เวที 'ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ' ชี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิไทยถูกท้าทาย เกิดจากการกีดกัน ตีตรา มีการรณรงค์ป้ายสี

ในงานแถลงข่าว 'ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป' ชี้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในไทยถูกท้าทายมากเกิดจากการกีดกัน การตีตรา และการมีการรณรงค์ป้ายสี เพื่อที่จะดิสเครดิตทำให้งานปกป้องสิทธิฯ ของผู้หญิงไม่มีความชอบธรรม

ในงานแถลงข่าวหัวข้อ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัดเกรดรัฐไทยอยู่หรือไป” ในมาตรฐานโลกด้านการปกป้องสิทธิผู้หญิง เนื่องในวันครบรอบ 103 ปีวันสตรีสากล ซึ่งจัดขึ้นโดย องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล  (PI) ภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีตัวแทนของผู้หญิงนักป้องสิทธิมนุษยชนจาก 15 เครือข่ายเข้าร่วมตัดเกรดรัฐบาลผ่านการเปิดตัวรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) แล้ว ยังมีอีกหนึ่งเวทีการพูดคุยที่น่าสนใจคือเวทีการแสดงความเห็นต่อรายงานการให้คะแนนความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อสังเกตโดยสรุปของคณะกรรมการ CEDAW จากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ โดยซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาที่จะประจำประเทศไทย โดยนางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย น.ส.ซินเทีย เวลิโก ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) นางสาวกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่  และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย และดำเนินรายการโดย น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากโพคเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นนอล

โดยทูตซาราห์ ระบุว่าแคนาดาได้ให้สัตยาบรรณในปี 1981 ทำให้มีตัวกำหนดว่าในประเทศเราจะทำอะไรได้บ้าง  รวมถึงลงนามในปฏิญญาปักกิ่ง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิผู้หญิง ทั้งนี้เห็นว่าที่ผ่านมา 25  ปี เหมือนว่ามีความถดถอยในเรื่องสิทธิของผู้หญิงมากกว่าเดิม ดังนั้นเราจะต้องไม่ใช่แค่ฟังให้ได้รับแรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ต้องยึดมั่นต่อการที่ได้ให้คำมั่นเอาไว้ เช่น การมีกฎหมายที่จะทำให้บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ 

“ในแคนาดา กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งต่างๆในหน่วยงานราชการ ซึ่งแคนนาดา ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างแข็งขัน และได้รับประเด็นข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ CEDAW คล้ายกับที่ไทยได้รับ ทั้งในเรื่องของการเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ แต่ประเด็นเฉพาะของแคนาดา คือ การสังหารของผู้หญิงชนพื้นเมืองดั้งเดิม เพราะที่ผ่านมีหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงชนพื้นเมือง โดยถูกฆ่าและหายตัวไป ซึ่งมาจากเป็นปัญหารากเหง้าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแคนาดา โดยผู้หญิงชนพื้นเมืองที่มีโอกาสที่ถูกฆ่าหรือหายตัวไปมากกว่าผู้หญิงอื่นถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้อเสนอของ CEDAW ทำให้เราได้ตรวจสอบตัวเอง”เอกอัครราชทูตแคนาดาที่จะประจำประเทศไทยระบุ

ทูตซาราห์ ระบุว่า การจัดกิจกรรมให้คะแนนในวันนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าไม่มีใครมาให้คะแนน เราก็จะไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ การให้ข้อเสนอแนะจะทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข  สำหรับแคนาดา การให้คะแนนในวันนี้ไม่ใช่ว่าแคนาดาสั่งสอนรัฐบาลไทย เพราะมีหลายช่องทางที่เราจะพูดคุยกันได้  ทั้งนี้มองว่าจะต้องมีพื้นที่ให้ประชาสังคมได้มีส่วนร่วม  และสิ่งที่รับฟังในวันนี้จะนำไปพัฒนาคะแนนระดับโลกเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ด้าน น.ส.ซินเทีย กล่าวว่า การต่อสู้กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในโลกนี้ ขณะเดียวกันมีผู้หญิงที่มีบทบาทแข็งขันมากขึ้น ปัญหาความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติถูกเปิดโปงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้หญิงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ ซึ่งเห็นว่าไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะสามารถอ้างว่ามีความเท่าเทียมการเพศได้อย่างแท้จริง เราจะเห็นรัฐต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนมีการเลือกปฏิบัติ นักปกป้องสิทธิสตรีถูกคุกคามข่มขู่ โดยรัฐไม่จัดการกับปัญหาเหล่านี้

“เราได้ยินกลุ่มผลประโยชน์ หัวรุนแรง ที่อ้างอุดมการณ์ ทำให้มาตรฐานทางสังคม กลายเป็นภัยต่อผู้หญิง  ในประเทศไทยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังถูกท้าทายมาก เกิดจากการกีดกัน การตีตรา และการมีการรณรงค์ป้ายสี เพื่อที่จะดิสเครดิตทำให้งานของผู้หญิงไม่มีความชอบธรรม และบั่นทอนการสนับสนุนใดๆที่ผู้หญิงจะได้รับในการทำงาน โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบท ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ดิน สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากประสบการณ์เคยเจอผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในเชียงใหม่ ถูกเลือกปฏิบัติอย่างมากจากการคนในชุมชน รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นเหมือง ถูกมองว่าเป็นตัวก่อปัญหา หรือแม้แต้การทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในภาคใต้ที่ถูกการคุกคามทั้งฝ่ายรัฐ และไม่ใช่ฝ่ายรัฐ อย่างไรก็ตามเรามีการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการจัดทำเวริ์คช็อปกับกระทรวงการต่างประเทศในการจัดทำรายงานให้กับคณะกรรมการ CEDAW รับทราบถึงความคืบหน้าหลังจากให้ข้อเสนอแนะ" ผู้แทน OHCHR ระบุ

ขณะที่ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงภาพรวมในส่วนของกลไกภาครัฐเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ว่า ต้องยอมรับว่ากลไกการขับเคลื่อนและการให้ความสำคัญยังมีปัญหา เริ่มที่กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ ที่ส่วนใหญ่จะมีแรงงานผู้หญิงจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงขอเสนอไปยังพรรคการเมืองทั้งในส่วนของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.แรงงานเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพราะที่ผ่านมา แรงงานผู้หญิงนอกระบบถูกคุกคามในสถานประกอบการจำนวนมาก กุลธิดายังได้ระบุถึงการไม่มีรัฐสวัสดิการให้ผู้หญิงที่มีลูก

อีกประเด็นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเดินหน้าดำเนินการ คือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้การเข้าถึงนี้จะมีกองทุนโดยกระทรวงยุติธรรม แต่มักเป็นการเยียวยาในรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว โดย ที่การเยียวยาทางด้านจิตใจผู้สูญเสียยังไม่มีการดำเนินการหรือถ้ามีก็น้อยมาก

"ยกตัวอย่างเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จากการลงพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี มีครอบครัวหนึ่งผู้หญิงที่ถือเป็นเสาหลักของครอบครัวอายุ 55 ปีทำมาหากินขายของชำ แต่แล้วสามีก็ถูกยิงเสียชีวิต แม้จะได้รับค่าเยียวยาเป็นตัวเงิน แต่ในส่วนของการเยียวยาทางด้านจิตใจ ด้านจิตวิทยายังไม่มี ซึ่งการเยียวยาด้านจิตใจถือว่ามีความสำคัญ ถือเป็นแรงผลักดันครอบครัวใช้ชีวิตเพื่อใช้ชีวิตต่อแบบไม่มีความหวาดกลัว"อดีตส.ส.อนาคตใหม่กล่าว

ส่วนประเด็นความคุกคามผ่านIOนั้น ที่ผ่านมามีการโจมตีคุกคามนักสู้ผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นพบว่า การทำIO ที่ว่านี้ก็มาจาก กอ.รมน.นั่นเอง ซึ่งการโจมตีทำให้คนที่เสพข่าวเชื่อในเนื้อหาว่าการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิในผู้หญิงไม่มีความสำคัญ หากจะให้เกรดผลงานของรัฐบาล น่าจะอยู่ในเกรด F ด้วยซ้ำ  

ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซเมื่อปี 2562 กล่าวว่า แม้ประเทศไทย จะมีอนุสัญญา CEDAW เมื่อปี 2528 แต่ดูเหมือนว่าสตรียังถูกเลือกปฏิบัติอยู่ตลอด โดยเฉพาะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ที่ถูกคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดี จน CEDAW เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน แม้ที่ผ่านมาภาครัฐโดยรัฐมนตรี จะยืนยืนว่าจะส่งเสริมสิทธิสตรี แต่ก็ยังมีอคติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับประเด็นที่สตรีเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิถูกฟ้องร้องนั้น ถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ที่มีปัญหาตั้งแต่โครงสร้าง เช่น การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้กระทำผิด ผู้หญิงมักถูกข่มขู่คุกคาม โดยเฉพาะสถานประกอบการ ที่ไม่มีสภาพบังคับ หรือตรากฎหมายคุ้มครองไว้ ขณะที่เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แม้ภาครัฐจะบอกเสมอว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย สุดท้ายผู้ร้องก็ต้องเสียเงินในการร้องเรียนดำเนินคดี  ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการฟ้องปิดปาก

“ทั้งนี้ในส่วนของเรื่องการเยียวยาขอบเขตของการเยียวยาก็มักอยู่ในรูปของตัวเงิน แต่ในส่วนของการฟื้นศักดิ์ศรีไม่เคยมี โดยอย่างยิ่ง ผู้หญิงใน สามจังหวัดภาคใต้ที่มีเรื่องชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่นเด็กหญิงถูกบังคับให้แต่งงาน แม้จุฬาราชมนตรีระบุว่า ต้องกำหนดอายุเด็กหญิง 17 ปีขึ้นไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีการบังคับใช้ เนื่องจากไม่ใช่กฎหมาย รวมทั้งกรณีของชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ในบางพื้นที่มีการเข้าไปทำร้ายร่างกายถึงในบ้านด้วย”นางอังคณากล่าว

นางอังคณา ระบุด้วยว่า อุปสรรคสำคัญที่สุด คือกระบวนการยุติธรรมของไทยเมื่อตัดสินแล้วไม่สามารถกลับคำตัดสินได้อีก ยกตัวอย่าง คดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกบังคับให้สูญหาย แม้จะมีการทักท้วงว่าเป็นผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงการตัดสินได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายต่อรัฐบาลเป็นอย่างมาก ที่ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการทบทวนกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสิทธิมนุษยชน  พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ การยอมรับอำนาจของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ในการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน ในกรณีที่มีการละเมิดพันธกรณีที่ปรากฏในอนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐภาคี โดยผู้ร้องเรียนอาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในนามของผู้ถูกละเมิดสิทธิได้  ผลใช้บังคับกับไทยเมื่อ 2543 ปีที่แล้วตนได้ส่งเรื่องร้องเรียนให้กรรมการ CEDAW เพื่อใช้สิทธิในส่วนนี้ด้วย

นางอังคณา ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการใช้ IO ในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโซเชียลมีเดีย ว่า เห็นว่ากระบวนการในการรับแจ้งความของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงที่ถูกคุกคาม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของปอท. ที่เป็นโจทย์ในการยื่นฟ้องนักกิจกรรมที่เห็นต่างจากรัฐ ขณะที่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามกลับไม่มีใครปกป้อง อีกทั้งส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ IO ที่เกิดขึ้นมาจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นขอแนะนำให้คนที่ถูกคุกคามจาก IO ใช้สิทธิพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากศาลเพื่อให้ศาลมีมาตรการเยียวยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท