Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในทุกภาคออกมาไล่เผด็จการ เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้ง การปฏิรูปกองทัพและสถาบันหลักอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหลักการและกติกาประชาธิปไตยผ่านกิจกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า “แฟลชม็อบ” ผู้บริหารโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งกลับใช้อำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกดังกล่าว

การใช้อำนาจผู้บริหารสถาบันการศึกษาห้ามใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในการจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือตั้งเงื่อนไขบีบกดและลดทอนเสรีภาพในการแสดงออกต่างๆ เช่น ห้ามชูป้ายบางข้อความ ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย และฯลฯ โดยอ้างว่าเพื่อรักษา “ความเป็นกลางทางการเมือง” หรือเพื่อจำกัดสถานะและบทบาทของสถาบันการศึกษาให้อยู่ในขอบเขตที่ “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆ ที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้จริง

ถ้า “การเมือง” ในระดับกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การเดินขบวน การชุมนุม และอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดว่าในช่วงสถานการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรดาอธิการบดีมหาวิทยาชั้นนำหลายแห่งต่างออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนการขับไล่ กระทั่งเชิญชวนประชาคมมหาวิทยาลัย ศิย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันออกมาเป่านกหวีดขับไล่ ธงสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยโบกโบยบนเวทีชุมนุม กปปส. อธิการบดีบางคนขึ้นเวทีปราศรัย ไม่นับอาจารย์ นักวิชาการนกหวีดทั้งหลายที่ขึ้นเวทีปราศรัยและร่วมชุมนุมอย่างเปิดเผย ภายใต้วาทกรรม “มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งทางปัญญาของสังคม” ในการนำพาประเทศพ้นวิกฤตทางการเมือง และหลังเกิดรัฐประหารบรรดาอธิการบดี และอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งต่างไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และตำแหน่งอื่นๆ ที่รัฐบาลเผด็จการทหารแต่งตั้ง แบบนี้มันคือ “เป็นกลางทางการเมือง” หรือเป็น “สลิ่มทางการเมือง” กันแน่

แต่ขณะเดียวกัน นิสิต นักศึกษา อาจารย์บางคน บางกลุ่มที่แสดงออกทางการเมืองในด้านที่เห็นใจเสื้อแดงและยืนยันวิถีทางประชาธิปไตยเป็นทางออกของปัญหา ปฏิเสธรัฐประหารและแนวทางอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง พวกเขากลับถูกกีดกัน ถูกแบ่งแยก ต้องชัดเจนว่าพวกเขาเหล่านั้นแสดงออกในนามส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ในนามของมหาวิทยาลัย ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับมหาวิทยาลัย อาจารย์หลายคนถูกห้ามใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยในการแสดงความเห็นทางการเมือง หรือแม้แต่ในการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการเมืองบนเวทีเสวนาต่างๆ ก็มีทหาร ตำรวจมานั่งคุม กระทั่งอาจารย์บางคนถูกสอดแนมการสอน ถูกยกเลิกการสอนเพราะวิจารณ์เผด็จการเป็นต้น

ปรากฏการณ์ “สองมาตรฐาน” ในการแสดงออกทางการเมืองดังกล่าว ก็คือสภาวะ “ความเป็นการเมือง” (the political) ภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ มันคือความเป็นการเมืองของการแบ่งฝ่าย แบ่งสี แยกมิตร แยกศัตรูชัดเจนในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา  

แต่คำถามคือ แฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษายุคนี้ เกี่ยวอะไรกับความเป็นการเมืองแบบแบ่งสี ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะการเมืองแบบบ่งสีมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ในสภาเราได้เห็นนักการเมืองที่เคยเป็นสีหนึ่งมาร่วมงานกับพวกที่เคยเป็นสีตรงข้าม ในหมู่ประชาชนก็ปรากฏ พธม.กลับใจ กปปส.กลับใจ ในแวดวงคนดังก็มีบางคนที่เคยเป็นแนวร่วมขวางการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ยิ่งลักษณ์กลับมาอีก หันมาวิจารณ์การสร้างระบบสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นต้น นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ลุกขึ้นสู้ในนาม “ความฝันของคนรุ่นใหม่” ในปัจจุบันก็ยิ่งก้าวเลยจากการแบ่งสีมาไกลมากแล้ว 

พูดอีกด้านหนึ่ง การเมืองแบบแบ่งสีได้ก่อปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่พ่วงมาด้วยการการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก กีดกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มากด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความอยุติธรรมนานับประการ และปัญหาเศรษฐกิจทรุด คุณภาพการศึกษาตกต่ำ ทับถมด้วยการตกงานและอื่นๆ คนรุ่นใหม่ต่าง “สัมผัส” ปัญหาเหล่านี้จากการเรียนรู้ การเสพข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชียล และมีประสบการณ์ตรงกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้มานานกว่าครึ่งทศวรรษแล้ว การยุบพรรคอนาคตใหม่คือ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้พวกเขาทนไม่ได้กับ “ความอยุติธรรม” ซ้ำซากภายใต้อำนาจเผด็จการไร้ยางอาย พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นสู้

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีการกล่าวกันว่าที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาถูกกีดกัน ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ก็เพราะผู้บริหารสถาบันการศึกษานั้นๆ เป็น “สลิ่ม” ที่ยังมีทัศนะทางการเมืองในเชิงสนับสนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ หรือไม่พวกเขาก็กลัวจะถูกเล่นงานจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ

จึงเห็นได้ชัดว่า สถาบันการศึกษาแยกออกจากการเมืองไม่ได้ เพราะการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองกับการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมันมี “ความเป็นการเมือง” ในตัวมันเองอย่างเด่นชัด ในด้านหนึ่งเป็นการเมืองในทางสนับสนุนความกล้าหาญในการต่อสู้เผด็จการ อีกด้านหนึ่งเป็นการเมืองของความกลัวและการกดทับเสรีภาพของผู้ที่กล้าหาญลุกขึ้นสู้

ถ้ามองให้ลึก ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนความล้มเหลวในการทำหน้าที่ทางการเมืองตอบสนองอุดมการณ์รัฐของสถาบันการศึกษา กล่าวคือ สถาบันการศึกษามีหน้าที่ทางการเมืองตอบสนองต่อรัฐในการปลูกความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองแบบจารีต แต่การตื่นขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนในอดีตจนปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์จารีตผ่านระบบการศึกษาไม่สามารถ “ครอบงำ” ได้สำเร็จ และไม่สามารถสร้างเอกภาพหรือความสามัคคีในชาติได้จริง หากแต่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและทางการเมืองมายาวนาน 

ทั้งนี้เพราะแก่นแกนของความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์จารีตคือการสร้าง “การแบ่งแยก” และ “กีดกัน” ว่าใครคือคนไทย-ไม่ใช่คนไทย คนกลุ่มไหนจงรักภักดี-ไม่จรักภักดี อะไรคือความเป็นไทย-ความเป็นอื่น การแบ่งแยกและกีดกันดังกล่าวมักนำมาซึ่งความขัดแย้ง เพราะใครหรือคนกลุ่มไหนที่ไม่คิด ไม่เชื่อ ไม่มีค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฝ่ายจารีต ก็จะถูกกีดกัน ถูกตราหน้าว่าไม่ใช่คนไทย ไม่รักชาติ ทำลายชาติ กระทั่ง “ถูกล่าแม่มด” และถูกปราบปรามทำลายล้างในรูปแบบต่างๆ เสมอมา

ดังนั้น ข้อเรียกร้องให้รักกันสามัคคีกันภายใต้ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์จารีตที่ไม่ได้อยู่บนรากฐานของเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ทำให้เกิด “ภราดรภาพ” และความสามัคคีได้จริง เพราะเมื่อมีการแบ่งแยก กีดกันและวาดภาพให้คนคิดต่างเชื่อต่างกลายเป็นอื่น การมองว่าเพื่อนมนุษย์ทุกคนมีความเป็นพี่เป็นน้องกันย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ 

สำนึกแห่งภราดรภาพหรือมอง “ทุกคนมีความเป็นพี่เป็นน้องกัน” จะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการเคารพเสรีภาพและความเสมอภาคของทุกคนที่มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายเท่านั้น ซึ่งสังคมประชาธิปไตยเอื้อให้อุดมคตินี้เป็นไปได้ การปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตย เพื่อพวกเขาเองจะมีอำนาจ มีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเอง นอกจากจะเป็นการปิดกั้นอนาคตที่ดีกว่าของพวกเขาแล้ว ยังเป็นความพยายาม “ตรึง” พวกเขาให้ติดอยู่ใน “กับดับความขัดแย้ง” ไม่รู้จบ อันเป็นกับดับที่ฝ่ายเผด็จการใช้ในการแบ่งแยกและปกครองมายาวนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net