Skip to main content
sharethis

คนงานสิ่งทอ-คนงานรังสิต ออกแถลการณ์วันสตรีสากล ชูคำขวัญ “หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม” เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จี้รัฐจัดสวัสดิการ ขึ้นค่าแรงตามที่หาเสียง พร้อมกำหนดมาตรการคุมราคาสินค้าจำเป็น

แฟ้มภาพ

8 มี.ค.2563 เนื่องในวันสตรีสากลเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ทางชนชั้นแรงงานหญิงทั่วโลกนั้น สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย และกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล ชูคำขวัญ “หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม” พร้อมเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พรรครัฐบาลขึ้นค่าแรงและจัดสวัสดิการตามที่เคยหาเสียงไว้ เรียกร้องเพิ่มวันลาคลอดบุตร สิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร สร้างรัฐสวัสดิการ คุมราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ

รวมทั้งเรียกร้องให้หยุดล่วงละเมิดทางเพศและต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และ ฉบับที่ 183 ที่ว่าด้วยสิทธิการร่วมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน การเจรจาต่อรอง การคุ้มครองแรงงานหญิงและความเป็นแม่ ฯลฯ

โดยกลุ่มดังกล่าวยังนัดหมาย เชิญสหภาพแรงงานสมาชิกแรงงานฯและเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรมวันสตรีสากลในวันนี้ (8 มี.ค.63)เวลา 08.00 – 13.00 น. ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – ทำเนียบรัฐบาล ประตู 5 และกิจกรรมสิ้นสุดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

สำหรับแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์เนื่องในวันสตรีสากล

ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่การต่อสู้ทางชนชั้นแรงงานหญิงทั่วโลก ได้มาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นั้นก็คือวันที่ 8 มีนาที่เรียกกันว่าวันสตรีสากล โดยเฉพาะบทบาทของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดทารุณในระบบทุนนิยม พวกชนชั้นนายทุนเห็นกำไรสำคัญกว่าชีวิตของมนุษย์ การทำงานมากกว่าวันละ 14-16 ชั่วโมงได้ค่าจ้างแรงงานเพียงน้อยนิด สภาพการทำงานในโรงงานเลวร้ายหลายคนเจ็บป่วยล้มตายไร้การเหลียวแล ทำให้แรงงานหญิงและชายทนไม่ได้กับระบบการกดขี่ขูดรีดจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 การต่อสู้ในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากแรงงานทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบทุนนิยมทั้งโลก และได้มีการเรียกร้องชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการ และสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในการรวมตัว

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 มีผู้แทนสตรีจาก 18 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม สมัยที่ 2 ที่จัดขึ้นที่เมืองโคเปนเฮเกน เสนอให้มีการทำงาน 8 ชั่วโมง ศึกษา 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง  ที่เรียกว่าระบบสามแปด  ค่าจ้างแรงงานระหว่างชายกับหญิงต้องเท่าเทียมกัน มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานหญิงและเด็ก  โดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่เป็นสตรีที่เขาชื่อ คลาร่า แซทกิน ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมชาวเยอรมัน เขายืนหยัดต่อสู้มาตลอดว่าการโค่นล้มทุนนิยมและการสร้างสังคมใหม่คือสังคมนิยม  จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดพลังแรงงานผู้หญิง ถ้าพลังแรงงานหญิงยังถูกกดขี่ ขูดรีดอยู่ และไม่มีสิทธิใดๆ  และเธอก็ได้เผยแพร่ความคิดสังคมนิยมไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลก

วันประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ของแรงงานหญิง ได้รับการยกย่องมีการจัดงานเฉลิมฉลองชัยมาถึงทุกวันนี้ และหลายปีที่ผ่านมาได้มีสตรีที่อ้างตนว่าเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ได้เขามาร่วมขบวนในการจัดงานวันสตรีสากลเบี่ยงเบนประเด็นอุดมการณ์ของนักสังคมนิยมประชาธิปไตยดังกล่าวข้างตน

จากการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เห็นปรากฏการณ์เด่นชัดมากขึ้นของความขัดแย้งทางชนชั้นและชั้นชนระหว่าง ระบอบเผด็จการที่ควบคุมโครงสร้างส่วนบนของสังคมกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีด และก็เป็นที่ประจักชัดแล้วว่าการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการและกลายพันธ์มาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้กฎกติกาเผด็จการ  มีแต่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนายทุนและเครือข่าย ปัญหาข้าวยากหมากแพง ชนชั้นที่ไร้ปัจจัยการผลิต ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่แสนจะลำบากยากแค้นอย่างหนัก องค์การแรงงานหลายภาคส่วนได้ดำเนินการเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ก็สนับสนุนการเรียกร้อง ให้แก้ไข้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองมาโดยตลอด เพื่อการบรรเทาทุกข์ในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานและคนจนทั้งในเมืองและชนบท รวมถึงปัญหา ของประชาชน รัฐบาลยังละเลยต่อปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆของหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน  โดยหาเหตุมากล่าวอ้างต่างๆนานา แต่บรรดาพวกชนชั้นนายทุนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ ลืมไปว่าสิ่งที่เป็นประดิษฐ์กรรมต่างๆในโลกนี่ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากพลังแรงงานของชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งสิ้น ไม่มีเทวดาที่ไหนเป็นผู้สร้าง ดูได้จากสิ่งใกล้ตัวเรา เช่น สี่ปัจจัยการครองชีพทุกชนชั้นและชั้นชนต้องใช้ เช่น อาหารการกิน, ที่อยู่อาศัย, เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ ยารักษาโรคและยานพาหนะต่างๆในการเดินทางและเทคโนโลยี รวมไปถึงปราสาทราชวัง ตึกรามบ้านช่องวัดวาอาราม ใครเป็นผู้สร้างผู้ทำ ถ้าขาดพลังแรงงานของผู้ใช้แรงงานทั้งมวล ทุกอย่างจะเหมือนซากศพ และในโอกาสวันสำคัญนี้สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลปัจจุบันดังนี้

  1. แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
  2. พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งเป็นรัฐบาลและช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สัญญาไว้ว่าจะเพิ่มค่าจ้าง/ค่าแรงเป็นวันละ 400-425 บาท และมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ดำเนินไปถึงไหนแล้ว
  3. รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง
  4. สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร (ศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบแก้กฎหมายทำแท้งได้ไม่ผิด wed,2020-02-19 ประชาไท)
  5. รัฐบาลต้องกำหนดวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดทั่วประเทศ
  6. สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ
  7. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของประชาชน
  8. สตรีมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชายและหยุดล่วงละเมิดทางเพศและต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ
  9. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และ ฉบับที่ 183
  10. รัฐบาลต้องสนับสนุนการศึกษาฟรีกับเด็กเยาวชนประชาชนตลอดชีวิต
  11. หยุดการค้ามนุษย์,หยุดการค้าแรงงานข้ามชาติ,ยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของมวลมนุษยชาติ

วันสตรีสากล ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสตรีทั้งหลายจงเจริญ

8  มีนาคม  2563

“หยุดละเมิดสิทธิสตรี เสรีภาพต้องเท่าเทียม”

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย

กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net