควรทำให้ถูกตามขั้นตอนตามกฎหมาย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 5/3/2563 

เปิดขั้นตอนนำ 'แรงงานไทยในเกาหลีใต้' กลับบ้าน

4 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมประชุมหารือมาตรการเร่งด่วนรองรับแรงงานเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ คมนาคม แรงงาน กลาโหม มหาดไทย สาธารณสุข ผู้ว่าราชการกทม. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับไทย รัฐบาลยินดีรับกลับ แต่ต้องทำให้ประเทศเราปลอดภัยที่สุด ต้องมีการควบคุมเฝ้าระวังโรค 14 วัน เบื้องต้นจะตรวจร่างกายที่ต้นทางประเทศเกาหลีใต้ก่อนจะขึ้นเครื่องมาประเทศไทย หากพบมีไข้จะกักตัวที่ประเทศเกาหลีใต้ก่อน แต่ถ้าหากพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำการรักษาที่ประเทศเกาหลีใต้จนหาย รัฐบาลจะหาวิธีการดีที่สุด โดยจะปรับแผน เฝ้าระวัง คัดกรองโรคตามสถานการณ์ รวมถึงการจัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการรักษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นย้ำว่าต้องการช่วยเหลือคนไทยก่อน และย้ำว่าไม่มีการลอยแพแน่นอน ที่สำคัญเมื่อแรงงานไทยกลับเข้าประเทศต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศด้วยว่า คนเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อในวงกว้าง ส่วนเรื่องสถานที่ในการกักตัวต้องมีการประชุมหารืออีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้มีความประสงค์กลับประเทศต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-15 วัน โดยในช่วงรายงานตัวมีการประสานทางการเกาหลีใต้และสถานทูตไทย เพื่อให้ทางการสามารถตรวจสอบยอดแรงงานไทยที่แน่นอนว่าจะกลับประเทศไทย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในการดำเนินการตามมาตรการรองรับแรงงานไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย ให้มีการคัดกรองทุกคนตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง เมื่อมาถึงประเทศไทยจะคัดกรอง และแยกกลุ่มการจัดการเป็น 3 กลุ่ม กรณีที่พบว่าป่วยหรือสงสัยว่าป่วย จะส่งตัวเข้าระบบการตรวจวินิจฉัย รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลที่กำหนดไว้ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการป่วยแต่เดินทางมาจากพื้นที่ที่พบความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือเมืองแทกูและคย็องซังเหนือ จะถูกนำมากักตัวควบคุมโรคไว้ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งจะเน้นให้อยู่พื้นที่ภูมิลำเนาหรือใกล้เคียง ส่วนกลุ่มแรงงานที่เดินทางมาจากเมืองอื่น จะต้องกักกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยอยู่ในกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขจะหารือกันเพื่อหาสถานที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล, 4/3/2563

สภานายจ้างเตือนโควิดกระทบว่างงานเพียบ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมการจ้างงานของไทยในปี 2563 ให้ชะลอตัวลงไปกว่าเดิม โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่จะทะยอยเข้ามาในระบบแรงงานเพิ่มเติมช่วงพ.ค.นี้ประมาณ 500,000 คนจะมีโอกาสได้งานทำค่อนข้างต่ำดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการหรือแผนรองรับไว้ เช่น การทำโครงการต่าง ๆ โดยใช้งบประมาณจ้างเด็กจบใหม่เช่นอดีตที่เคยดำเนินการไว้เป็นต้น

"รัฐคงต้องหาวิธีไม่ให้เด็กจบใหม่เกิดปัญหาว่างงานเพราะต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมานั้นคนว่างงานจากธุรกิจหรือเด็กจบใหม่พอไม่มีงานทำก็ยังกลับบ้านไปทำภาคเกษตรได้บางส่วน แต่ปีนี้ภาคเกษตรของไทยก็เจอผลกระทบกับภัยแล้ง"นายธนิต กล่าว

ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการปรับตัวรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยให้ถดถอยและยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใดด้วยการรัดเข็มขัดทุกด้านทำให้ธุรกิจภาพรวมทั้งหมดมีการชะลอรับแรงงานใหม่ และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทันทีที่เป็นคลัสเตอร์ท่องเที่ยวอาทิ โรงแรม ร้านค้า สปา ร้านอาหาร ฯลฯ ที่นักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 60%ที่บางส่วนเริ่มปรับแผนลดคน เช่นให้สมัครใจลาออก สมัครใจหยุดงานไม่รับเงินเดือน และเลิกจ้าง ซึ่งหากยืดเยื้อสถานการณ์การเลิกจ้างก็จะมีสูงขึ้น

"แรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในระบบ 3.2 ล้านคนนอกระบบอีก 7 ล้านคนเหล่านี้จะกระทบก่อนแต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่ว่าการแพร่ระบาดชองโควิด -19 จะจบเร็วหรือช้าด้วย ท่องเที่ยวที่กระทบยังจะลามไปยังอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องเช่น การผลิตผ้าเช็ดตัว สบู่ สมุนไพร ค้าปลีก ค้าส่ง ที่นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอย ถือเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะเศรษฐกิจไทยจะเปราะบางมาก"นายธนิต กล่าว

ทั้งนี้โควิด-19ถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมการจ้างงานให้ชะลอตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาการจ้างงานได้ชะลอตัวอยู่แล้วจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้หลายอุตสาหกรรมชะลอการรับคนเพิ่มเพื่อหันไปลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงานคน รวมถึงผลกระทบการส่งออกที่ชะลอตัวจากภาวะสงครามทางการค้า(เทรดวอร์)

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกและหากยืดเยื้อจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าวิกฤติปี 2540 แน่นอนเนื่องจากวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจโลกยังดี การส่งออก การท่องเที่ยวของไทยเติบโตปัญหาแรงงานกระจุกอยู่เพียงสถาบันการเงินและเพียงไม่ถึงปีก็ฟื้นตัวได้ แต่โควิด-19 ไม่มีปัจจัยเอื้อเพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลก ส่งออก ท่องเที่ยว รวมถึงภาคเกษตรที่ประสบภัยแล้งดับเกือบทั้งหมด

ที่มา: ไทยโพสต์, 4/3/2563 

โพลเผย ผีน้อยเกาหลี ไม่ขอกลับไทย ยอมเสี่ยงไวรัส ดีกว่าเห็นครอบครัวอดอยาก

จากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้คนไทยในเกาหลีใต้ได้โพสต์ภาพที่เมืองแทกู ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดในเกาหลีใต้ครั้งนี้จนลามไปทั่วเกาหลี ซึ่งพบว่าในเมืองนี้มีคนไทยจำนวนมากอาศัยอยู่ และเป็นแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศ หรือ ผีน้อย และได้ออกมารายงานตัวเพื่อกลับประเทศ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ล่าสุดวันที่ 4 มี.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊ก ชุมชนคนไทยในเกาหลีใต้ Thaikuk KR ซึ่งเป็นแฟนเพจที่มีผู้ติดตามกว่าแสนคน ได้มีการจัดทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนไทยในเกาหลีใต้ว่าต้องการเดินทางกลับประเทศไทยหรือไม่

โดยโพสต์ข้อความว่า "สืบเนื่องมาจากไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในเกาหลีใต้ แอดมินอยากจะรบกวนคนไทยในเกาหลีใต้ทุกท่านช่วยลงความเห็นให้ทราบถึงความคิดของทุกท่านในสถานการณ์เช่นนี้ว่าทุกท่านต้องการกลับไทยหรือไม่หากรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือ? งดออกความคิดเห็นที่มีความรุนแรงและหยาบคายใต้โพลนี้ หากพบจะทำการลบความคิดเห็นทันที ขอบพระคุณที่กรุณาให้ข้อมูลมา ณ ที่นี้"

ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ร้อยละ 77 ไม่กลับ และร้อยละ 23 กลับ พร้อมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นให้เหตุผลที่ไม่ขอเดินทางกลับไทยมากมาย เช่น "ความเสี่ยงระหว่างไวรัสกับการดำรงชีพในยุคของรัฐบาลคนดีของลุง ผมขออยู่เสี่ยงกับไวรัสดีกว่า ดีกว่าที่จะเห็นครอบครัวอด ๆ อยาก ๆ, ตอนนี้ยังไม่กลับค่ะ กลัวชาวบ้านกังวล จะกลับก็ต่อเมื่อไวรัสนี้หายไปค่ะหรือมียารักษา ไม่เรียกร้องให้ใครมารับฟรีๆด้วย เป็นหนี้มาเอง ก็จะหาเงินกลับเองค่ะ"

ที่มา: ข่าวสด, 4/3/2563 

สมาคมอุรเวชช์ฯ ชี้รัฐต้องจัดหาหน้ากากอนามัย ให้ จนท.การแพทย์ก่อนแจก ปชช.เพื่อหวังผลการเมือง

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกคำแนะนำเรื่องการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดต่อโควิด-19 ระบุรัฐต้องจัดหาหน้ากากให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างเพียงพอก่อน แล้วจึงไปทำการแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนแบบหวังผลทางการเมือง

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกคำแนะนำเรื่อง "การใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดต่อโควิด-19" วันที่ 3 มี.ค. 2563 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1.ผู้ที่มีอาการไข้หวัดทุกคน ใส่หน้ากากอนามัยให้ติดเป็นนิสัย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แม้ปัญหาเรื่องโควิด-19 จะหมดไปแล้ว

2.ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ที่เสี่ยง ใส่หน้ากากอนามัยแม้จะไม่มีอาการ

3.ผู้ที่ต้องช่วยดูแลบุคคลในข้อ 2. ใส่หน้ากากอนามัย

4.ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนอยู่แออัด ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เช่น รถสาธารณะ ร้านอาหาร โรงมหรสพ ใส่หน้ากากอนามัย

5.ผู้ที่จะไปติดต่อโรงพยาบาลด้วยเหตุใด ๆ (ช่วงนี้ให้เลี่ยงไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ) ใส่หน้ากากอนามัย

6.พนักงานขับรถสาธารณะหรือให้บริการสาธารณะอื่นที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ใส่หน้ากากอนามัย

7.บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั่วไป ใส่หน้ากากอนามัย และถ้าเป็นผู้ป่วยมีอาการไข้หวัดหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ใส่หน้ากากอย่างน้อยเทียบเท่า N95 เพราะถ้าได้รับเชื้อแล้วจะไปแพร่ให้ผู้ป่วยอื่นได้ง่าย

ส่วนในกรณีอื่น ๆ ถ้าจัดหาหน้ากากอนามัยได้ง่าย เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะใส่เมื่อออกไปที่สาธารณะเพื่อป้องกันตนเองหรือป้องกันผู้อื่น ยังไม่มีหลักฐานรองรับทั้งด้านคัดค้านและด้านสนับสนุนในเรื่องของประโยชน์ที่ได้กับผลที่เสีย เว้นแต่จะทำให้หน้ากากมีใช้ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้หน่วยงานรัฐต้องจัดหาหน้ากากทุกประเภทให้บุคลากรทางการแพทย์มีใช้อย่างเพียงพอตามสมควรก่อน แล้วจัดหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น แล้วจึงไปทำการแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนแบบหวังผลทางการเมือง และต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อ ต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพทั่วไป การให้ข้อมูลการเจ็บป่วยอย่างเปิดเผย การหลีกเลี่ยงไปที่ชุมนุมชน การะมัดระวังไม่สัมผัสวัตถุและวัสดุและส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้อื่นในที่สาธารณะและหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล

ทั้งนี้ การใส่ การถอด และการทิ้ง หน้ากากทุกประเภท ต้องทำให้ถูกวิธีเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

ที่มา: Hfocus, 3/3/2563 

สหยูเนี่ยนบางปูเผย 'ยังไม่ปิดกิจการ' เพียงปรับลดพนักงาน-ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่

จากกรณีเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2563 เพจ “มนุษย์โรงงาน” โพสต์ภาพขณะที่พนักงานในโรงงานของบริษัท ยูเนี่ยน การ์เม้นท์ บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ารายใหญ่ในเครือสหยูเนี่ยน กำลังทำงานและเตรียมเก็บข้าวเก็บของออกไปเนื่องจากทางโรงงานได้ประกาศปิดตัวลง ทางเพจระบุข้อความว่า “ทำงานวันสุดท้ายเก็บสัมภาระกลับบ้าน #ปิดกิจการ สหยูเนี่ยนตำหรุ” รายงานข่าวเพิ่มเติม ทราบว่าโรงงานยังเปิดทำงานปกติ ส่วนเรื่องโพสต์ดังกล่าวนั้น เนื่องจากทางบริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จึงต้องลดค่าใช้จ่ายโดยการยุบแผนกตัดเย็บเสื้อผ้าภายในโรงงานบางส่วน และย้ายคนงานที่ประสงค์จะทำงานต่อให้ไปทำงานที่แผนกตัดเย็บอีกที่หนึ่งแทน

อย่างไรก็ตาม ด้าน นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า ยังไม่ได้มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่มีแผนปรับลดพนักงาน และปรับโครงสร้างองค์กร ส่วนที่มีผู้โพสต์ลงเฟซบุ๊กนั้น อาจมีเหตุผลเนื่องจากพนักงานบางคนเกิดความไม่มั่นใจ เพราะมีกระแสข่าวการปรับลดพนักงานซึ่งยังไม่ใช่การปิดกิจการ โดยในวันที่ 2 มีนาคมจะมีการพูดคุยกับทางผู้บริหารของบริษัทยูเนี่ยน เรื่องโครงการสมัครใจลาออก ว่าจะมีการปรับลดพนักงานกี่คน จะทำในรูปแบบไหน อย่างไร

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/3/2563 

สหภาพแรงงานจีเอ็ม ร้องบริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายเพิ่ม 1.5 เดือน/ปี หลังขายกิจการเพราะไม่ได้ขาดทุน จี้รัฐจ่ายแทนหากบริษัทปฏิเสธจ่าย

นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงาน บริษัท เจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) ประเทศไทย เปิดเผยว่า การประกาศหยุดการผลิตและการขายกิจการในประเทศไทย เป็นการขายที่บริษัทไม่ได้ขาดทุน ดังนั้นบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับพนักงานทั้งหมดกว่า 1,500 คน แม้บริษัทได้แจ้งว่าจะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และเพิ่มเงินพิเศษอีก 3 เดือน แต่ไม่ได้มีการจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น ทางสหภาพฯจึงขอเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าเสียหายในการเลิกจ้างในอัตรา 1.5 เดือนต่อปี เช่น อายุงาน 10 ปี ต้องจ่ายค่าเสียหาย 15 เดือน ตามคำสั่งศาลปกครองที่เคยมีการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับการเลิกจ้างมาก่อนหน้านี้

ส่วนโครงการซื้อรถในนามพนักงานที่บริษัทจัดขึ้นและยังผ่อนไม่หมด บริษัทจะต้องออกมารับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าส่วนต่างที่ค้างอยู่ทั้งหมด พร้อมให้บริษัทเปิดเผยสัญญาการซื้อขายกิจการของบริษัทด้วยเพื่อให้พนักงานได้รับทราบ

ส่วนกรณีนายจ้างใหม่ไม่รับมรดกความ ขอให้บริษัทต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้พนักงานที่ถูกปิดงาน กลุ่มกรรมการลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และพนักงานที่อยู่ในคดีความ โดยจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน บวกเงินพิเศษ 3 เดือน และค่าเสียหายในอัตรา 1.5 เดือนต่อปี และให้บริษัทจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัทให้กับพนักงานที่ยังไม่ได้รับ

ขณะเดียวกัน ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยให้เข้าไปควบคุมการซื้อขายกิจการให้รับพนักงานทุกคนเข้าทำงานสถานประกอบการใหม่ ได้รับสิทธิค่าจ้าง และอายุงานตามเดิม และให้ภาครัฐดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานก่อนเกษียณอายุ 50-55 ปี ที่ไม่สามารถหางานทำได้ และให้ภาครัฐจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานที่ถูกปิดงานตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2558

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รัฐจะต้องเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายตามอายุงาน โดยรัฐต้องมีมาตรการควบคุมการขายกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/3/2563         

ก.แรงงาน ประกาศมาตรการรับมือแรงงานไทยที่ร้องขอกลับประเทศ จากโรคโควิด-19 จำนวนมาก ย้ำใช้มาตรการเดียวกับ สธ.

ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงแรงงานไทย เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ประกาศมาตรการรับมือแรงงานไทยที่ร้องขอกลับประเทศ มอบกรมการจัดหางานตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของแรงงานทุกคน หากไปอย่างถูกต้องและเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ได้รับเงินค่าช่วยเหลือเยียวยาคนละจำนวน 15,000 บาท และส่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ของ สนร.เกาหลี ประสานนายจ้าง ตรวจสอบค่าจ้างค้างจ่าย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประเทศต้นทาง

ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ห่วงใยแรงงานไทยจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่กรมการจัดหางาน ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ประกอบกับจากกรณีที่แรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศเกาหลีได้มารายงานตัวที่ ตม. เกาหลีเป็นจำนวนมาก เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทยนั้น จึงจัดเตรียมมาตรการรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลี โดยขอให้เฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการไข้ ไอจาม น้ำมูก เจ็บคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วและมอบกรมการจัดหางาน ดูแล ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของแรงงานทุกคนว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศหรือไม่ หากเป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินค่าช่วยเหลือเยียวยาคนละจำนวน 15,000 บาท โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องเป็นประเทศที่ได้ประกาศเป็นโรคระบาดแล้ว และได้ส่งอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ของ สนร.เกาหลี ประสานนายจ้าง เพื่อตรวจสอบค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคนว่ามีค่าจ้างค้างจ่ายหรือไม่ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประเทศต้นทาง เพื่อจะให้การช่วยเหลือเยียวยาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

“เมื่อแรงงานไทยเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองที่ด่านคัดกรอง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ตามมาตรฐานเดียวกันของกระทรวงสาธารณสุข จากข้อมูล ณ เดือน มกราคม 2563 พบว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศเกาหลี จำนวน 22,257 คน สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลีแล้ว กรมการจัดหางานได้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ จำนวน 81,562 อัตรา เพื่อให้แรงงานไทยที่มีความประสงค์จะหางานทำได้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะสำรวจความต้องการและดำเนินการให้แรงงานกลับไปทำงานใหม่ตามความประสงค์อีกครั้ง ” รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ก.แรงงานและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างชาติที่จะเดินทางไปทำงานและชะลอการนำแรงงานไทยไปทำงานในงานอุตสาหกรรมออกไประยะหนึ่งก่อน แต่หากจะต้องเดินทางไปทำงาน ห้ามรับประทานยาลดไข้ ยาแก้หวัดหรือยาชนิดอื่นก่อนเดินทาง อย่างไรก็ดี แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการไข้ ไอจาม น้ำมูก เจ็บคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/3/2563 

รองโฆษก ตร. แจง ตม.เตรียมมาตรการรับคนไทยโอเวอร์ สเตย์-แรงงานผิดกฎหมายเกาหลี กลับบ้าน หนีไวรัสโควิด-19 ระบาด

รองโฆษก ตร. แจง ตม.เตรียมรับคนไทย โอเวอร์ สเตย์ - แรงงานผิดกฎหมายเกาหลี คัดกรองคนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเข้า รพ.บำราศนราดูร กักตัว 14 วัน หลังเกาหลีใต้มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ผบก.ตม 2 เตรียมเรียกทีมแพทย์ กรมควบคุมโรค การท่าฯ ซักซ้อมแผนสร้างความมั่นใจ

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักที่เกาหลีใต้ ส่งผลทำให้คนไทยที่เกาหลีใต้ ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับคนไทย หรือ คนที่เป็นแรงงานผิดกฏหมายที่เกาหลีใต้ ที่ติดต่อมอบตัวกับ ตม.เกาหลีใต้ กลุ่มนี้จะกลับมาในฐานะผู้ส่งกลับ โดยการเนรเทศกลับ ซึ่งสถานะส่วนใหญ่จะเป็น Over stay มีจำนวนเท่าใดยังไม่ทราบแน่ชัด โดยสายการบินที่ส่งกลับจะรับตัวแล้วพากลับเข้ามายังท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ในส่วนการตรวจคนเข้าเมืองของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้มีการแยกโซน หลุมจอด เฉพาะอยู่แล้ว ไม่ให้มีปะปนกับผู้โดยสารอื่นๆ โดยกลุ่มที่จะถูกส่งกลับมาจากเกาหลีใต้นี้ ก็ได้มีการแยกโซนไว้เฉพาะไว้เช่นกัน ซึ่งจะมีการประสานสายการบินที่รับตัวกลับเข้ามา ให้รวมพาสปอร์ตไว้ก่อน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จะต้องผ่านการตรวจคัดกรอง โดยเครื่อง Thermo Scan ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

จากนั้น จึงจัดทำประวัติโดยละเอียด โดยหากพบอาการ จะถูกส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูรทันที ถ้าหากไม่มีก็จะให้กลับไปพัก ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ พร้อมให้รายละเอียดหนังสือคู่มือ การเก็บตัวภายในที่พักอาศัย 14 วัน การเฝ้าดูอาการตัวเอง ซึ่งจะมีรายละเอียดในการสังเกตอาการตนเองและการแจ้งข้อมูลต่อแพทย์โดยตรง ตลอดจนการติดตามผลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นระยะ

โดยเวลา 15.00 น. วันนี้ (2 มี.ค. 2563) พลตำรวจตรี วีรพล เจริญศิริ ผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้เรียกประชุมหัวหน้าด่านทุกด่านในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อกำชับ ซักซ้อม ทำความเข้าใจการปฏิบัติ

รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีความพร้อมในการป้องกันและหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ขั้นตอนในการคัดกรอง คัดแยก และการตรวจคนเข้าเมือง ตลอดจนการเพิ่มความเข้มงวดในการระมัดระวังและการป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่

ไม่ว่าจะเป็นการดูแลความสะอาดพื้นที่ทำงาน การสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยางขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการคัดกรองบุคคลที่เข้ามาในลักษณะแบบนี้ มีการดำเนินการด้วยความเป็นมาตรฐาน ร่วมกับ ทีมแพทย์, เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, การท่าอากาศยาน AOT และหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน

ที่มา: คมชัดลึก, 2/3/2563 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net